ภาพสุนัข 2 ตัว กำลังใช้จมูกอันมีประสิทธิภาพดมกลิ่นวัตถุบางอย่างซึ่งความจริงแล้วควรเป็นวัตถุต้องสงสัยหรือสิ่งของผิดปกติที่อาจก่อให้เกิดอันตราย แต่กลับเป็นถุงหมูฝอยของผู้โดยสารในขบวนรถไฟฟ้า ได้สร้างรอยยิ้มและเสียงหัวเราะให้แก่ชาวโซเชียล จนเกิดเป็นแฮชแท็ก “ทีมหมูฝอย” ขึ้นภายในเวลาอันรวดเร็วซึ่งขณะนั้นคงไม่มีใครไม่รู้จัก “เบน” และ “โรโบ้” สุนัขสายพันธุ์ลาบราดอร์ รีทรีฟเวอร์ (Labrador Retriever) ในแผนกสุนัขตรวจค้นพัสดุภัณฑ์ระเบิด หรือ K-9 ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. ซึ่งมีหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัยในระบบรถไฟฟ้ามหานคร ทั้งสายเฉลิมรัชมงคล (MRT สายสีน้ำเงิน) และสายฉลองรัชธรรม (MRT สายสีม่วง) ซึ่งนอกจาก เบน และ โรโบ้แล้ว K-9 รฟม. ยังมีเจ้าหน้าที่และเพื่อนๆ แสนรู้ของเบนและโรโบ้ ทำงานร่วมกันเป็นทีมอย่างมีประสิทธิภาพ
ในโอกาสนี้ BLT Bangkok จะขอนำทุกท่านไปรู้จักกับ “ทีม K-9 รฟม.” หน่วยดูแลรักษาความปลอดภัย ที่มีทั้งความน่ารักและน่าเกรงขาม สร้างความอุ่นใจในการเดินทางให้แก่ผู้ใช้บริการรถไฟฟ้ามหานครทั้ง 2 สาย จากอดีตจนถึงปัจจุบัน กว่าจะเป็นทีม K-9 ได้นั้น ต้องผ่านบททดสอบอะไรบ้าง
หน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงคมนาคมแห่งแรกที่มี “ทีม K-9” เป็นของตนเอง
ร้อยตำรวจเอกศิรวัชร์ แก้วดุสิต ผู้อำนวยการฝ่ายรักษาความปลอดภัยและกู้ภัย การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. เล่าให้ฟังว่า เมื่อประมาณช่วงปี 2548 เกิดเหตุการณ์ก่อการร้ายและก่อความไม่สงบในหลายประเทศทั่วโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งเหตุการณ์วางระเบิดที่สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่รุนแรงและสร้างความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของผู้คนเป็นจำนวนมาก
รฟม. จึงได้ตระหนักถึงความปลอดภัยของผู้ใช้บริการ โดยวางมาตรการในการรักษาความปลอดภัยในระบบรถไฟฟ้าอย่างเข้มงวด และได้รับการสนับสนุนหน่วยสุนัขตรวจค้นวัตถุระเบิดจากกองทัพอากาศดอนเมืองเข้ามาร่วมตรวจความปลอดภัยในระบบรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน ซึ่งขณะนั้นให้บริการเดินรถจากสถานีหัวลำโพงถึงสถานีบางซื่อ
