Thursday, October 5, 2023
More

    รายงานวิจัย คาดการณ์ถึงแนวโน้มการเดินทางในกรุงเทพมหานครที่อาจเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต

    รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ สำนักงานวิจัยแห่งชาติ (วช.) หัวข้ออนาคตชีวิตเมืองในประเทศไทยเรื่องการเดินทางในเมือง ได้คาดการณ์ถึงแนวโน้มการเดินทางในกรุงเทพมหานคร โดยสรุปความเป็นไปได้และแนวโน้มในการเดินทางของคนเมืองในภาคมหานครที่สำคัญ

    การเพิ่มขึ้นของประชากรในเขตเมืองและการใช้รถยนต์มีแนวโน้มสูงขึ้น

    ปัจจัยหลักการเดินทางในกรุงเทพฯ ที่เพิ่มสูงขึ้นมาจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร การย้ายถิ่นฐานสู่เมือง ขนาดรูปแบบครัวเรือนที่เล็กลงและครอบครัวเดี่ยว สำหรับการเดินทางด้วยรถส่วนตัวแม้ว่าจะมีสัดส่วนเทียบเท่ากับการเดินทางรูปแบบอื่นๆ แต่ปริมาณการใช้รถส่วนตัวยังคงเพิ่มมากขึ้น โดยในปี 2561 มีการเดินทางด้วยรถส่วนตัวถึง 22 ล้านเที่ยวต่อวัน คาดการณ์ว่าจะเพิ่มเป็น 24 ล้านเที่ยวต่อวันในปี 2585 พร้อมกับการสร้างรถไฟฟ้าที่ครอบคุมถือว่าเป็นแนวโน้มสำคัญของการเดินทาง


    แนวโน้มสาเหตุการจราจรติดขัด เกิดจากจำนวนรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

    อนาคตปริมาณการเดินทางด้วยรถยนต์ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องซึ่งในปี 2561 มีการใช้รถยนต์ถึง 14 ล้านเที่ยวต่อวัน คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 19 ล้านเที่ยวต่อวันในปี 2585 ขณะที่โครงข่ายถนนมีอยู่เท่าเดิม อีกทั้งการเดินทางด้วยรถจักรยานยนต์ส่วนตัวลดลงเกือบครึ่งหนึ่งจึงมีแนวโน้มว่ารถจะติดมากขึ้นในอนาคตจากสาเหตุดังนี้

    – การเพิ่มขึ้นจำนวนของรถยนต์ในอนาคต จากสถิติการจดทะเบียนยังคงเพิ่มสูง ในอนาคตหากมีการพัฒนารถยนต์ไร้คนขับ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการลงทุนในระบบโครงข่ายถนนจำนวนมาก

    – การเพิ่มขึ้นของรถจักรยานยนต์ เช่นเดียวกัน สถิติการจดทะเบียนรถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปัจจุบันมีจำนวนรถจักรยานยนต์มากกว่ารถยนต์ รวมถึงจักรยานยนต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อย่างเช่นจักรยานยนต์ไฟฟ้า

    การเดินทางด้วยระบบสาธารณะ คาดเพิ่มขึ้น 16% ในอนาคต

    สำหรับในการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะคาดการณ์ว่า จะเพิ่มสูงขึ้นโดยในปี ในปี 2561 มีจำนวนการเดินทางด้วยระบบสาธารณะ 10% และคาดการว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 16% ในปี 2585 โดยเกิดจาก

    – จำนวนผู้โดยสารรถไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น จากข้อมูลสถิติการโดยสารรถไฟฟ้า BTS และ MRT มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และคาดการณ์ว่าในอนาคตจำนวนผู้โดยสารรถไฟฟ้าจาก 1.2 ล้านคน-เที่ยว/วัน ในปี 2561 จะเพิ่มขึ้นเป็น 5.2 ล้านคน-เที่ยว/วัน ในปี 2585

    – จำนวนผู้โดยสารรถเมล์ ขสมก. ปัจจุบันผู้โดยสารรถเมล์บางส่วนเปลี่ยนการเดินทางด้วยรถตู้หรือรถไฟฟ้า แต่ในอนาคตคาดการณ์ว่าผู้โดยสารรถเมล์จาก 7.8 ล้านคน-เที่ยว/วัน ในปี 2561 เพิ่มขึ้นเป็น 10.4 ล้านคน-เที่ยว/วัน ในปี 2585

    – จำนวนการเติบโตของผู้ให้บริการ ride hailing หรือแพลตฟอร์มบริการเดินทางโดยใช้งานผ่านแอพพลิเคชั่น มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดและต่อเนื่องเช่นกัน

    การพัฒนาเมืองส่งเสริมการเดินทางแบบไม่ใช้เครื่องยนต์

    หนึ่งในแนวโน้มการเดินทางในอนาคต คือการเดินทางแบบไม่ใช้เครื่องยนต์ ภายหลังการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนทางรางในเมืองเริ่มมีประชากรหันมาใช้ระบบขนส่งรถไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น รวมถึงจำนวนคนเดินเท้าที่เพิ่มขึ้นจากการส่งเสริมบรรยากาศการเดิน ได้รับความนิยมในย่านท่องเที่ยวต่างๆ อีกทั้งยังส่งเสริมการพัฒนาเมืองให้สอดคล้องกับโครงข่ายรถไฟฟ้าด้วยแนวคิดการพัฒนาพื้นที่รอบสถานี เป็นต้น