นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม เผยแผนพัฒนาการเดินทางทางน้ำในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล และการเชื่อมต่อการเดินทางรูปแบบอื่น
หลังเป็นประธานเปิดการสัมมนา โครงการศึกษาจัดทำแผนพัฒนาการเดินทางทางน้ำ ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และการเชื่อมต่อการเดินทางรูปแบบอื่น กรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 1 ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564 โดยมีหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้นำชุมชนในพื้นที่ศึกษา และประชาชนทั่วไปเข้าร่วม รวมประมาณ 100 คน
สนข.เดินหน้าพัฒนาแผนการเดินทางทางน้ำ กรุงเทพฯ – ปริมณฑล และการเชื่อมต่อการเดินทางรูปแบบอื่น
โดยหลังนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มอบหมายให้กระทรวงคมนาคม ร่วมกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง พิจารณา เพิ่มบริการการขนส่งในแม่น้ำ ลำคลอง เพื่อเป็นทางเลือกในการเดินทางของประชาชน
สนข.จึงได้ดำเนินการศึกษาแผนพัฒนาการเดินทางทางน้ำในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล และการเชื่อมต่อการเดินทางรูปแบบอื่น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวิเคราะห์ปัญหาด้านการเดินทางทางน้ำ
เพื่อพัฒนาให้รองรับความต้องการในการเดินทาง ทั้งในปัจจุบัน และในอนาคต รวมถึงศึกษา ทบทวนข้อมูลสถานภาพการเดินทางทางน้ำของไทย และในประเทศที่มีแนวปฏิบัติที่ดี (Best Practice)
และเริ่มจัดทำแผนพัฒนาการเดินทางทางน้ำ และข้อเสนอแนะทิศทางการพัฒนาด้านการเดินทางทางน้ำ ให้สอดคล้องกับการพัฒนาเมือง การพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน การขนส่งสาธารณะ และการเชื่อมต่ออย่างบูรณาการ เพื่อลดความซ้ำซ้อนในการดำเนินงาน ให้มีประสิทธิภาพต่อไป
ซึ่ง สนข. จะนำข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะอันเป็นประโยชน์ ในการสัมนาครั้งนี้ ไปใช้ประกอบการศึกษาวิเคราะห์ ในโครงการศึกษาจัดทำแผนพัฒนาการเดินทางทางน้ำ ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล และการเชื่อมต่อการเดินทางรูปแบบอื่นต่อไป
กรุงเทพฯ – ปริมณฑล มีเรือโดยสาร 5 เส้นทาง ระยะทางรวม 77 กม.
ทั้งยังให้มีต้นแบบ ในการพัฒนาเส้นทางเดินเรือในคลอง ที่มีการตอบสนองทั้งการคมนาคม การอนุรักษ์ และการท่องเที่ยวไปในตัว ซึ่งปัจจุบัน พบว่ามีเรือโดยสารสาธารณะให้บริการในเขตกรุงเทพฯ – ปริมณฑล จำนวน 5 เส้นทาง ระยะทางรวม 77 กิโลเมตร
ประกอบด้วย
1.เส้นทางของเรือด่วนเจ้าพระยา และเรือไฟฟ้าให้บริการในแม่น้ำเจ้าพระยา
2.เส้นทางในคลองแสนแสบ
3.เส้นทางในคลองผดุงกรุงเกษม
4.เส้นทางในคลองภาษีเจริญ
5.เส้นทางในคลองประเวศบุรีรมย์ (คลองพระโขนง)
โดยพบว่า มีท่าเรือที่สามารถเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าที่เปิดให้บริการอยู่ในปัจจุบัน ในรัศมี 500 เมตร ประกอบด้วย
1.ท่าเรือที่เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าใต้ดินสายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน) จำนวน 10 สถานี ได้แก่
– สถานีอโศก
– สถานีหัวลำโพง
– สถานีบางไผ่
– สถานีบางหว้า
– สถานีเพชรเกษม 48
– สถานีภาษีเจริญ
– สถานีสะพานพระนั่งเกล้า
– สถานีบางโพ
– สถานีสนามไชย
– สถานีสะพานตากสิน
2.ท่าเรือที่เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าบีทีเอส (สายสีเขียว) จำนวน 2 สถานี ได้แก่
– สถานีราชเทวี
– สถานีบางหว้า
3.ท่าเรือที่เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (Airport Rail Link) จำนวน 2 สถานี ได้แก่
– สถานีมักกะสัน
– สถานีรามคำแหง
อย่างไรก็ตาม การให้บริการเรือโดยสารสาธารณะในแม่น้ำ และคลอง มีความจำเป็นต้องปรับปรุงสิ่งต่าง ๆ อาทิ ปัญหาด้านการเข้าถึงท่าเรือ และเชื่อมต่อการเดินทางกับระบบขนส่งสาธารณะอื่น ๆ
ได้แก่ ทางเดินเข้าออกท่าเรือ ที่มีสิ่งกีดขวาง แสงสว่างไม่เพียงพอ ไม่ปลอดภัย ไม่มีป้ายบอกเส้นทางเข้าออกท่าเรือ และจุดเชื่อมต่อระบบขนส่งสาธารณะอื่น ห่างไกลจากท่าเรือ
สนข.ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญ และความจำเป็นดังกล่าว เลยจัดทำแผนพัฒนาการเดินทางทางน้ำ ในเขตกรุงเทพฯ – ปริมณฑล และการเชื่อมต่อการเดินทางรูปแบบอื่น (W-MAP) ในลักษณะล้อ – ราง – เรือ เพื่อเป็นการยกระดับการเดินทางทางน้ำ ให้ทางเลือกในการสัญจร และท่องเที่ยวแก่คนเมือง ทั้งเพื่อรองรับความต้องการเดินทาง และการเติบโตของเมือง อย่างยั่งยืน