ผลปรากฎว่ามีการตอบรับที่ดีจากประชาชนผู้ใช้บริการ ดังนั้น รฟม. จึงมีการก่อตั้งแผนกสุนัขตรวจค้นพัสดุภัณฑ์ระเบิดหรือ K-9 รฟม. สังกัดฝ่ายรักษาความปลอดภัยและกู้ภัย รฟม. ขึ้นเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2549 โดยเริ่มแรกได้ส่งพนักงานรักษาความปลอดภัย จำนวน 12 นาย เข้ารับการฝึกอบรมที่หลักสูตรผู้บังคับสุนัขที่ศูนย์การสุนัขทหาร กรมการสัตว์ทหารบก ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของทีม K-9 และทำให้ รฟม. เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงคมนาคมแห่งแรกของประเทศไทยที่มีทีม K-9 เป็นของตนเอง อันเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพและสร้างบรรทัดฐานในการรักษาความปลอดภัยในระบบรถไฟฟ้าใต้ดิน ทำให้ประชาชนเกิดความมั่นใจการเดินทาง
การคัดเลือกและบททดสอบเหล่าผู้กล้า เพื่อเป็นฮีโร่ผู้พิทักษ์ 4 ขา
เนื่องจากภารกิจหลักของฮีโร่ผู้พิทักษ์ 4 ขาคือการดมกลิ่นวัตถุต้องสงสัย หรือ การพิสูจน์ทราบวัตถุต้องสงสัย เพื่อแยกแยะว่าสิ่งไหนเป็นวัตถุที่มีสารระเบิดหรือก่อให้เกิดอันตราย และสิ่งไหนเป็นสิ่งของที่ประชาชนนำมาวางหรือลืมทิ้งไว้ภายในสถานีและขบวนรถไฟฟ้า รวมถึงบริเวณโดยรอบในเขตระบบรถไฟฟ้า ดังนั้น ทีมผู้พิทักษ์ 4 ขา จะต้องมีทั้งความเฉลียวฉลาด แสนรู้ ความกล้าหาญ และอดทน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้มาตรการรักษาความปลอดภัยในระบบรถไฟฟ้ามีศักยภาพ
รฟม. จึงให้ความสำคัญตั้งแต่การคัดเลือกสายพันธุ์สุนัขที่เหมาะสมมาเป็นส่วนหนึ่งในทีม K-9 โดยจะเลือกสุนัขที่มีอายุตั้งแต่ 6 เดือนถึง 1 ปีขึ้นไป เน้นสายพันธุ์ที่สากลยอมรับ คือ พันธุ์ลาบราดอร์รีทรีฟเวอร์ (Labrador Retriever) และ อัลเซเชียน (Alsatian) เนื่องจากทั้ง 2 สายพันธุ์นี้มีคุณสมบัติพิเศษที่โดดเด่นมากคือความสามารถในการใช้จมูกดมกลิ่นได้ 40 เท่าของคนจึงมีความเหมาะสมอย่างยิ่งในการปฏิบัติหน้าที่ นอกจากนี้สุนัขสายพันธุ์ลาบราดอร์รีทรีฟเวอร์ จะมีความสามารถด้านการค้นหา และมีนิสัยที่เป็นมิตรกับมนุษย์ สามารถอยู่กับผู้คนจำนวนมากได้ ส่วนสุนัขสายพันธุ์อัลเซเชียน จะมีลักษณะสมาร์ท น่าเกรงขาม ซึ่งเป็นประโยชน์ในด้านการป้องปราม ทำให้ผู้พบเห็นรู้สึกเกรงกลัวขึ้นได้
เมื่อผ่านกระบวนการคัดเลือกแล้วสุนัขจะถูกส่งไปฝึกอบรมพร้อมกับผู้บังคับสุนัขเป็นระยะเวลาประมาณ 14 สัปดาห์ จากนั้นจะเข้ามาประจำการที่ รฟม. โดยมีผู้บังคับสุนัขทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลและฝึกสุนัขให้มีความพร้อมทั้งด้านสุขภาพและการเรียนรู้คำสั่งต่างๆ รวมถึงต้องสร้างความสัมพันธ์ของทั้ง 2 ฝ่าย ให้มีความสนิทสนมคุ้นเคย เกิดความรัก ความผูกพัน และความไว้วางใจต่อกัน