Tuesday, December 6, 2022
More

    ใช้หลักรุกขกรรม ดูแลต้นไม้กทม.

    ที่ผ่านมาการตัดแต่งต้นไม้ในพื้นที่กรุงเทพฯ เป็นปัญหาที่ได้รับการแก้ไขโดยขาดองค์ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง และเป็นประเด็นที่มีการร้องเรียนผ่านสื่อสังคมออนไลน์มาตลอด ก่อให้เกิดเป็นข้อพิพาทระหว่างหน่วยงานรัฐและประชาชนอยู่บ่อยครั้ง ทั้งจากเรื่องการตัดแต่งต้นไม้ผิดวิธี การปลูกต้นไม้ไม่สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ของเมือง ทำให้ต้นไม้ไม่แข็งแรง หมดความสวยงาม และเกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน แต่นับจากนี้ไปอีก 1 ปี เราคงจะได้เห็นภาพความเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น

    ตั้งกรรมการรุกขกรรมร่วมดูแลต้นไม้ทั่ว กทม. 
    โดยกรุงเทพมหานคร ได้จัดประชุมหารือเพื่อยกระดับคุณภาพการตัดแต่งต้นไม้ขนาดใหญ่ในเมือง (รุกขกรรม) ร่วมกับตัวแทนผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และเครือข่ายต่างๆ เพื่อร่วมกันกำหนดมาตรฐานในการดูแลต้นไม้ในพื้นที่กรุงเทพฯ ให้มีความยั่งยืน โดยจะตั้งคณะกรรมการรุกขกรรม ร่วมกับองค์กรเครือข่ายต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนการทำงานไปพร้อมกัน ทั้งด้านการสร้างองค์ความรู้ด้านการดูแลตัดแต่งต้นไม้ที่ถูกต้องตามหลักวิชาการและได้มาตรฐานในระดับสากล การพัฒนาคน โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของ กทม. ที่ดูแลต้นไม้ให้มีทักษะและความรู้ที่ถูกต้อง การสนับสนุนให้รุกขกรเป็นอาชีพใหม่ที่สร้างรายได้ดี รวมถึงการจัดตั้งชมรมจิตอาสาที่มีใจรักต้นไม้และมีความรู้มาช่วยกันดูแล เพราะถือว่าต้นไม้ในกรุงเทพฯ เป็นทรัพย์สินของทุกคนที่ต้องช่วยกันดูแล เพื่อให้การอยู่ร่วมกันระหว่างผู้คนและต้นไม้เป็นไปได้อย่างลงตัว 


    นำร่องใช้หลักรุกขกรรมดูแลต้นไม้
    ทั้งนี้ กทม. ได้ยึดวันที่ 10 ธ.ค. 60 เป็นวันดีเดย์เริ่มต้นจุดเปลี่ยนในการดูแลต้นไม้ในเมือง ให้เป็นไปตามวิธีที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ โดยร่วมมือกับ การไฟฟ้านครหลวง กรมป่าไม้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กลุ่มบิ๊กทรีส์ (BIGTrees Project) เครือข่ายต้นไม้ในเมือง รุกขกรอิสระ และนักวิชาการจากสำนักงานสวนสาธารณะ จัดฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ดูแลต้นไม้ของ กทม. ทั้ง 50 เขต 


    สำหรับการร่วมเรียนรู้วิธีการตัดต้นไม้แบบรุกขกรมืออาชีพที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ เริ่มนำร่องที่บริเวณถนนสุขุมวิท และอุทยานเบญจสิริ โดยดำเนินการตัดแต่งและบำรุงรักษาต้นโพธิ์ภายในอุทยานเบญจสิริ ต้นไม้บริเวณถนนสุขุมวิท ระหว่างซอย 20-21 และต้นประดู่แดง ต้นไม้ทรงปลูกของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระบรมราชินีนาถ โดยมีการวินิจฉัยตามอาการและลักษณะของต้นไม้แต่ละต้น 

