จากการคาดการณ์การใช้สื่อโฆษณาใน ปี 2561 โดยเฉพาะกลุ่มสื่อนอกบ้าน (Out-Of-Home) ที่มีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้นถึง 10% ส่งผลให้เราเห็นป้ายโฆษณาอยู่ทั่วพื้นที่กรุงเทพฯ ทั้งแบบป้ายขนาดใหญ่ และป้ายขนาดเล็ก ทำให้กรุงเทพมหานครต้องออกมากวดขันอย่างเข้มข้น เพื่อให้ทุกอย่างเป็นไปอย่างถูกต้องและปลอดภัย
ปี 61 สื่อ Out-Of-Home อนาคตสดใส
จากตัวเลขข้อมูลของ คุณรัฐกร สืบสุข อุปนายกสมาคมมีเดียเอเยนซี่ และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย (Media Agency Association of Thailand (MAAT) กล่าวถึงภาพรวมอุตสาหกรรมสื่อในปี 2561 ว่า ทางสมาคมฯ คาดการณ์ว่างบประมาณในการใช้สื่อปี 2561 โดยรวมจะดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในส่วนของสื่อโทรทัศน์ (ดิจิทัลทีวี เคเบิลทีวี และโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม) จะเติบโต 6% ขณะที่สื่อนอกบ้าน (Out-Of-Home) คาดการณ์ว่าจะเติบโตมากสุดคือเพิ่มขึ้นถึง 10%
สำหรับกรณีที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ออกมาเข้มงวดในการจัดการป้ายโฆษณานั้น ขณะนี้ยังประเมินไม่ได้ว่ามีผลกระทบหรือไม่ ต้องรอดูก่อนว่า กทม. จะมีมาตรการออกมาอย่างไร และมีความเข้มงวดมากน้อยแค่ไหน เมื่อมีมาตรการออกมาก็ต้องใช้เวลาอย่างน้อยประมาณ 3 เดือนจึงจะประเมินสถานการณ์ได้ว่าจะมีผลกระทบหรือไม่
กทม. ไล่เก็บป้ายผิดกฎหมาย เกลื่อนเมือง
ขณะที่คุณวันชัย ถนอมศักดิ์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ขณะนี้ กทม.มีมาตรการจัดระเบียบป้ายโฆษณาทุกประเภทในพื้นที่ 50 เขต โดยเฉพาะอย่างยิ่งป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ ที่ต้องตรวจสอบทั้งความถูกต้องในการติดตั้งและความแข็งแรงของโครงสร้าง เพื่อไม่ให้เป็นอันตรายต่อประชาชน เนื่องจากในขณะนี้เข้าสู่ฤดูฝนจึงต้องเข้มงวดเป็นพิเศษ เพื่อไม่ให้เกิดกรณีป้ายล้มทับคนหรือรถยนต์ นอกจากนั้นยังเป็นการดำเนินงานตามนโยบายการจัดระเบียบเมือง เพื่อให้พื้นที่กรุงเทพมหานครเป็นระเบียบเรียบร้อย สะอาด สวยงาม แก่ประชาชนและผู้ใช้ทางเท้า ให้ได้รับความสะดวกในการสัญจร และมีความปลอดภัย
โดยได้ทำหนังสือย้ำเตือนแนวทางการปฏิบัติไปยังเจ้าหน้าที่เขต เพื่อให้ดำเนินการอย่างเข้มงวดต่อเนื่อง และให้เป็นไปตามหลักปฏิบัติตามข้อกฎหมายที่มีกำหนดไว้ โดยจะดำเนินการมาตรการจากเบาไปหาหนัก ซึ่งหากพบป้ายที่ติดอยู่ในจุดที่ห้ามติด หรือมีลักษณะที่ผิดกฎหมาย เจ้าหน้าที่เขตก็จะทำหนังสือแจ้งไปยังเจ้าของป้ายในกรณีที่รู้ว่าป้ายผิดกฎหมายเป็นของผู้ใด เพื่อให้เจ้าของป้ายมาดำเนินการแก้ไข อย่างไรก็ตามปัจจุบันนี้มีทั้งป้ายที่ทำลอกเลียนแบบป้าย กทม. ป้ายที่ลักลอบติดจำนวนมาก และไม่ได้มีการระบุว่าใครเป็นเจ้าของป้าย