Tuesday, May 23, 2023
More

    1 วันของคนกรุงเทพ ต้องเจออะไรบ้าง ไปดูกัน

    กรุงเทพมหานครได้รับการโหวตจากนักท่องเที่ยวให้เป็นเมืองน่าเที่ยวที่สุดในโลก 2 ปีซ้อน แต่กลับถูกจัดให้เป็นเมืองน่าอยู่อันดับ 102 จาก 140 เมืองทั่วโลก ทั้งยังรั้งที่ 169 จาก 177 เมืองดัชนีคุณภาพชีวิตที่ดี เพราะเหตุใด กรุงเทพฯ ถึงเป็นเมืองน่าเที่ยวแต่ไม่น่าอยู่ อาจเพราะมาจากสารพัดปัญหาที่คนกรุงต้องพบเจอในชีวิตประจำวัน คำถามคือ ถึงเวลาที่เราต้องลุกขึ้นมายกระดับคุณภาพความเป็นอยู่ เพื่อเปลี่ยนแปลงสู่สิ่งที่ดีกว่าแล้วหรือยัง ถ้าอย่างนั้นขอชวนมาทบทวนการใช้ชีวิตใน 1 วันกันว่ามีเรื่องใดที่ควรจะต้องพัฒนา

    เช้า 05.00 น.
    คนกรุงเทพฯ เคยชินกับการตื่นแต่เช้า เพื่อเผื่อเวลาสำหรับการเดินทางในชั่วโมงเร่งด่วนที่รถติดสาหัส การใช้เวลาเดินทางหลายชั่วโมงไปกลับบ้านและที่ทำงานกลายเป็นเรื่องปกติ แม้จะเป็นเมืองที่มีระบบขนส่งมวลชนดีที่สุดของประเทศ แต่การจัดการก็ยังทำได้ไม่ดีพอ ส่วนการก่อสร้างรถไฟฟ้าที่ครอบคลุมยังต้องรออีกกว่า 5 ปี ซึ่งเมื่อนั้นจะพิสูจน์ว่าการแก้ไขจราจรมาถูกทางจริงหรือไม่

    เมืองรถติดที่สุดในอาเซียน
    กรุงเทพฯ ครองแชมป์เมืองรถติดที่สุดของอาเซียน จากผลสำรวจของ Boston Consulting Group (BCG) ซึ่งคนกรุงเทพฯ เสียเวลารถติดบนท้องถนนนานถึง 72 นาที/วัน และอีก 24 นาที หมดไปกับการวนหาที่จอดรถ หรือรวมกันกว่า 1 ชั่วโมงครึ่ง/วัน เท่ากับว่าเสียเวลาไป 24 วัน/ปี ขณะที่มีการใช้รถเฉลี่ยเพียง 2.1 คน/คัน โดยมีรถวิ่งบนถนน 5.8 ล้านคัน ขณะที่มีสถิติรถยนต์จดทะเบียนสะสมกว่า 9.82 ล้านคัน เกินพื้นที่ถนนรองรับได้ 4.4 เท่า นั่นคงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้รถล้นเมืองเช่นนี้


    อย่างไรก็ตามการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลต่างๆ แม้ว่าจะเติบโตขึ้นแต่ยังไม่รวดเร็วพอที่จะรองรับการเติบโตของเมือง และความต้องการในการเดินทางได้ กลับกันยังเป็นดาบสองคมที่ก่อให้เกิดความแออัดของการจราจร โดยเฉพาะช่วงเวลาเร่งด่วน ซึ่งพบว่ารถจะติดมากขึ้น 2 เท่าตัว โดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้สำรวจการจราจรในปี 2560 พบว่า อัตราความเร็วเฉลี่ยในช่วงเวลาเร่งด่วนตอนเช้า อยู่ที่ 15 กม./ชม. ส่วนอัตราความเร็วเฉลี่ยในช่วงเวลาเร่งด่วนตอนเย็น อยู่ที่ 21.8 กม./ชม. เนื่องจากมีโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้า ถนน การปิดทางสะพานข้ามแยก ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปลายปี 2560 จึงมีการปิดช่องทางจราจรบางส่วน ทำให้การจราจรในช่วงชั่วโมงเร่งด่วนคับคั่งเป็นพิเศษ ทั้งนี้ บวกกับวินัยการขับขี่ด้วย จนต้องมีการติดตั้งกล้องเลนเชนจ์ เป็นมาตรการจับกุมผู้กระทำผิดกฎจราจรบนท้องถนน ผู้ฝ่าฝืนขับขี่ปาดหน้า หรือขับเบียดรถคันอื่นบริเวณคอสะพาน และเขตพื้นที่ห้าม ซึ่งได้เริ่มใช้แล้ว 15 จุด
    ขนส่งสาธารณะมีไม่พอแถมยังเสี่ยงภัย
    หากเลือกเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะแล้วล่ะก็ ยิ่งต้องเผื่อเวลาเพิ่ม เพราะการจราจรติดขัดทำให้ตารางเวลารถไม่แน่นอน อีกทั้งหลายคนต้องขึ้นรถมอเตอร์ไซค์วิน รถสองแถว เพื่อต่อรถเมล์หรือรถตู้ ไปขึ้นรถไฟฟ้าอีกต่อ ทำให้กรุงเทพฯ รั้งอันดับ 92 เมืองที่มีระบบขนส่งสาธารณะดีที่สุดในโลกในปี 2560 ซึ่งวัดจากความหนาแน่น ความปลอดภัย การตรงต่อเวลา ราคา และปัญหามลพิษจากทั้งหมด 100 เมืองทั่วโลก

