การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดให้เอกชนเข้ายื่นเอกสารข้อเสนอการร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วง บางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มูลค่ากว่า 1.2 แสนล้านบาท
“BEM” โชว์เหนือยื่นเอกสารประมูลรายเดียว ไม่รวมกลุ่มกับรายใด
รฟม. เปิดยื่นเอกสารการร่วมลงทุนรถไฟฟ้าสายสีส้ม พบว่า มีบริษัทที่มายื่นซองเสนอการร่วมลงทุนฯ จำนวน 2 รายได้แก่
1.บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM
2.กลุ่มกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (BSR Joint Venture) ประกอบด้วย บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS บริษัท ซิโน – ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STECON
BTS ผนึก 3 บริษัทร่วมประมูลชิงรถไฟฟ้าสายสีส้ม
นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ได้เข้าร่วมยื่นซองประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) โดยประกอบไปด้วย 3 บริษัท คือ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอสซี บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอสจี และบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) สำหรับสัดส่วนการถือหุ้นยังไม่สามารถเปิดเผยได้ ในส่วนของบริษัท ราช กรุ๊ปกำจัด (มหาชน) ยังสนใจถือหุ้นอยู่ เราจึงใช้ชื่อ กลุ่มกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (BSR) ส่วนจะร่วมภายหลังหรือไม่นั้นต้องรอดูตอนชนะอีกครั้ง สำหรับเงื่อนไขการประมูลยังไม่สามารถบอกได่้ เพราะอยู่ในระหว่างประกวดราคา ซึ่ง BTS ได้เสนอยื่นครบทั้งหมด 4 ซอง ได้แก่ คุณสมบัติ เทคนิค การเงิน และข้อเสนอเพิ่มเติม รวม 400 กว่าลัง ส่วนเงื่อนไขเรายังทำตามทีโออาร์แรก
เผยแนวเส้นรถไฟฟ้าทางสายสีส้ม ช่วงบางขุนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 35.9 กม.
สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่าง กรุงเทพฯ ฝั่งทิศตะวันออกและฝั่งทิศตะวันตก ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร แบ่งเป็นส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี (สถานี้ใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี) และส่วนตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมฯ) ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย)
เผย 10 บริษัทเอกชนซื้อเอกสารข้อเสนอร่วมลงทุนฯ
วันที่ 10 – 24 กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมานั้น รฟม. ได้เปิดขายเอกสารข้อเสนอการร่วมลงทุนฯ ซึ่งมีเอกชนซื้อเอกสาร จำนวน 10 ราย ประกอบด้วย
1.บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
2.บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
3.บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน)
4. บริษัท ซิโน–ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน)
5. บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน)
6.บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)
7.บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน)
8.บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน)
9.ซิโนไฮโดร คอร์ปอเรชั่น ลิมิเต็ด
10.บริษัท วรนิทัศน์ ดีเวลอปเมนท์ จำกัด