ทำให้ยากต่อการติดตามเจ้าของป้ายมาแก้ไขในบางกรณีติดต่อได้แต่ก็ไม่ยอมรับว่าเป็นเจ้าของป้าย หรือในบางกรณีก็จะยอมรับว่าเป็นผู้จ้างทำป้ายโฆษณาแต่ปฏิเสธที่จะรับผิดชอบที่ติดตั้งไม่ถูกต้อง อ้างว่าผู้รับจ้างทำผิดเอง ทำให้ กทม. ต้องเลือกรื้อถอนป้ายผิดกฎหมายที่ไม่มีเจ้าของ หรือมีเจ้าของแต่แจ้งไปแล้วไม่มาดำเนินการเป็นอันดับแรก และหากพบป้ายของ กทม. เก่าหรือชำรุด ที่อาจเกิดอันตรายต่อประชาชน ก็จะดำเนินการจัดเก็บออกทันทีเพื่อความปลอดภัย จากนั้นให้ประสานหน่วยงานเจ้าของป้ายดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
ทั้งนี้จากการลงพื้นที่จัดเก็บป้ายโฆษณาทุกประเภท ทั้งถนนสายหลักสายรอง ตามตรอก ซอย ต่างๆ พบว่ามีป้ายผิดกฎหมายจำนวนมาก บางวันจัดเก็บได้เกือบ 10,000 ป้าย บางวันเก็บได้มากกว่า 10,000 ป้าย โดยรวมๆ แล้วในช่วงสัปดาห์แรกหลังจากมีคำสั่งลงมาเก็บได้มากว่า 50,000 ป้าย โดยป้ายที่ติดตั้งในซอยเป็นกลุ่มที่ถูกร้องเรียนมากที่สุด เพราะทางเท้าแคบทำให้ป้ายไปบดบังทัศนียภาพ เดินทางสัญจรไม่สะดวก บางจุดก็มีนำไปผูกกับรั้ว หลังคา หรือเสาไฟฟ้า
สำหรับเขตที่มีป้ายน้อยสุดคือเขตพระนคร เพราะเป็นพื้นที่ชั้นใน ขณะที่เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตสัมพันธวงศ์ มีเพียงเล็กน้อย ประมาณ 20-30 ป้าย ซึ่งเป็นประเภทป้ายลอกเลียนแบบ กทม. หรือเป็นป้ายห้ามจอดรถ ป้ายบอกทางที่เก่าชำรุด ส่วนเขตที่มีป้ายจำนวนมากจะอยู่ในพื้นที่รอบนอก เช่น เขตคลองสามวา เขตหนองจอก เขตสายไหม เฉลี่ยมีป้าย 300-500 ป้าย ทั้งนี้ตั้งแต่เริ่มมาตรการจะเห็นได้ว่าเป็นผลดี ไม่มีข่าวเรื่องป้ายล้มทับคน รถ หรือปลิวจนก่อให้เกิดอันตรายแต่อย่างใด
เล็งแก้กฎหมายลงโทษให้ชัดเจนมากขึ้น
ทั้งนี้ นอกจากกรุงเทพมหานครจะเร่งดำเนินการเก็บป้ายที่ผิดกฎหมาย ประเภทที่ทำลอกเลียนแบบ ติดตั้งโดยไม่ขออนุญาต และลักลอบติดในที่ห้ามติด รวมทั้งที่ติดตามเสาไฟฟ้าแล้ว ยังต้องแก้ปัญหากับรูปแบบการโฆษณาแบบใหม่ของกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ไม่ว่าจะเป็นบ้านจัดสรร คอนโดมิเนียม ที่นิยมจ้างคนมาถือป้าย หรือที่เรียกกันว่า “ป้ายดุ๊กดิ๊ก” ด้วย เนื่องจากเป็นการทำผิดกฎหมายเช่นกัน เพราะไม่เคยมาขออนุญาต สำหรับในกรณีที่ผู้ประกอบการว่าจ้างให้ประชาชนยืนถือป้ายเพื่อขายสินค้าและบริการ โดยเฉพาะบ้านจัดสรรและห้องชุด ซึ่งมักจะพบในช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ ถือว่าเป็นเจตนาหลีกเลี่ยงภาษี เพราะหากเป็นป้ายโฆษณาที่ถูกกฎหมายจะต้องจัดเก็บภาษีป้ายในอัตราเริ่มต้นที่ 200 บาท/ป้าย อีกทั้งยังมีความผิดตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาด พ.ศ. 2535 ด้วย หากเจ้าหน้าที่เทศกิจพบเห็นสามารถดำเนินการจับปรับได้ทันที โดยมีโทษสูงสุด 2,000 บาท แต่หากพบว่ากีดขวางจราจรจะมีความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 โดยมีโทษปรับไม่เกิน 500 บาท