    โดยสถิติล่าสุดในปี 2559 ของสำนักกลยุทธ์และประเมินผล ซึ่งได้สำรวจการใช้บริการขนส่งมวลชน พบว่าในระบบราง BTS มีผู้ใช้บริการสูงที่สุด 249 ล้านเที่ยวคน ส่วน MRT สายสีน้ำเงิน มีผู้ใช้ 100 ล้านเที่ยวคน ARL 21.1 ล้านเที่ยวคน ส่วนทางถนน BRT (สาทร – ราชพฤกษ์) 7.05 ล้านคน รถโดยสารประจำทาง 511 ล้านคน ส่วนทางน้ำ เรือโดยสารคลองแสนแสบ 37.2 ล้านคน เรือโดยสารคลองภาษีเจริญ 5.86 แสนคน เรือข้ามฟาก 37.8 ล้านคน และเรือด่วนเลียบฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา 13.6 ล้านคน

    ขณะที่ไอเดียการบริการร่วมเดินทาง (Ride Sharing) ผ่านระบบแอปพลิเคชัน ถือเป็นทางเลือกในการเดินทางที่จะช่วยลดความแออัดการจราจรลงได้ โดยคาดว่าทำให้รถยนต์ลดลง 3.5 ล้านคัน แต่ไทยนั้นยังไม่มีกฎหมายรองรับบริการร่วมเดินทาง ซึ่งประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ต่างมีกฎหมายรองรับกันหมดแล้ว 

    ทั้งนี้เมื่อต้นปีที่ผ่านมา กรมขนส่งทางบก ได้ยกระดับการบริการของแท็กซี่ด้วย Taxi OK ประมาณ 8 หมื่นคัน โดยต้องติดอุปกรณ์ GPS Tracking ติดตามแบบเรียลไทม์ มีกล้องถ่ายภาพภาพในรถแบบ Snap Shot พร้อมปุ่มฉุกเฉิน SOS ซึ่งผู้ใช้บริการสามารถเรียกผ่านแอปฯ ได้ ก็ต้องพิสูจน์ว่าจะแก้ไขปัญหาการร้องเรียนเรื่องบริการของรถแท็กซี่ ที่มี 37,000 เรื่องได้หรือไม่ โดยเฉพาะการปฏิเสธรับผู้โดยสาร และการแสดงกิริยาวาจาไม่สุภาพ

    ส่วน ขสมก. ได้ปฏิรูปรถเมล์ในเขต กทม. และปริมณฑล ครั้งใหญ่ เล็งปรับเส้นทางจากเดิมที่มี 202 เส้นทาง ระยะทางให้บริการ 6,434 กม. เป็น 269 เส้นทาง ระยะทาง 7,833 กม. ตั้งเป้าว่าภายในปีนี้จะมีรถเมล์สายใหม่ออกมาให้บริการ 50 เส้นทาง โดยมีการนำร่องให้บริการรถเมล์สายใหม่แล้ว 2 เส้นทาง แต่ถึงอย่างนั้นระบบ e-Ticket ที่วางแผนไว้ก็ยังไม่สามารถใช้งานได้

    การเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะที่เต็มไปด้วยความยากลำบาก แถมต้องเบียดเสียดกับผู้คนจำนวนมาก กลายเป็นว่ายังเสี่ยงต่อการโดนคุกคามทางเพศอีกด้วย จากผลสำรวจปัญหาการคุกคามทางเพศบนระบบขนส่งมวลชน โดยเครือข่ายเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิง ทำให้เห็นเรื่องที่ชวนตกใจ ว่ามีคนเคยถูกคุกคามทางเพศสูงถึง 35% ซึ่งมาจากพฤติกรรมลวนลามทางสายตามากที่สุด 18.8% เช่น มองช้อนใต้กระโปรง มองหน้าอก โดยการคุกคามทางเพศเกิดขึ้นมากที่สุดบนรถเมล์

    มหานครแห่งระบบรางในฝัน
    เกือบ 20 ปีแล้วที่กรุงเทพฯ ได้เปิดตัวรถไฟฟ้า BTS สายแรก จนมาถึง MRT และ ARL ที่ให้บริการมาประมาณ 10 ปี ทำให้ปัจจุบันมีรถไฟฟ้าแล้วทั้งสิ้น 5 สาย ครอบคลุมระยะทางกว่า 110.5 กม. โดยกลายเป็นที่พึ่งในการเดินทางในชั่วโมงเร่งด่วน ที่หลบเลี่ยงการจราจรที่ติดขัด ซึ่งปัจจุบันคนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ 77.13% หันมาใช้บริการรถไฟฟ้าแทนรถส่วนตัว

