Tuesday, May 23, 2023
More

    กรุงเทพฯ เมืองสีเขียว ความฝันที่ใกล้เป็นจริง (หรือยัง)

    ถ้าจะนับว่าพื้นที่สีเขียว เป็นส่วนหนึ่งในตัวชี้วัดระดับคุณภาพชีวิตที่ดีของคนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร ก็ต้องยอมรับว่าปัจจุบันนี้คุณภาพชีวิตของคน กทม. ยังห่างจากเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก (WHO) อยู่มากพอสมควร


    เนื่องจากปัจจุบันนี้ กรุงเทพมหานครมีสัดส่วนพื้นที่สีเขียวเพียง 6.14 ตรม./คนเท่านั้น ขณะที่ข้อกำหนดขององค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ว่า พื้นที่สีเขียวต่อสัดส่วนประชากรที่เหมาะสม คือ 9 ตร.ม./คน จากข้อมูลนี้ ทำให้เกิดคำถามว่า เหตุใด การเพิ่มพื้นที่สีเขียวใน กทม. จึงเป็นไปได้ยากกว่าที่คิด 

    กทม.วางแผนเพิ่มพื้นที่สีเขียว 950 ไร่ 
    นางสุวรรณา จุ่งรุ่งเรือง ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ปีงบประมาณ 2560 นี้ กทม. วางแผนที่จะเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ได้รวมทั้งสิ้น 950 ไร่ โดยนับรวม 2 สวนสาธารณะที่เพิ่งเปิดใหม่ คือ สวนพระยาภิรมย์ และสวนสิรินธราพฤกษาพรรณด้วย ส่วนแนวทางการทำงานก็มีทั้งการบูรณาการพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานในสังกัด กทม. อย่างเช่น โครงการพัฒนาโครงข่ายพื้นที่สีเขียว พื้นที่นำร่องถนนสาทร ที่ทำร่วมกับสำนักผังเมือง ทำงานร่วมกับสำนักงานเขต และจะเชิญชวนให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมด้วย ซึ่งหากทำได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ จะทำให้มีสัดส่วนพื้นที่สีเขียวเพิ่มเป็น 6.38 ตรม./คน

    การเติบโตของเมืองคืออุปสรรคเพิ่มพื้นที่สีเขียว
    อย่างไรก็ดี ยอมรับว่าการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพฯ เป็นไปได้ค่อนข้างยาก ยกตัวอย่างเทียบเคียงกับประเทศสิงคโปร์ ที่เป็นเกาะ พื้นที่น้อยกว่า คนน้อยกว่า และจุดแตกต่างที่สำคัญคือเรื่องของนโยบายการพัฒนาเมือง การกำหนดผังเมือง และข้อกฎหมายที่รองรับ ที่สิงคโปร์มีแนวทางการพัฒนาคล้ายคลึงกับทางยุโรป คือ มีการกำหนดนโยบายการพัฒนา ทำสาธารณูปโภครองรับก่อน แล้วจึงนำคนเข้าไป ขณะที่กรุงเทพฯ มีคนเป็นตัวนำ เมืองจึงเติบโตตาม คือ เมื่อมีคนเข้าไปอยู่มาก จึงจะมีการพัฒนาเมืองและระบบสาธารณูปโภคตาม 

    ขณะเดียวกันการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ก็มีผลต่อการเพิ่มพื้นที่สีเขียวเช่นกัน เพราะบางครั้งต้องมีการย้ายต้นไม้หลบโครงสร้างต่างๆ นอกจากนั้นเรื่องของการจัดหาพื้นที่ก็เป็นปัญหาส่วนหนึ่ง เพราะบางพื้นที่ต้องซื้อหรือเช่า จึงเน้นที่การดูแลรักษาที่มีอยู่เดิมให้ดีก่อนเป็นหลัก แล้วค่อยๆ ขยายพื้นที่เพิ่ม 

    เตรียมผุดแผนที่สวน บันทึกไอดีต้นไม้ 
    ด้านนายวันชัย ถนอมศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักผังเมือง กทม. ชี้แจงว่า การปรับสัดส่วนพื้นที่สีเขียวจาก 6.18 ตรม./คน เป็น 9 ตร.ม./คน ในปีนี้นั้น กทม. ไม่มีแผนเพิ่มพื้นที่สีเขียว ในเชิงของการจัดหาพื้นที่ว่างเพื่อทำเป็นสวนสาธารณะใหม่ แต่มีแผนที่จะทำตามยุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองที่มีอยู่แล้ว โดยล่าสุดได้ประชุมร่วมกัน 3 สำนักงาน คือ สำนักผังเมือง สำนักสิ่งแวดล้อม และ สำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล เพื่อหารือถึงแผนบูรณาการในการดูแลพื้นที่สีเขียว 