โดยที่ผ่านมามีกรณีที่มีการแจ้งความไปยังสถานีตำรวจ แต่เมื่อเชิญเจ้าของป้ายมาสอบถาม ก็แจ้งว่าเป็นแค่ผู้จ้างให้คนทำป้าย ไม่ได้จ้างให้ไปยืนในที่สาธารณะ ขณะที่ผู้รับจ้างถือป้ายเมื่อพบเห็นเทศกิจก็จะเดินหนี หรือบางคนปฏิเสธว่าไม่ได้วางลงพื้น บางคนก็จะเดินเข้าไปยืนอยู่ในที่ของเอกชน ทำให้กฎหมายเอาผิดไม่ได้ เจ้าหน้าที่เทศกิจจึงต้องใช้วิธีถ่ายภาพเพื่อเป็นหลักฐานก่อนดำเนินคดีกับผู้ว่าจ้าง มีบางกรณีที่ตามผู้ว่าจ้างไม่ได้ อาจต้องปรับผู้รับจ้างถือป้าย ทางผู้รับจ้างก็จะแจ้งว่าค่าจ้างการทำงานได้แค่ 300 บาท ขณะที่ค่าปรับอยู่ที่ 500 บาท ไม่สามารถจ่ายได้ ทำให้เจ้าหน้าที่ กทม. ลำบากใจ จะดึงดันปรับก็จะถูกต่อว่าทั้งต่อหน้าและผ่านโซเชียล แต่หากเจ้าหน้าที่ไม่ดำเนินการก็จะมีความผิดเช่นกัน เรื่องนี้ต้องพิจารณาหาแนวทางที่เหมาะสมกัน
เมื่อถามถึงมาตรการจัดระเบียบป้ายโฆษณาในระยะยาว เพื่อไม่ให้มีปัญหาแบบเดิมๆ อีกจะทำอย่างไรได้บ้าง รองปลัด กทม. บอกว่า มาตรการในระยะยาวคงต้องมีการหารือกับผู้ประกอบการ สมาคมป้ายโฆษณา หรือฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อหามาตรการแก้ปัญหาร่วมกัน ในเบื้องต้นอาจหารือกันในลักษณะขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการติดป้ายโฆษณาในจุดที่กำหนด และดำเนินการขออนุญาตให้ถูกต้อง หรือปรับรูปแบบจากการใช้ป้ายโฆษณาไปใช้สื่อในรูปแบบดิจิทัล หรือ ทางโซเชียลแทน ขณะเดียวกันทาง กทม. ก็จะพิจารณาในเรื่องมาตรการทางกฎหมาย ว่าจะมีการปรับมาตรการทางภาษี หรือกฎหมายตามระเบียบ พ.ร.บ.รักษาความสะอาด และความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 ให้สอด คล้องกับความเป็นปัจจุบันได้หรือไม่ เนื่องจากยังมีช่องโหว่ เช่น กม.ระบุว่าให้จับคนที่ติด ไม่ได้จับคนที่จ้าง ทำให้การลงโทษไม่เป็นไปอย่างเต็มที่
ถือได้ว่าการปฏิบัติการครั้งนี้เป็นไปอย่างเข้มข้น เอาจริงเอาจัง แต่จะเป็นการปฏิบัติการที่ได้ผลต่อเนื่องและตลอดไปหรือไม่ เพราะปัญหาป้ายโฆษณาผิดกฎหมายไม่ใช่เพิ่งเกิด แต่มีมาต่อเนื่องยาวนาน เป็นปัญหาทุกปีโดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนมักจะมีข่าว กทม. เอาจริง พร้อมมีภาพลงพื้นที่จัดเก็บป้ายให้เห็น แต่ปัญหาป้ายเถื่อน ป้ายที่เกะกะอยู่ตามทางเท้า หรือที่สาธารณะก็ยังคงอยู่ นี่คงเป็นอีกโจทย์หนึ่งที่กรุงเทพมหานครต้องทำให้เด็ดขาด ไม่ปล่อยให้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก
คุณสกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