    จากการสำรวจการใช้บริการ BTS, MRT และ ARL โดยสถาบันวิจัยและบริการวิชาการ ม.อัสสัมชัญ (เอยูโพล) ยังทำให้เห็นถึงความพึงพอใจในการใช้บริการ ซึ่งผู้โดยสารให้คะแนนด้านสภาพรถ BTS มากที่สุด ส่วนความปลอดภัยยกให้ MRT โดยได้คะแนนค่าเฉลี่ยถึง 3.92 จาก 5 คะแนน แต่ก็ยังมีเสียงสะท้อนปัญหา ซึ่งผู้โดยสาร BTS ระบุว่าค่าโดยสารยังแพงเกินไป ส่วน MRT ยังไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ และ ARL พบปัญหาเรื่องความตรงต่อเวลาในการเดินรถมากที่สุด อีกทั้ง 71.55% คิดว่าควรมีระบบขนส่งสาธารณะเพิ่มขึ้น

    ทั้งนี้คาดการณ์ว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า กทม. จะก้าวขึ้นมาเป็นมหานครแห่งระบบรางแห่งใหม่ ด้วยระบบรถไฟฟ้าที่มีการพัฒนาเส้นทางครอบคลุมมากขึ้น โดยจะเสร็จสมบูรณ์ภายในปี 2572 ด้วยระยะทางรวม 464 กม. มีสถานีรถไฟฟ้า 312 สถานี ครอบคลุมพื้นที่ 680 ตร.กม. รองรับได้ 5.13 ล้านคน/วัน ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้าง 8 โครงการ ระยะทางรวม 159.9 กม. โดยในเดือน ธ.ค. นี้เตรียมจะเปิดให้บริการเพิ่มอีก 1 โครงการ คือสายสีเขียว แบริ่ง – สมุทรปราการ 

    ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้คำนวณค่าเสียโอกาสทางด้านเวลาที่ต้องเจอรถติดอยู่บนถนน แทนที่จะนำเวลานั้นไปสร้างรายได้เพิ่มขึ้น คิดเป็นมูลค่า 11,000 ล้านบาท/ปี ทั้งยังก่อให้เกิดต้นทุนด้านพลังงานเพิ่มขึ้น 6,000 ล้านบาท/ปี ซึ่งต้องมาดูว่าเมื่อรถไฟฟ้าแล้วเสร็จทุกโครงการจะคุ้มค่ากับการรอคอยแค่ไหน

    สาย 09.00 น.
    กรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของประเทศ จึงเต็มไปด้วยบริษัทห้างร้านจำนวนมาก กลายเป็นตลาดงานที่ใหญ่ จนใครๆ ต่างก็มุ่งเข้ามาหางานทำ เนื่องจากค่าจ้างที่มนุษย์ออฟฟิศใน กทม. ได้รับเฉลี่ย 24,000 บาท/เดือน รวมถึงค่าแรงขั้นต่ำที่ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 325 บาท/วัน แต่ขณะเดียวกันมีอัตราการว่างงานร้อยละ 1.4 ที่นับว่าต่ำเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ ของประเทศ แต่การใช้ชีวิตในมหานครแห่งนี้ก็ไม่ได้ง่ายนัก

    มนุษย์ออฟฟิศกรุงเทพฯ แข่งขันสูง ศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ (SAB) ได้สำรวจวิถีชีวิตมนุษย์เงินเดือนในมิติการทำงานและคุณภาพชีวิต ที่ทำให้พบว่า การหางานในกรุงเทพฯ มีการแข่งขันกันที่สูงขึ้น เนื่องจากมีผู้สมัครงานได้รับความช่วยเหลือจากคนรู้จักในสัดส่วนที่สูง ทั้งยังสมัครงานไม่ตรงกับสาขาที่เรียนมา และใช้วุฒิต่ำกว่าที่จบมาเพื่อให้มีงานทำ และเมื่อเข้าสู่วิถีของการทำงานก็มีรูปแบบของการเปลี่ยนงานที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 2 แห่ง โดยทำงานแต่ละแห่งนาน 3 ปี 6 เดือน ซึ่งเรื่องค่าตอบแทน สวัสดิการที่เพิ่มขึ้น และต้องการทำงานกับองค์กรที่มีความมั่นคงกว่าเป็นเหตุผลสำคัญ และแม้ภาพรวมของมนุษย์เงินเดือนมีความพึงพอใจต่อชีวิตการทำงาน แต่ถึงอย่างนั้นส่วนใหญ่ระบุว่ามีความผูกพันต่อองค์กรต่ำ โดยเฉพาะกลุ่มบริษัทจำกัด

    ขณะเดียวกันความท้าทายในโลกการทำงานปัจจุบัน คือการปฏิวัติองค์กรทุกส่วนสู่ดิจิทัล (Digital Transformation) ที่ได้นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการทำงาน โดยตลาดงานยุคดิจิทัลทำให้เกิดสายงานใหม่และมีความต้องการสูง เช่น งานการตลาดดิจิทัล, งานพัฒนาโมบายแอพพลิเคชั่น, งานบริการจัดการคอนเทนต์, งานด้านกฎหมายดิจิทัล งานแอนิเมชั่นในอุตสาหกรรมเกมและบันเทิง ฯลฯ ซึ่งตลาดงานยังคงขาดแคลนคนในสายงานดังกล่าวประมาณ 85% โดยเป็นสายงานที่สร้างรายได้มากว่าสายงานทั่วไปกว่า 61% จึงเป็นเรื่องที่องค์กรและพนักงานต้องพร้อมที่จะพัฒนาตนเองอยู่เสมอ เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงในอนาคต

    ค่าครองชีพที่สูงขึ้นไม่หยุด
    ชีวิตคนกรุงเทพฯ ต้องเผชิญกับค่าครองชีพที่นับวันจะสูงขึ้น จากราคาสินค้าอุปโภคและสาธารณูปโภค รวมทั้งขนส่งมวลชนก็พาเหรดขอปรับขึ้นราคา ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว

    เริ่มที่ น้ำมัน ทยอยปรับตัวขึ้นจนน้ำมันดีเซล มีราคาเฉียด 30 บาท เช่นนั้นแล้วผู้ประกอบการ รถร่วม ขสมก. จึงขอ   ขึ้นราคาค่าโดยสาร เนื่องจากกระทรวงพลังงาน ประกาศปรับขึ้นราคาก๊าซเอ็นจีวี ทำให้ต้นทุนราคาเพิ่มเป็น 10.77 บาท/กก. โดยเล็งขึ้นค่ารถธรรมดา เป็น 13 บาทตลอดสาย, รถ ปอ. สีน้ำเงิน 16-24 บาท, สีเหลือง 17-29 บาท ขณะที่เรือโดยสารคลองแสนแสบ เรือด่วนเจ้าพระยา ก็อาจปรับขึ้น 1 บาท/คน/เที่ยว ส่วนแท็กซี่ ก็ขอปรับค่าบริการเริ่มต้นเป็น 40 บาทในช่วงปลายปีนี้ เท่ากับว่าถ้านั่งแท็กซี่ทุกวัน ก็จะจ่ายเพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย 300 บาท/เดือนแล้ว

    ขณะที่ ก๊าซหุงต้ม ก็ทะลุ 410 บาท แม้ทางกรมการค้าภายใน ระบุว่าราคาก๊าซหุงต้มกระทบต้นทุนอาหารจานด่วนเพียง 15-20 สตางค์ ฉะนั้นผู้ประกอบการจึงไม่มีเหตุผลที่จะปรับราคาขึ้น แต่หากมีการปรับขึ้นจานละ 5 บาทแล้วล่ะก็ จะกระทบต่อผู้บริโภค 450 บาท/เดือนเป็นอย่างน้อย รวมทั้ง ค่าไฟฟ้า ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เตือนให้รับมือต้นทุนค่าไฟฟ้าแพงขึ้น ใน 6 เดือนข้างหน้า ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน

    ค่าครองชีพที่พุ่งขึ้นๆ แบบนี้คนกรุงก็ต้องเหนื่อยกับการหาเงินมากเพิ่ม แล้วถ้าหากหมุนไม่ทัน ทางแก้ปัญหาเฉพาะหน้าก็คงต้องพึ่งโรงรับจำนำ โดยจากผลการดำเนินงานปี 2560 ของสถานธนานุบาลกรุงเทพมหานคร มียอดจำนำรวม 6,930 ล้านบาท จากผู้ใช้บริการ 4.69 แสนราย ซึ่งมีรายได้จากดอกเบี้ย 280 ล้านบาท อีกทั้งยังมีกำไรจากการจำหน่ายทรัพย์หลุดจำนำสูงสุดในรอบ 10 ปี สะท้อนให้เห็นว่าผู้จำนำไม่สามารถหาเงินมาไถ่ถอนของคืนได้เป็นจำนวนมาก

    เที่ยง 12.00 น.
    ถึงเวลามื้ออาหารชาวกรุงต่างฝากปากท้องไว้กับร้านอาหารตามทางเท้า จนคำกล่าวที่ว่า กรุงเทพฯ เป็นสวรรค์แห่งอาหารริมทาง ไม่เกินความจริงนัก เพราะตามริมถนนเส้นหลักหรือตรอกเล็กๆ มีร้านอาหารหรือแผงลอยรอเสิร์ฟอาหารหลากหลายประเภทเต็มไปหมด จนสำนักข่าว CNN ยกย่องให้เป็นเมืองที่มีอาหารริมทาง (Street Food) ดีที่สุดในโลก 2 ปีซ้อน แต่กลับกันกลายเป็นว่าทำให้ทางเท้าไร้ระเบียบ จนต้องหลบลงไปเดินบนถนน

