การพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาเมือง โดยรัฐบาลกำหนดเป้าหมายไว้ว่าปี 2572 การพัฒนาโครงข่ายรถไฟฟ้าจะเสร็จสมบูรณ์ ด้วยระยะทางรวม 464 กม. มีสถานีรถไฟฟ้ารวม 312 สถานี ครอบคลุมพื้นที่ 680 ตร.กม. รองรับการให้บริการประชาชนได้ 5.13 ล้านคน
บรรจุแนวพัฒนา TOD ในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12
เพื่อสนับสนุนการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนทางราง รัฐบาลได้เริ่มนำแนวคิดการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟฟ้า หรือ TOD : Transit-Oriented Development มาใช้ควบคู่เพื่อให้การพัฒนาเมืองมีความกระชับ และใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยพัฒนาให้เป็นพื้นที่พาณิชยกรรม ช่วยเพิ่มมูลค่าให้อสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่ ขณะเดียวกันประชาชนก็สามารถใช้ประโยชน์จากทางเดินเท้า พื้นที่สาธารณะ พัฒนาคุณภาพชีวิต และให้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจไปพร้อมกัน โดยได้บรรจุไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560-2564) โดยให้ความสำคัญกับการส่งเสริมให้เกิดการบังคับใช้กฎหมายผังเมือง การสร้างอัตลักษณ์ของพื้นที่ และการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีระบบขนส่งมวลชน (TOD) ซึ่งจะช่วยให้เกิดการพัฒนาพื้นที่ที่สอดคล้องกับระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
กคช.นำร่องทำคอนโดรับผู้มีรายได้น้อย-ปานกลาง
ล่าสุดวันที่ 29 ส.ค.ที่ผ่านมา ครม. มีมติให้การเคหะแห่งชาติ ทำโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดหาที่อยู่อาศัยให้แก่ผู้ที่มีรายได้ปานกลางหรือมีรายได้ไม่มากนัก โดยเริ่มนำร่องโครงการ THE NHA CONDO ประชานิเวศน์ 3 วงเงินลงทุน 464 ล้านบาท บนพื้นที่ 6.23 ไร่ ตั้งอยู่ในโครงการเคหะชุมชน ประชานิเวศน์ จ.นนทบุรี มีห้องพักขนาด 25.5 ตร.ม. 94 ยูนิต ราคาขายเริ่มต้นที่ 799,000 บาท ห้องพักขนาด 30 ตร.ม. 455 ยูนิต ราคาขายเริ่มต้นที่ 990,000 บาท และพื้นที่ร้านค้า 7 ยูนิต อยู่ห่างจากเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีชมพูประมาณ 2.5 กิโลเมตร มีเป้าหมายรองรับกลุ่มผู้ที่มีรายได้ไม่สูงนัก ประมาณ 24,700-35,300 บาท/เดือน/ครัวเรือน กับกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางถึงสูง ประมาณ 35,300 บาท/เดือน/ครัวเรือน ขึ้นไป โดยผู้มีสิทธิในการอยู่อาศัยจะเป็นกลุ่มผู้มีรายได้ไม่สูงมาก 30% และกลุ่มผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลาง 70%
นักวิชาการชี้แค่ขยายเส้นทางรถไฟฟ้ายังดีไม่พอ
