Wednesday, December 7, 2022
More

    ไม่หวั่นแม้มีต้นไม้ถูกตัด กทม.ลุยเฟส 2 GREEN BANGKOK 2030 เพิ่มพื้นที่สีเขียว 9 โครงการ

    เนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลก BLT ชวนย้อนดูข่าวคราว กทม. เกี่ยวกับต้นไม้และพื้นที่สีเขียวในรอบปี 2020 ที่ผ่านมา ข่าวดีน่าชื่นใจสุดคือ ความคืบหน้าโครงการ Green Bangkok 2030 เพื่อสร้างพื้นที่สีเขียวที่มีคุณภาพและยั่งยืนภายใต้การมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน

    เผยความคืบหน้าโครงการ GREEN BANGKOK รับวันสิ่งแวดล้อมโลก

    นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้เป็นประธานการประชุมติดตามความก้าวหน้าโครงการ Green Bangkok 2030 โดยมี นายชาตรี วัฒนเขจร ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม ผู้บริหารสำนักสิ่งแวดล้อม ผู้แทนบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กลุ่ม Big Trees Project และกลุ่ม We Park ร่วมประชุม


    โดยสำนักสิ่งแวดล้อมได้รายงานความคืบหน้าโครงการ GREEN BANGKOK 2030 ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินโครงการนำร่องเฟสที่ 1 ว่ามีความคืบหน้าไปมาก โดยปัจจุบันมีโครงการที่ดำเนินการแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการแก่ประชาชนแล้ว 1 แห่งได้แก่สวนปิยะภิรมย์เขตบางกะปิ

    ส่วนที่ยังดำเนินการอยู่ คือ โครงการ ณ สวนสันติพร เขตพระนคร มีกำหนดแล้วเสร็จในเดือนสิงหาคม 2563 โครงการสวนบริเวณทางแยกต่างระดับถนนร่มเกล้าตัดกับถนนเจ้าคุณทหาร พื้นที่ 18 ไร่มีกำหนดแล้วเสร็จในเดือนกันยายน

    สำหรับโครงการสวนชุมชนเขตบางรัก สวนภายในซอยวิภาวดี 18 แยก 2 และสวนสาธารณะภายในสถานีพัฒนาที่ดินกรุงเทพมหานคร เขตบางขุนเทียน คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2564

    นอกจากนั้นยังได้เตรียมแผนดำเนินการสำหรับโครงการเฟสที่ 2 จำนวน 9 โครงการไว้แล้ว โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2564-2565

    ในส่วนของความร่วมมือจากภาคเอกชนนั้น ปตท. ได้มีโครงการพัฒนาพื้นที่สีเขียวภายในสำนักงานใหญ่ ถนนวิภาวดี ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จปลายปี 2563

    อีกทั้งยังมีโครงการพัฒนาพื้นที่สีเขียวตามแนวถนนพหลโยธิน ตั้งแต่ห้าแยกลาดพร้าวถึงอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ซึ่งเป็นการดำเนินการร่วมกันระหว่าง กรุงเทพมหานคร กับภาคเอกชน ได้แก่ ปตท.และบริษัทห้างร้านหน่วยงานราชการตลอดจนเครือข่ายภาคประชาชนตลอดแนวถนนของโครงการอีกด้วย

    อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมากรุงเทพมหานครได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาคเอกชนและประชาชนทั่วไป เข้าร่วมโครงการ GREEN BANGKOK 2030 เป็นจำนวนมากซึ่งจะเป็นการสนับสนุนให้เกิดการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในพื้นที่กรุงเทพมหานครเป็นไปอย่างยั่งยืน

