แม้วิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะคลี่คลายแล้ว แต่ภาวะซึมลึกของวิกฤติเศรษฐกิจยังคงอยู่ การเร่งเดินหน้าการลงทุนในงานก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าทั้งในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมถึงเมืองหลักในภูมิภาค ที่อยู่ในความรับผิดชอบของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จึงเป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพื่อฟื้นฟูประเทศ และพัฒนาบริการขนส่งสาธารณะด้วยรถไฟฟ้าให้มีโครงข่ายที่ครอบคลุมมากยิ่งขึ้นโดยเร็ว
โดย ในปี 2563 นี้ นอกจาก รฟม. จะระเร่งรัดการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี และ โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี (สุวินทวงศ์)
ขณะเดียวกันก็มีการขับเคลื่อนแผนงานโครงการที่อยู่ในความรับผิดชอบ และมีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ได้ เปิดขายเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (Request for Proposal Documents: RFP) เป็นผู้ร่วมลงทุนโครงการ ระหว่างวันที่ 10 กรกฎาคม ถึงวันที่ 24 กรกฎาคม 2563 ซึ่งมีบริษัทเอกชนสนใจซื้อเอกสารข้อเสนอฯ รวมทั้งสิ้น 10 ราย และจะให้เอกชนยื่นข้อเสนอในวันที่ 23 ก.ย. 2563 โดยคาดว่าจะสามารถลงนามในสัญญาร่วมลงทุนได้ภายในเดือน ธันวาคม 2563
คลอด พ.ร.ฎ.เวนคืนรถไฟฟ้าสายสีม่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก)
ส่วนโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ล่าสุด เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ พ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนในท้องที่เขตบางซื่อ เขตดุสิต เขตพระนคร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตสัมพันธวงศ์ เขตธนบุรี เขตคลองสาน เขตจอมทอง เขตราษฎร์บูรณะ เขตทุ่งครุ กรุงเทพฯ และอ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ 2563 เพื่อดำเนินกิจการรถไฟฟ้าในส่วนที่เกี่ยวกับการจัดสร้างโครงการด้วยระบบรถไฟฟ้า สถานที่จอดรถสำหรับผู้โดยสาร และกิจการต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องออกมาแล้ว ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ 4 ปี โดย กำหนดให้เริ่มต้นเข้าสำรวจที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ที่จะเวนคืนภายใน 180 วันนับแต่วันที่ พ.ร.ฎ.ฉบับนี้มีผลบังคับใช้
เริ่มฟังความเห็นสร้าง Tram ภูเก็ต
ในส่วนของโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ระยะที่ 1 ช่วงท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต – ห้าแยกฉลอง ได้มีการจัดการประชุมเพื่อประชาสัมพันธ์โครงการและรับฟังข้อมูล ข้อคิดเห็น รวมถึงข้อเสนอแนะจากประชาชนในพื้นที่ ตัวแทนภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้สนใจในจังหวัดภูเก็ต ไปเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2563
โดยรูปแบบของโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต เป็นระบบรถไฟฟ้ารางเบา (LRT/Tram) แบ่งการดำเนินงานออกเป็น 2 ระยะ ซึ่ง รฟม. จะเริ่มดำเนินการโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ระยะที่ 1 ช่วงท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต – ห้าแยกฉลอง ระยะทางประมาณ 42 กิโลเมตร มีสถานีทั้งหมด 21 สถานีก่อน
โดยมีกรอบวงเงินลงทุนโครงการเบื้องต้นประมาณ 35,201 ล้านบาท คาดว่าจะสามารถนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบราวกลางปี 2564 รวมถึงประกาศเชิญชวนคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนภายในปี 2565 เพื่อเริ่มดำเนินการก่อสร้างโครงการและสามารถเปิดให้บริการได้ภายในปี 2569 โดยได้มีการกำหนดอัตราค่าโดยสารสูงสุดประมาณ 35 – 140 บาท/เที่ยว
