Friday, December 8, 2023
More

    อนาคตกรุงเทพ – มหานครแห่งระบบราง

    ในเวทีเสวนา Thailand Tourism Forum 2018 มีการคาดการณ์ว่า ในอีก 5 ปีข้างหน้า กรุงเทพฯ จะก้าวขึ้นเป็นมหานครแห่งใหม่ เทียบเท่าเมืองชั้นนำของโลก อย่าง ลอนดอน นิวยอร์ก โตเกียว ปักกิ่ง และเซียงไฮ้ ซึ่งปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนให้ไปสู่เป้าหมายนั้น มาจากศักยภาพของกรุงเทพฯ ที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการพัฒนาระบบรถไฟฟ้า ที่รัฐบาลมีแผนจะทำให้เชื่อมโยงทั่วทุกพื้นที่ภายในปี 2572

    เร่งสร้างรถไฟฟ้ายกระดับการเดินทาง
    โดยสถานะล่าสุดของการพัฒนาโครงข่ายรถไฟฟ้าขณะนี้มีการก่อสร้างอยู่ถึง 8 โครงการ ระยะทางรวม 159.9 กม. แยกเป็น


    1 โครงการ คือ รถไฟฟ้าสายสีทอง ช่วงกรุงธนบุรี-คลองสาน อยู่ในความรับผิดชอบของกรุงเทพมหานคร อีก 1 โครงการ คือ ระบบรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต อยู่ในความรับผิดชอบของการรถไฟแห่งประเทศไทย อีก 6 โครงการ อยู่ในความรับผิดชอบของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย คือ รถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ, รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค และช่วงเตาปูน-ท่าพระ, รถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต, รถไฟฟ้าสายสีส้ม (ส่วนตะวันออก) ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ที่มีความคืบหน้าการก่อสร้างไปมากแล้ว และรถไฟฟ้าสายสี ชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี กับรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ซึ่งเป็นระบบรถไฟฟ้า Monorail ที่จะเริ่มก่อสร้างอย่างเต็มที่ตั้งแต่ปี 61 โดยผู้รับจ้างก่อสร้างได้เริ่มเข้าพื้นที่ดำเนินการรื้อย้ายสาธารณูปโภคตามแนวเส้นทางแล้ว 

    ทำใจรับวิกฤติจราจรต่อเนื่อง 
    แน่นอนว่าช่วงที่มีการก่อสร้างรถไฟฟ้าหลายเส้นทางไปพร้อมกัน จะต้องมีผลทำให้การจราจรติดขัดมากขึ้นทวีคูณ เนื่องจากแต่ละโครงการมีแนวเส้นทางผ่านถนนสายหลักที่ขึ้นชื่อเรื่องรถติดหนัก อย่างเช่น สายสีชมพู ที่เริ่มต้นจากถนนรัตนาธิเบศร์ ถนนติวานนท์ แยกปากเกร็ด ถนนแจ้งวัฒนะ ผ่านเมืองทองธานี ผ่านศูนย์ราชการ ผ่านแยกหลักสี่ ผ่านวงเวียนอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ผ่านถนนรามอินทรา มีนบุรี ถนนสีหบุรานุกิจ ถนนรามคำแหง (สุขาภิบาล 3) และแยกร่มเกล้า ส่วนรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ผ่านแยกรัชดา-ลาดพร้าว ถนนลาดพร้าว ผ่านแยกฉลองรัช แยกบางกะปิ  ถนนศรีนครินทร์ แยกลำสาลี แยกพัฒนาการ แยกศรีเอี่ยม แยกศรีเทพา  ถนนเทพารักษ์ และถนนปู่เจ้าสมิงพราย 

    ที่จะสาหัสที่สุดคงเป็นรถไฟฟ้าสายสีส้ม ที่ผ่านถนนสายหลัก อย่างถนนรัชดาภิเษก ถนนพระราม 9 ยาวไปจนถึงถนนรามคำแหง ซึ่งมีการประเมินจากตำรวจนครบาลว่าการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มจะเสียพื้นผิวถนนระหว่างก่อสร้างถึง 5 ปี และจะส่งผลให้การใช้เวลาบนถนนรามคำแหงเพิ่มขึ้นอีก 1-2 ชม. จากปกติ และหากมีฝนตก น้ำรอระบายร่วมด้วย อาจทำให้ต้องติดอยู่บนถนนรามคำแหงมากถึง 3 ชม.  

