Wednesday, December 7, 2022
More

    จัดระเบียบทางเท้า จบใน 1 ปี

    เพื่อให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย และประชาชนได้รับความสะดวก มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน กทม. จึงงัดมาตรการเข้มข้นมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพในการจัดระเบียบทางเท้า โดยนำร่อง 1 เขต 1 ถนน กำหนดให้ทำจบภายใน 1 ปี

    จัดระเบียบทางเท้า 50 เขต ยึดหลัก 5 ไม่ 
    แผนเพิ่มประสิทธิภาพในการพัฒนาและจัดระเบียบทางเท้า กทม. จะดำเนินการผ่านโครงการ “ถนน 5 ไม่” เพื่อสร้างทางเท้าที่สวยงาม เป็นพื้นที่ให้ประชาชนเดินสัญจรได้สะดวกและปลอดภัยมากที่สุด โดยจะมีการพัฒนาด้านกายภาพ ปรับปรุงภูมิทัศน์ สร้างวัฒนธรรมการใช้ทางเท้า และรักษาสภาพแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยยึดหลักตามมาตรการ “5 ไม่” ประกอบด้วย
    1.ไม่มีการติดตั้งป้ายโฆษณาผิดกฎหมาย หรือการลักลอบติดตั้งป้ายโฆษณาป้ายประชาสัมพันธ์ใดๆ โดยไม่ได้รับอนุญาต
    2.ไม่มีการตั้งวางสิ่งของใดๆ กีดขวางทางเท้า
    3.ไม่มีขยะสิ่งปฏิกูลใดๆ บนทางเท้า
    4.ไม่มีแผงค้าผิดกฎหมายหรือลักลอบตั้งวางโดยไม่ได้รับอนุญาต และ
    5. ไม่มีการจอดรถหรือขับขี่บนทางเท้า 


    การนำร่องจัดระเบียบทางเท้านี้ กำหนดให้แต่ละสำนักงานเขตเลือกถนนที่จะพัฒนาเป็นจุดนำร่อง เขตละ 1 เส้นทาง ถือเป็นการจัดระเบียบถนนตามพระราชบัญญัติ รักษาความสะอาดเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 ซึ่งครอบคลุมถึงเรื่องการทิ้งขยะ หาบเร่แผงลอย การลักลอบติดป้ายโฆษณา และเป็นการดำเนินการตามโครงการให้รางวัลนำจับแก่ผู้แจ้งเบาะแสผู้กระทำผิดด้วย ซึ่งหากพบการฝ่าฝืนใน 5 ข้อข้างต้น จะจับปรับตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ   


    โดยนายธีรพันธ์ อธิรัฐธนภรณ์ ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ กรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า สำนักงานเขตทั้ง 50 เขต ส่งรายชื่อ และแผนการพัฒนาถนนนำร่อง 50 เส้นทาง ระยะทางรวม 166.465 กม. มาครบและบางเส้นทางได้เริ่มดำเนินการแล้ว สำหรับโครงการนำร่องนี้แต่ละเขตจะต้องวางแผนทำงานให้จบภายใน 1 ปี  เชื่อว่าจะไม่มีปัญหา สามารถที่จะดำเนินการได้ตามเป้าหมายที่ผู้บริหาร กทม. กำหนดไว้ เพราะแต่ละเส้นทางที่แต่ละเขตเลือกมา ผ่านการพิจารณาแล้วว่าเป็นจุดเหมาะสม สามารถปรับปรุงด้านต่างๆ ตามเงื่อนไขได้รวดเร็ว และจะเกิดประสิทธิภาพในการใช้งานสูงสุดเป็นประโยชน์ต่อประชาชนทุกคน เมื่อครบ 1 ปีแล้วจะพิจารณาขยายผลการดำเนินงานไปยังถนนเส้นอื่นๆ ต่อไป

    ผังเมือง กทม.วางแผนปรับทางเท้า 17 ถนน 
    ขณะเดียวกัน สำนักผังเมือง กทม. มีแผนปรับปรุงทางเท้าในพื้นที่กรุงเทพฯ มีความยาวรวมกันกว่า 7,000 กม. โดยสำรวจจากจุดที่ชำรุด เสื่อมโทรม และมีความจำเป็นต้องซ่อมแซมปรับปรุง ซึ่งมีทางเท้าตามแนวถนน 17 สายที่จะดำเนินการ โดยมีแนวทางว่าจะต้องสอดคล้องกับเอกลักษณ์ของแต่ละท้องที่ภายใต้มาตรฐานการก่อสร้างที่สำนักการโยธากำหนด พร้อมทั้งมีสิ่งอำนวยความสะดวก ความปลอดภัยแก่ผู้ใช้งานรวมถึงมีภูมิทัศน์ที่ดีและสวยงาม และจะดึงภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเพื่อให้ทุกคนรู้สึกว่าเป็นเจ้าของทางเท้า มีความหวงแหน อยากช่วยกันดูแลรักษาให้อยู่ในสภาพดี สวยงาม และใช้งานได้อย่างสะดวก ปลอดภัย 