อย่างไรก็ดี จากเวทีสัมมนาวิชาชีพด้านสถาปัตยกรรมผังเมือง ในหัวข้อ “Bangkok’s New TOD” กรุงเทพฯ มหานครใหม่แห่งระบบราง จัดโดย สมาคมสถาปนิกผังเมืองไทย ภายใต้แนวคิด “สืบสานพระราชปณิธาน กรุงเทพฯ เมืองสวรรค์ มหานครแห่งระบบราง” โดยมี รศ.ดร.พนิต ภู่จินดา นักวิชาการด้านผังเมือง นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายวิจิตต์ นิมิตรวานิช นักวิชาการขนส่งทรงคุณวุฒิ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร รวมถึงนักวิชาการ ผู้บริหารภาครัฐ และเอกชน
จากความคิดเห็นของนักวิชาการบนเวที ล้วนแต่สอดคล้องไปในทางเดียวกันว่า แม้การมีเส้นทางรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจะส่งผลดี แต่การพัฒนาโครงข่ายรถไฟฟ้าให้เส้นทางครอบคลุมเพียงอย่างเดียวยังไม่เพียงพอ ต้องมีการบริหารจัดการและการวางแผนพัฒนาเมืองในมิติต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพควบคู่ไปด้วย โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่เป็นเมืองที่เติบโตไปก่อนระบบราง ต้องนำหลัก TOD มาใช้เป็นตัวกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าให้เหมาะสม ต้องไม่ปล่อยให้บริเวณรอบสถานีส่วนใหญ่พัฒนาโดยผู้ประกอบการ ดังเช่นในปัจจุบันที่อาคารชุดขนาดใหญ่ล้อมรอบตามแนวรถไฟฟ้า ทำให้มีราคาสูงมาก ประชาชนที่มีรายได้ปานกลางหรือรายได้น้อยหมดสิทธิ์ในการอยู่อาศัยในเขตเมือง ต้องไปเลือกซื้อที่อยู่อาศัยรอบนอก ขณะเดียวกันต้องนำที่ดินของรัฐมาพัฒนาเป็นที่พักอาศัยและพื้นที่สาธารณประโยชน์ได้ด้วย
รัฐต้องจัดฟีดเดอร์เสริมป้อนคนใช้ระบบราง
นอกจากนี้ต้องมีโครงข่ายระบบรอง หรือ ฟีดเดอร์ (Feeder) เข้ามาช่วย โดยเน้นให้รถไฟฟ้าเป็นระบบหลัก แล้วรัฐจัดฟีดเดอร์เสริม โดยจัดเส้นทางให้ครอบคลุมไปถึงพื้นที่รอบนอก หรือชุมชน หมู่บ้านต่างๆ ที่รถไฟฟ้ายังไปไม่ถึง และในเส้นทางที่มีรถไฟฟ้าแล้วให้ตัดเส้นทางรถเมล์ หรือฟีดเดอร์ออกเพื่อไม่ให้ทับซ้อนกัน ไม่ควรปล่อยให้เป็นแบบถนนในแนวรถไฟฟ้า BTS ที่ไม่ได้เอารถเมล์ออกจากถนนเลย รถไฟฟ้าจึงเป็นเพียงแค่ทางเลือก ไม่ใช่ทางจำเป็น
ขณะเดียวกันรัฐต้องมีกลไกในการควบคุมค่าโดยสารรถไฟฟ้าให้ประชาชนทุกกลุ่มใช้บริการได้ รวมถึงต้องลดการใช้เวลา และค่าใช้จ่ายในการเดินทางนอกระบบรางให้ได้มากที่สุด ซึ่งการจัดระบบการเดินทางให้เชื่อมโยงถึงกันอย่างทั่วถึง ด้วยฟีดเดอร์ หรือทำให้ประชาชนสามารถเดินทางในระยะที่เดินเท้า หรือใช้จักรยานเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าได้ จะช่วยรองรับการเดินทางของประชาชนที่กระจายอยู่ทุกพื้นที่ได้ครบถ้วน จะทำให้ปรับพฤติกรรมจากการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะได้มากขึ้น และยังช่วยกระจายที่อยู่อาศัยให้ไม่กระจุกตัวแค่ในพื้นที่กลางเมืองหรือแหล่งเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม ผลจากที่ กรมการขนส่งทางบก จัดโครงการทดลองเดินรถเมล์ 8 เส้นทางนำร่องตามแผนปฏิรูประบบรถโดยสารประจำทาง ซึ่งไม่เป็นที่ยอมรับจากประชาชน ประกอบกับที่ รฟม.