ยุงเป็นพาหะนำโรคร้ายโดยเฉพาะไข้เลือดออกที่กรมควบคุมโรค ประกาศเป็น 1 ใน 4 โรคอันตรายควรระวังในปี 2560 และยังเป็นสัตว์ที่องค์การอนามัยโลก จัดให้อยู่อันดับ 1 ที่คร่าชีวิตมนุษย์ทั่วโลกสูงถึงปีละ 725,000 คน/ปี หรือเฉลี่ยมีคนตายเพราะยุงมากกว่า 1 คน/ต่อ 1 นาที ยุงจึงเป็นแมลงที่มีความสำคัญมากทั้งต่อด้านการสาธารณสุขและด้านเศรษฐกิจ
ยุงเป็นปัญหาที่ไม่ควรมองข้าม
โดย ศ.ดร.ธีรภาพ เจริญวิริยะภาพ อ.สังกัดภาควิชากีฏวิทยา ม.เกษตรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านแมลงชุมชน กล่าวว่า โลกนี้มียุงอยู่เกือบ 4,000 ชนิด ในไทยมีกว่า 460 ชนิด ซึ่งยุงลายเป็นปัญหาสำคัญในเขตชุมชนเมือง โดยเฉพาะช่วงฤดูฝน เนื่องจากมีชุมชน บ้านเรือน ขยะ ที่กลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของลูกน้ำยุงลาย โดยเขตสายไหม และเขตหนองแขมจะพบผู้ป่วยไข้เลือดออกมากที่สุด
“ยุงเป็นปัญหาสำคัญ แต่ยังมีการศึกษาเรื่องนี้ไม่มาก ในบ้านเราจะใส่ใจเมื่อมีผู้เสียชีวิตจากโรคที่ยุงเป็นพาหะ โดยข้อมูลกระทรวงสาธารณสุขพบตัวเลขผู้เสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออก โรคมาลาเรียทุกปี แม้จะมีจำนวนลดลง แต่ยังเป็นปัญหาในบางพื้นที่ และปัญหานี้จะไม่หมดไปตราบใดที่สภาพแวดล้อมยังเอื้ออยู่ ขนาดประเทศสิงคโปร์ มีการบริหารจัดการเมืองและสภาพแวดล้อมที่ดี ยังพบกับปัญหาเรื่องยุง” ผู้เชี่ยวชาญด้านแมลงชุมชนกล่าว
ต้องศึกษายุงป้องกันโรคสู่คน-สัตว์เลี้ยง
ศ.ดร.ธีรภาพ ย้ำว่ายุงจะอาศัยตามพื้นที่ที่มีแหล่งเพาะพันธุ์ หรือตามการเติบโตของเมืองแม้แต่ในคอนโดก็สามารถพบยุงได้เพราะยุงบินเข้าไปในช่องประตู ช่องลิฟต์ แนวทางป้องกันที่ดีที่สุดคือไม่ให้ยุงกัด แต่ทำได้ยากเพราะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะเป็นตัวดึงดูดยุง รวมถึงความร้อน กลิ่นตัว เหงื่อ แม้จะมีการฉีดวัคซีนป้องกันแต่ยังไม่ได้ผล 100% ดังนั้นควรแต่งตัวให้มิดชิด ไม่ใส่เสือผ้าสีเข้ม เพราะสีเข้มจะดูดซับความร้อนได้มาก ยุงจะใช้เป็นจุดพักเกาะ ดูแลให้ร่างกายแข็งแรง พักผ่อนให้เพียงพอ ดูแลที่พักอาศัยให้สะอาด การอยู่ในห้องที่เปิดแอร์หรือมีความเย็นก็ช่วยได้ทางหนึ่ง เพราะจะมียุงน้อยกว่าห้องที่มีอากาศร้อน
แนะส่งเสริมนักกีฏวิทยาช่วยแก้ปัญหายุง
ส่วนแนวทางการป้องกันจากหน่วยงานรัฐ คือการฉีดพ่นยากำจัดยุงตามบ้านเรือนประชาชนนั้น ศ.ดร.ธีรภาพ แสดงความเห็นว่า ยังไม่ถูกต้องตรงจุดนัก เพราะเป็นการกำจัดยุงรำคาญ แต่ไม่ได้ผลกับยุงลาย และยังมีเรื่องความปลอดภัยที่ประชาชนจะไม่ให้เจ้าหน้าที่เข้าไปฉีดในบ้านด้วย จึงเห็นควรว่าต้องส่งเสริมให้มีนักกีฏวิทยาเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้มีการถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องยุง และแมลงอื่นๆ และวิธีการป้องกันการกำจัดที่ถูกต้องปลอดภัย
กทม.เน้นเฝ้าระวังโรคจากยุงลาย
