กรมท่าอากาศยานเลือกปักหมุดสร้างท่าอากาศยานนครปฐม ในพื้นที่ อ.บางเลน และ อ.นครชัยศรี แจงเหตุเหมาะสมสุด เพราะอยู่ใกล้มอเตอร์เวย์สายบางใหญ่-กาญจนบุรี และห่างกรุงเทพฯ เพียง 1 ชั่วโมง 10 นาที
โดย ดร.จรุณ มีสมบูรณ์ รองอธิบดีกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ประธานคณะกรรมการตรวจรับพัสดุในงานจ้างที่ปรึกษาโครงการศึกษาความเหมาะสมในการจัดตั้งสนามบินนครปฐม เผยว่า กรมท่าอากาศยานได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ 2 (ปัจฉิมนิเทศ) โครงการท่าอากาศยานนครปฐม โดยมีหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนที่สนใจเข้าร่วม เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2563
สำหรับโครงการศึกษาความเหมาะสมในการจัดตั้งสนามบินนครปฐม กรมท่าอากาศยานได้ดำเนินการขึ้นเพื่อบรรเทาความคับคั่งของท่าอากาศยานหลัก และอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน โดยศึกษาความต้องการใช้ท่าอากาศยาน และเปรียบเทียบพื้นที่ทางเลือกที่มีศักยภาพในการก่อสร้างสนามบิน ซึ่งพิจารณาปัจจัยในหลายด้าน ทั้งในด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และสิ่งแวดล้อม เพื่อคัดเลือกพื้นที่ที่เหมาะสม รวมทั้งสำรวจ ออกแบบ และจัดทำแบบก่อสร้างเบื้องต้น
ภายหลังจากการศึกษาเบื้องต้นพบว่า พื้นที่ที่มีความเหมาะสมในการก่อสร้างคือ อำเภอบางเลน (ต.บางระกำ ต.ลำพญา) และอำเภอนครชัยศรี (ต.บางแก้วฟ้า ต.บางพระ ต.วัดละมุด) ห่างจากโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางใหญ่-กาญจนบุรี ประมาณ 5.3 กิโลเมตร และใช้ระยะเวลาในการเดินทางจากกรุงเทพฯ ประมาณ 1 ชั่วโมง 10 นาที
ซึ่งจากการออกแบบโครงการฯ จะมีพื้นที่ขนาด 3,500 ไร่ ทางวิ่งขนาด 45×2,500 เมตร อาคารที่พักผู้โดยสาร 3 อาคาร พื้นที่ประมาณ 115,740 ตารางเมตร รองรับผู้โดยสารได้ 5,100 คนต่อชั่วโมง อาคารและลานจอดรถ จอดรถได้ประมาณ 4,200 คัน
โดยเมื่อเดือนธันวาคม 2562 ที่ผ่านมา กรมท่าอากาศยานได้จัดสัมมนาทดสอบความสนใจของภาคเอกชนโครงการท่าอากาศยานนครปฐม ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี และภาคเอกชนให้ความสนใจเป็นอย่างมาก โดยภายหลังจากการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ 2 (ปัจฉิมนิเทศ) ในครั้งนี้เสร็จสิ้นแล้ว กรมท่าอากาศยานจะได้รวบรวมข้อมูลสรุปผลทั้งหมด นำเสนอต่อหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงการนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติโครงการและงบประมาณในการลงทุนต่อไป
ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เปิดเผยว่า จากการศึกษาออกแบบโครงการท่าอากาศยานนครปฐม คาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 25,000-30,000 ล้านบาท และมีอายุสัมปทาน 30 ปี สามารถรองรับผู้โดยสารได้กว่า 30 ล้านคน/ปี และคาดว่าจะมีเที่ยวบินเชิงธุรกิจประมาณ 11,770 เที่ยวบินในปี 2589 โดย ทย. คาดว่าจะสรุปผลการศึกษา เสนอกระทรวงคมนาคมประมาณกลางปี 2563 จากนั้นจะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) และจะเริ่มก่อสร้างปี 2566 แล้วเสร็จพร้อมเปิดบริการปี 2569