Market Sounding รถรางไฟฟ้าแทรมโคราช
ยังมีความคืบหน้าในส่วนของ โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดนครราชสีมา สายสีเขียว ช่วงตลาดเซฟวัน – สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์ ที่มีกำหนดจัดงาน Market Sounding ในวันที่ 31 ส.ค. นี้ด้วย ซึ่งโครงการนี้ จะเป็นระบบขนส่งมวลชนประเภทระบบรถรางไฟฟ้า (Tram) วิ่งไปตามทางวิ่งหรือรางบนถนน (ระดับดิน) มีระยะทาง 11.15 กม. มีสถานีทั้งสิ้น 21 สถานี รูปแบบโครงการในลักษณะที่ให้เอกชนร่วมลงทุน (PPP) ระยะเวลา 30 ปี
วงเงินลงทุนโครงการรวมอยู่ที่ 7,115.48 ล้านบาท แบ่งเป็นค่างานจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 1,180.21 ล้านบาท, ค่างานก่อสร้างงานโยธา 2,254.70 ล้านบาท, ค่างานระบบรถไฟฟ้า 2,260.36 ล้านบาท, ค่างานจัดหาขบวนรถไฟฟ้า 995.54 ล้านบาท, ค่าจ้างที่ปรึกษาบริหารและควบคุมงานก่อสร้าง 176.59 ล้านบาท และ Provisional Sum (เผื่อเหลือเผื่อขาด) 248.08 ล้านบาท มีระยะเวลาดำเนินการรวมทั้งสิ้น 6 ปี 5 เดือน
เพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกช่วยการเดินทาง
นอกจากนั้น รฟม. ยังเร่งพัฒนาระบบที่เกี่ยวข้องกับการเพิ่มเติมสิ่งอำนวยความสะดวกในการเดินทางเข้าถึงระบบรถไฟฟ้าด้วย โดยจะมีการเปิดให้บริการลานจอดรถ สถานีสุขุมวิท ทางเข้า-ออกที่ 1 ในเส้นทางโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล รองรับรถยนต์ได้ 25 คัน ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2563 เป็นต้นไป เวลา 05.00 – 01.00 น. เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการจอดรถยนต์ แล้วโดยสารรถไฟฟ้าต่อไปยังจุดหมายปลายทาง
จากนั้น ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 รฟม. จะเปิดให้บริการที่จอดรถจักรยานยนต์ บริเวณ ชั้น G อาคารจอดรถ 9 ชั้น สถานี MRT ลาดพร้าว โดยคิดอัตราค่าบริการ 5 บาท/4 ชั่วโมง เพื่อให้ผู้ที่สนใจสามารถจอดรถจักรยานยนต์แล้วเดินทางโดยรถไฟฟ้าได้อย่างสะดวก ปลอดภัย และกำหนดเวลาได้ ซึ่งอาคารจอดรถดังกล่าวเปิดให้บริการตั้งแต่ 05.00 น. – 01.00 น.
อีกทั้งยังมีโครงการพัฒนาระบบการเชื่อมต่อการเดินทาง ท่าเรือพระนั่งเกล้า เชื่อม MRT สายสีม่วงที่บริเวณสถานีพระนั่งเกล้า ซึ่งกำลังก่อสร้างในส่วนของโครงสร้างฐานรากท่าเทียบเรือและอาคารพักคอยผู้โดยสาร โดยมี บริษัท แพนเรล (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ดำเนินการ คาดว่าจะแล้วเสร็จใน 1 ปี
ไม่เพียงแค่พัฒนาเส้นทางการเดินทาง แต่ตามแผนวิสาหกิจ ปีงบประมาณ 2560 – 2565 (ฉบับปรับปรุงปีงบประมาณ 2563) รฟม. ยังมีแผนพัฒนา ปรับปรุง เพิ่มเติมสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อเชื่อมต่อการเดินทาง กับระบบขนส่งมวลชนอื่นๆ (Inter-transfer, ตั๋วร่วม) ให้เกิดการเดินทางที่สะดวก ไร้รอยต่อ และเป็นการเพิ่มทางเลือกให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวหัน มาเลือกใช้บริการเพิ่มมากขึ้น รวมถึงจัดโครงการส่งเสริมอาชีพ ผลิตภัณฑ์ บริการ และแหล่งท่องเที่ยวของชุมชนบริเวณแนวสายทางรถไฟฟ้า เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนและส่งเสริมการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน อีกทั้งยังเป็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ก่อให้เกิดการจ้างงานเป็นจำนวนมากอีกด้วย