มีแนวคิดจะจ้าง ขสมก. เดินรถเป็นระบบฟีดเดอร์ โดยเก็บค่าโดยสารไม่สูง เพื่อเป็นการจูงใจให้คนมาใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีม่วงมากขึ้น แต่ต้องยกเลิกไปหลังจากที่ศึกษาแล้วพบว่าการจ้าง ขสมก. เดินรถไม่คุ้มกับที่ต้องจ่ายค่าจ้าง 6,000,000 บาท/เดือน แต่จะหารือกับ ขสมก. ให้ปรับเส้นทางการเดินรถเมล์รับส่งให้ใกล้หรือเชื่อมกับสถานีให้แทน เป็นอีกหนึ่งข้อกังวลว่าแผนการที่รัฐวาดหวังไว้จะเป็นไปได้จริงหรือ
ต้องคลายปม กม. ผังเมือง-เวนคืนที่ดิน
อีกเรื่องสำคัญที่รัฐต้องคำนึงถึง คือเรื่องของกฎหมายผังเมืองที่ต้องปฏิรูปใหม่ นอกจากจะกำหนดให้ใช้ประโยชน์พื้นที่เพื่อสร้างรายได้แล้ว ต้องมีพื้นที่เพื่อสาธารณประโยชน์ด้วย แม้ขณะนี้ในขั้นตอนจัดทำผังเมืองใหม่ ที่จะประกาศใช้ปี 2561 จะมีการกำหนดให้การพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ในรัศมี 600 เมตร จากสถานีรถไฟฟ้ามีประสิทธิภาพและมีความหนาแน่นมากยิ่งขึ้นด้วยมาตรการจูงใจ เช่น จะได้โบนัสอัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดินเพิ่มขึ้น 20% หรือในกรณีที่มีพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้นจากที่กฎหมายกำหนดก็จะได้รับโบนัสเพิ่มเช่นเดียวกัน จะเอื้อต่อผู้ประกอบการและส่งผลให้เกิดการพัฒนาอื่นๆ ตามมาในรัศมี 12 กิโลเมตร แต่ยังไม่ชัดเจนนักว่าจะมีผลดีต่อกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลาง-น้อยหรือไม่
ขณะเดียวกันก็ต้องปรับแก้ไขกฎหมาย เวนคืนที่ดินกำหนดไว้ว่า ไม่สามารถนำที่ดินที่ได้จากการเวนคืนมาเพื่อสร้างรถไฟฟ้าไปพัฒนาเชิงพาณิชย์ได้ ซึ่งที่ผ่านมา ย้อนไปเมื่อวันที่ 28 ก.ย. 2555 การเคหะแห่งชาติ และ รฟม. ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจการใช้ทรัพยากรร่วมกันของรัฐวิสาหกิจ ด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้า โดยเล็งที่จะใช้ที่บริเวณศูนย์ซ่อมบำรุงสายสีม่วง และตั้งเป้าจะเปิดให้เช่าต้นปี 2558 แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีโครงการเกิดขึ้น เนื่องจากติดข้อกฎหมายเวนคืนที่ดิน
ดังนั้นการพัฒนาพื้นที่ตามแนวคิด TOD นอกจากนโยบายแล้ว ยังต้องเปลี่ยนแปลงวิธีคิด ทั้งในแง่กฎหมาย องค์กร การลงทุน เพื่อให้เกิดความร่วมมือ และการสนับสนุนจากภาคธุรกิจและภาคประชาชนได้เต็มที่ ซึ่งทุกภาคส่วนพร้อมร่วมมือสนับสนุนอย่างจริงจัง รอเพียงว่าเมื่อใดภาครัฐจะปลดล็อคอุปสรรคต่างๆ แล้วทำได้ตามที่ลั่นวาจาไว้ หรือจะปล่อยให้เป็นเพียงอีกหนึ่งนโยบายพาฝันเท่านั้น
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม, กรรมการผู้จัดการ บริษัท ควอลิตี้เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน)
“การพัฒนาทีโอดีรัฐต้องเป็นผู้นำ กระทรวงคมนาคมต้องนำร่องก่อน อย่างพื้นที่ 1,000 ไร่ ย่านบางปิ้ง ในแนวรถไฟฟ้าสายสีเขียว แทนที่จะแค่ทำเป็นศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟฟ้า (เดปโป้) หรือลานจอดแล้วจร เอามาทำตามแนว TOD ทำเป็นที่พักอาศัยให้ผู้มีรายได้น้อย พัฒนาเป็นสวนสาธารณะได้เลย เปิดโอกาสให้เอกชนเข้าร่วมลงทุน ทำให้ประชาชนเข้าถึงรถไฟฟ้า สมัยเป็นรัฐมนตรีคมนาคมเคยเสนอให้ที่เดปโป้สายสีม่วง ตอกเสาเข็มเตรียมไว้สร้างอาคารชุดในอนาคต แต่ติดเรื่องกฎหมายเวนคืนที่ดินจึงทำไม่ได้ และสิ่งที่ท้าทายหลังจากนี้คือจะทำยังไงให้คนที่อยู่ชานเมืองอยู่บ้านเดี่ยว ซึ่งตัวเลขสำมะโนครัวประชากรปี 53 ระบุว่ามี 44% มาใช้รถไฟฟ้า ขณะที่คนอยู่คอนโดฯ แนวรถไฟฟ้ามีแค่ 2%”
รศ.ดร.พนิต ภู่จินดา นักวิชาการด้านผังเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
“ต้องปฏิรูปกฎหมายผังเมืองใหม่ เช่นการใช้ที่ดินตามแนวรถไฟฟ้าไม่ต้องจ่ายค่าเวนคืนแต่หากลไกแลกสิทธิใช้ที่ดินให้เหมาะสม กำหนดเป็นกฎหมายเฉพาะ เพราะแบบเดิมอาจไม่เหมาะกับปัจจุบัน การจัดรูปที่ดินต้องตามมา ให้ใช้ประโยชน์ตามแนวรถไฟฟ้าได้เต็มประสิทธิภาพ ต้องมีการชดเชยอย่างเป็นธรรม และเห็นว่าในเส้นทางที่รถไฟฟ้าผ่านแล้ว ไม่ควรมีรถเมล์อยู่ใต้แนวรถไฟฟ้าเลย การแก้ปัญหาเมือง แก้ไขโดยไม่เจ็บตัวไม่ได้ การพัฒนาเมืองไม่มีใครทำโดยไม่ต้องเสียสละ ต้องยอมเจ็บตัวบ้าง ไม่เช่นนั้นในอนาคตจะเจ็บยิ่งกว่า ขณะเดียวกันรัฐต้องทำให้กลไกราคารถไฟฟ้าถูกลงทำให้คนมีรายได้น้อยใช้ได้ เพราะตอนนี้ขึ้นบีทีเอสจากหมอชิตไปสุขุมวิท 50 บาท แต่นั่งรถเมล์ แค่ 10 บาท”
นายวิจิตต์ นิมิตรวานิช นักวิชาการขนส่งทรงคุณวุฒิ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร
“หากระบบฟีดเดอร์ไม่สำเร็จจะเกิดหายนะกับการลงทุนระบบราง ที่ใช้เม็ดเงินไป 1.3 ล้านล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงคมนาคมมีหน้าที่ในการพัฒนาระบบขนส่งเท่านั้น นี่คือข้อจำกัด เรื่องการพัฒนาที่ดินรอบสถานีเราก็อยากทำเพื่อช่วยพัฒนาที่อยู่อาศัยรองรับผู้มีรายได้น้อย หรือทำพื้นที่สีเขียว ซึ่งประชาชนก็จะเป็นลูกค้าของระบบ แต่ด้วยข้อกฎหมายที่เป็นข้อจำกัดทำให้ลงลึกในการพัฒนาเชิงพาณิชย์ไม่ได้ ต้องอาศัยกฎหมายผังเมือง หรือผังเมืองเฉพาะมาช่วย เท่าที่ทำได้ตอนนี้คือดูในแต่ละพื้นที่ว่าที่ใดพัฒนาได้โดยนำแนวคิด TOD มาใช้ พร้อมจัดฟีดเดอร์เสริมด้วย”