    ทางเท้าที่รอวันจัดระเบียบ
    ขณะที่สตรีทฟู้ดกลายเป็นอีกหนึ่งจุดขายด้านการท่องเที่ยว หลายร้านถูกแนะนำใน มิชลิน ไกด์ ฉบับกรุงเทพฯ 2018 ซึ่งมีจำนวน 98 ร้าน แต่ถึงจะเป็นที่ขึ้นหน้าขึ้นตาของเมือง แต่ก็สร้างเรื่องที่หนักอกหนักใจอยู่ เช่นกัน เมื่อการตั้งร้านค้าส่วนใหญ่กีดขวางทางเท้า ซึ่ง กทม. ได้มีมาตรการจัดระเบียบทางเท้าและแผงค้าในพื้นที่กรุงเทพฯ เป็นการจัดระเบียบและยกระดับให้ได้มาตรฐานทั้งความสะอาดและความปลอดภัย และไม่ให้รุกล้ำทางเท้าจนเป็นอุปสรรคต่อประชาชนที่สัญจรบนทางเท้าอย่างที่เคยเป็นมา จึงได้มีแนวทางการจัดระเบียบร้านสตรีทฟู้ด โดยปี 2560 ได้นำร่อง 2 จุด คือถนนเยาวราช และถนนข้าวสาร 

    เมืองที่กำลังจะเป็นมิตรกับคนเดิน
    ขณะเดียวกัน กทม. เตรียมจัดระเบียบทางเท้าในพื้นที่ 50 เขต นำร่อง 50 เส้นทาง ระยะทางรวม 166.465 กม. ผ่านโครงการถนน 5 ไม่ คือ
    1. ไม่มีการติดตั้งป้ายโฆษณาผิดกฎหมาย หรือการลักลอบติดตั้งโดยไม่ได้รับอนุญาต
    2. ไม่มีการตั้งวางสิ่งของกีดขวางทาง
    3. ไม่มีขยะสิ่งปฏิกูล
    4. ไม่มีแผงค้าผิดกฎหมาย และ
    5. ไม่มีการจอดรถหรือขับขี่บนทางเท้า เพื่อสร้างทางเท้าที่สวยงาม ประชาชนเดินสัญจรสะดวกและปลอดภัย ซึ่งเป็นการจัดระเบียบถนนตามพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 โดยครอบคลุมเรื่องการทิ้งขยะ หาบเร่แผงลอย การลักลอบติดป้ายโฆษณา

    ทั้งนี้แผนปฏิบัติการจัดระเบียบผู้ค้าหาบเร่-แผงลอย เพื่อคืนทางเท้าให้ประชาชน ทั้งในและนอกจุดผ่อนผัน ในปี 2559-2560 มีการยกเลิกผู้ค้าแล้ว 18,649 ราย บนถนน 79 สาย ซึ่งทำให้เหลือผู้ค้าในพื้นที่จัดระเบียบ 8,007 ราย

    อีกทั้ง สำนักผังเมือง มีแผนปรับปรุงทางเท้าในพื้นที่กรุงเทพฯ ตามแนวถนน 17 สาย ความยาวรวมกันกว่า 7,000 กม. ซึ่งชำรุดเสื่อมโทรม พื้นผิวขรุขระทำให้เดินไม่สะดวก จึงมีความจำเป็นต้องซ่อมแซมปรับปรุง เนื่องจากเป็นอุปสรรคใหญ่ที่ทำให้ประชาชนเดินทางไม่สะดวกและไม่ปลอดภัย ซึ่งก็หวังว่าหลังจากการปรับปรุงแล้วสถิติคนเดินตกท่อกว่า 750 คนจะลดลงและหมดไป

    นอกจากนั้นยังมีการเร่งเคลียร์ป้ายผิดกฎหมาย ทั้งป้ายขนาดใหญ่บนตึกสูง บิลบอร์ดขนาดมหึมาที่ตั้งเรียงรายคู่ทางด่วน จากตัวเลขล่าสุดในปี 2561 ของกรุงเทพมหานคร พบว่ามีป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ ซึ่งติดตั้งอยู่บนพื้นดินและอาคารทั้ง 50 เขต ที่ผิดกฎหมาย กว่า 244 ป้าย จากทั้งหมด 1,079 ป้าย ทั้งนี้จากรายงานเมื่อปี 2559 พบว่ามีการจัดเก็บป้ายผิดกฎหมายในที่สาธารณะมากถึง 77,131 ป้าย ก็เป็นอีกภารกิจที่จะคืนทัศนียภาพให้คืนกลับมาด้วย 
    บ่าย 14.00 น.
    คงเพราะกรุงเทพฯ เป็นเมืองใหญ่ที่มีประชากรอาศัยกว่า 10 ล้านคน สิ่งที่ตามมาคือการจัดการเมืองโดยเฉพาะขยะ และมลพิษทางอากาศจากฝุ่นละอองในอากาศ ซึ่งฉุดให้คนกรุงมีคุณภาพชีวิตที่ไม่ดีนัก

    ขยะเยอะแยะแก้ไม่หาย
    วิกฤติฝนตกรถติดกลายเป็นปัญหาเรื้อรังของคนเมืองกรุง โดยเหตุที่ต้องเผชิญภาวะน้ำรอการระบายอยู่เสมอนั้น ทาง กทม. ได้ชี้ว่าขยะคืออุปสรรคใหญ่ต่อการระบายน้ำ โดยปัจจุบันมีศูนย์กำจัดขยะ 3 แห่งที่รองรับขยะมูลฝอยที่คนกรุุงทิ้งเฉลี่ย 10,000 ตัน/วัน  ส่วนในทุกช่วงฤดูฝน ขยะที่ถูกทิ้งลงแม่น้ำลำคลอง หรือทิ้งไม่ถูกที่ปลิวหรือไหลไปขวางทางระบายน้ำ มีเฉลี่ย 10 ตัน/วัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นขยะขนาดใหญ่ เช่น ที่นอน โซฟา เป็นต้น หรือขยะที่ปิดช่องระบายน้ำ เช่น ผ้าใบ ป้ายไวนิลโฆษณา ขณะที่กรมควบคุมมลพิษ ระบุว่าในปี 2559 กรุงเทพฯ มีขยะมูลฝอยเกิดขึ้นต่อวันมากที่สุด 4.2 ล้านตัน ขณะที่คนไทยผลิตขยะเฉลี่ยวันละ 1.14 กก./คน