    จากการหารือ ก็มีแนวคิดออกมาว่า ในขั้นแรกที่ต้องทำคือ ต้องปรับฐานข้อมูลของพื้นที่สีเขียวให้เป็นข้อมูลเดียวกัน ต้องนำข้อมูลทั้งจากสำนักผังเมือง สำนักสิ่งแวดล้อม จากสำนักงานเขต 50 เขต รวมถึงของเอกชนและพื้นที่อื่นๆ มาบันทึกเป็นฐานข้อมูลให้ตรงกัน จากนั้นก็จะนำระบบดิจิทัลเข้ามาใช้ ทำบันทึกข้อมูลสวนสาธารณะ พื้นที่สีเขียวที่มีทั้งหมดมาใส่ในแผนที่ที่ผังเมืองมี ควบคู่กับการใช้ Google Map แล้วทำเป็นแผนที่เส้นทางพื้นที่สีเขียวขึ้นเว็บไซต์ให้ดูกันได้อย่างทั่วถึง และจะบันทึก ID ของต้นไม่แต่ละต้น เพื่อจัดระเบียบและติดตามการเติบโตของต้นไม้ รวมถึงจะได้รู้เมื่อมีการย้ายต้นไม้ด้วย อีกทั้งจะมีการปรับรูปแบบของการปลูกต้นไม้ในแต่ละพื้นที่ให้มีความเหมาะสมกับสถาพพื้นที่ให้มากขึ้น เช่น ในโซนเกาะรัตนโกสินทร์ จากที่เคยเน้นปลูกต้นไม่ที่ดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้มากที่สุด ก็จะเพิ่มต้นไม้ที่มีความหน่วงน้ำ เพื่อให้ช่วยดูดซับน้ำไม่ให้น้ำท่วมด้วย 

    ปรับแผนจัดพื้นที่สวนสาธารณะให้เป็นที่ระบายน้ำท่วมได้ 
    ในขั้นตอนต่อไป จะไปหารือต่อกับสำนักระบายน้ำ กทม. เกี่ยวกับเรื่องของการจัดพื้นที่สวนสาธารณะให้เป็นที่รองรับน้ำ เพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วมด้วย เช่น สวนสาธารณะในย่านจตุจักรทั้ง 3 แห่ง จะไปหารือว่าจะจัดพื้นที่สวนส่วนไหนให้รองรับน้ำได้ แล้วจะให้น้ำระบายออกจากสวนลงสู่คลองใกล้เคียงอย่างไร หากทำได้พื้นที่โดยรอบ คือ แยกรัชโยธิน วันเสมียนนารี วิภาวดีดีรังสิต และบริเวณจตุจักร ก็จะไม่เจอกับปัญหาน้ำท่วมเหมือนเมื่อปี 2554 เพราะในทั้ง 3 สวนสามารถรับน้ำได้ 1-2 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะที่ปริมาณน้ำท่วมพื้นที่บนถนนโดยรอบครั้งนั้นอยู่ที่ประมาณ 1-2 แสนคิวบิกเมตร 

    อีกแผนที่จะทำคือ การรวมสวนสาธารณะย่านจตุจักรทั้ง 3 แห่ง คือ สวนจตุจักร สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ และสวนวชิรเบญจทัศ ให้เป็นสวนสาธารณะขนาดใหญ่ หรือเป็นอุทยาน ซึ่งจะกลายเป็นสวนสาธารณะที่มีพื้นที่ใหญ่ที่สุด จัดพื้นที่ให้ประชาชนเข้าถึงได้มากที่สุด ใช้ประโยชน์ได้มากที่สุด ทั้งพักผ่อนหย่อนใจ  ออกกำลังกาย ชมดอกไม้ ดูอุทยานผีเสื้อ หรือทำกิจกรรมอื่นๆ ร่วมกันได้ ที่สำคัญคือเพื่อรองรับการพัฒนาโครงการศูนย์พหลโยธิน ที่คาดว่าเมื่อก่อสร้างเสร็จจะมีประชาชนเข้ามาใช้พื้นที่บริเวณนี้ปีละประมาณ 100,000 คน อีกทั้งจะจัดทำเป็นโครงการ เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10 ด้วย โดยขณะนี้อยู่ระหว่างทำแผนเสนอให้ผู้บริการ กทม.พิจารณา  