เพื่อเป็นคู่บัดดี้ในการปฏิบัติหน้าที่ร่วมกันต่อไป ทั้งนี้ รูปแบบการฝึกที่ รฟม. เลือกใช้จะเน้นการฝึกแบบมีอิสระในการค้นหาหรือดมกลิ่น แทนการฝึกที่หนักหรือการออกคำสั่งแบบเข้มงวดหรือใช้เวลาในการฝึกนาน เพราะอาจทำให้สุนัขรู้สึกว่ากำลังถูกบังคับให้ทำ เช่น เมื่อดมกลิ่นหรือดมสารระเบิดตัวอย่างเสร็จแล้วจะให้รางวัล เพื่อให้สุนัขจดจำว่าเคยได้กลิ่นแบบนี้แล้วจะได้รางวัลกลับคืนมาทำให้สุนัขมีความสุขกับการทำงาน ไม่พะวงกับผู้บังคับสุนัข และกล้าที่จะเข้าไปในจุดที่ต้องการให้เข้าไปพิสูจน์ทราบวัตถุต่างๆ ส่งผลให้การปฏิบัตงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ภารกิจสำคัญ คือคุ้มครองภัยให้แก่ผู้โดยสาร
เมื่อสุนัขได้รับการฝึกฝนทักษะต่างๆ จนเกิดความเชี่ยวชาญและผ่านบททดสอบความสามารถในการดมกลิ่นเพื่อตรวจค้นสารประกอบระเบิด รวมถึงสามารถตรวจค้นกระเป๋า สัมภาระ หรือวัตถุต้องสงสัยต่างๆ เรียบร้อยแล้วทีม K-9 ก็จะเริ่มปฏิบัติหน้าที่คุ้มครองภัยให้แก่ผู้โดยสารในระบบรถไฟฟ้า
สำหรับการปฏิบัติงานของทีม K-9 นั้น จะประกอบด้วยผู้บังคับสุนัข 2 นาย และบัดดี้คือสุนัขคู่หู 2 ตัว จับคู่กันปฏิบัติหน้าที่ ตรวจสอบและดูแลความปลอดภัยในระบบรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงินและสายสีม่วง ทั้งภายในสถานีรถไฟฟ้า ตัวรถไฟฟ้า หรือบริเวณโดยรอบสถานีรถไฟฟ้า โดยจะสลับกันทำหน้าที่ครอบคลุมตลอดช่วงเวลาเปิดให้บริการรถไฟฟ้าและหลังปิดให้บริการรถไฟฟ้า
ในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉิน หรือมีการแจ้งข้อมูลจากประชาชนหรือจากเจ้าหน้าที่ผ่านทางศูนย์วิทยุพสุธาของรฟม. จะมีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ทั้งพนักงานรักษาความปลอดภัย พนักงานกู้ภัย ทีม K-9 และพนักงานพิสูจน์ทราบ หรือ EOD จะร่วมกันปฏิบัติหน้าที่ โดยจัดเตรียมอุปกรณ์เข้าไปยังสถานที่เกิดเหตุพร้อมทำการปิดกั้นพื้นที่เกิดเหตุและตรวจสอบวัตถุต้องสงสัยจากกล้องวงจรปิด (CCTV) ที่อยู่ในบริเวณพื้นที่ หากพิจารณาแล้วว่าเป็นวัตถุต้องสงสัยจริง จึงจะเริ่มทำการพิสูจน์ทราบตามขั้นตอนโดยเริ่มแรกจะให้ทีม K-9 ใช้สุนัขในการพิสูจน์วัตถุต้องสงสัยก่อน ถ้าวัตถุต้องสงสัยนั้นมีสารตั้งต้นของระเบิด สุนัขจะแสดงท่าทางหรืออาการตามที่ได้รับการฝึกมา ไม่ว่าจะเป็นการนั่ง หรือเดินวนไปวนมาบริเวณนั้น จากนั้นจะส่งมอบหน้าที่ต่อไปยังทีม EOD รฟม. เพื่อทำการพิสูจน์ทราบต่อไป
(หมายเหตุ : ภาพการฝึกซ้อมแผนเผชิญเหตุในระบบรถไฟฟ้า MRT)
