กรุงเทพมหานครมีนโยบายปรับปรุงภูมิทัศน์เมือง เพื่อฟื้นฟูสภาพพื้นที่หรือย่านที่มีคุณค่าและความสำคัญของกรุงเทพฯ ให้กลับมาสวยงามมีชีวิตชีวา เป็นระเบียบเรียบร้อย คงความเป็นเอกลักษณ์ที่สะท้อนถึงศิลปะและวัฒนธรรม ทั้งรองรับการเพิ่มจำนวนประชากร ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ที่ดินให้เต็มศักยภาพ และเป็นการพลิกฟื้นพื้นที่เมืองชั้นในให้น่าอยู่ มีประสิทธิภาพ ก้าวสู่มหานครระดับโลก
ปรับปรุงสะพานด้วนเป็นสวนลอยฟ้า
หนึ่งในแผนการฟื้นฟูเมืองเพื่อให้เกิดความสวยงาม คือ โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ทางสัญจรบนโครงสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณช่องกลางสะพานพระปกเกล้า ซึ่งเป็น 1 ใน 3 โครงการนำร่องภายใต้แผนแม่บทเพื่อการอนุรักษ์ฟื้นฟูย่านกะดีจีน-คลองสาน โดยความร่วมมือระหว่างสำนักผังเมือง กทม. และศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง จุฬาฯ (UddC) ที่มีการเสนอแนวคิดให้ปรับปรุงโครงสร้างสะพานทิ้งร้าง บริเวณช่องกลางสะพานพระปกเกล้าฯ ให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะ และต่อมาเรียกชื่อโครงการว่า “พระปกเกล้า สกายปาร์ค” พร้อมได้รับการผลักดันให้เป็น 1 ในภารกิจเร่งด่วนของ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม.
ล่าสุด ฝ่ายบริหาร กทม. ได้นำเสนอต่อสภา กทม. ขอความเห็นชอบในการผูกพันงบประมาณรายจ่ายประจำปีเพื่อดำเนินการ เมื่อเดือน ก.พ. 2561 ที่ผ่านมา และได้บรรจุให้อยู่ในแผนงานประจำปีปีงบประมาณ พ.ศ.2561-2562 วงเงินรวมทั้งสิ้น 129,610,000 บาท แบ่งเป็นงบประมาณกลางปี 2561 จำนวน 51,544,000 บาท และงบประมาณปี 2562 อีก 77,766,000 บาท กำหนดระยะเวลาก่อสร้างไว้ 12 เดือน
ลักษณะของโครงการนี้เป็นการปรับปรุงทางสัญจรบริเวณช่องกลางสะพานพระปกเกล้า ระยะทาง 280 เมตร บนโครงสร้างสะพานลาวาลินเดิมที่สร้างค้างให้เป็นสวนลอยฟ้า โดยออกแบบให้ใช้พื้นที่เพื่อการสัญจรเป็นหลัก มีทางเดิน ทางจักรยาน ลิฟต์โดยสาร สิ่งอำนวยความสะดวก พร้อมด้วยจุดชมวิวและพื้นที่สีเขียว
ทั้งนี้ ฝ่ายผู้บริหาร กทม. ได้ให้เหตุผลเพิ่มเติมด้วยว่าโครงการนี้เป็นหนึ่งในโครงการที่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ เพื่อให้ทันต่อการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ของภาคเอกชน เช่น โครงการไอคอนสยาม โครงการยอดพิมาน ริเวอร์วอล์ค รวมถึงโครงการของภาครัฐด้วย เช่น การพัฒนาท่าเรือสะพานพุทธฯ ของกรมเจ้าท่า การพัฒนาพื้นที่บริเวณปากคลองตลาด โครงการรถไฟฟ้าสายสีทอง และการพัฒนาย่านกะดีจีน อีกทั้งยังเป็นการปรับปรุงโครงสร้างสะพานลาวาลินเดิมที่สร้างค้าง และถูกทิ้งร้างมานานให้เกิดประโยชน์ โดยปรับปรุงเป็นสวนสาธารณะเพื่อเป็นแหล่งนันทนาการ แหล่งท่องเที่ยวที่สวยงาม เข้าถึงได้ง่ายต่อผู้ใช้งานทุกประเภท เป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมภูมิทัศน์บริเวณย่านกะดีจีน-คลองสาน-ปากคลองตลาด รวมถึงเป็นทางเดินเชื่อมโครงข่ายระหว่างฝั่งธนบุรี-ฝั่งพระนคร และช่วยลดอุบัติเหตุจากการเดินข้ามบนสะพานพุทธฯ ด้วย
สำหรับความคืบหน้าล่าสุด ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการกำหนดราคากลางโครงการฯ ซึ่งคาดว่าจะเสนอขอความเห็นชอบภายในเดือน เม.ย. 2561 ขณะเดียวกันก็อยู่ระหว่างการประสานงานกับการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เพื่อจัดทำบันทึกข้อตกลงในการใช้พื้นที่โครงสร้างสะพานบริเวณที่จะดำเนินการ ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของ กทพ. หากแล้วเสร็จคาดว่าจะลงนามในสัญญาจ้างได้ประมาณเดือน มิ.ย. 2561 กำหนดระยะเวลาก่อสร้าง 360 วัน คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ประมาณกลางปี 2562
ฟื้นฟูคลองโอ่งอ่างให้สวยงาม
นอกจากนั้น กทม. ยังมีแผนจัดระเบียบ ปรับปรุงภูมิทัศน์และพัฒนาสภาพแวดล้อมบริเวณคลองรอบกรุงและพื้นที่ต่อเนื่องเพื่อรองรับการเติบโตของเมือง ซึ่งมีส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับโครงการพระปกเกล้าสกายปาร์คด้วย คือ โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์คลองโอ่งอ่าง ประกอบด้วยการก่อสร้างเขื่อน ค.ส.ล. และระบบระบายน้ำ พร้อมระบบรวบรวมน้ำเสียคลองโอ่งอ่าง จากบริเวณสะพานดำรงสถิตถึงบริเวณสะพานโอสถานนท์ และงานก่อสร้างระบบไฟฟ้าใต้ดิน รวมถึงโครงการซ่อมแซมและบูรณะสะพานข้ามคลองโอ่งอ่าง จำนวน 5 สะพาน ประกอบด้วย
1. สะพานดำรงสถิต
2. สะพานภานุพันธุ์
3. สะพานหัน
4. สะพานบพิตรพิมุข และ
5. สะพานโอสถานนท์
วงเงินรวม 379,650,000 บาท
โดยทาง สำนักการระบายน้ำ (สนน.) ได้ดำเนินการประกวดหาผู้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างขอความเห็นชอบจากกระทรวงมหาดไทย หากได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงมหาดไทยแล้ว กทม. เร่งลงนามสัญญาจ้าง และจะเริ่มงานปรับปรุงภูมิทัศน์ทันที โดยมีระยะเวลาดำเนินการ 240 วัน คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2561
หากดำเนินการได้ตามแผนงานที่วางไว้ ในระยะ 2 ปีนี้ ประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ จะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของเมืองในหลายพื้นที่สำคัญ ในรูปแบบที่ดีขึ้น เป็นระเบียบเรียบร้อย สวยงาม เป็นทั้งแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ทางวัฒนธรรม เป็นโบราณสถาน และพื้นที่สาธารณประโยชน์ที่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงและใช้งานร่วมกันได้อย่างสมบูรณ์ด้วย ยั่งยืนและถาวร สอดคล้องกับแนวคิดของผู้บริหารกรุงเทพมหานครที่จะผลักดันให้เป็น “มหานครแห่งความสุข”
[English]
Bangkok’s Unfinished Bridge to Turn into Sky Park
The Bangkok Metropolitan Administration is introducing a new rehabilitation project to revive the capital city’s landscape into a state that presents liveliness and orderliness while emphasizing unique tradition, culture and artistic aspects of the country just when the population is on a rise.
One of the plans is the improvement of the landscape on the Somdet Phra Pinklao Bridge, which is one of the three pilot conservation initiatives for a part of the Khlong San area on the western bank of the Chao Phraya River. Under the cooperation between the BMA’s Department of City Planning and Chulalongkorn University’s Urban Design and Development Center, an idea has been proposed to utilize the unused part of the bridge’s structure and it has already been made one of the priorities of Bangkok Governor Pol. Gen. Assawin Kwanmuang.
For this plan, a budget of 129.61 million baht has been allocated for disbursement throughout 2018-2019 fiscal years while the construction has been set to complete in 12 months.
At the end of the project, the 280-meter unused structure, which his in the middle of the bridge, will become a sky park accompanying pedestrian passages and bicycle lanes and equipped with an elevator as well as a lookout point.
The BMA has considered this an urgent project as it should be completed in time for the launch of such major development projects along the Chao Phraya River as the ICON Siam project and the Yodpiman River Walk project.
In addition, the BMA has planned to improve landscape and ambience along canals throughout the city to accommodate further growth of Bangkok and if everything goes as planned, residents of the Thai capital city will get to see a major change in various areas in two years.