ด้านนายแพทย์ชวินทร์ ศิรินาค ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (กทม.) กล่าวว่า ในช่วงฤดูฝนประชาชนมักจะป่วยด้วยโรคที่มียุงเป็นพาหะ โดยในพื้นที่ กทม. จะมียุงลายจำนวนมาก และกระจายตัวอยู่ทั่วทุกพื้นที่ เป็นพาหะโรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย โรคไข้หวัดซิกา ซึ่งต้องเฝ้าระวังอย่างมาก โดยเฉพาะโรคไข้เลือดออกที่เกิดจากยุงลายที่อยู่ในบ้าน นอกจากนั้นได้ประสานกับโรงเรียน ใน กทม. ให้ความรู้ ความเข้าใจ และรู้จักการป้องกันตนเองอย่างถูกต้อง
พบผู้เสียชีวิตจากไข้เลือดออกรายแรกใน กทม.
ทั้งนี้ มีรายงานจากกองควบคุมโรคติดต่อสำนักอนามัย กทม. ว่าในกรุงเทพฯ มีผู้เสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออกแล้ว 1 รายคือเด็กหญิงอายุ 14 ปี ในพื้นที่เขตหนองจอก เมื่อวันที่ 5 ส.ค.ที่ผ่านมาโดยมีอาการป่วยแทรกซ้อนกับอาการไข้หวัดทำให้เกิดความสับสนในการรักษา อีกทั้งบิดาของผู้เสียชีวิตมีอาการป่วยแต่ไม่ได้แจ้งข้อมูลต่อ กทม. ทำให้ไม่มีการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์
สำหรับสถานการณ์ผู้ป่วยจากการเฝ้าระวังโรคจากสถานพยาบาลภาครัฐและเอกชน ตั้งแต่ 1 ม.ค.-5 ส.ค. 60 มีผู้ป่วยสะสมทั้งประเทศ 25,950 ราย ผู้เสียชีวิตสะสมทั้งประเทศ 34 ราย ในพื้นที่กรุงเทพฯ พบผู้ป่วยสะสม 3,350 ราย สำหรับพื้นที่ที่พบผู้ป่วยสูง 5 ลำดับแรก คือ เขตจตุจักร 174 ราย เขตบางซื่อ 146 ราย เขตบางกะปิ 135 ราย เขตวังทองหลาง 124 ราย และเขตจอมทอง 122 ราย กลุ่มอายุผู้ป่วยที่พบสูงสุด คือ กลุ่มอายุ 10-14 ปี ทั้งนี้ อัตราการป่วยในแต่ละเดือนที่พบตั้งแต่เดือน พ.ค. เป็นต้นมามีจำนวนสูงกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลัง
เตือนภัย 5 โรคร้ายจากยุงตลอดฤดูฝน
ขณะที่ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกประกาศเตือนประชาชนเรื่องการป้องกันโรคและภัยสุขภาพที่เกิดในช่วงฤดูฝน ครอบคลุมช่วงเวลาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-ตุลาคม โดยระบุถึงโรคติดต่อที่มียุงเป็นพาหะ 5 โรค คือ โรคไข้เลือดออก โรคไข้สมองอักเสบ โรคมาลาเรีย โรคไข้ปวดข้อยุงลาย หรือ โรคชิคุนกุนยา และ โรคติดเชื้อไวรัสซิกา
โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคไข้เลือดออก ที่ในช่วงฤดูฝนของทุกปีจะเป็นช่วงระบาดหนัก เนื่องจากมีฝนตกต่อเนื่องเกือบทุกวัน
กรมควบคุมโรคแนะ 3 เก็บห่างไกลโรคร้ายจากยุง
นอกจากนั้น กรมควบคุมโรค ยังมีคำแนะนำในช่วงฤดูฝน ให้เตรียมความพร้อม 3 เรื่องสำคัญ คือ 1.การป้องกันการถูกยุงกัด ทายากันยุง นอนในมุ้ง กำจัดยุงตัวเต็มวัยด้วยสเปรย์ ไม้ช็อตไฟฟ้า กำจัดลูกน้ำและแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในภาชนะที่มีน้ำใสและนิ่ง เช่น ถาดรองขาตู้ ยางรถยนต์เก่า กระถางต้นไม้ 2.การเฝ้าระวังอาการของโรค เช่น ไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อย เบื่ออาหาร หน้าแดง ผิวหนังเป็นจุดเลือด อาเจียน ปวดท้อง และ 3.การไปพบแพทย์เร็วเมื่อป่วยและมีไข้สูง เพื่อให้แพทย์วินิจฉัยโรค และเฝ้าระวังเป็นพิเศษในช่วงไข้ลด หากเกิดอาการช็อกจากไข้เลือดออก ต้องรีบกลับไปโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด ไม่เช่นนั้นอาจทำให้เสียชีวิตได้