    เรื่องขยะจึงเป็นปัญหาระดับชาติที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขโดยด่วน จึงเป็น 1 ในยุทธศาสตร์ 10 ด้านของแผนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ขณะที่การจัดการขยะให้มีปริมาณลดลง ร่วมด้วยการแปรรูปให้สามารถนำกลับมาใช้ได้ใหม่ โดยไม่สร้างขยะอีก หรือขยะเป็นศูนย์ (Zero Waste) เป็นเทรนด์ที่ทั่วโลกนิยมนำมาใช้ รวมถึงไทย อีกทั้งแนวคิดเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน (Circular Economy) ที่มุ่งเน้นใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และลดการสูญเสียทรัพยากรโดยเปล่าประโยชน์ นำเอาผลิตภัณฑ์ที่ใช้แล้วกลับมาเป็นวัตถุดิบได้อีกครั้ง ก็เป็นอีกแนวทางที่หลายบริษัทในไทยเริ่มตื่นตัวมากขึ้น แต่ขยะก็ควรเป็นเรื่องของทุกคนที่ต้องตระหนัก และร่วมมือกันแก้ ตั้งแต่การแยกขยะและทิ้งให้ถูกที่ หรือนำกลับมาใช้ซ้ำเพื่อลดปริมาณขยะลงให้ได้
    เมืองหลวงมีฝุ่นพิษมากมาย
    ท้องฟ้าในกรุงเทพฯ ไม่ได้สดใสเท่าที่ควรนัก เนื่องจากปัญหาฝุ่นละอองที่สะสมในอากาศ ซึ่งที่วิกฤติสุดคือปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ที่มีแหล่งกำเนิดมาจากการเผาในที่โล่งแจ้ง ภาคอุตสาหกรรมการผลิต การจราจร การผลิตไฟฟ้า โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้เตือนว่าเป็นภัยคุกคามสุขภาพซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มที่ 1 ของสารก่อมะเร็ง ขณะที่ State Global Air ระบุว่าในปี 2558 เป็นตัวการในคนไทยเสียชีวิตก่อนวัยอันควรราว 3.75 หมื่นคน ซึ่งภาคประชาสังคมด้านสิ่งแวดล้อมได้เรียกร้องให้มีการนำค่า PM2.5 รวมอยู่ในการคำนวณคุณภาพอากาศด้วย

    ทั้งนี้ จากรายงานคุณภาพอากาศจากสถานีตรวจวัดในกรุงเทพฯ โดยกรมควบคุมมลพิษ พบว่าในปี 2560 ริม ถ.อินทรพิทักษ์ เขตธนบุรี มีความเข้มข้นของฝุ่นพิษ PM2.5 เฉลี่ย 31 มคก./ลบ.ม./ปี สูงที่สุด เกินกว่าค่ามาตรฐานของไทยที่กำหนดไว้ไม่เกิน 25 มคก./ลบ.ม./ปี ซึ่งสถานีตรวจวัดส่วนใหญ่เกินค่ามาตรฐาน มีเพียง ริม ถ.ลาดพร้าว เขตวังทองหลาง ไม่เกินค่ามาตรฐาน เฉลี่ยอยู่ที่ 19 มคก./ลบ.ม./ปี แต่ถือว่าสูงกว่าค่าที่องค์การอนามัยโลก กำหนด 10 มคก./ลบ.ม./ปี


    โดยจากผลวิจัยเชิงสำรวจปัญหาฝุ่นละอองในกรุงเทพฯ โดยเอยูโพล ระบุว่าสถานการณ์ฝุ่นละอองในกรุงเทพฯ ปี 2561 ส่งผลให้คนกรุงส่วนใหญ่ 54.88% เจอกับฝุ่นละอองนอกที่พักอาศัยเฉลี่ย 5-6 วัน/สัปดาห์ ซึ่งผลกระทบจากปัญหาดังกล่าวทำให้คนกรุงเทพฯ 50.08% อยากจะย้ายไปอยู่ต่างจังหวัด ทั้งนี้ คณะเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ประมาณการมูลค่าความเต็มใจที่จะจ่ายเงินเพื่อลดมลพิษทางอากาศของครัวเรือนในกรุงเทพฯ อยู่ที่ 51,060 – 52,503 ล้านบาทต่อการลดฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศลง 1 มคก./ลบ.ม. ซึ่งเป็นวงเงินที่สูงมาก