    ยังมีแผนที่ต้องปิดสะพานยกระดับรามคำแหงขาเข้า ที่อาจต้องปิดถึง 45 เดือน ซึ่งจะส่งผลกระทบตั้งแต่บริเวณถนนรัชดาฯ ถนนเทียมร่วมมิตร ถนนพระราม 9 จนถึงถนนรามคำแหง รวมถึงจุดก่อสร้างตั้งแต่บริเวณสถานีศูนย์วัฒนธรรมถึงสถานีบ้านม้า ที่ต้องสร้างเป็นอุโมงค์ใต้ดิน ทำให้ต้องใช้พื้นที่เปิดหน้าดิน และที่บริเวณเกาะกลางถนนหน้าเดอะมอลล์รามคำแหง บริเวณเกาะกลางถนนหน้ามหาวิทยาลัยรามคำแหง หน้าการกีฬาแห่งประเทศไทยช่วงใต้สะพานยกระดับ และ บริเวณหน้าโรงแรมอเล็กซานเดอร์ จะได้รับผลกระทบมากด้วย 

    รวมถึงจะมี 4 จุดเสี่ยงต่อรถติดมาก คือ
    1.แยกลำสาลี ซึ่งเป็นพื้นที่ก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและสีส้ม และอนาคตจะมีรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลผ่านจุดนี้ด้วย
    2.แยกมีนบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มตัดกับสีชมพู
    3.แยกสุวินทวงศ์ รวมถึงถนนตลอดสาย ซึ่งเป็นแนวการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม
    4.ห้าแยกลาดพร้าว ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อของรถไฟฟ้าสาย สีเขียวระหว่างสถานีหมอชิตและสถานีห้าแยกลาดพร้าว

    หากรวมกับอีก 2 โครงการ คือ  รถไฟฟ้าสายสีม่วงด้านใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) และสายสีส้มช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-บางขุนนนท์ ที่ รฟม. จะเปิดประมูลภายในปี 61 และเริ่มต้นก่อสร้างตั้งแต่ปี 62 กับโครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายและสายใหม่ตามแผนงาน ทั้งของการรถไฟฯ กทม. สนข. ที่จะทยอยตามมาเรื่อยๆ รวมถึงโครงการที่อยู่ระหว่างการศึกษารายละเอียด อย่างรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี (บึงกุ่ม) ที่จะสร้างคร่อมไปบนทางด่วน และจะผ่านจุดหลักอย่างถนนงามวงศ์วาน แยกเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ถนนเกษตร-นวมินทร์ ถนนรามคำแหง  

    ประกอบกับมีโครงการอื่นๆ เช่น โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแยกรามอินทรา กม.12 (แยก รพ.นพรัตน์ราชธานี) ของกรมทางหลวง (ทล.) โครงการก่อสร้างทางแยกต่างระดับบริเวณจุดตัดถนนกาญจนาภิเษก (วงแหวนตะวันออก) โครงการก่อสร้างทางแยกต่างระดับแยกถนนราษฎร์พัฒนาพร้อมขยายถนนรามคำแหง โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแยกโชคชัย 4 อุโมงค์ลอดพัฒนาการ ของ กทม. เรียกได้ว่าคนกรุงเทพฯ ต้องเจอศึกหนักแน่นอน โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยหรือทำงานในโซนฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ  

    ธันวาคม 61 เปิดใช้แบริ่ง-สมุทรปราการ 
    แม้ว่าในเดือนธันวาคม  61 จะสามารถเปิดให้บริการรถไฟฟ้าเพิ่มอีก 1 โครงการคือ สายสีเขียว แบริ่ง-สมุทรปราการ 9 สถานี  ได้แก่ สถานีสำโรง สถานีปู่เจ้าสมิงพราย สถานีพิพิธภัณฑ์เอราวัณ สถานีโรงเรียนนายเรือ สถานีสมุทร-ปราการ สถานีศรีนครินทร์ สถานีแพรกษา สถานีสายลวด สถานีเคหะสมุทรปราการ  ซึ่งจะสามารถคลายปัญหาการจราจรในย่านบางนา และสมุทรปราการได้ในระดับหนี่ง 

    แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า กว่าโครงข่ายรถไฟฟ้าทั้งส่วนต่อขยายและสายใหม่ ที่รัฐบาลตั้งเป้าจะทำให้สมบูรณ์ ด้วยระยะทางรวม 464 กม. มีสถานีรถไฟฟ้ารวม 312 สถานี ครอบคลุมพื้นที่ 680 ตร.กม. รองรับการให้บริการประชาชนได้ 5.13 ล้านคนได้ในปี 2572 คนกรุงเทพฯ ก็ต้องอยู่ท่ามกลางวิกฤตทั้งจากรถติด ด้วยเพราะใน กทม. มีสถิติรถจดทะเบียนสะสม ณ วันที่ 31 ม.ค.61 ที่จำนวน 9,820,987 คัน ซึ่งมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอีก และจากการปิดเบี่ยงเส้นทางเพื่อก่อสร้างรถไฟฟ้า รวมถึงต้องใช้ชีวิตคลุกฝุ่นจากการก่อสร้างบวกกับควันพิษจากรถยนต์ต่อเนื่องกันไม่น้อยกว่า 5 ปี หรือจนกว่าจะก่อสร้างครบทุกเส้นทาง 

    และเพื่อไม่ให้เกิดการสูญเสียตามข้อมูลในบทวิเคระห์เรื่อง วิกฤติจราจรติดขัด : ผลกระทบต่อเศรษฐกิจ & วิถีชีวิตคนกรุงเทพฯ ของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ที่สำรวจเมื่อปี 59 แล้วพบว่าคนกรุงเทพฯ ใช้เวลาในการเดินทางนานขึ้น 35 นาที/การเดินทาง เมื่อนำมาคำนวณเป็นค่าเสียโอกาสทางด้านเวลาที่ต้องรถติดอยู่บนถนน แทนที่จะนำเวลานั้นไปสร้างรายได้หรือกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น คิดเป็นมูลค่าประมาณ 11,000 ล้านบาท/ปี หรือเฉลี่ย 60 ล้านบาท/วัน และยังมีผลต่อค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน โดยเฉพาะกลุ่มที่ใช้รถยนต์ส่วนตัวและรถโดยสารสาธารณะ ที่พบว่าการเดินทางซึ่งต้องใช้เวลาเพิ่มขึ้นในช่วงรถติด ทำให้เกิดต้นทุนพลังงานเพิ่มขึ้น คิดเป็นมูลค่าประมาณ 6,000 ล้านบาท/ปี 

    ดังนั้นนอกจากรัฐบาลจะเร่งลงทุนก่อสร้างรถไฟฟ้า ต้องไม่ลืมเร่งแผนงานด้านอื่นๆ ที่เป็นองค์ประกอบสำคัญไม่แพ้กัน เช่น การเพิ่มระบบฟีดเดอร์ รับผู้โดยสารจากจุดต่างๆ ให้เข้าสู่ระบบรถไฟฟ้าได้สะดวกและมากขึ้น ต้องหามาตรการส่งเสริมให้คนใช้รถยนต์ส่วนบุคคลให้น้อยลงแม้จะอยู่ในช่วงการโหมก่อสร้างสารพัดโครงการ ต้องไม่ลืมเร่งผลักดันตั๋วร่วม ให้สำเร็จเพื่อใช้เป็นบัตรใบเดียวเดินทางเข้า-ออกได้กับทุกระบบ และหากทำให้ค่าโดยสารถูกลงด้วยได้ ก็จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต ยกระดับการเดินทาง และยังดีต่อใจทั้งกับคนกรุงเทพฯและนักท่องเที่ยวอีกหลายล้านคน 


     

    คุณภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ  รองผู้ว่าการ (วิศวกรรมและก่อสร้าง) รฟม. 
    “คณะกรรมการด้านความปลอดภัย หรือ เซฟตี้บอร์ด ได้กำชับเรื่องความปลอดภัยในการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าทุกเส้นทางอย่างต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่การเข้าพื้นที่จนก่อสร้างเสร็จ รวมทั้งเตรียมเสนอแนวทางการกำหนดบทลงโทษกับผู้รับเหมาที่ฝ่าฝืนระเบียบความปลอดภัยเข้าไปบรรจุในทีโออาร์ โครงการรถไฟฟ้าที่จะเปิดประมูลในอนาคต เบื้องต้นอาจจะใช้การประเมินแบบให้คะแนน และตัดคะแนน เมื่อกระทำผิด หากผู้รับเหมาที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุนั้นปล่อยปละละเลยหรือจงใจให้อุบัติเหตุเกิดขึ้นซ้ำซาก รฟม. ก็มีสิทธิ์บอกเลิกสัญญาได้”