    ทั้งนี้ ในที่ประชุม กลุ่ม We Park ได้เสนอแนวทางการพัฒนาพื้นที่สีเขียวของเมืองให้เป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับการใช้ชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) ใน 3 แนวทาง ได้แก่ 1.พื้นที่ความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งเป็นการใช้พื้นที่ว่างเปล่า พื้นที่บริเวณใดบริเวณหนึ่งในสวนสาธารณะเดิม หรือการใช้พื้นที่ที่อยู่ระหว่างรอการพัฒนา มาทำเป็นพื้นที่การเกษตรสำหรับปลูกพืชผักสวนครัวที่ใช้บริโภค 2.พื้นที่ทางสัญจรที่ร่มรื่น ส่งเสริมให้ใช้ทางเท้าในการเดิน เพื่อลดการใช้รถยนต์ และ 3.พื้นที่สวนขนาดเล็ก (Pocket Park) แทรกตัวเข้าไปอยู่ในชุมชนเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงพื้นที่สีเขียวได้ง่ายขึ้น

    โดยทั้ง 3 แนวทางนี้ จะเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคประชาชน เพื่อให้พื้นที่สีเขียวในเมืองเป็นพื้นที่ที่มีคุณภาพและตอบสนองกับการใช้ชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) อย่างแท้จริง

    กทม.ตัดต้นไม้ได้ก็ปลูกใหม่ได้!

    อย่างไรก็ตาม ในปี 2020 นี้ ยังคงมีข่าวว่า กทม. ตัด/ย้ายต้นไม้กลางกรุงอยู่เป็นระลอกทั้งด้วยเหตุผลถึงความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนหรือจากการดำเนินโครงการต่างๆจึงต้องตัดหรือย้ายต้นไม้ไปไว้ที่อื่น

    เดือนเมษายน กทม. เข้าดำเนินการตัดแต่งและตัดเรือนยอด ต้นไม้ 79 ต้น บริเวณริมถนนเจริญราษฎร์ เขตสาทร ซึ่งทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า กทม. ได้รับการตัดตกแต่งเรือนยอดจนเหลือแต่ลำต้นขัดกับการเพิ่มพื้นที่สีเขียวตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

    ในเดือนเดียวกัน เฟซบุ๊กเพจเฮ้ย นี่มันฟุตบาทไทยแลนด์ได้โพสต์รูปภาพของต้นไม่บริเวณริมถนนวิทยุ ข้างสวมลุมพินี ตั้งแต่แยกพระราม 4-แยกสารสินที่ถูกเจ้าหน้าที่เขตปทุมวันตัดจนเหลือแต่ลำต้นจนกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของชาวเน็ตในโลกโซเชียลฯ

    ล่าสุด ในเดือนมิถุนายน กทม. เดินหน้าดำเนินการล้อมย้ายต้นไม้ออกจากแนวการก่อสร้างอุโมงค์ทางเดินลอดถนนมหาราชเพื่อปรับปรุงสภาพแวดล้อมบริเวณสนามหลวงถนนหน้าพระลานและถนนมหาราชให้เป็นระเบียบเรียบร้อยทำให้มีเสียงตอบรับจากคนกรุงว่าจำเป็นมากน้อยแค่ไหนที่ต้องย้ายต้นไม้ออกจากบริเวณดังกล่าว

    ทั้งนี้สำหรับโครงการก่อสร้างอุโมงค์ทางเดินลอดถนนหน้าพระลานและถนนมหาราชเกิดขึ้นจากแนวคิดของคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่าเพื่อปรับปรุงสภาพแวดล้อมบริเวณสนามหลวงถนนหน้าพระลานและถนนมหาราชให้เป็นระเบียบเรียบร้อยมีศักยภาพรองรับนักท่องเที่ยวและเกิดความปลอดภัยในการสัญจร

    จะเห็นว่าแม้ยังคงมีข่าวคราวเรื่องการตัดต้นไม้ในพื้นที่กทม. แต่กทม. เองก็ได้ตระหนักถึงความสำคัญของต้นไม้และพื้นที่สีเขียวในเมือง จึงได้จัดโครงการต่างๆ ออกมาเพื่อสร้างพื้นที่สีเขียวที่มีคุณภาพและยั่งยืนภายใต้การมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน