การพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะเพื่อพัฒนาระบบการเดินทาง ยกระดับคุณภาพชีวิตคนเมืองทุกกลุ่ม กำลังมีความคืบหน้ามากขึ้นเรื่อยๆ ตามแรงผลักดันของรัฐบาล แต่สิ่งที่ยังคงเป็นปัญหาที่ยืดเยื้อมานาน คือการเปิดโอกาสให้ทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ทุกสถานภาพ สามารถเข้าถึงและใช้งานสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน
คนพิการ vs ลิฟต์บีทีเอส ปัญหาเรื้อรัง
หนึ่งในปัญหาที่ค้างคามานาน คือการใช้ลิฟต์สำหรับผู้สูงอายุและคนพิการในระบบรถไฟฟ้า BTS ที่ไม่ได้ติดตั้งไว้ตั้งแต่เริ่มเปิดให้บริการ (5 ธ.ค. 42) แต่ดำเนินการติดตั้งเพิ่มภายหลัง จากชั้นพื้นดินพร้อมทางลาดขึ้น-ลงถึงชั้นจำหน่ายตั๋ว และจากชั้นจำหน่ายตั๋วถึงชั้นชานชาลา ใน 5 สถานีของเส้นทางในส่วนสัมปทานสายสุขุมวิทและสายสีลม คือ สถานีอ่อนนุช สถานีอโศก สถานีสยาม สถานีหมอชิต และสถานีช่องนนทรี รวม 11 ตัว วงเงิน 140 ล้านบาท เปิดใช้งาน 26 ก.พ. 43 แต่จากความไม่สะดวกและไม่เพียงพอต่อการใช้งาน ทำให้ปัญหานี้กลายเป็นกรณีพิพาท กลุ่มคนพิการร่วมกันยื่นเรื่องฟ้องร้อง จนกระทั่งวันที่ 24 พ.ย. 57 ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาให้ กทม. และ BTS จัดทำลิฟต์ให้ครบทั้ง 23 สถานี ให้เสร็จสิ้นภายใน 1 ปี นับแต่วันที่มีคำพิพากษา
กทม. จึงกำหนดแผนงานติดตั้งลิฟต์สำหรับผู้สูงอายุและคนพิการเพิ่ม ในส่วนของเส้นทางสัมปทาน 56 ตัวใน 19 สถานี วงเงินรวมกว่า 350 ล้านบาท เริ่มก่อสร้างตั้งแต่ 18 ส.ค. 57 แต่ด้วยปัญหาจากการร้องเรียนตำแหน่งติดลิฟต์จากเจ้าของอาคารใกล้เคียง ปัญหาการรื้อย้ายสาธารณูปโภค ส่งผลให้การดำเนินงานล่าช้า แต่ก็สามารถติดตั้งลิฟต์เพิ่มได้รวม 52 ตัว ใน 18 สถานี โดยจุดที่เสร็จและเปิดใช้เป็นจุดสุดท้ายคือที่สถานีอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ อยู่ฝั่งขาเข้าชั้นพื้นดิน-ชั้นจำหน่ายตั๋ว เปิดใช้เมื่อ 17 ม.ค. 61
ส่วนอีก 4 สถานีมีเหตุให้ต้องยกเลิกไป ประกอบด้วย สถานีนานา (เฉพาะชั้นพื้นดินถึงชั้นจำหน่ายตั๋ว) 1 ตัว เนื่องจากทางโครงการคิว คอนโด สุขุมวิท ได้จัดทำลิฟต์บริเวณดังกล่าวไว้แล้วและสามารถให้บริการได้ตามเวลาเปิดปิดบริการรถไฟฟ้า สถานีศาลาแดง (เฉพาะชั้นพื้นดินถึงชั้นจำหน่ายตั๋ว) 1 ตัว เนื่องจากติดปัญหาการรื้อย้ายสาธารณูปโภคระบบไฟฟ้า ซึ่งเป็นระบบหลัก หากรื้อย้ายจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการธุรกิจ หน่วยงานรัฐ และประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณดังกล่าว เพราะต้องมีการตัดไฟฟ้าในระหว่างดำเนินการจึงไม่สามารถก่อสร้างได้ แต่ที่สถานี BTS ศาลาแดงสามารถใช้ลิฟต์คนพิการร่วมกับสถานีสีลมของรถไฟฟ้า MRT ได้ และที่สถานีสะพานตากสิน 2 ตัว เนื่องจากมีแผนที่จะปรับปรุงสถานีจากระบบรางเดี่ยวเป็นระบบรางคู่ เพื่อรองรับความถี่ในการเดินรถและรองรับประชาชนที่ใช้บริการ อย่างไรก็ดีที่สถานีนี้จะมีการจัดทำลิฟต์เพื่อให้บริการประชาชนอยู่แล้วตามรูปแบบที่ปรับปรุงใหม่ ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการเสร็จประมาณปี 63
ในส่วนของเส้นทางรถไฟฟ้า BTS ส่วนต่อขยายสายสุขุมวิทและสายสีลม กทม. ได้ดำเนินการก่อสร้างและติดตั้งลิฟต์สำหรับคนพิการจากชั้นพื้นดินถึงชั้นขายตั๋ว และจากชั้นขายตั๋วถึงชานชาลา ทั้ง 2 ด้านของสถานีไปพร้อมกับการก่อสร้างทุกสถานีด้วย รวมทั้งสิ้น 44 ตัว
บีทีเอสแจงเหตุพร้อมปรับปรุงข้อบกพร่อง
อย่างไรก็ตาม แม้จะติดตั้งลิฟต์เพิ่มเติมแล้ว แต่จากที่บางสถานีมีลิฟต์เพียงฝั่งเดียว ช่องทางการเข้าถึงลำบาก มีเงื่อนไขในการใช้งาน ประกอบกับการดูแลไม่ทั่วถึง ปัญหาจึงยังคงอยู่ และล่าสุดส่งผลให้เกิดกรณีทุบลิฟต์ที่สถานีรถไฟฟ้า BTS อโศก เพื่อแสดงถึงความไม่พอใจในการมีสิ่งอำนวยความสะดวกแต่ไม่สามารถเข้าใช้งานได้
ทาง บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้า BTS ชี้แจงว่า ลิฟต์ที่ให้บริการในสถานี BTS มี 2 ประเภท ประเภทแรกคือลิฟต์สำหรับคนพิการใน 4 สถานี คือ สถานีหมอชิต ช่องนนทรี อโศก และอ่อนนุช ที่เปิดให้บริการในระยะแรก โดยก่อสร้างให้สามารถขึ้นตรงจากชั้นพื้นถนน ผ่านชั้นจำหน่ายตั๋วไปถึงชั้นชานชาลาได้โดยตรง เพื่อให้สะดวกและปลอดภัยกับผู้พิการมากที่สุด โดยมีขั้นตอนการปฏิบัติเพื่อการใช้งานของผู้พิการ ตามที่ กทม. และสมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย หารือร่วมกันในขณะนั้นว่าจะมีการปิดล็อคประตูลิฟต์ไว้ เมื่อมีคนพิการมาใช้บริการให้กดปุ่มแจ้งเจ้าหน้าที่มารับ เพื่อกรอกแบบฟอร์มบันทึกการเดินทาง และให้เจ้าหน้าที่พาขึ้นไปยังชั้นจำหน่ายตั๋วและชั้นชานชาลา เพื่อโดยสารรถไฟฟ้าไปยังสถานีปลายทาง โดยจะมีเจ้าหน้าที่มารอรับที่สถานีปลายทางนำลงสู่ชั้นพื้นถนนอย่างปลอดภัย
ลิฟต์ประเภทที่สอง คือลิฟต์ที่ กทม. สร้างเพิ่มเติมจนครบในเส้นทางเดิม และในส่วนต่อขยายทุกสถานี โดยเปิดให้ประชาชนทุกคนใช้งานได้ตามปกติ มี 2 ส่วน คือลิฟต์จากชั้นพื้นถนนไปยังชั้นจำหน่ายตั๋วจะอยู่นอกเขตชำระเงิน และลิฟต์จากชั้นจำหน่ายตั๋วไปยังชั้นชานชาลาจะอยู่ในเขตชำระเงิน ส่วนนี้ใช้งานได้โดยไม่ต้องกดเรียกเจ้าหน้าที่ แต่สำหรับคนพิการเมื่อขึ้นมายังห้องจำหน่ายตั๋วแล้ว ต้องติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อกรอกแบบฟอร์มและรับบริการจากเจ้าหน้าที่ต่อไป
พร้อมกับยืนยันว่าตลอดเวลาที่ผ่านมา บริษัท ได้ติดตั้งสิ่งอำนวยความสะดวกบนสถานีเพิ่มขึ้น รวมทั้งอุปกรณ์สำหรับคนพิการ อาทิ ทางเดินเชื่อมจากสถานีสยามไปยังแยกราชประสงค์ ลิฟต์สำหรับคนพิการ (Stair Lift) ที่สถานีสนามกีฬาแห่งชาติ และเข็มขัดล็อควีลแชร์ (Wheel chair belt) ไว้ในขบวนรถเพื่ออำนวยความสะดวกและคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้พิการที่ใช้รถเข็น และพร้อมที่จะรับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะจากผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยขอให้แสดงออกถึงข้อเรียกร้องอย่างสร้างสรรค์ เพื่อให้ผู้ใช้บริการได้มีส่วนร่วมสร้างการเดินทางที่ปลอดภัย สะดวก รวดเร็ว และเป็นประโยชน์ต่อทุกคน
กทม.ขยับของบติดลิฟต์เพิ่ม 19 ตัว
ด้านคุณธนูชัย หุ่นนิวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) กทม. เปิดเผยว่า สจส. เตรียมเสนอขอจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมต่อสภา กทม. ในเดือนเม.ย. จำนวน 262 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการก่อสร้างลิฟต์สำหรับผู้สูงอายุและคนพิการ ของระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานครตามแนวเส้นทางสัมปทาน โดยจะก่อสร้างลิฟต์เพิ่มเติมให้ครบทั้ง 2 ฝั่ง ใน 17 สถานี รวม 19 ตัว ประกอบด้วย สถานีชิดลม เพลินจิต นานา พร้อมพงษ์ ทองหล่อ เอกมัย พระโขนง ราชเทวี พญาไท สนามเป้า อารีย์ สะพานควาย ราชดำริ สุรศักดิ์ สนามกีฬาแห่งชาติ จะติดตั้งเพิ่มสถานีละ 1 ตัว และที่
สถานีศาลาแดง และช่องนนทรี จะติดตั้งเพิ่มสถานีละ 2 ตัว
ส่วนปัญหาที่คนพิการเข้าใช้งานไม่สะดวกนั้น สจส. BTS และตัวแทนคนพิการ ได้ร่วมหารือกันถึงแนวทางการแก้ไข ทั้งลดขั้นตอนการเข้าใช้ลิฟต์ไม่ต้องลงทะเบียน และสำรวจจุดที่จะต้องปรับปรุงเพิ่มเติมทั้งทางเข้า-ออก จุดติดตั้งลิฟต์ และส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องให้เข้าถึงได้ง่ายและสะดวกมากขึ้น ทั้งนี้จะมีการประชุมร่วมกันทุกเดือน รวมถึงมีการจัดตั้งกลุ่ม Line ร่วมกันเพื่อติดตามปัญหาและดำเนินการแก้ไขอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามยอมรับว่าปัญหานี้ต้องใช้เวลาในการแก้ไข เพราะไม่ใช่แค่ติดตั้งลิฟท์แล้วจบ แต่ต้องคำนึงถึงจุดที่เหมาะสมให้เข้าถึงและใช้งานได้สะดวก ขณะเดียวกันก็ต้องไม่กระทบกับพื้นที่อาคารอื่นๆ พื้นที่สาธารณะ หรือทางเท้าด้วย เนื่องจากการสำรวจในเบื้องต้นบางจุดพบว่าเหมาะจะติดตั้งลิฟต์แต่จะกีดขวางทางเท้า ทำให้ต้องพิจารณากันอย่างรอบคอบรัดกุม
คมนาคมรุกแก้ปัญหาในทุกระบบขนส่ง
ขณะเดียวกัน ทางกระทรวงคมนาคม ก็มีความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับเรื่องนี้เช่นกัน โดยมีการประชุมร่วมกันทั้งฝ่ายผู้บริหารกระทรวงคมนาคม ผู้แทนจากสำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร รถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย, บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด และภาคีเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้ เพื่อหารือถึงการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกในระบบรถไฟฟ้าและระบบขนส่งสาธารณะ โดยมีมติเน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการตามมาตรฐานที่ถูกต้องในการดูแลคนทุกกลุ่มในทุกระบบขนส่งสาธารณะ และให้ทุกโครงการของกระทรวงยึดหลักการออกแบบเพื่อทุกคน (Universal Design) ในการก่อสร้าง พร้อมทั้งจะนำผลสำรวจการเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกของคนพิการในระบบรถไฟฟ้าและระบบขนส่งสาธารณะจากภาคีเครือข่ายฯ ไปใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกในทุกระบบขนส่งสาธารณะอย่างยั่งยืน โดยได้ตั้งคณะทำงานร่วมกันเพื่อสำรวจ ศึกษา และแก้ไขปัญหาการเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกในระบบขนส่งสาธารณะเพื่อให้คนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงการบริการได้อย่างเท่าเทียม
Google Maps เพิ่มออพชั่นบอกพิกัดวีลแชร์เข้าถึง
ขณะที่หน่วยงานต่างๆ ยังหาทางแก้ไขกันอยู่นั้น ทางด้าน Google Maps ได้เพิ่มฟีเจอร์ Wheelchair Accessible ระบุเส้นทางการใช้รถโดยสารสาธารณะ พร้อมระบุตำแหน่งที่ตั้งอุปกรณ์อำนวยความสะดวกตามสถานีต่างๆ สำหรับผู้ใช้งานวีลแชร์ โดยผู้ใช้งานวีลแชร์ที่ต้องการเดินทางด้วยรถสาธารณะเลือกปลายทาง แล้วกดคำสั่ง Option และเลือก Wheelchair Accessible จะสามารถตรวจสอบได้ว่าเส้นทางที่ไปบริเวณใดบ้างที่มีการติดตั้งอุปกรณ์อำนวยความสะดวกไว้ โดยในระยะแรกจะเปิดให้บริการใน 6 เมืองใหญ่ คือ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ นิวยอร์ค และบอสตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เม็กซิโก ซิตี้ของเม็กซิโก และซิดนี่ย์ในออสเตรเลีย และขณะนี้ฟีเจอร์นี้ก็มีปรากฏในระบบ Google Maps ของประเทศไทยด้วย
อย่างไรก็ตาม มีจุดที่น่าสังเกตว่า ทาง กทม. ก็มีการชูนโยบายการพัฒนาเมืองและระบบขนส่งภายใต้มาตรฐานการออกแบบเพื่อการใช้งานของคนทุกกลุ่มในสังคม (Universal Design) กระทรวงคมนาคมเองก็มุ่งเน้นในทิศทางนี้เช่นกันและยังได้มีการจ้างที่ปรึกษาดำเนินโครงการศึกษาจัดทำมาตรฐานสิ่งอำนวยความสะดวกและการให้บริการภาคขนส่งสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ โดยมี สนข. เป็นแม่งานในปีที่ผ่านมาด้วย แต่ในทางปฏิบัติแล้วทำไมจึงยังไม่เห็นผลที่แตกต่างไปจากเดิม คงต้องติดตามกันต่อว่าการตื่นตัวลุกขึ้นมาเร่งแก้ไขปัญหาในครั้งนี้ จะเป็นเพียงแค่ไฟไหม้ฟาง หรือเป็นแค่การทำให้มีขึ้นสำหรับสิ่งอำนวยความสะดวกได้ แต่ไม่สามารถใช้งานได้จริงและไม่เต็มประสิทธิภาพซ้ำรอยเดิมอีกหรือไม่ การจัดให้มีอุปกรณ์ สิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อให้คนทั้งมวลเข้าถึงและใช้งานได้ในภาคการขนส่งสาธารณะ ทั้งรถไฟ รถไฟฟ้า รถยนต์โดยสารสาธารณะ ทางถนน ทางเรือ รวมถึงท่าอากาศยานจะไปถึงฝั่งฝันได้เมื่อใด
คุณอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
“กระทรวงคมนาคมมีนโยบายเน้นย้ำการดูแลคนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะคนพิการให้เข้าถึงบริการทุกระบบขนส่งสาธารณะ และเพิ่มความเข้มข้นในการออกแบบพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกให้ได้มาตรฐานอย่างยั่งยืน ตามบริบทและสภาพของสังคมไทย โดยมองถึงการเดินทางของคนพิการ ทั้งบันไดเลื่อน ลิฟต์ ทางเดิน ให้สามารถเข้าถึงได้อย่างสะดวกสบาย ซึ่งคณะทำงานจะร่วมกันสำรวจ ศึกษา และแก้ไขปัญหาการเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกในระบบขนส่งสาธารณะ เพื่อให้คนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงการบริการได้อย่างเท่าเทียม และจากที่รับทราบว่าขณะนี้รถไฟฟ้ายังมีปัญหาเรื่องสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการในหลายจุด ดังนั้นจะเริ่มแก้ปัญหาการบริการของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ก่อน จากนั้นจะขยายผลไปยังระบบขนส่งสาธารณะอื่น”
พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่า กทม.
“ที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนระบุว่า ระบบสาธารณูปโภคระบบขนส่งสาธารณะใน กทม. ยังไม่เป็นไปตามอนุสัญญาว่าด้วยเรื่องสิทธิของผู้พิการ ยอมรับว่าเป็นความจริง เพราะเป็นปัญหาเรื้อรังมานาน ต้องค่อยๆ แก้ไข และต้องช่วยกัน หลายหน่วยงาน เช่น การเข้าถึงรถเมล์ รถไฟฟ้าสายต่างๆ และได้สั่งการให้ สจส. จัดงบประมาณเพื่อก่อสร้างลิฟต์เพิ่มเติมในสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสเพื่อรองรับการให้บริการและอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนแล้ว สำหรับการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายทั้งแบริ่ง-สมุทรปราการ และหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต กทม. ได้กำหนดไปแล้วว่าต้องสร้างลิฟต์สำหรับผู้พิการด้วย”
ดร.วรชาติ เฉิดชมจันทร์ คณะบดีคณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยรังสิต ในฐานะผู้จัดการโครงการอวัยวะที่ 33 กับการเดินทางของชีวิต
“ปัญหาและอุปสรรคในการใช้ลิฟต์และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เกิดขึ้นกับรถไฟฟ้าบีทีเอส เป็นส่วนใหญ่ เพราะสร้างก่อนที่จะมีการบัญญัติข้อกฎหมาย ที่ระบบขนส่งมวลชนจะต้องมีลิฟต์และสิ่งอำนวยความสะดวก ส่วนรถไฟฟ้า MRT และรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ สร้างหลังจากมีกฎหมายกำหนดแล้ว จึงไม่มีปัญหาแบบบีทีเอส อย่างไรก็ตามสิ่งที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นชัดเจนว่าปัญหาอยู่ที่การออกแบบโครงการที่ไม่มีการคำนึงถึงสิทธิในการใช้งานของคนทั้งมวล ส่งผลให้ต้องมาตามแก้ปัญหา ซึ่งจะมีผลกระทบในด้านการริดรอนหรือเบียดบังสิทธิผู้อื่นตามมา เช่น เรื่องพื้นที่ของอาคารข้างเคียง หรือทางเท้าที่ไปกีดขวางผู้สัญจรอื่นๆ อีกอุปสรรคสำคัญของการมีลิฟต์หรือสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ในไทย คือการทำเพียงแค่ให้มี แต่ไม่ได้ทำให้อยู่ในจุดที่เหมาะสม สามารถเข้าถึง และใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เช่น มีลิฟต์เพียงฝั่งเดียว การทำสถานีหรือทางขึ้น-ลงที่คร่อมอยู่ตรงทางแยก”
[English]
Bangkok’s Public Transport Facilities, Impractical Availability
The construction of s public transport network in Bangkok has been progressing impressively on the back of the government’s strong push. But one lingering problem remains. And that is: how will people of all ages and conditions equally have a truly convenient access to the service.
One apparent problem at Bangkok’s elevated BTS train system is the elevator facility for the elderly and the handicapped. Most stations were not originally equipped with the system since the service was first launched on December 5, 1999 and, after some time, Bangkok Mass Transit System PCL (BTSC), the project operator, decided to start installing 11 elevators at only five selected stations, including On Nut, Asoke, Siam, Mo Chit and Chong Nonsi, While these facilities became operational in February 2000, issues on inconvenience and insufficiency led to a legal dispute with a group of people with disabilities, which was concluded on November 24, 2014, when the court ordered the BTS operator to install elevators at all 23 stations within a year.
However, several obstacles resulted in a long delay of the project and the last of the 56 additional elevators at original stations was only installed at the Victory Monument station on January 17, 2018, while four stations have been left without a complete system of their own due to several technical issues.
But the problem did not end there. Inconvenient access to the elevator system and the laggard service at some stations resulted in another recent dispute, which involved physical damage to the system by a handicapped.
BTSC affirmed a plan to install complete facilities at all stations to help passengers with disabilities while assuring its commitment to listen to all constructive requests to help improve the service.