Sunday, September 24, 2023
More

    กทม. เผยผลงานสำคัญในรอบปี 2562 พร้อมจ่ายโบนัสสูงสุด 1.5 เดือน

    ปี 2562 กรุงเทพมหานคร ภายใต้การบริหารงานของ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง มีความพยายามผลักดันหลายโครงการออกมา ทั้งเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน และยกระดับคุณภาพชีวิตชาวกรุงเทพฯ รวมถึงข้าราชการและลูกจ้างในสังกัด ซึ่งมีหลายโครงการที่เป็นผลสำเร็จ และเป็นประโยชน์ต่อประชาชน แต่ก็ยังมีหลายเรื่องที่ยังเป็นปมปัญหาให้ต้องคลี่คลายกันต่อไป

    จ่ายโบนัส ขรก.-ลูกจ้างสูงสุด 1.5 เดือน

    โดยกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ส่งท้ายปี 2562 ด้วยการมอบความสุข จ่ายเงินโบนัส เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการทำงานให้แก่ข้าราชการ และลูกจ้างของ กทม. ที่ปัจจุบันมีอยู่ 90,000 คน เป็นข้าราชการ 30,000 คน ข้าราชการครู 10,000 คน และลูกจ้างอีกประมาณ 50,000 คน โดย พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการ กทม. ได้ขอจัด สรรงบประมาณประจำปี 2563 ในส่วนของงบกลาง เพื่อนำจ่ายเป็นเงินรางวัลและเงินช่วยเหลือ สำหรับผลการปฏิบัติราชการประจำรวม 2,000 ล้านบาท


    สำหรับอัตราการจัดสรรเงินรางวัลประจำปี 2562 จะจัดสรรให้ในอัตรา 1.5 เท่าของเงินเดือน โดยหน่วยงานในสังกัด กทม. มีอยู่ 77 หน่วยงาน ซึ่งส่วนราชการที่มีผลการประเมินอยู่ในระดับดีถึงระดับดีมาก คือได้ 4.473-4.908 คะแนน จะได้รับการจัดสรรเงินรางวัลในระดับหน่วยงาน 1.5 เท่าของเงินเดือน

    ส่วนเงินรางวัลระดับบุคคลทั้งข้าราชการสามัญและลูกจ้างประจำ จะจ่ายตามผลการประเมิน คือหากมีผลการประเมินดีเด่น 90 -100 คะแนน จะได้รับการจัดสรรเงินรางวัล 1.5 เท่าของเงินเดือน ผลการประเมินเป็นที่ยอมรับได้ 81-89 คะแนน จะได้รับการจัดสรรเงินรางวัล 1.4 เท่าของเงินเดือน ระดับ 71-80 คะแนน จะได้รับการจัดสรรเงินรางวัล 1 เท่าของเงินเดือน ระดับ 60-70 คะแนน จะได้รับการจัดสรรเงินรางวัล 0.95 เท่าของเงินเดือน

    ส่วนผลการประเมินที่ต้องปรับปรุง คือได้ต่ำกว่า 60 คะแนน จะไม่ได้รับการจัดสรรเงินรางวัล ขณะที่ลูกจ้างชั่วคราวจะได้รับการจัดสรรเงินรางวัล 1 เท่าของเงินเดือน เนื่องจากลูกจ้างชั่วคราวมีภาระงานและความรับผิดชอบไม่เท่ากับข้าราชการและลูกจ้างประจำ โดยภายในเดือนธันวาคม 2562 กทม. จะจัดสรรเงินโบนัสให้แก่ข้าราชการ และลูกจ้างของ กทม. ในระดับเล็กก่อน ส่วนข้าราชการระดับสูงจะจ่ายช่วงต้นปี 2563

    ปี 62 จัดเก็บรายได้สูงกว่าเป้าหมาย 4.05%

    ในส่วนของผลการดำเนินงานปี 2562 กทม. ได้ประมาณการรายรับไว้ที่ 80,000 ล้านบาท แต่สามารถจัดเก็บรายได้เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 83,237.48 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าที่ประมาณการไว้ 4.05% หรือ 3,237.48 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้ที่ กทม. จัดเก็บเอง 19,778.38 ล้านบาท ประกอบด้วย ภาษีที่จัดเก็บเอง (ภาษีบำรุงท้องที่, ภาษีโรงเรือนและที่ดิน, ภาษีป้าย, อากรฆ่าสัตว์, ภาษีบำรุง กทม. สำหรับน้ำมันฯ) ค่าธรรมเนียมค่าใบอนุญาต ค่าปรับและค่าบริการ รายได้จากทรัพย์สิน รายได้จากการสาธารณูปโภค การพาณิชย์และกิจกรรมอื่น รายได้เบ็ดเตล็ด ซึ่งรายได้ที่ กทม. จัดเก็บเองต่ำกว่าประมาณการที่ตั้งไว้ 20,000 ล้านบาท เป็นเงิน 221.62 ล้านบาท หรือคิดเป็น 1.10% ขณะที่รายได้ที่ส่วนราชการอื่นเก็บให้ 63,459.10 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการที่ตั้งไว้ 60,000 ล้านบาท เป็นเงิน 3,459.10 ล้านบาท หรือคิดเป็น 5.76%