    ผู้อำนวยการสำนักผังเมือง บอกด้วยว่า การเพิ่มพื้นที่สีเขียว กทม. ก็จะดำเนินการตามแผนที่มี แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องขอความร่วมมือจากประชาชนด้วย โดยผู้ว่าราชการ กทม. ก็มีนโยบายให้แต่ละเขต แต่ละชุมชน ไปสร้างกิจกรรมการมีส่วนร่วมในการเพิ่มพื้นที่สีเขียว กับทางเอกชนผังเมืองก็มีแนวคิดที่จะเชิญชวนให้มีส่วนร่วม โดยอาจจะมีให้โบนัสเรื่องพื้นที่ใช้สอยของโครงการเพิ่มขึ้น เช่น ที่มองไว้เป็นโครงการนำร่อง คือที่ห้างเซ็นทรัลพระราม 9 ที่บริเวณด้านหน้ามีพื้นที่ว่างอยู่ ก็จะเชิญชวนให้ใช้พื้นที่นั้นปลูกต้นไม้ ทำเป็นสวน เพื่อให้มีต้นไม่มาช่วยลดมลภาวะบนถนนพระราม 9 ที่การจราจรติดขัด ควันพิษเยอะ โดยทางห้างก็อาจจะได้สิทธิพิเศษเพิ่มในเรื่องพื้นที่ใช้สอย เช่น ทำลานจอดรถได้เพิ่ม ตรงนี้จะเข้าไปเจรจา แล้วจะทำเป็นโครงการนำร่องให้เอกชนรายอื่นได้เห็น แล้วขยายโครงการต่อไป  

    อย่างไรก็ดี แม้ว่ากรุงเทพมหานครจะให้ความสำคัญกับสวนสาธารณะที่เป็นปอดของเมือง แต่โจทย์ใหญ่ในวันนี้ คือ ทำอย่างไรให้การเติบโตของเมือง ของคน และการเติบโตทางเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ที่อยู่อาศัยต่างๆ กับเรื่องของการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม สำเร็จควบคู่ไปด้วยกัน และจะเป็นไปได้ไหมที่จะให้คนกรุงเทพฯ มีสัดส่วนพื้นที่สีเขียว 9 ตร.ม/คน ตามที่ WHO กำหนดได้เร็วกว่าที่จะต้องรอกันจนกว่าจะถึงปี 2575 ตามที่ผู้ว่า กทม.ตั้งเป้าหมายเอาไว้ 

    สวนสาธารณะเปิดใหม่ล่าสุด ของ กทม. 
    สวนสาธารณะ “สวนสิรินธราพฤกษาพรรณ” เป็นส่วนสาธารณะลำดับที่ 35 ที่เพิ่งเปิดให้บริการล่าสุดเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2560 มีขนาดพื้นที่ 3 ไร่ 16 ตร.วา ตั้งอยู่ใน ซอยจรัญสนิทวงศ์ 25 เขตบางกอกน้อย  เป็นสวนที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ ให้กรุงเทพมหานครปรับปรุงที่ดินนายอุ๋ย จันทร์เฉลิม เป็นสวนสาธารณะ โดยทรงมีพระราชดำริให้อนุรักษ์สภาพภูมิทัศน์เดิมไว้ให้มากที่สุด และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อสวนแห่งนี้ว่า “สวนสิรินธราพฤกษาพรรณ” โดย กทม. ได้ดำเนินตามพระราชดำริของพระองค์ท่าน ด้วยการออกแบบสวนภายใต้แนวคิด “สวนวัฒนธรรมชุมชนบางกอกน้อย” ในลักษณะสวนระดับหมู่บ้าน รวมทั้งอนุรักษ์พันธุ์ไม้หายากและเก็บรักษาต้นไม้เดิมในพื้นที่เอาไว้ ตลอดจนจัดให้เป็นสวนแห่งการเรียนรู้วิถีเกษตรตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง โดยเป็นศูนย์การเรียนรู้การเลี้ยงไส้เดือน  การทำปุ๋ยหมัก และการปลูกผักสวนครัว สำหรับชาวชุมชน

    นอกจากนั้น กทม. ได้ปรับปรุงเรือนไทย ซึ่งเป็นบ้านไม้เก่าแก่ของนายอุ๋ย ด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โปรดเกล้าฯ ให้อนุรักษ์ไว้ รวมทั้งปรับปรุงอาคารโรงเก็บอุปกรณ์ ให้เป็นพิพิธภัณฑ์ช่างไม้ (ลุงอุ๋ย) สวนสิรินธราพฤกษาพรรณ ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงพระราชทานนามพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ว่า “พิพิธภัณฑ์ช่างไม้กลางพฤกษา” หมายถึง พิพิธภัณฑ์ซึ่งเป็นสถานที่จัดแสดงเครื่องมือช่างไม้ ตั้งอยู่ท่ามกลางพรรณไม้ในสวนสิรินธราพฤกษาพรรณ อีกทั้งทรงพระราชทานพระราชานุญาตให้อัญเชิญอักษรนามาภิไธย “ส.ธ.” ประดับที่ป้ายชื่ออาคารดังกล่าวอีกด้วย อีกทั้งยังมีศูนย์ฝึกอาชีพที่ปรับปรุงจากอาคารเดิม เพื่อใช้เป็นสถานที่จัดฝึกอาชีพให้แก่ชาวชุมชนรวมทั้งผู้สนใจและเป็นแหล่งเรียนรู้งานไม้ตามวิถีชุมชน ภายในสวนยังมีสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ ที่ได้จัดสร้างเพิ่มเติม อาทิ ลานอเนกประสงค์ เวทีกลางแจ้ง ศาลาพักผ่อน สนามเด็กเล่น อาคารสุขาสาธารณะ และที่จอดรถ  

    “อุทยานจุฬาฯ 100 ปี” ปอดแห่งใหม่ใจกลางกรุง ในปี 2560
    ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เป้าหมายหนึ่งของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คือการเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียวที่ร่มรื่น โดยในปี 2015 จุฬาฯ ได้รับการจัดอันดับจาก UI GreenMetric World University Ranking ให้เป็นมหาวิทยาลัยสีเขียวอันดับ 1 ของไทย อันดับ 30 ของโลก และในวาระที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะก้าวสู่ 100 ปีแห่งการสถาปนา “อุทยานจุฬาฯ 100 ปี” จะสร้างขึ้นให้เป็นของขวัญชิ้นสำคัญเพื่อมอบให้แก่ประชาชนและสังคมไทย เป็นสวนสาธารณะขนาดใหญ่ที่นอกจากจะเป็นปอดแห่งใหม่ให้กับกรุงเทพฯ แล้ว ยังเป็นศูนย์การเรียนรู้ด้วย

    อุทยานจุฬาฯ 100 ปี เป็นโครงการที่พัฒนาบนที่ดินประมาณ 29 ไร่ บริเวณสวนหลวง – สามย่าน โดยเป็นการเชื่อมต่อพื้นที่แนวแกนสีเขียวตามผังแม่บทของมหาวิทยาลัย จากหอประชุมจุฬาฯ ซึ่งเป็นแกนทางทิศตะวันออก ต่อเนื่องลงสู่แกนทางทิศตะวันตก ในเขตพื้นที่พาณิชย์ของมหาวิทยาลัยบริเวณสวนหลวง สามย่าน เป้าหมายของอุทยานแห่งนี้ นอกจากจะเป็นปอดแห่งใหม่ ยังเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ระหว่างนิสิตกับชุมชน คนกับธรรมชาติ สามารถใช้พื้นที่ทำกิจกรรมสาธารณประโยชน์ได้หลากหลายรูปแบบ

    นอกจากนี้ ยังมีถนนจุฬาฯ 100 ปี (เส้นทางจุฬาฯซอย 5) เชื่อมต่อระหว่างถนนพระราม 1- พระราม 4 รูปแบบถนนที่ส่งเสริมให้รถขับช้า (Slow Traffic) เอื้อต่อการเดินเท้า ขี่จักรยาน และการใช้รถโดยสารขนส่งมวลชน ตามแผนงานการก่อสร้างอุทยานจุฬาฯ 100 ปี ตั้งเป้าหมายว่าจะแล้วเสร็จเมื่อจุฬาฯ ครบ 100 ปี ในวันที่ 26 มีนาคม 2560
    “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้นทำหน้าที่เป็น “เสาหลักของแผ่นดิน” ทั้งในด้านการให้ความรู้ทางวิชาการแก่สังคม เมื่อสังคมมีปัญหาเผชิญภาวะวิกฤต จุฬาฯ มีคำตอบ และการสร้างชื่อเสียงความเป็นเลิศในด้านต่างๆ ทั้งหมดเกิดจากความร่วมมือร่วมใจของคณาจารย์ บุคลากร นิสิตจุฬาฯ และนิสิตเก่า” ศ.นพ.ภิรมย์ กล่าว 


    [English]
    BMA to Make Bangkok Greener
    The Bangkok Metropolitan Administration (BMA) plans to increase green space for Bangkok residents from 6.14 m2 per person to 6.38 m2. This is not an easy task since Bangkok has never prepared for such a huge number of residents. To achieve that goal, the BMA will follow the existing city development strategy. This means consolidating data from concerning departments and the private sector. Then they will record the data digitally onto the existing city planning map and conjoined with Google maps. After that it will be transformed into a green space map to be shown on a website.  

    The BMA will also plant trees suitable for each area, such as trees that can absorb water to reduce flooding. The Department of Drainage and Sewerage will advise on how to turn public parks into water catchment areas and how the water can be drained into nearby canals. Public and business operators will also be asked to help increase green spaces for the city.