กระทรวงคมนาคม (คค.) ได้เสนอรายงานผลการดำเนินงานของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ในปีงบประมาณ 2562 ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา โดยระบุถึงผลงานในปีที่ผ่านมา และนโยบายของคณะกรรมการ ในการดำเนินโครงการและแผนงานที่จะทำต่อเนื่อง ในปี 2563 ตามที่คณะกรรมการ รฟม. ได้เห็นชอบเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2563
ความคืบหน้ารถไฟฟ้า 5 เส้นทาง
โดยผลการดำเนินงานของ รฟม. ในปีงบประมาณ 2562 ด้านการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน มี 5 โครงการ คือ รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค และช่วงบางซื่อ-ท่าพระ ซึ่งได้เปิดให้บริการตลอดเส้นทางอย่างเป็นทางการแล้ว ตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม 2563
ส่วนรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ที่ รฟม. รับผิดชอบด้านการก่อสร้างงานโยธา ได้ทยอยส่งมอบงานให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) โดยได้เปิดให้บริการ 5 สถานี ช่วงสถานีหมอชิต-สถานีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2562 และจะเปิดเพิ่มอีก 4 สถานี ประกอบด้วย สถานีกรมป่าไม้ สถานีบางบัว สถานีกรมทหารราบที่ 11 และสถานีวัดพระศรีมหาธาตุ ในวันที่ 5 มิ.ย. 63 จากนั้นจะทยอยเปิดให้บริการตลอดทั้งสายภายในปี 2563
นอกจากนั้นยังมี รถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) คาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือนมีนาคม 2567, รถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี คาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือนตุลาคม 2564 และ รถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง คาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือนตุลาคม 2564
เตรียมประกวดราคา 1 โครงการ
ส่วนโครงการที่อยู่ระหว่างการประกวดราคามี 1 โครงการ คือ รถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ขณะนี้ รฟม. อยู่ระหว่างเตรียมการประกวดราคาก่อสร้างงานโยธาฯ และปรับปรุงรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการฯ ก่อนนำเสนอต่อคณะกรรมการ รฟม. ตามขั้นตอน ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือนมีนาคม 2570
เตรียมประกาศเชิญชวนคัดเลือกเอกชน 1 โครงการ
นอกจากนี้ยังมีโครงการที่อยู่ระหว่างเตรียมประกาศเชิญชวนคัดเลือกเอกชน 1 โครงการ คือ รถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมฯ ซึ่ง ครม. ได้มีมติอนุมัติให้ดำเนินโครงการแล้ว โดยคาดว่าจะลงนามสัญญากับเอกชนผู้ร่วมลงทุนในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 และคาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือนกันยายน 2569
โครงการรถไฟฟ้าเมืองหลักภูมิภาค
โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ระยะที่ 1 ช่วงท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต – ห้าแยกฉลอง ระยะทาง 42 กิโลเมตร จำนวน 21 สถานี อยู่ระหว่างนำเสนอคณะกรรมการ รฟม. เพื่อพิจารณาเห็นชอบการดำเนินโครงการและรูปแบบการลงทุนตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 คาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือนมกราคม 2569
โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ สายสีแดง ช่วงโรงพยาบาลนครพิงค์ – แยกแม่เหียะสมานสามัคคี ระยะทางประมาณ 15.8 กม. (ทางวิ่งระดับดินประมาณ 9.3 กม. ทางวิ่งใต้ดินประมาณ 6.5 กม.) สถานีทั้งหมด 16 สถานี แบ่งเป็นสถานีบนดิน 9 สถานี สถานีใต้ดิน 7 สถานี ศึกษารายละเอียดความเหมาะสม ออกแบบ และจัดเตรียมเอกสารประกวดราคา ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม แล้วเสร็จ 96% คาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือนธันวาคม 2570
โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดนครราชสีมา สายสีเขียว ช่วงตลาดเซฟวัน – สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์ ระยะทาง 11.15 กิโลเมตร จำนวน 21 สถานี ศึกษารายละเอียดความเหมาะสม ออกแบบ และจัดเตรียมเอกสารประกวดราคา ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2563 แล้วเสร็จ 85% คาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือนกรกฎาคม 2568
โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดพิษณุโลก สายสีแดง ช่วงมหาวิทยาลัยพิษณุโลก – ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลพิษณุโลก ระยะทาง 12.6 กิโลเมตร จำนวน 15 สถานี อยู่ระหว่างการตรา พ.ร.ฎ. ให้อำนาจ รฟม. ดำเนินกิจการรถไฟฟ้าในจังหวัดพิษณุโลก คาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือนกุมภาพันธ์ 2571
ผู้โดยสาร MRT น้ำเงิน – ม่วง ปี 62 เพิ่มขึ้น
ด้านการให้บริการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน รฟม. ได้เปิดให้บริการแล้ว 2 เส้นทาง คือ รถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล หรือ MRT สายสีน้ำเงิน มีผู้โดยสารเฉลี่ย 324,706 คน-เที่ยว/วัน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 5.66%
ส่วนรถไฟฟ้ามหานครสายฉลองรัชธรรม หรือ MRT สายสีม่วง มีผู้โดยสารเฉลี่ย 53,416 คน-เที่ยว/วัน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 14.77%
สำหรับปี 2563 รฟม. มีเป้าหมายที่จะปรับปรุงและพัฒนาการให้บริการให้สอดรับกับนโยบายรัฐบาล และสอดคล้องกับความต้องการของประชาชน โดยมีแนวทางตามแผนวิสาหกิจปีงบประมาณ 2560-2565 ฉบับปรับปรุงปีงบประมาณ 2563 ซึ่งคาดการณ์ว่าจะมีผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคลเพิ่มขึ้น 5 % และผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าสายฉลองรัชธรรมเพิ่มขึ้น 7%
ด้านการเงิน รฟม. มีผลประกอบการกำไรสุทธิ 1,171.22 ล้านบาท โดยมีรายได้ 12,362.87 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายรวม 11,191.65 ล้านบาท สามารถเบิกจ่ายงบลงทุน 99.99%
ปี 2563 ปีแห่งความยากลำบาก
กระทรวงคมนาคม มีความเห็นว่า ภาพรวมผลการดำเนินงานของ รฟม. ในปี 2562 นั้นอยู่ในระดับดีเยี่ยม โดยสามารถผลักดันให้มีปริมาณผู้โดยสารโครงการรถไฟฟ้ามหานครสายเฉลิมรัชมงคล และสายฉลองรัชธรรมเป็นไปตามเป้าหมายและมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ส่วนการดำเนินการในปี 2563 จะเป็นปีที่ยากลำบากสำหรับการขนส่งมวลชนทางรางทั้งระบบ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในภาพรวมคาดว่า รฟม. จะมีปริมาณผู้โดยสารมาใช้บริการต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ ส่วนจะมีผลกระทบมากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ที่ปัจจุบันยังไม่สามารถคาดการณ์ได้
เร่งแผนประกวดราคา-ก่อสร้าง
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การดำเนินการของ รฟม. ในปี 2563 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ คค. ได้มอบหมายให้ รฟม. เร่งดำเนินการ ใน 4 เรื่อง คือ
1. เร่งดำเนินการประกวดราคา/คัดเลือกเอกชนเพื่อร่วมลงทุนสำหรับโครงการรถไฟฟ้าที่ ครม. ได้มีมติอนุมัติแล้ว
2. เร่งดำเนินการก่อสร้างโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างให้เป็นไปตามแผนงาน โดยให้ความสำคัญกับการบริหารผลกระทบต่อการจราจรในทุกมิติ และให้ควบคุมการก่อสร้างไม่ให้เกิดฝุ่นละออง PM 2.5 ตามมาตรการที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด
3. เร่งดำเนินการพัฒนาระบบและสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ที่จะช่วยให้การเชื่อมต่อการเดินทางด้วยระบบรถไฟฟ้ากับระบบขนส่งมวลชนรูปแบบอื่นเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและสะดวกสบาย ให้สามารถใช้งานได้ตามแผนงานที่กำหนดไว้ โดยเฉพาะการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม
4. การดำเนินโครงการระบบขนส่งมวลชนทางรางในเมืองภูมิภาคให้ รฟม. ให้ความสำคัญสูงสุดกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่
นอกจากมีเป้าหมายในการผลักดันโครงการต่าง ๆ ให้สำเร็จตามแผน รฟม. ยังมีแผนที่จะพัฒนาบริการด้านต่าง ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการ โดยมีเป้าหมายความพึงพอใจของผู้ใช้บริการในระดับมาก-มากที่สุดต่อบริการรถไฟฟ้าและบริการเสริมอื่น ๆ ทั้งในรถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคลและสายฉลองรัชธรรม อยู่ที่ 80%
ขณะเดียวกัน รฟม. ยังมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาองค์กรและทรัพยากรบุคคล ให้มีสมรรถนะตามมาตรฐานที่องค์กรกำหนด เช่น มีการเปิดศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรในระบบราง มีการพัฒนากระบวนการการบริหารอาคาร/ลานจอดรถผ่านนวัตกรรม และมีการพัฒนาองค์ความรู้ด้านการบริหารการก่อสร้าง การบริหารโครงการ และการจัดซื้อจัดจ้างระบบรถไฟฟ้าและระบบราง เพื่อให้การบริการ การขยายโครงข่ายรถไฟฟ้า เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเติบโตอย่างแข็งแกร่ง