    คุณเศรษฐกร โพธิ์น้ำเที่ยง พนง.รัฐวิสาหกิจที่อาศัยอยู่ในย่านดอนเมือง 
    “ผมอาศัยอยู่ย่านดอนเมือง ในแนวก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดง ผลกระทบโดยตรงคงเป็นเรื่องความปลอดภัยจากการก่อสร้าง ที่ผ่านมาก็มีเหตุการณ์ที่อุปกรณ์ก่อสร้างหล่นลงมาใส่รถยนต์ผู้ที่สัญจรด้านล่างหลายครั้ง ส่วนเรื่องการจราจรมีติดขัดบ้างแต่คิดว่ายังไม่ถึงกับแย่ เพราะแนวการก่อสร้างอยู่บนถนนกำแพงเพชร 6 ส่วนถนนวิภาวดีจะมีปัญหาการจราจรหนาแน่นเป็นปกติอยู่แล้ว ส่วนถ้ามีรถไฟฟ้าครบทุกเส้นทางแล้วจะหันมาใช้รถไฟฟ้าแทนรถยนต์หรือไม่ จะพิจารณาจากค่าโดยสารเป็นอันดับแรก คือตอนนี้มีรถเมล์ ขสมก. จากดอนเมืองมาถึงรถไฟฟ้า BTS หมอชิต ขึ้นโทลล์เวย์ในราคา 17 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ไม่แพงอยู่แล้ว แต่ถ้ารถไฟฟ้าสายใหม่มีราคาแพงขึ้น ก็คงเลือกใช้บางเวลา และมองว่ารถไฟฟ้าถึงจะเร็วแต่ต้องเชื่อมต่อกับอีกหลายระบบ ยังไม่สะดวกเท่ากับใช้รถยนต์ที่ไปถึงปลายทางได้เลย” 

    คุณดรรชนี นวลเขียว พนักงานบริษัทเอกชนที่อาศัยอยู่ย่านพระราม 9 
    “ผลกระทบจากการก่อสร้างรถไฟฟ้า มีอยู่แล้วเป็นปกติ คือเรื่องของการจราจร โดยเฉพาะย่านบางกะปิ แยกลำสาลี ที่เป็นเขตชุมชนหนาแน่น และมีการก่อสร้างรถไฟฟ้าสองสายตัดผ่านกัน แต่เมื่อรถไฟฟ้าเปิดให้บริการการเดินทางจะสะดวกมากยิ่งขึ้น อาจจะลดการขับรถเข้าเมือง แต่ไม่ถึงกับเลิกใช้รถยนต์ จะเลือกใช้ประโยชน์ตามการใช้งาน สำหรับเรื่องค่าโดยสารรถไฟฟ้าไม่ได้กังวล เพราะคิดว่าคุ้มค่าที่ต้องจ่ายเพื่อแลกกับการเดินทางที่รวดเร็ว แต่ถ้าทำให้ระบบขนส่งสาธารณะที่เชื่อมต่อได้สะดวกไปพร้อมกับลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนได้ด้วยจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนยิ่งขึ้น เพราะมองว่าสิ่งเหล่านี้คือระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน ที่รัฐมุ่งสร้างให้ประชาชน เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น”

    [English]
    Bangkok Has Mountains to Climb before Becoming “Metropolis of Rail System”

    Thailand is ambitious to push Bangkok to be the world’s next metropolis within five years from now and to receive the same global recognition as such cities as London, New York, Tokyo, Beijing and Shanghai.  In order to achieve such a goal, the government has been aiming at several development plans to boost the Thai capital’s growth potential, including the electric rail system development project, which is devised to help connect all areas by 2029.

    Currently, eight electric rail projects with a combined distance of 159.9 kilometers are in progress.

    One of them is under the supervision of the Bangkok Metropolitan Administration to connect the western party of the city while another project is handled by the State Railway of Thailand and focuses on the city’s northern part.

    Mass Rapid Transit Authority of Thailand is responsible for the remaining six projects, which have been planned to run crisscross through Bangkok and connect with adjacent Nonthaburi Province and Samut Prakan Province.

    But as the construction of these projects is underway, traffic conditions in affected areas are only getting worse, particularly when each of them has been designed to solve congestion in various parts of Bangkok.

    The worst-hit area is likely along Ratchadaphisek Road, Rama IX Road and Ramkhamhaeng Road as the construction project of the planned route has been scheduled to continue for five years and cause drivers to spend 1-2 hours more on the road.

    Other projects are presenting similar scenarios and they all come down to the fact that more traffic jams, pollution and economic losses for Bangkok to withstand for years.