    ขยายความสะดวกด้านการเดินทาง

    สำหรับผลงานสำคัญในรอบปี กทม. ได้ขับเคลื่อนจนเป็นผลสำเร็จหลายโครงการ เช่น โครงการด้านการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งให้เชื่อมโยงและครอบคลุมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการรับช่วงต่อในการผลักดันรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ให้สามารถเปิดให้บริการก่อนกำหนด 5 สถานี สถานีห้าแยกลาดพร้าว สถานีพหลโยธิน 24 สถานีรัชโยธิน สถานีเสนานิคม สถานีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รวมถึงมีการเพิ่มความสะดวกในการเดินทางโดยจัดให้มีบริการเรือโดยสารคลองแสนแสบส่วนต่อขยายระยะเร่งด่วน วัดศรีบุญเรือง-ห้างพาซิโอ และเปิดทดลองให้บริการเรือโดยสาร เส้นทางคลองบางกอกใหญ่-แม่น้ำเจ้า- พระยา จากท่าเรือบางหว้า-ท่าเรือท่าช้าง

    นอกจากนั้นยังได้เปิดใช้ถนนต่อเชื่อมศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 กับถนนกำแพงเพชร 6 (ถนนหมายเลข 8), เปิดใช้งานทางลอดถนนพัฒนาการ-รามคำแหง-ถาวรธวัช, ปรับปรุงถนนมิตรไมตรี ช่วงจากถนนวิภาวดีรังสิตถึงถนนประชาสงเคราะห์ โดยขยายจาก 4 ช่องจราจร เป็น 5-6 ช่องจราจร เพื่อรองรับการจราจรรรอบศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 จนแล้วสร็จและเปิดใช้งานแล้ว และยังมีการปรับปรุงป้ายรถเมล์ ที่ล่าสุดได้ติดตั้งป้ายรถเมล์รูปแบบใหม่ 500 ป้าย ในพื้นที่เขตจตุจักร พญาไท ราชเทวี ปทุมวัน บางรัก ดินแดง วัฒนา สาทร คลองเตย

    เติมพื้นที่สีเขียวให้มากขึ้น

    ในส่วนของการเพิ่มพื้นที่สีเขียว หรือพื้นที่สาธารณะ มีทั้งการดำเนินโครงการถนนสายอัตลักษณ์ด้วยพันธุ์ไม้บนถนน 9 เส้นทาง ระยะทางรวมประมาณ 121 กม. ปลูกต้นไม้รวมกันได้ 1,025,943 ต้น, เปิดสวนสาธารณะบางแคภิรมย์ หรือ Dog Park แห่งที่ 2 บนเนื้อที่ 70 ไร่ แขวงหลักสอง เขตบางแค, มี “โครงการ Green Bangkok 2030” ที่ร่วมมือกับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และภาคีเครือข่าย ประกาศเจตนารมณ์เพื่อก้าวสู่กรุงเทพฯ เมืองสีเขียว โดยมีพื้นที่นำร่องในการพัฒนา 11 พื้นที่, มีโครงการ Tree/You/Again เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ใน กทม. โดยเชิญชวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติร่วมปลูกต้นไม้ ในสวนสาธารณะที่ตั้งอยู่ในเขตพระนคร พร้อมแบ่งปันข้อมูลผ่านแอปพลิเคชัน WEGROW 

    ยังมีโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ทางสัญจรบนโครงสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณช่องกลางสะพานพระปกเกล้า หรือ พระปกเกล้า Sky Park ซึ่งเป็นการปรับปรุงโครงสร้างเดิทของรางรถไฟ้าลาวาลิน ที่สร้างไม่เสร็จและไม่ได้ใช้ประโยชน์ ระยะทาง 280 มตร ให้เป็นหมุดหมายใหม่ในย่านกะดีจีน-คลอง สาน ซึ่งจะได้ใช้สวนสาธารณะลอยฟ้าแห่งนี้ประมาณเดือนพฤษภาคม 2563

    เดินหน้าจัดระเบียบเมือง

    ด้านการจัดระเบียบและปรับภูมิทัศน์เมือง ก็มีหลายโครงการ ที่เป็นประเด็นและได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก ก็คือโครงการจัดระเบียบการจอดหรือขับขี่บนทางเท้า ของผู้ขับขี่รถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ ที่ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2562 กทม. ได้เพิ่มโทษจับปรับผู้กระทำความผิด กรณีการจอดรถหรือขับขี่รถจักรยานยนต์บนทาง เท้า จาก 1,000 บาท เป็น 2,000 บาท และจัดเจ้าหน้าที่เทศกิจ ตั้งจุดจับปรับผู้ที่ฝ่าฝืนทั้งเช้าและเย็น จากเดิม 115 จุด เพิ่มเป็น 233 จุด รวมทั้งเปิดช่องทางให้ประชาชนช่วยกันแจ้งเบาะแสผู้กระทำผิด และได้รับรางวัลนำจับ 50% ของค่าปรับ