“มอบหมายให้ฝ่ายเทศกิจทั้ง 50 เขต กวดขันการติดตั้งป้ายโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาตบนถนน ทางเท้า ถนนสายหลัก หรือที่สาธารณะ เช่น ป้ายโฆษณาที่อยู่อาศัย ป้ายบอกทาง ป้ายเงินด่วน ป้ายขอบคุณ ป้ายอวยพรเนื่องในเทศกาลต่างๆ ซึ่งทำให้เกิดความไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย บดบังทัศนวิสัยการสัญจร และยังเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 เพื่อให้พื้นที่กรุงเทพฯ ไม่มีการติดตั้งป้ายโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาตทุกชนิด ซึ่งถ้าพบว่าจุดใดจะทำให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สิน กทม. ให้แจ้งความดำเนินคดีกับผู้ลักลอบกระทำผิดอย่างเต็มที่ หากพบในที่สาธารณะให้ทำการรื้อถอนออกให้หมด ส่วนป้ายที่อยู่ในพื้นที่เอกชนให้ใช้มาตรการทางภาษีเข้าตรวจสอบ โดยได้เน้นย้ำไปว่าให้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง รัดกุม และจริงจัง”
[English]
BMA to Remove Illegally-Installed Signs and Billboards across the Capital City
The use of advertising media has been on a rise so far this year, in tandem with the continued recovery of the local economy. That has, however, prompted the Bangkok Metropolitan Administration (BMA) to step up its inspection on the many signs and billboards seen throughout the city to make sure they have got the permit to be put up.
The Media Agency Association of Thailand predicts that the overall use of media in 2018 will grow from last year, with such sectors as printed media, radio and cinema media, likely to grow at a slow pace, when TV media should register a 6% growth and Out-of-Home media will likely grow 10% in 2018.
The BMA’s efforts to rein in the situation cannot yet be concluded as a success or a failure as it remains to be seen whether more stringent measures will be implemented.
According to the BMA, an operation to inspect all signs, particularly billboards, in all 50 districts of Bangkok is underway in order to prevent any unexpected circumstances that harm city dwellers, especially when the rainy season is here. So far, the BMA has been removing an average of 10,000 illegally erected or installed signs from the streets each day.
It’s not only traditional signs that are being targeted, but also “dancing” signs, which are mostly employed by property developers and involve the use of people to carry signs on street side, as such a method is illegal due to the fact that owners are apparently evading the sign board tax payment and it is in violation of the Maintenance of Public Sanitary and Order Act.