นอกจากนี้ ทีม K-9 รฟม. ยังได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ในการงานดูแลรักษาความปลอดภัยให้แก่บุคคลสำคัญระดับประเทศและประชาชนในงานพิธีสำคัญหรือโอกาสพิเศษต่างๆ เช่น พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พิธีเปิดให้บริการโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายฯ และการอำนวยความสะดวกในการเดินทางช่วงเทศกาลปีใหม่และเทศกาลสงกรานต์ เป็นต้น
ไม่เพียงแต่ภารกิจด้านรักษาความปลอดภัยในทุกๆ วัน ทีม K-9 รฟม. ยังได้ร่วมทำกิจกรรมประชาสัมพันธ์ชุมชนสัมพันธ์ โดยมีส่วนร่วมกับสังคมและชุมชนโดยรอบในการนำสุนัข K-9 ออกแสดงความสามารถในโอกาสพิเศษต่างๆ เช่น การสาธิตการเชื่อฟังคำสั่งเบื้องต้น การสาธิตการดมกลิ่นตรวจสอบวัตถุต้องสงสัยแก่คณะดูงานและคณะเยี่ยมชม จัดชุดสุนัขร่วมแสดงในงานวันเด็ก เป็นต้น เพื่อมอบความรู้ สร้างรอยยิ้ม และ ความสุขให้แก่ประชาชน
หลักการดูแลสุนัข K-9 รฟม. หลังปลดประจำการเป็นอย่างไร
ปัจจุบันชุดปฏิบัติการ K-9 รฟม. มีสุนัขจำนวน 10 ตัว เจ้าหน้าที่ 8 นาย ซึ่งได้มีการกำหนดอายุการทำงานของสุนัขไว้ที่ 8 ปี แต่หากสุขภาพสุนัขยังแข็งแรงและมีประสิทธิภาพในการดมกลิ่นดีอยู่ อาจจะต่ออายุงานให้อีก 1 ปี และเมื่อปลดประจำการแล้ว รฟม. จะดำเนินการจัดหาบ้านใหม่แก่สุนัขที่ปลดประจำการทุกตัว หรือหากไม่สามารถหาบ้านใหม่ได้รฟม. ก็จะยังคงดูแลรักษาพยาบาลสุนัขนั้นไปจนกว่าจะเสียชีวิต
แผนพัฒนา K-9 รฟม. รองรับรถไฟฟ้าสายใหม่ในอนาคต
ปัจจุบัน รฟม. อยู่ระหว่างการดำเนินงานก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้า 3 สาย ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ส่วนตะวันออก) ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี และ โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว – สำโรง รวมถึงมีโครงการรถไฟฟ้าอื่นๆ ที่อยู่ระหว่างเตรียมดำเนินการ ดังนั้น ในอนาคตจะมีโครงการรถไฟฟ้าในความรับผิดชอบของ รฟม. เกิดขึ้นอีกหลายสาย ทำให้มีพื้นที่บริการและผู้โดยสารเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจำเป็นต้องมีการพัฒนาและเพิ่มศักยภาพในการดูแลรักษาความปลอดภัยให้แก่ผู้ใช้บริการควบคู่ไปพร้อมกัน รฟม. จึงได้เตรียมแผนที่จะทำความร่วมมือกับกรมการสัตว์ทหารบกในการขอรับการสนับสนุนผู้บังคับสุนัขและสุนัขตรวจค้นพัสดุภัณฑ์ระเบิดเพื่อเสริมกำลังในการดูแลรักษาความปลอดภัยในระบบรถไฟฟ้า MRT เพื่อให้ผู้โดยสารเดินทางถึงที่หมายอย่างปลอดภัย