    ขณะที่ การจัดระเบียบป้ายโฆษณาในที่สาธารณะ กทม. สามารถจัดเก็บป้ายโฆษณาที่ไม่ได้รับอนุญาตได้ทั้งหมด 45,746 ป้าย และปรับเป็นเงินได้ 8,752,910 บาท พร้อมทั้งมีการขับเคลื่อนโครงการก่อสร้างและวางท่อร้อยสายเพื่อนำสายสื่อสารบนถนนสายหลัก สายรอง รวมถึงเส้นทางลัดและเส้นทางในซอยที่พาดรุงรังลงใต้ดิน รวมระยะทางประมาณ 2,450 กม. ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพหนือ กรุงเทพตะวันออก กรุงธนเหนือ กรุงธนใต้ ซึ่งจะเห็นผลการดำเเนินงานในปี 2563

    ส่วนการจัดระเบียบหาบเร่-แผงลอย เพื่อเป็นการคืนทางเท้าให้แก่ประชาชน กทม. ได้ประกาศยกเลิกจุดผ่อนผันบนทางเท้าแล้ว 508 จุด ผู้ค้าจำนวน 12,150 ราย เหลือจุดผ่อนผันที่ยังไม่ได้ยกเลิก 175 จุด ผู้ค้าจำนวน 8,021 ราย ในพื้นที่ 19 เขต และได้จัดหาสถานที่รองรับผู้ค้าที่ได้รับผลกระทบ 112 แห่ง จำนวนแผงค้าไม่น้อยกว่า 12,800 แผงค้า ขณะที่ล่าสุด ได้มีการเปิดโครงการถนนคนเดิน บนถนนสีลม ข้าวสาร เยาวราช และหลักสี่ เพื่อมอบความสุขให้ประชาชน ส่งเสริมการท่องเที่ยว และกระตุ้นเศรษฐกิจ

    หลายปัญหายังรอให้แก้ไข

    เรียกได้ว่าปี 2562 กทม.มีผลงานที่เป็นการยกระดับคุณภาพชีวิต และแก้ปัญหาในด้านต่างๆ ให้แก่ชาวกรุงเทพฯ ในระดับที่ดีพอสมควร แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายภารกิจที่ยังต้องสานต่อ เพราะแม้ว่าจะมีการแก้ปัญหาไปบ้างแล้ว แต่ในสายตาประชาชนก็ยังไม่นับว่าเป็นผลสำเร็จและแก้ปัญหาได้อย่างเด็ดขาด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจัดระเบียบการจอดหรือขับขี่บนทางเท้า ของผู้ขับขี่รถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ ที่ยังคงมีผู้ฝ่าฝืนให้เห็นอยู่อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการปรับปรุงฝาท่อระบายน้ำ ปรับปรุงทางเท้าให้เดินสะดวกในทุกพื้นที่

    นอกจากนั้นยังมีเรื่องการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ที่แม้ กทม. จะลดจุดเสี่ยงภัยจาก 17 จุด เหลือ 14 จุด บำรุงรักษาเครื่องสูบน้ำ ซักซ้อมบุคลากรเพื่อรับมืออย่างต่อเนื่อง มีทำโครงการแก้มลิงเก็บน้ำตามศาสตร์พระราชา โครงการก่อสร้างระบบหน่วงน้ำใต้ดิน (Water Bank) โครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม (Pipe Jacking) แต่ กทม. ก็ยังไม่สามารถทำให้ประชาชนเชื่อได้ว่าปัญหาน้ำรอระบายจะหมดลงไปได้

    เช่นเดียวกับการเพิ่มพื้นที่สีเขียว ที่ล่าสุด กทม. ได้ขยับเป้าหมายการเพิ่มพื้นที่สีเขียว จากปัจจุบันมีขนาด 6.9 ตร.ม./คน เป็น 10 ตร.ม./คน และเพิ่มพื้นที่ร่มไม้จากปัจจุบันมี 14% เป็น 30% ก็เป็นอีกเรื่องที่อาจจะไม่ง่ายต่อการไปให้ถึงเป้าหมาย ในขณะที่เรายังเห็นกันอยู่ว่ายังมีการตัดต้นไม้อย่างผิดวิธี บนทางเท้าบางจุดยังมีการโบกปูนทับรากต้นไม้ ตลอดจนยังมีโครงการเจ้าปัญหาอย่างโครงการจ้างเหมาเอกชนกำจัดมูลฝอยโดยระบบเตาเผามูลฝอยขนาดไม่น้อยกว่า 1,000 ตัน/วัน ที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขมและศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช รวมถึงโครงการทางเลียบแม่นน้ำเจ้าพระยา ที่ยังคงต้องติดตามกันต่อว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป