ยังคงยืนยันเป้าหมายการเปิดให้บริการบัตรโดยสารแมงมุม ระบบ EMV (Europay Mastercard and Visa) ที่เป็นเทคโนโลยีใหม่เชื่อมโยงทุกระบบการเดินทาง ด้วยบัตรมาตรฐานสากลเพียงใบเดียว ว่าจะสามารถเปิดตัวใช้งานได้อย่างเป็นทางการในช่วงเดือนธันวาคม 2562
ยืนยันเริ่มใช้บัตรแมงมุม EMV ธ.ค.62
เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) จึงได้ชี้แจงถึงการนำเทคโนโลยีบัตร EMV (Europay Mastercard and Visa) Contactless Smart Card (Open Loop) มาใช้กับระบบตั๋วร่วม บัตรแมงมุมของไทย ว่าอยู่ในระยะการพัฒนาระบบอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะเริ่มเปิดให้บริการบัตรแมงมุมระบบ EMV (Europay Mastercard and Visa) กับรถไฟฟ้าทุกสายที่เปิดให้บริการแล้ว รวมทั้งรถโดยสารประจำทางของ ขสมก. ภายในเดือนธันวาคม 2562
จากนั้นจะสามารถใช้บริการได้ครอบคลุมทุกระบบการเดินทาง ได้แก่ ระบบทางพิเศษ เรือโดยสาร และรถไฟฟ้าสายใหม่ๆ ที่จะมีขึ้นต่อไปในอนาคตด้วย
ขสมก.-แอร์พอร์ต เรล ลิงก์ เลื่อนคิวใช้ตั๋วร่วม
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการใช้งานร่วมกับ รถเมล์ ขสมก. และรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ยังต้องขยับเวลาออกไป จากเดิมที่คาดว่าจะสามารถใช้งานได้ในเดือนตุลาคม 2561 นี้
โดยในส่วนของ ขสมก. นั้น ทางกลุ่มงานประชาสัมพันธ์ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) แจ้งถึงความคืบหน้าในส่วนของการติดตั้งเครื่องอ่านบัตรโดยสารว่า ขณะนี้ ขสมก.ได้ติดตั้งเครื่องอ่านบัตรโดยสารเวอร์ชั่น 2.0 บนรถโดยสารธรรมดา จำนวน 800 คัน ซึ่งเปิดให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐใช้บริการแล้ว 300 คัน ส่วนที่เหลืออีก 500 คัน คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ ภายในวันที่ 15 ตุลาคม 2561
ส่วนการติดตั้งบนรถโดยสารที่เหลืออีก 1,800 คัน ขณะนี้ได้ติดตั้งแล้ว 700 คัน คาดว่าจะดำเนินการติดตั้งแล้วเสร็จพร้อมใช้งานได้ทั้งหมด ภายในเดือนพฤศจิกายน 2561
สำหรับการปรับปรุงระบบจากเวอร์ชั่น 2.0 เป็นเวอร์ชั่น 2.5 หรือการปรับระบบให้รองรับบัตรแมงมุม (ระบบตั๋วร่วมภายใต้มาตรฐานระบบของ รฟม.) ขณะนี้ ขสมก. อยู่ระหว่างการประสานงานกับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เพื่อขอข้อกำหนดคุณสมบัติและเงื่อนไขการทดสอบ เพื่อรองรับบัตรโดยสารร่วมที่จะใช้เป็นแนวทางในการวางแผนการปรับปรุงระบบต่อไป ซึ่ง ขสมก. ได้มีการประชุมร่วมกับ รฟม. เป็นระยะๆ เพื่อให้สามารถดำเนินการได้เป็นไปตามแผนงานที่กำหนดไว้ โดยจะใช้ระยะเวลาในการปรับปรุงระบบประมาณ 4 – 6 เดือน ภายหลังได้รับเอกสาร คาดว่าจะแล้วเสร็จ และใช้งานได้ประมาณเดือนมีนาคม 2562
ส่วนระบบรถไฟฟ้า Airport Rail Link นั้น คาดว่าจะสามารถเริ่มใช้งานบัตรสวัสดิการแห่งรัฐได้ภายในเดือนมกราคม 2562 เป็นต้นไป จากนั้นภายในเดือนมีนาคม 2562 คาดว่าจะสามารถใช้ระบบบัตรแมงมุม (ระบบตั๋วร่วมภายใต้มาตรฐานระบบของ รฟม.) ได้
รฟม.-กรุงไทยร่วมพัฒนาระบบ
ขณะที่ รฟม. หลังจากได้ร่วมมือกับ ธนาคารกรุงไทย ออก “บัตรเดบิตเเมงมุม” หรือ “บัตรกรุงไทย เมโทร ลิงค์ (Krungthai Metro Link)” ซึ่งเป็นบัตรแบบไฮบริด (Hybrid) ที่มี 2 ชิปการ์ด ประกอบด้วย บัตรเดบิตมาสเตอร์การ์ด และบัตรแมงมุม ที่เป็นการรวมความสะดวกด้านการใช้จ่ายและการเดินทางด้วยบัตรเพียงใบเดียว สามารถเบิก ถอน โอนเงินสด ซื้อสินค้าและบริการได้ทั่วโลก ณ ร้านค้าที่มีสัญลักษณ์มาสเตอร์การ์ด (Mastercard) และใช้เป็นบัตรโดยสารในระบบขนส่งมวลชนรถไฟฟ้า MRT สายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน) และสายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) โดยเปิดตัวบัตรครั้งแรกเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2561 และเริ่มเปิดจำหน่ายบัตรตั้งแต่วันที่ 27 กันยายน 2561 ล่าสุดมีธนาคารพาณิชย์ 2 แห่งที่ให้ความสนใจการออกบัตรเดบิตรองรับบัตรแมงมุมด้วย คือ ธนาคารไทยพาณิชย์ และกสิกรไทย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือ คาดว่าจะได้สรุปที่ชัดเจนปลายปีนี้
นอกจากนั้น รฟม. ยังอยู่ระหว่างการพัฒนาระบบโมบายแอปพลิเคชันร่วมกับธนาคารกรุงไทย เพื่อให้ผู้โดยสารสามารถเติมเงินบัตรแมงมุมผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้ด้วย โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการช่วงต้นปี 2562
ส่วนการพัฒนาระบบตั๋วร่วมเป็นระบบแบบ EMV นั้น นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า รฟม. ต้องพัฒนาระบบโดยใช้อุปกรณ์ที่ต้องสั่งผลิตจากต่างประเทศ และต้องมีการเขียนซอฟต์แวร์ขึ้นมาโดยเฉพาะด้วย คาดว่าต้องใช้เงินลงทุน 500 ล้านบาท ซึ่งในส่วนนี้ธนาคารกรุงไทยพร้อมให้การสนับสนุน เบื้องต้น รฟม. กับกรุงไทยจะร่วมลงทุนฝ่ายละ 250 ล้านบาท โดยกรุงไทยเป็น Center ของระบบ และทำหน้าที่ในการจัดเก็บและกระจายรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการระบบขนส่งมวลชนที่มาเข้าร่วมในระบบ ซึ่งในอนาคตธนาคารพาณิชย์รายอื่นก็สามารถที่จะมาเข้าร่วมได้เช่นกัน
ทั้งนี้ สนข. ยืนยันว่า เทคโนโลยีดังกล่าวจะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในการเดินทางและการชำระเงิน รวมทั้งสามารถเข้าถึงการเดินทางได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ลดระยะเวลา และเพิ่มความคล่องตัวในการเดินทางของประชาชน
โดยการพัฒนาก้าวต่อไปสู่ “บัตรแมงมุมระบบ” EMV (Europay Mastercard and Visa) การชำระค่าโดยสารระบบขนส่งมวลชนนั้น ได้เริ่มมีการเปลี่ยนมาใช้มาตรฐานระบบ EMV โดยในปี พ.ศ. 2557 เมืองลอนดอน สหราชอาณาจักร ได้เริ่มทดลองการนำ EMV มาใช้ในการชำระค่าโดยสารควบคู่กับบัตร Oyster Card เพื่อแก้ปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายในการออกบัตรและบำรุงรักษาระบบ รวมทั้งความล่าช้าของผู้โดยสารในกรณีที่เงินในบัตรหมดในช่วงเวลาเร่งด่วน การทดลองใช้ในช่วงแรกยังติดปัญหาเรื่องความเร็วในการอ่านบัตร และได้มีการพัฒนาต่อมาโดยในปัจจุบันสามารถปรับปรุงความเร็วในการอ่านบัตรได้ตามมาตรฐานขั้นต่ำของภาคขนส่งที่ 300-500 มิลลิวินาที/ธุรกรรมการขนส่ง (msec/transaction) รวมทั้งสามารถลดค่าใช้จ่ายในการจ้างพนักงานขายบัตร ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับบัตร และค่าใช้จ่ายการทำธุรกรรม ทำให้หลายประเทศเริ่มให้ความสนใจในการเปลี่ยนมาใช้ระบบ Open Loop มากยิ่งขึ้น เช่น เมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย และประเทศสิงคโปร์ ได้เปลี่ยนมาใช้ระบบ EMV ในปี พ.ศ. 2560 และเมืองอื่นๆ ในอีกหลายประเทศ กำลังอยู่ในช่วงปรับมาใช้ระบบนี้มากขึ้น ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย
อย่างไรก็ตาม การใช้งานบัตรแมงมุมระบบ EMV จะเห็นเป็นจริงได้ในเดือนธันวาคม 2562 หรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่ผู้โดยสารระบบขนส่งสาธารณะทั้งหลายต้องร่วมลุ้นและคอยติดตามกันต่อไป
__________
คุณภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ – ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)
“ขณะนี้มีบัตรกรุงไทยเดบิตเเมงมุม สามารถใช้งานในระบบรถไฟฟ้า MRT 2 สาย ในอนาคตจะขยายไปยังรถไฟฟ้า แอร์พอร์ต เรล ลิงก์ และรถประจำทาง ขสมก. และจะมีการพัฒนาระบบโมบายแอปพลิเคชันเพื่อให้ผู้โดยสารสามารถเติมเงินบัตรแมงมุมผ่านมือถือ คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ต้นปีหน้า เพื่อตอบสนองรูปแบบการใช้ชีวิตของคนเมือง และกระตุ้นให้ประชาชนหันมาใช้บริการขนส่งสาธารณะมากยิ่งขึ้น ส่วนรถไฟฟ้าบีทีเอส ขณะนี้ได้ทำหนังสือมาขอสเป็กบัตรแมงมุม 2.5 จาก รฟม. ไปประกอบการพิจารณา หากบีทีเอสตัดสินใจเข้าร่วมโครงการกับบัตรแมงมุมจะทำให้การเดินทางของผู้โดยสารสะดวกขึ้น สำหรับการพัฒนาระบบบัตรแมงมุมเป็นระบบ EMV รฟม. อยู่ระหว่างดำเนินการ คาดว่าระบบจะพร้อมให้บริการได้ช่วงเดือนธันวาคม 2562”
[English]
Introduction of Mangmoom Card for Bus-Airport Rail Link Delayed to 2019
For one more time, the introduction of the joint ticketing system, Mangmoom Card, for public transportation system, particularly Bangkok’s buses and the Airport Rail Link, is to be postponed to 2019 from the earlier expected schedule of October 2018.
Nevertheless, the Office of Transport and Traffic Policy said that the development of the EMF (Europay Mastercard and Visa) Contactless Smart Card (Open Loop) system for the Mangmoom Card is still underway and expected to be implemented with all operating electric rail routes and some Bangkok Mass Transit Authority (BMTA)-operated buses by December of this year.
The BMTA said that it is now working with the Mass Rapid Transit Authority of Thailand (MRTA) — the operator of the underground MRT rail and the Skytrain BTS outside Bangkok area — on the installation of the card readers for the Mangmoom Card on all of its buses before the system is ready tentatively in March 2019, when the Airport Rail Link is also expected to activate the system.
The MRTA, meanwhile, joined Krung Thai Bank (KTB) in issuing the Mangmoom debit card, which can be used for paying fare on MRT Blue Line and MRT Purple Line as well as for cash withdrawal and transfer money, and for purchasing goods and services at stores accepting Mastercard cards around the world.
And as Siam Commercial Bank and Kasikornbank are currently in talks with the MRTA about the introduction of a similar product, the electric rail operator continues working with KTB on the development of a mobile application to help Mangmoom Card holders top up money by early 2019.