    สำหรับ 17 เส้นทางในความรับผิดชอบของสำนักผังเมือง ประกอบด้วย
    1.ถนนเชียงใหม่ เขตคลองสาน
    2.ถนนเชิดวุฒากาศ เขตดอนเมือง
    3.ถนนกำแพงเพชร 2 เขตจตุจักร
    4.ถนนมหาราช บริเวณหน้าสถานีตำรวจ นครบาลพระราชวัง เขตพระนคร
    5.ถนนบำรุงเมือง บริเวณแยกแม้นศรี เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย
    6.ทางเท้ารอบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เขตราชเทวี
    7.ถนนโยธี เขตราชเทวี
    8.ถนนพญาไท บริเวณ Airport Rail Link พญาไท เขตราชเทวี
    9.ถนนพหลโยธิน บริเวณสถานี BTS อารีย์ เขตพญาไท
    10.ถนนรัชดาภิเษก  เขตดินแดงและเขตห้วยขวาง
    11.ถนนสุขุมวิท 63 (เอกมัย) เขตวัฒนา
    12.ถนนสุขุมวิท 55 (ทองหล่อ) ซอยทองหล่อ 10 เขตวัฒนา
    13.ถนนสีลม เขตบางรัก
    14.ถนนสาทร เขตสาทร/เขตบางรัก
    15.ถนนราชดำริ เขตปทุมวัน
    16.ถนนเสรีไทย เขตบางกะปิ  และ
    17.ถนนประชาอุทิศ เขตทุ่งครุ  


    ปรับพื้นที่ย่านราชประสงค์ให้เดินสะดวก  
    นอกจากนั้น สำนักผังเมือง กทม. ยังมีแผนพัฒนาพื้นที่ย่านสำคัญใน กทม. เพื่อสร้างเป็นจุดเศรษฐกิจการค้าที่สมบูรณ์  โดยเริ่มนำร่องที่ย่านราชประสงค์ ซึ่งเป็นจุดที่มีประชาชนนักท่องเที่ยวสัญจรผ่าน วันละกว่า 100,000 คน และยังเป็นจุดที่สามารถเชื่อมต่อการเดินทางได้หลายระบบ รวมถึงเป็นจุดที่มีแผนพัฒนาพื้นที่การค้าอยู่ด้วย กทม.และสมาคมผู้ประกอบการย่านราชประสงค์ จึงร่วมวางแนวทางพัฒนาให้เป็นพื้นที่สำหรับทุกคน คือมีทางเท้าที่สะดวก ปรับภูมิทัศน์ให้สวยงาม มุ่งสู่การเป็นย่านอารยสถาปัตย์อย่างสมบูรณ์แบบสำหรับประชาชนทุกคน โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุและผู้พิการ ที่จะสามารถใช้ทางลอดทางเท้าต่างๆ ได้อย่างสะดวก เป็นพื้นที่ปลอดภัย 100%  รวมถึงจะมีการเชื่อมต่อกล้อง CCTV กับภาคเอกชนในพื้นที่ และประสานกับตำรวจร่วมกำหนดแผนจราจรไม่ให้มีรถจอดในที่ห้าม โดยคาดว่าจะปรับปรุงเสร็จสมบูรณ์ในปี 2561   

    เรื่องการจัดระเบียบทางเท้าให้สะดวก สบาย และเป็นพื้นที่ที่เป็นประโยชน์สำหรับทุกคน ถือเป็นภารกิจสำคัญ ที่ กทม. ทำมาต่อเนื่อง และดูจะมีการเพิ่มความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ แต่จะทำได้ตามที่ผู้บริหาร กทม. ตั้งความหวังไว้หรือไม่นั้น นอกจากจะต้องใช้มาตรการอย่างจริงจัง และติดตามผลอย่างต่อเนื่องแล้ว ยังต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคเอกชน ภาคประชาชน ผู้ค้า ผู้ขับขี่รถมอเตอร์ไซค์ ในการให้ความร่วมมือช่วยกันทำตามกฎระเบียบ เพื่อสร้างพื้นที่สาธารณะสำหรับคนกรุงเทพฯ ทุกคน ให้สามารถใช้สิทธิบนที่สาธารณะได้อย่างเท่าเทียม และสิ่งนี้จะทำให้กทม. เป็นเมืองที่น่าเที่ยวและน่าอยู่อย่างยั่งยืน 


    พล.ต.ท.ชินทัต มีศุข รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร  
    “ตามแนวคิด ผู้ว่าฯ กทม. คือต้องการให้เอกชน เข้ามามีส่วนร่วม กับ กทม. ในการจัดระเบียบทางเท้า ให้เกิดความสวยงาม โดยบริษัท ห้างร้าน ประชาชน ที่อยู่หน้าถนนนั้นช่วยดูแลกันด้วย โดยทาง กทม. สำนักงานเขต สำนักเทศกิจ จะช่วยกวดขัน ตรวจตราให้เป็นไปตามข้อกำหนด นี่เป็นแนวทางการดูแลและบำรุงรักษาทางเท้าในกรุงเทพฯ ให้มีความสวยงามและเป็นระเบียบเรียบร้อย เพื่อให้ประชาชนสัญจรได้อย่างสะดวก ปลอดภัย เป็นการร่วมกันพัฒนาเมืองให้น่าอยู่”

    นายศักดิ์ชัย บุญมา ผู้อำนวยการสำนักผังเมือง 
    “สำนักผังเมืองมีแผนปรับภูมิทัศน์ในถนน 17 เส้นทาง ซึ่งได้มีการทบทวนเส้นทางจากแผนแรกที่วางไว้บางแห่ง เช่น ที่เขตคลองสานเดิมจะทำที่ถนนท่าดินแดง แต่ต้องปรับเป็นถนนเชียงใหม่ เพราะอนาคตที่ถนนท่าดินแดงจะมีโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา โดยในแต่ละแห่งก็พิจารณาว่าเป็นจุดที่ดำเนินการได้รวดเร็ว ทำแล้วได้ประโยชน์เต็มที่ต่อประชาชน มีการออกแบบอย่างเหมาะสม และจะดึงภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อให้เกิดการพัฒนาไปด้วยกันอย่างเต็มที่ รวมถึงมีส่วนช่วยกันดูแลรักษาให้อยู่ในสภาพที่ดี สวยงาม ใช้งานได้อย่างสะดวกและยั่งยืน”