    นอกจากนี้ สำนักงานเขตพื้นที่ยังได้ตรวจสอบต้นไม้ในแนวถนนสุขุมวิททั้งหมด ส่วนใหญ่เป็นต้นชมพูพันธุ์ทิพย์ซึ่งเป็นไม้เนื้ออ่อน เคยเกิดการโค่นล้มเนื่องจากรากผุ ลำต้นเป็นโพรง จึงรื้อออกและตัดโค่นเพิ่มเติมในส่วนที่สำรวจพบว่าไม่แข็งแรง หากปล่อยไว้จะเป็นอันตราย ส่วนที่จะปลูกขึ้นมาเสริมหรือทดแทนนั้น ทางกรมป่าไม้แนะนำว่าควรปลูกต้นพิกุลทอง เนื่องจากเป็นพันธุ์ไม้ยืนต้นขนาดกลาง ลำต้นมีความสูงประมาณ 8-15 เมตร เป็นไม้ที่มีความแข็งแรงทนทาน มีอายุยาวนาน เป็นไม้ที่เจริญเติบโตช้า เป็นทรงพุ่มสวย จึงไม่ต้องตัดแต่งบ่อย ให้ร่มเงาบังแดดดี กิ่งแข็งแรง ลูกไม่ใหญ่ รากไม่แตกออกไปไกล และทนต่อน้ำท่วมขังได้ดี 
    เตรียมขยายผลต่อไปยัง ถ.พญาไท-พหลฯ 
    หลังจากนำร่องดูแลต้นไม้ตามหลักรุกขกรรม ที่บริเวณถนนสุขุมวิท และอุทยานเบญจสิริแล้ว กทม. จะขยายผลการดำเนินงานไปยังถนนพญาไท และถนนพหลโยธิน ซึ่งเป็นเส้นทางที่การไฟฟ้านครหลวงได้นำสายไฟฟ้าและสายสื่อสารต่างๆ ที่เกาะเกี่ยวสายไฟและต้นไม้ลงใต้ดินแล้ว ซึ่งเป็นโอกาสดีที่จะดูแลต้นไม้ในถนนเส้นดังกล่าวไปพร้อมกัน โดยจะให้ความสำคัญสูงสุดกับความปลอดภัย ลดความเสี่ยงของต้นไม้ที่จะโค่นล้มทับประชาชนและทำให้ทรัพย์สินเสียหายได้  จากนั้นจะขยายผลต่อไปยังถนนเส้นอื่นๆ ทั้งที่นำสายไฟฟ้าและสายสื่อสารลงดินและยังไม่ได้นำลงดินต่อไป โดยกทม. มีเป้าหมายว่าภายใน 1 ปี รุกขกรจะสามารถดำเนินงานตัดแต่งต้นไม้ตามหลักการที่ถูกต้องได้อย่างน้อย 50% จากจำนวนต้นไม้ใหญ่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่มีอยู่กว่า 3 ล้านต้น  

    ยึดสิงคโปร์ต้นแบบจัดการต้นไม้ – ส่งเสริมอาชีพรุกขกร  
    ก่อนหน้านี้ กรุงเทพมหานคร ยังได้ร่วมมือกับ สมาคมภูมิสถาปนิกประเทศไทย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กลุ่มบิ๊กทรีส์ (BIGTrees Project) เครือข่ายต้นไม้ในเมือง ภาคเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดงานอบรมรุกขชาตินานาชาติ The 1st International Arboriculture Training and Assessment in Thailand  ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เพื่อฝึกอบรมรุกขกร โดยมุ่งหวังให้เกิดความรู้ความเข้าใจ ตั้งแต่ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับต้นไม้ การดูแล การจัดการด้านต่างๆ อย่างถูกวิธีตามมาตรฐานสากล โดยเน้นที่การพัฒนาทักษะในการใช้อุปกรณ์ตัดแต่งต้นไม้ ทั้งภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติ อีกทั้งยังมีแนวคิดร่วมกันว่าจะใช้สิงค์โปร์เป็นเมืองต้นแบบ ทั้งในด้านการจัดการต้นไม้ในเมืองอย่างมีประสิทธิภาพ และการสร้างอาชีพรุกขกร ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 10 ปี ในการพัฒนาให้ทัดเทียมกับสิงคโปร์

    นอกจากนั้น ภาครัฐ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และกลุ่มเครือข่ายต่างๆ จะร่วมกันสร้างเครือข่ายพัฒนาอาชีพรุกขกร ผ่านหลักสูตรระยะสั้น ซึ่งอาจจะมีแผนพัฒนาหลักสูตรในระดับอุดมศึกษา หรือสายอาชีพ ในอนาคต เพื่อส่งผ่านองค์ความรู้ในการดูแลต้นไม้ตามมาตรฐานสากลต่อไปยังภาคส่วนต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อให้เกิดการดูแลต้นไม้ได้อย่างยั่งยืน 

    นับเป็นการเปลี่ยนแปลงที่น่าติดตาม และเป็นก้าวย่างที่สำคัญ ในการร่วมกันดูแลรักษาและตัดแต่งต้นไม้ในเมือง ทั้งที่อยู่ริมถนน ในสวนสาธารณะ วัด โรงเรียน อาคารสำนักงาน และพื้นที่ต่างๆ ให้มีความสวยงาม ปลอดภัยทั้งต่อผู้ปฏิบัติหน้าที่ ประชาชน เพื่อให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่คนและต้นไม้ อยู่ร่วมกันได้อย่างร่มรื่น ปลอดภัย มีคุณภาพชีวิตที่ดี  


    ดร.วัลลภ สุวรรณดี ประธานที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร  

    “ถือเป็นการเริ่มต้นให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในการดูแลและตัดแต่งต้นไม้ ให้เป็นไปตามวิธีที่ถูกต้องตามหลักรุกขกรรม และสิ่งที่สำคัญคือ ผู้ว่า กทม. ต้องการให้พี่น้องประชาชนที่เป็นเจ้าของต้นไม้โดยตรง ได้มีส่วนสำคัญในการที่จะเฝ้าระวังให้กับ กทม. ด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสุขภาพของต้นไม้ หรืออันตรายจากกิ่งที่แห้งหักแล้วยังไม่ได้รับการดูแล หลังจากนี้จะจัดฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ดูแลต้นไม้ของ กทม. อย่างจริงจัง โดยจะจัดอบรมให้ครบทั้ง 6 กลุ่มโซน กลุ่มโซนละ 30 คน ใช้เวลาในการอบรมกลุ่มละ 6 วัน พร้อมขยายที่ดำเนินการในถนนเส้นอื่นๆ ทั้งในเส้นทางที่มีการนำสายไฟฟ้าและสายสื่อสารลงใต้ดินแล้วและส่วนที่ยังไม่ลงดินด้วย”