การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) แจ้งว่า เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2563 เป็นวันสุดท้ายในการเปิดขายเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (Request for Proposal Documents: RFP) เป็นผู้ร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ซึ่งมีเอกชนให้ความสนใจติดต่อขอซื้อเอกสารข้อเสนอการร่วมลงทุนฯ จำนวน 1 รายได้แก่บริษัทวรนิทัศน์ดีเวลอปเมนท์จำกัด
10 บริษัทร่วมซื้อซองร่วมลงทุน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์)
เมื่อรวมจำนวนตั้งแต่วันที่ 10 กรกฎาคม 2563 ซึ่งเป็นวันแรกที่เปิดขายเอกสารฯ มีเอกชนให้ความสนใจติดต่อขอซื้อเอกสารข้อเสนอการร่วมลงทุนฯ จำนวนทั้งสิ้น 10 รายดังนี้
1. บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM
2. บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC
3. บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS
4. บริษัท ซิโน–ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC
5. บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD
6. บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH
7. บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK
8. บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF
9. ซิโนไฮโดร คอร์ปอเรชั่น ลิมิเต็ด
10. บริษัทวรนิทัศน์ดีเวลอปเมนท์จำกัด
เตรียมจัดประชุมชี้แจงการคัดเลือก 29 ก.ค. นี้
สำหรับขั้นตอนต่อไป รฟม. มีกำหนดการจัดประชุมชี้แจงการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ในวันที่ 29 กรกฎาคม 2563 เพื่อชี้แจงรายละเอียดแก่เอกชนผู้ซื้อเอกสารข้อเสนอฯถึงประเด็นที่ควรทราบเกี่ยวกับรายละเอียดโครงการหรืองานในสัญญา
รวมถึงการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนโครงการฯเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการจัดทำเอกสารข้อเสนอฯสำหรับการร่วมลงทุนก่อสร้างงานโยธาการจัดหาระบบรถไฟฟ้าการให้บริการการเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุงรักษาต่อไป
รถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี มีระยะทางรวม 35.9 กิโลเมตร
ทั้งนี้ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพมหานคร ทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร แบ่งเป็นส่วนตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และ สถานียกระดับ 7 สถานี) และส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมฯ) ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย)