ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 ระลอกใหม่ หลายหน่วยงาน องค์กร ธุรกิจ ออฟฟิศ มีการให้พนักงานทำงานจากที่บ้าน (Work From Home) เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของเชื้อโรค ส่งผลให้การจราจรบนท้องถนนในกรุงเทพมหานครไม่หนาแน่นมากนัก รวมถึงยังส่งผลดีในการช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง แต่สำหรับคนกรุงที่ยังคงต้องเดินทางมาทำงาน โดยเลือกใช้ระบบขนส่งสาธารณะอย่างเช่นรถไฟฟ้า ก็มีมาตรการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายจากหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งที่ผ่านมา การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลการให้บริการรถไฟฟ้ามหานครสายฉลองรัชธรรม หรือ MRT สายสีม่วง และ รถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล หรือ MRT สายสีน้ำเงิน ได้ดำเนินมาตรการปรับลดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง โดยจ่ายสูงสุด 20 บาท ตลอดสาย เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน โดยโปรโมชั่นดังกล่าวได้เริ่มตั้งแต่วันที่ 25 ธันวาคม 2562 จนถึงเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2564 ที่ผ่านมา ส่งผลให้ค่าโดยสารรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วงในปัจจุบัน จัดเก็บในอัตราปกติ คือ 14-42 บาท
แต่เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกอย่างต่อเนื่องและมอบทางเลือกใหม่ให้แก่ผู้ใช้บริการ รฟม. จัดโปรโมชั่นเที่ยวโดยสารในราคาพิเศษ เพื่อให้ผู้โดยสารที่ถือบัตรโดยสาร MRT PLUS และ MRT ประเภทบัตรบุคคลทั่วไป บัตรโดยสารธุรกิจ และบัตรร่วมธุรกิจ สามารถเลือกเติมเที่ยวโดยสารได้ตามความต้องการ และใช้เดินทางได้อย่างสะดวก ประหยัด ทั้งในระบบรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง รถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน รวมถึงการเดินทางเชื่อมต่อระหว่างสายสีม่วงและสายสีน้ำเงิน
เดินทางสบายกับ MRT สายสีม่วง เฉลี่ย 20-30 บาท/เที่ยว จากอัตราค่าโดยสารสูงสุด 42 บาท
เริ่มที่โปรโมชั่นแรก เอาใจผู้โดยสารที่เดินทางในเส้นทางรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วงเป็นส่วนใหญ่ หรือเดินทางในสายสีม่วงเป็นประจำ กับโปรโมชั่นเที่ยวโดยสารแบบจำกัดวัน จำกัดเที่ยว หรือ PL Adult Pass ใช้เดินทางในระบบรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง ระยะทาง 23 กิโลเมตร (กม.) จำนวน 16 สถานี (คลองบางไผ่ – เตาปูน) ซึ่งผู้โดยสารสามารถเลือกแพคเกจที่สอดคล้องกับการเดินทาง และเติมเที่ยวโดยสารได้ที่ห้องออกบัตรโดยสารรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ ถึง 31 กรกฎาคม 2564 ดังนี้
เดินทางกับ MRT สายสีน้ำเงิน ในราคาประหยัด เฉลี่ย 25-30 บาท/เที่ยว จากอัตราค่าโดยสารสูงสุด 42 บาท
โปรโมชั่นที่สอง โปรโมชั่นเที่ยวโดยสารรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน หรือ BL Adult Pass เพื่อรองรับการเดินทางของผู้โดยสารในเส้นทางรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน ซึ่งมีระยะทางรวม 48 กิโลเมตร (กม.) จำนวน 38 สถานี โดยสามารถเลือกแพคเกจที่สอดคล้องกับการเดินทาง และเติมเที่ยวโดยสารได้ที่ห้องออกบัตรโดยสารรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม ถึง วันที่ 31 สิงหาคม 2564 ดังนี้
สำหรับโปรโมชั่น BL Adult Pass นี้ มีความเหมาะสมกับผู้โดยสารที่เดินทางเฉพาะสายสีน้ำเงิน หรือเดินทางในสายสีน้ำเงินเป็นประจำ ซึ่งหากใช้แบบ 50 เที่ยว จะเหลือค่าโดยสารเฉลี่ยเที่ยวละ 25 บาทเท่านั้น จากปกติที่จะต้องจ่ายสูงสุด 42 บาท
เดินทาง 2 สาย MRT ม่วง-น้ำเงิน สุดคุ้ม เฉลี่ย 45-54 บาท จากอัตราค่าโดยสารสูงสุด 70 บาท
นอกจากนั้นยังมี โปรโมชั่นเที่ยวโดยสารร่วม หรือ ML Adult Pass สำหรับใช้เดินทางเชื่อมระหว่างรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน และสายสีม่วง รวม 2 สายทาง 53 สถานี ระยะทางประมาณ 71 กม. โดยสามารถเลือกแพคเกจที่สอดคล้องกับการเดินทาง และเติมเที่ยวโดยสารได้ที่ห้องออกบัตรโดยสารรถไฟฟ้า MRT ทั้งสายสีน้ำเงินและสายสีม่วง ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม ถึง วันที่ 31 สิงหาคม 2564
สำหรับโปรโมชั่น ML Adult Pass นี้ จะช่วยให้ผู้โดยสารที่เดินทางเชื่อม 2 สาย จ่ายค่าโดยสารรวมสูงสุดเพียง 54 บาท/เที่ยว จากอัตราปกติจ่ายสูงสุด 70 บาท
ทั้งนี้ โปรโมชั่นเที่ยวโดยสารทั้ง 3 รูปแบบ มีกำหนดการใช้งานครั้งแรกภายใน 45 วันนับจากวันที่ซื้อเที่ยวโดยสาร หากพ้นกำหนดจะไม่สามารถใช้เดินทางได้ และสามารถใช้เดินทางได้เป็นระยะเวลา 30 วัน นับจากวันที่ใช้เดินทางครั้งแรก ยกเว้น PL Adult Pass 60 เที่ยว 60 วัน จะสามารถใช้เดินทางได้เป็นระยะเวลา 60 วัน นับจากวันที่ใช้เดินทางครั้งแรก นอกจากนี้ โปรโมชั่นเที่ยวโดยสารไม่สามารถคืนเงินได้ สำหรับบัตรนักเรียน นักศึกษายังคงได้รับส่วนลด 10% เด็กและผู้สูงอายุได้รับส่วนลด 50% ทุกเที่ยวเดินทางเช่นเดิม
รฟม. กำหนดอัตราค่าโดยสารเป็นพื้นฐานเดียวกัน ยึดแนวทางจ่ายค่าแรกเข้าเพียงครั้งเดียว ลดภาระค่าใช้จ่ายแก่ประชาชน
นอกจากจะมีโปรโมชั่นเพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางด้วยระบบรถไฟฟ้า MRT ในปัจจุบันแล้ว รฟม. ยังได้คำนึงถึงการกำหนดอัตราค่าโดยสาร และลดภาระการจ่ายค่าแรกเข้าไม่ให้ซ้ำซ้อนกันสำหรับโครงข่ายรถไฟฟ้าที่จะเปิดให้บริการในอนาคตด้วย
โดยนายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) อธิบายว่า รฟม. มีหลักในการกำหนดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าให้มีความเหมาะสม สอดคล้องกับค่าครองชีพ ประชาชนยอมรับได้ ซึ่งหากเก็บค่าโดยสารในราคาที่แพงเกินไปจะยากต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการเดินทางของประชาชน อย่างเช่น ในกรณีของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ซึ่งตามรายงานการศึกษาวิเคราะห์โครงการฯ (รายงาน PPP) ได้ระบุอัตราค่าโดยสารพื้นฐานอ้างอิง ณ วันที่ 1 มกราคม 2566 เริ่มต้นที่ 17 บาท คิดค่าโดยสารตามระยะทาง 3-4 บาทต่อสถานี โดยมีอัตราค่าโดยสารสูงสุด 62 บาท เป็นอัตราที่คำนวณตามมาตรฐานของ รฟม. และกำหนดไว้เป็นกรอบเบื้องต้นเพื่อให้เป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับเอกชนทุกรายใช้อ้างอิงในการประเมินรายได้เพื่อจัดทำข้อเสนอการร่วมลงทุนโครงการฯ ด้วยสมมติฐานเดียวกัน แต่ยืนยันว่าไม่ใช่อัตราค่าโดยสารที่ รฟม. จะประกาศใช้อย่างเป็นทางการเมื่อเปิดบริการรถไฟฟ้าสีส้ม
อย่างไรก็ดี รฟม. คาดการณ์อัตราค่าโดยสารเมื่อเปิดให้บริการโครงการสายสีส้มส่วนตะวันออก ในปี พ.ศ. 2567 (โดยใช้สมมติฐานที่ดัชนีราคาผู้บริโภคเพิ่มขึ้นร้อยละ 2 ต่อปี) จะมีอัตราค่าโดยสารเริ่มต้นอยู่ที่ 15 บาท และมีอัตราค่าโดยสารสูงสุดอยู่ที่ 45 บาท หรือสถานีละประมาณ 2.50 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ถูกกว่าราคาตามรายงาน PPP ต่อเมื่อได้ผู้ชนะประมูลแล้ว รฟม. จึงจะมาเจรจาต่อรองปรับลดอัตราค่าโดยสารให้มีความเหมาะสม
ผู้ว่าการ รฟม. กล่าวอีกว่า รฟม. จะเจรจากับเอกชนผู้ผ่านการประเมินสูงสุดเพื่อกำหนดอัตราค่าโดยสารเป็นพื้นฐานอัตราเดียวกันกับรถไฟฟ้าสายอื่นของ รฟม. ได้แก่ สายสีน้ำเงิน สายสีม่วง สายสีชมพู และสายสีเหลือง ที่อ้างอิงตามมาตรฐาน MRT Assessment Standardization ปรับอัตราโดยอ้างอิงดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI Non-food & beverages) ตามที่เกิดขึ้นจริง และเก็บค่าแรกเข้าเพียงครั้งเดียวเมื่อผู้โดยสารเดินทางข้ามสายในโครงข่ายรถไฟฟ้าของ รฟม. ซึ่งแนวทางดังกล่าวเป็นไปตามนโยบายของกระทรวงคมนาคมที่มีเจตนารมณ์ให้โครงการรถไฟฟ้าของทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม มีอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสมและช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประชาชน
สำหรับแนวคิดในการเก็บค่าแรกเข้าเพียงครั้งเดียวเมื่อผู้โดยสารเดินทางข้ามสายในโครงข่ายรถไฟฟ้าของ รฟม. นี้ สอดคล้องกับ แนวคิดของ ดร.สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ที่มองว่าในอนาคตจะมีรถไฟฟ้าเกิดขึ้นอีกหลายเส้นทาง ปัญหาที่จะตามมาคือค่าโดยสารจากการเดินทางข้ามสายทางในระบบรถไฟฟ้า ซึ่งมีอัตราค่าโดยสารและค่าแรกเข้าที่แตกต่างกัน ดังนั้น จึงควรจะต้องกำหนดอัตราค่าโดยสารให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน และเมื่อมีการเดินทางข้ามระบบ ควรมีการงดเว้นค่าแรกเข้าซ้ำซ้อนโดยเก็บเฉพาะรถไฟฟ้าระบบแรกที่ผู้โดยสารเข้าใช้บริการเท่านั้น เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายแก่ประชาชน
การที่ รฟม. ยืนยันที่จะพิจารณากำหนดอัตราค่าโดยสารอย่างรอบคอบ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประชาชน ก็จะเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมให้ประชาชนหันมาใช้บริการขนส่งมวลชนแทนการใช้รถส่วนตัวกันมากขึ้น ซึ่งนอกจากจะช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัดแล้ว ยังจะสามารถช่วยลดปัญหามลภาวะฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ที่หนาแน่นในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลในปัจจุบันได้ด้วย