กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เผยพร้อมนำข้อมูลรายงานการติดตามผลการศึกษาทั่วโลก ปี 2563 ไปเร่งพัฒนาการศึกษาทั้งในด้านการจัดสรรงบประมาณ การเรียนออนไลน์ ฯลฯ
นักเรียนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร กว่าร้อยละ 50 ต้องการที่จะเรียนที่บ้าน
โดยนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า เริ่มจากเรื่องการจัดสรรงบประมาณจะต้องทำให้สามารถมีการกระจายในลักษณะที่มีหลักการเข้าเฉพาะกลุ่มที่มีความจำเป็นสูง แต่ที่ผ่านมาเรายังไม่สามารถบริหารจัดการได้อย่างเต็มที่ เราคิดว่าการให้งบประมาณกับทุกคนจะทำให้ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาหายไป หรือปัญหาต่าง ๆ จะดีขึ้น ซึ่งผลที่ออกมาไม่ได้เป็นไปอย่างนั้น
ตัวอย่างเช่น การควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก หากเราสามารถควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กจำนวน 2,000 โรงเรียน จากเดิมที่โรงเรียนทุกโรงเรียนจะได้งบประมาณเท่ากันจำนวน 200,000 บาท เราอาจจะสนับสนุนงบประมาณให้กับโรงเรียนที่เป็นโรงเรียนแม่เหล็กได้ถึงโรงเรียนละ 1,000,000 บาท ซึ่งตนมองว่าเป็นการจัดสรรงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ
อีกทั้งจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้เราเห็นจุดเปราะบาง และโอกาสของการศึกษา คือ ครูได้มีโอกาสใช้เทคโนโลยีมากขึ้น เด็กมีโอกาสในการหาความรู้จากโลกออนไลน์มากขึ้น อีกทั้งจากการที่ตนสุ่มถามนักเรียนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร พบว่า กว่าร้อยละ 50 ต้องการที่จะเรียนที่บ้าน เพราะตนเชื่อว่าเด็กได้ก้าวข้ามครูไปแล้ว เด็กสามารถหาความรู้ได้จากระบบออนไลน์ ดังนั้น ศธ.จะต้องหาความเหมาะสมที่จะทำให้ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาหายไป
การเพิ่มโรงเรียนไม่ใช่คำตอบ เผยเตรียมขับเคลื่อนอาชีวศึกษา และการศึกษานอกโรงเรียน
และยังมีการเผยว่าการเพิ่มโรงเรียนไม่ใช่วิธีที่จะลดความเหลื่อมล้ำ แต่จะต้องเป็นการที่เด็กทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาที่มีประสิทธิภาพ ดังนั้นเราต้องกล้าทำ และผมเองได้ท้าทายผู้บริหาร ศธ.ให้ปรับงบฯ ด้านการศึกษา ไม่ว่าจะหน่วยงานใด จะต้องนำงบฯ มารวมกัน
และหาความเหมาะสมว่าจะผลักดันไปทางไหน ซึ่งส่วนหนึ่งอาจจะต้องไปขับเคลื่อนอาชีวศึกษา หรือการศึกษานอกโรงเรียน ไม่ได้มาอัดอยู่ที่การศึกษาขั้นพื้นฐาน และ สพฐ.เองก็ต้องยอมรับว่า ทุกวันนี้โลกไม่ได้อยู่ที่การศึกษาขั้นพื้นฐาน การให้เงินอุดหนุนรายหัวสามารถทำได้ส่วนหนึ่ง แต่ต้องมีการปรับในส่วนอื่น ๆ ให้สอดคล้องด้วย เช่น กลุ่มด้อยโอกาส กลุ่มผู้พิการ เป็นต้น