Wednesday, May 24, 2023
More

    คมนาคมเดินหน้าเปิดเรือไฟฟ้า สะพานพระนั่งเกล้า-สาทร เป็น 23 ลำ ภายในก.ค.นี้

    กระทรวงคมนาคมเผย เดินหน้าพัฒนาเรือไฟฟ้าแม่น้ำเจ้าพระยา “สะพานพระนั่งเกล้า-สาทร” เป็น 23 ลำ ภายในเดือนกรกฎาคมนี้ พร้อมเร่งพัฒนาเรือไฟฟ้าในกรุงเทพฯ และเส้นทางท่องเที่ยวในต่างจังหวัดอย่างต่อเนื่อง

    คมนาคมเดินหน้าเปิดเรือไฟฟ้า “สะพานพระนั่งเกล้า-สาทร” เป็น 23 ลำภายในก.ค.นี้

    นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานการประชุมผ่านแอปพลิเคชัน ZOOM ร่วมกับนายวิทยา ยาม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่า (จท.) และผู้บริหารกรมเจ้าท่า


    เพื่อติดตามความก้าวหน้า การพัฒนายานพาหนะด้วยพลังงานไฟฟ้า ตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตการเดินทาง และรักษาสภาพแวดล้อมอย่างยั่งยืน

    หลังวันที่ 17 พ.ค. 64 ได้เริ่มให้บริการเรือไฟฟ้าในเส้นทางแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่ท่าเรือพระนั่งเกล้า ไปถึงท่าเรือสาทร โดยปัจจุบันก็มีเรือไฟฟ้าให้บริการ 8 ลำ เก็บค่าโดยสาร 20 บ./คน/เที่ยว

    โดยให้บริการในวันจันทร์-ศุกร์ ช่วงเช้า 5 เที่ยว เวลา 6:10, 6:30, 6:50, 7:10 และ 7:30

    และช่วงเย็น 5 เที่ยว เวลา 16:25, 16:45, 17:05, 17:25 และ 17:45

    การอัปเดตล่าสุดจากการประชุม พบว่ากรมเจ้าท่า เตรียมเพิ่มเรือไฟฟ้าให้บริการในเส้นทาง “สะพานพระนั่งเกล้า-สาทร” เป็น
    – 12 ลำ เก็บค่าโดยสาร 20 บ./คน/เที่ยว ในเดือนมิถุนายน 2564
    – 23 ลำ เก็บค่าโดยสาร 20 บ./คน/เที่ยว ในเดือนกรกฎาคม 2564
    – 23 ลำ โดยเก็บค่าโดยสารตามที่กรมเจ้าท่ากำหนด ในเดือนสิงหาคม นอกจากนี้ จะมีเรือท่องเที่ยวอีกจำนวน 4 ลำ รวมมีเรือให้บริการทั้งสิ้น 27 ลำ

    การพัฒนาเรือไฟฟ้าเส้นทางคลองแสนแสบ และคลองผดุงกรุงเกษม

    สำหรับเส้นทางคลองแสนแสบนั้น ขณะนี้มีผู้ประกอบการได้ต่อเรือเหล็กแล้วจำนวน 5 ลำ และอยู่ระหว่างการปรับปรุงเทคโนโลยีแบตเตอรี่ให้เหมาะสมกับการใช้งาน คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ ภายในปลายปี 2564

    ส่วนเส้นทางคลองผดุงกรุงเกษม ปัจจุบันมีเรือไฟฟ้าให้บริการ 7 ลำ โดยยังไม่จัดเก็บค่าโดยสาร และในเดือนมิถุนายน จะเพิ่มเรือให้บริการเป็น 8 ลำ โดยไม่จัดเก็บค่าโดยสาร

    นอกจากนั้น ทางส่วนของกทม.ยังจะได้พัฒนาเส้นทางส่วนต่อขยาย ตั้งแต่ช่วงวัดศรีบุญเรือง ไปจนถึงมีนบุรี ระยะทางรวม 11.5 กม. ให้บริการด้วยเรือไฟฟ้าจำนวน 12 ลำ โดยคาดว่าจะเริ่มให้บริการ ภายในเดือนกันยายนนี้

    การพัฒนาเรือไฟฟ้าในเส้นทางท่องเที่ยวคลองดำเนินสะดวก, คลองอัมพวา และทางทะเล

    ส่วนเรือไฟฟ้าเส้นทางคลองดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี จะเป็นโครงการนำร่อง เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยปัจจุบันมีเรือให้บริการจำนวน 3 ลำ และหากสถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้น กรมเจ้าท่ามีแผนเพิ่มจำนวนเรือไฟฟ้า รวมทั้งการขอความร่วมมือประชาชนที่ใช้เรือในการสัญจร ให้ปรับเปลี่ยนจากระบบเครื่องยนต์ เป็นระบบไฟฟ้าต่อไป

    ขณะที่เส้นทางคลองอัมพวา จ.สมุทรสงคราม ก็มีแผนพัฒนาเรือไฟฟ้า เพื่อใช้ในการท่องเที่ยว และเพื่อลดผลกระทบต่อผู้อยู่อาศัยริมฝั่งคลอง โดยเฉพาะเรื่องของเสียง และการรักษาสภาพแวดล้อม เช่นกัน

    ด้านการท่องเที่ยวทางทะเลนั้น ปัจจุบันมีเรือไฟฟ้าให้บริการจำนวน 1 ลำ ในพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช เป็นเส้นทางท่าเรือสิชล ถึงท่าเรือเขาพรายดำ และมีแผนเพิ่มเติมอีก 1 ลำ ภายในสิ้นปี 2564 แต่หากสถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้น ผู้ประกอบการก็มีแผนเพิ่มจำนวนเรือให้บริการ เป็น 60 ลำ

    นอกจากนั้น กระทรวงคมนาคม ยังจะได้เร่งผลักดันโครงการ Taxi Boat : Feeder เพื่อเชื่อมการเดินทางในแม่น้ำเจ้าพระยา กับคลองแขนงต่าง ๆ ของกทม.ให้เป็นระบบเดียวกัน

    โดยนำเรือไฟฟ้า หรือ Taxi Boat มาให้บริการรับส่งประชาชนในคลองแขนง เพื่อช่วยให้ประชาชนมีการเดินทางที่สะดวกยิ่งขึ้น