พร้อมทั้งขอให้ประชาชนใช้มาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” คือ 1.เก็บบ้านให้สะอาด โปร่ง โล่ง ไม่ให้มีมุมอับทึบ เป็นที่เกาะพักของยุง 2.เก็บขยะ เศษภาชนะรอบบ้าน โดยทำต่อเนื่องสัปดาห์ละครั้ง ไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และ 3.เก็บน้ำ สำรวจภาชนะใส่น้ำ ต้องปิดฝาให้มิดชิด ป้องกันยุงลายวางไข่ ซึ่งทั้ง 3 มาตรการจะช่วยป้องกัน 3 โรค คือ โรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย ทั้งนี้หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422
คาดผู้ป่วยไข้เลือดออกปี 60 สูงขึ้น
ทั้งนี้ จากรายงานพยากรณ์โรคไข้เลือดออกปี 2560 โดยสำนักโรคติดต่อ ได้พยากรณ์โรคไข้เลือดออกในปี 2560 โดยใช้ข้อมูลผู้ป่วยย้อนหลังอย่างน้อย 10 ปี (2550-2559) ผลการวิเคราะห์ คาดว่าจะมีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกในปี 2560 ประมาณ 80,000-100,000 ราย เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ประมาณ 22-37% และอัตราป่วยตายอยู่ในระดับไม่เกิน 0.11% ซึ่งมีอิทธิพลจากการเปลี่ยนแปลงของไวรัสเดงกีชนิด DENV-2 ที่มีแนวโน้มสูงขึ้น โดยกลุ่มเสี่ยงสำคัญ คือ นักเรียน นักศึกษา อายุระหว่าง 5 – 24 ปี และมีการสร้างแบบจำลองเป็นรายจังหวัด โดยสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1-13 โดยคาดการณ์ว่าผู้ป่วยอาจสูงถึง 82,600 ราย กระจายในพื้นที่จังหวัดสำคัญ ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา กรุงเทพสมุทรสาคร สงขลา คาดว่าอัตราการป่วยสูงสุดน่าจะอยู่ในกลุ่มอายุ 15-24 ปี, 10-14 ปี และ 5-9 ปี ตามลำดับ และมีแนวโน้มว่าอัตราการป่วยในกลุ่มวัยผู้ใหญ่อายุ 25-34 ปีจะสูงขึ้น สำหรับกลุ่มอาชีพส่วนใหญ่ยังคงเป็นกลุ่มนักเรียนและอาชีพรับจ้าง ซึ่งต้องให้ความสำคัญกับการจัดการสิ่งแวดล้อมในสถานศึกษาทุกระดับ และกลุ่มชุมชนหนาแน่นของผู้ประกอบอาชีพรับจ้าง ส่วนลักษณะการระบาดพบว่ามีการระบาดในชุมชนใหม่นอกเขตเทศบาลที่อยู่ใกล้ชุมชนเมืองมากขึ้น ผู้ป่วยไข้เลือดออกในพื้นที่เขตเมืองมากกว่าเขตชนบทนอกเขตเทศบาล และในโรงพยาบาลชุมชนมากขึ้น ซึ่งการระบาดลักษณะนี้มีแนวโน้มต่อเนื่องในปี 2560 ด้วย
หากจะบอกว่ายุงนั้นร้ายกว่าเสือก็ไม่ผิดจากความเป็นจริงไปนัก เพราะยุงบางชนิดก็แค่กัดเจ็บๆ แต่บางชนิดก็ร้ายกาจเล่นงานกันถึงขั้นเสียชีวิตได้ เพราะฉะนั้นเจ้ายุงตัวเล็กจึงไม่ใช่เรื่องเล็ก และการโดนยุงกัดก็ไม่ใช่เรื่องที่ควรมองข้ามอีกต่อไป
นายแพทย์ชวินทร์ ศิรินาค ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร (กทม.)