    เย็น 18.00 น.
    ช่วงเย็นเป็นช่วงที่ผู้คนมุ่งออกยังพื้นที่รอบนอกของกรุงเทพฯ ด้วยความที่ กทม. เป็นเมืองที่มีที่ดินแพง ซึ่งตัวเลขในปี 2560 ย่านสยามสแควร์ เป็นบริเวณราคาที่ดินที่แพงที่สุด 2.13 ล้านบาท/ตร.ว. ส่วนสีลม อยู่ที่ 1.77 ล้านบาท/ตร.ว. อีกทั้งที่ดินก็หาซื้อได้อย่างจำกัด ทำให้การพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยขยายมายังพื้นที่ีรอบนอก ชานเมือง และปริมณฑลมากขึ้น

    อสังหาฯ ที่ยังเติบโตไม่หยุด
    เมื่อที่ดินในกรุงเทพฯ ราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง คอนโดมิเนียมจึงเป็นทางเลือกที่มนุษย์ออฟฟิศสามารถแตะต้องได้ ซึ่งยอดขายใหม่ในปี 2560 มีการเติบโตอย่างมาก โดยอยู่ที่ 57,300 หน่วย สูงกว่าอัตราขายเฉลี่ยห้องชุดตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ขณะที่ปี 2561 จะมีคอนโดฯ สร้างเสร็จกว่า 65,000 ยูนิต มากกว่าปีที่ผ่านมากว่า 15,000 ยูนิต

    ข้อมูลจากเน็กซัส พรอพเพอร์ตี้ ระบุว่าราคาคอนโดฯ รอบกรุงเทพฯ ชั้นใน และตลาดรอบนอก จะปรับตัวขึ้นอีกประมาณ 5 – 6% ส่งผลให้ภาพรวมมีราคาเฉลี่ยปรับขึ้น 8% อยู่ที่ 1.40 แสนบาทต่อตารางเมตร ส่วนพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นในราคาจะปรับตัวขึ้นไปที่ 2.33 แสนบาทต่อตารางเมตร, พื้นที่รอบกรุงเทพฯ ชั้นใน ราคา 1.12 แสนบาทต่อตารางเมตร และกรุงเทพฯ ชั้นนอก ราคา 7.61 หมื่นบาทต่อตารางเมตร โดยทำเลติดรถไฟฟ้ายังคงเป็นทำเลที่น่าจับตามอง โดยเฉพาะย่านบางซื่อที่จะผลักดันเป็น TOD รวมไปถึงโครงการในเส้นทางรถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย สายสีเขียว สีเหลือง และสี

    ทิศทางการซื้อที่อยู่อาศัยของคนกรุง
    นับจากนี้ไปอีก 10 ปีข้างหน้า คนกรุงรุ่น Gen Y (อายุ 30 – 35 ปี) คือกลุ่มที่ตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยมากที่สุด เนื่องจากมีรายได้ระดับที่มีศักยภาพในการซื้อที่อยู่อาศัย จึงมีบทบาทต่อตลาดที่อยู่อาศัย ทั้งนี้คนกลุ่มนี้ชอบอยู่อย่างอิสระ มีครอบครัวและบุตรช้า หากมีบุตรก็มีเพียง 1-2 คน ขนาดที่อยู่อาศัยจึงไม่ต้องใหญ่โต อีกทั้งไม่ชอบมีภาระดูแลบำรุงรักษาที่อยู่อาศัยมากนัก จึงมีความต้องการเลือกซื้อคอนโดฯ หรือทาวน์เฮาส์ มากกว่าบ้านเดี่ยว เนื่องจากต้นทุนและค่าบำรุงรักษาต่ำกว่า

    รวมไปถึงแนวคิดใหม่ The New Suburbanism ซึ่งบ้านชานเมืองเริ่มได้รับความนิยม ด้วยภาพลักษณ์ของการมีสภาพแวดล้อมที่ดี บวกกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสำหรับการอยู่อาศัย ตอบโจทย์การใช้ชีวิตไม่แตกต่างจากการอยู่อาศัยในเมือง จากคนยุคใหม่ที่เริ่มเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่ชานเมือง นำมาซึ่งการเปลี่ยน แปลงความต้องการการอยู่อาศัยรูปแบบใหม่ นอกจากนี้การปฏิวัติระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรม ยังส่งผลให้คนในพื้นที่ชานเมืองมีวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น ทำงานที่บ้านผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ทำให้ไม่ต้องเดินทางเพื่อเข้ามาทำงานในเมืองทุกวัน รวมถึงระบบขนส่งมวลชนเริ่มครอบคลุมพื้นที่ปริมณฑลของกรุงเทพฯ มากขึ้นด้วย

    เสาร์ – อาทิตย์
    ด้วยความที่กรุงเทพฯ เป็นเมืองหลวงของประเทศมากว่า 235 ปี จึงมีทั้งประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม รวมถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ ผสานกับการเป็นศูนย์กลางในการเดินทางของประเทศและภูมิภาค ทำให้เป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวทั่วโลก หากแต่มองในมุมกลับ คนกรุงเทพฯ เองมีตัวเลือกในการพักผ่อนนอกบ้านไม่มากนัก เฉพาะอย่างยิ่งสวนสาธารณะ สำหรับนั่งผ่อนคลายหรือออกกำลังกาย ซึ่งแม้ว่า กทม. จะมีนโยบายมหานครสีเขียว แต่ความเป็นจริงยังไกลห่าง


    เมืองท่องเที่ยวระดับโลก
    กรุงเทพฯ สามารถครองอันดับ 1 เมืองจุดหมายปลายทางที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกเดินทางมาเยือนมากที่สุด 2 ปีติดต่อกัน จากการสำรวจของมาสเตอร์การ์ด ซึ่ง  88.6% เดินทางเพื่อท่องเที่ยวพักผ่อนเป็นจุดประสงค์หลัก และ 11.4% เดินทางมาเพื่อจุดประสงค์ทางธุรกิจ และคาดว่าในปี 2560 นักท่องเที่ยวที่มีการค้างคืน จะเติบโตขึ้น 4% คิดเป็น 20.2 ล้านคนไม่เพียงเท่านั้นการผลักดันให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองชอปปิงก็เหมือนจะไปได้สวย เมื่อติด 1 ใน 5 ของเมืองที่นักท่องเที่ยวจับจ่ายใช้สอยมากที่สุดถึงราว 4.66 ล้านล้านบาท เนื่องจากมีหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่ห้างสรรพสินค้าระดับไฮเอนด์ ไปจนถึงศูนย์ค้าส่งสินค้าขนาดใหญ่ ตลาดนัดกลางคืน ศูนย์การค้าริมแม่น้ำ ฯลฯ ทำให้กลายเป็นแหล่งชอปปิงยอดนิยมของชาวจีน กลุ่มนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามากรุงเทพฯ มากที่สุด โดยระบุว่า Asiatique The Riverfront เป็น Shopping Area ที่ชื่นชอบมากที่สุด

    มหานครที่มีพื้นที่สีเขียวไม่เพียงพอ
    ขณะที่กรุงเทพฯ เป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก แต่คนกรุงเทพฯ กลับขาดพื้นที่สีเขียว ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดระดับคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้คนในเมือง และต้องยอมรับว่าคนกรุงมีคุณภาพชีวิตห่างจากเกณฑ์ของ WHO อยู่มาก เมื่อมีพื้นที่สีเขียวต่อสัดส่วนประชากรเพียง 6.18 ตรม./คน ขณะที่ WHO กำหนดไว้คือ 9 ตร.ม./คน โดยมีสวนสาธารณะหลักจำนวน 35 แห่ง พื้นที่รวม 3,651 ไร่ ซึ่งในปี 2560 ได้ดำเนินแผนพัฒนาพื้นที่สีเขียวเพิ่มอีก 950 ไร่ ทั้งนี้กรุงเทพฯ มีพื้นที่สีเขียวที่เข้าถึงได้เพียง 2.2 ตร.ม./คน ที่นับว่าน้อยนิด

    การมีต้นไม้ขนาดใหญ่ในเมืองใหญ่ 1 ต้น ช่วยผลิตออกซิเจนให้คนหายใจ 8-10 คน และดูดซับพลังงานความร้อนเท่ากับแอร์ขนาด 1 ตัน หากแต่ถนนที่ไม่มีต้นไม้ใหญ่จะมีฝุ่นละอองมากกว่า 5 เท่า แต่ดูเหมือนว่าต้นไม้ในเมืองเป็นหนึ่งในอุปสรรคของการพัฒนา เราจึงได้เห็นการตัดไม้อายุร้อยปีเพื่อสร้างตึกอยู่บ่อยๆ อีกทั้งต้นไม้บางส่วนก็ทรุดโทรมด้วย จนเกิดเหตุไม่คาดคิดล้มทับคนหรืออาคารบ้านเรือน ฉะนั้นเจ้าหน้าที่จึงต้องตัดกิ่งจนโกร๋น ซึ่งผิดหลักรุกขกรรม แต่นับว่าเป็นเรื่องดีที่ กทม. เริ่มหันมาดูแลต้นไม้ในเมือง โดยยึดวิธีที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ เรียนรู้วิธีการตัดต้นไม้แบบรุกขกรมืออาชีพ และตั้งเป้าในปี 2561 จะสามารถดูแลตัดแต่งต้นไม้ได้อย่างถูกต้องประมาณ 50% จากต้นไม้ทั้งหมด 3.1 ล้านต้น 

    การเพิ่มพื้นที่สีเขียวไม่ใช่เพียงแค่ทำสวนสาธารณะ และทำให้มีต้นไม้ใหญ่ด้วยการปลูกอย่างเดียว แต่ต้องดูแลได้ถูกต้องด้วย อีกทั้งต้นไม้ยังไม่ใช่เพียงแค่ให้ร่มเงาแก่ผู้คนเท่านั้น ในแง่หนึ่งยังสามารถกลายเป็นสัญลักษณ์ เป็นไม้หมายเมืองสู่จุดขายด้านการท่องเที่ยวได้อีกทางหนึ่ง แต่เหนือสิ่งอื่นใดคือเมือง คน และต้นไม้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างร่มรื่น ปลอดภัย มีคุณภาพชีวิตที่ดี