“วิธีควบคุมโรคจากยุงที่ได้ผลมากที่สุดคือ คือการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงที่เป็นพาหะนำโรค โดยเฉพาะโรคไข้เลือดออกจากยุงลาย เราสามารถป้องกันได้ด้วยตัวเอง คือ ดูแลบริเวณบ้านและรอบๆ ชุมชนที่อยู่ไม่ให้มีน้ำขัง ในภาชนะอย่างยางรถยนต์ อ่าง กระถาง ต้องไม่ให้มีน้ำขัง หลีกเลี่ยงไม่ให้ยุงกัดโดยใส่เสื้อผ้าให้มิดชิด และแจ้งมาที่ศูนย์บริการสาธารณะสุข กทม. ให้เจ้าหน้าที่ไปกำจัดได้”
ศ.ดร.ธีรภาพ เจริญวิริยะภาพ อาจารย์สังกัดภาควิชากีฏวิทยา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านแมลงชุมชน
“เรื่องยุงถือว่าเป็นวาระสำคัญ เป็นอีกปัญหาที่ต้องแก้ไขให้ตรงจุด ต้องมีความรู้ที่ถูกต้อง ผมว่าเป็นสิ่งที่พ่อแม่ ผู้ปกครอง ผู้ใหญ่ควรจะรู้ และใส่ใจ และต้องรู้ด้วยว่าใน กทม. เป็นพื้นที่เสี่ยงของโรคไข้เลือดออก แต่ไม่ใช่พื้นที่เสี่ยงของโรคไข้มาลาเรีย เราต้องรู้จักเรื่องของยุงให้เยอะขึ้นเพราะเป็นภัยใกล้ตัว ในชีวิตประจำวันเราก็ต้องอยู่กับยุง ในทุกที่จะมียุง ในชุมชนแออัด ในเมือง ในป่า เราเลี่ยงไม่ได้เพราะฉะนั้นถ้าเราไม่รู้จักเค้าเราก็จะไม่มีทางป้องกันได้ เจ้าหน้าที่รัฐต้องมีความรู้ความเข้าใจ ประชาชนก็ต้องไม่คิดว่าเรื่องยุงเป็นเรื่องธรรมดา เพราะเมื่อเกิดโรคขึ้นแล้วจะเป็นเรื่องใหญ่มีผลต่อชีวิตได้”
[English]
Mosquitoes : Threats to Thailand’s Public Health (and Economy)
As Thailand’s rainy season continues, the risks of mosquito-borne illnesses show no sign of abating. The Department of Disease Control has already declared dengue fever as one of the most dangerous infections on its watchlist in 2017.
Assoc. Prof. Dr. Wiboon Chongrattanameteekul from the Department of Entomology at Kasetsart University said that, out of nearly 4,000 species of mosquitoes in the world, more than 460 of them are in Thailand.
Dr. Wiboon noted that keeping mosquitoes out and away is quite difficult because they are attracted to carbon dioxide, heat, body odor and sweat while mosquito spray appears quite ineffective with this mosquito specie, so he suggested there should be more entomologists to educate the public about mosquito-borne diseases.
The Bangkok Metropolitan Administration’s Health Department said that the big population of aedes aegypti mosquitoes — carriers of dengue fever, Chikungunya fever and Zika fever — in the Thai capital in the wet season means high alert and active surveillance program as well as more efforts to teach Bangkok residents to protect themselves against any infection.
Official reports show there have been 25,950 dengue patients across Thailand during January 1 and August 5, with 3,350 of them from Bangkok alone. And, it is expected the total number of dengue patients will rise 22%-37% on-year in 2017.