สิ้นสุดการรอคอย สำหรับโครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียว (ใต้) ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ที่พร้อมจะเปิดเดินรถรองรับการเดินทางประชาชนตั้งแต่วันที่ 6 ธันวาคมนี้เป็นต้นไป โดยให้บริการฟรีถึงช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2562 เพื่อมอบให้เป็นของขวัญทั้งช่วงปีใหม่สากลและปีใหม่ไทย จากนั้นจะเริ่มเก็บค่าโดยสารในอัตราสูงสูดไม่เกิน 65 บาท
รฟม. สร้างแล้วส่งไม้ต่อให้ กทม. ดูแล
โดยหลังจากทำพิธีเปิดใช้บริการอย่างเป็นทางการ ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานเสร็จสิ้นลง จากนั้นตั้งแต่เวลา 12.00 น. ของวันที่ 6 ธันวาคม 2561 เป็นต้นไป ก็จะเป็นเวลาของการเริ่มต้นเปิดให้ประชาชนทั่วไปได้ใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีเขียว (ใต้) ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ
โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว (ใต้) ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ เป็นส่วนต่อขยายที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้รับผิดชอบการก่อสร้าง และได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างงานโยธาและงานระบบรางตั้งแต่ต้นปี 2555 จนกระทั่งเสร็จเรียบร้อยประมาณต้นปี 2560 จากนั้นกรุงเทพมหานครจึงได้เริ่มเข้าดำเนินการติดตั้งระบบไฟฟ้าและเครื่องกลเมื่อเดือนตุลาคม 2559 และสามารถเปิดเดินรถได้ 1 สถานีที่สถานีสำโรง ตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน 2560 ที่ผ่านมา
หลังจากนั้นกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ดำเนินการติดตั้งระบบไฟฟ้า และเครื่องกลในส่วนที่เหลือทั้งหมด รวมทั้งได้ทำการทดสอบอุปกรณ์ต่างๆ และทดสอบการเดินรถเสมือนจริงในเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2561 เพื่อให้มั่นใจว่าระบบมีความพร้อมและมีความปลอดภัยสำหรับการเปิดใช้งานให้บริการแก่ประชาชน
มี 9 สถานีเชื่อมโยงความสะดวก
สำหรับเส้นทางของโครงการมีโครงสร้างเป็นทางวิ่งยกระดับตลอดเส้นทาง ระยะทางรวม 13 กิโลเมตร แนวเส้นทางเริ่มต้นต่อเนื่องจากแนวเส้นทางของโครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร (BTS) ส่วนต่อขยายสายสุขุมวิท ตอนที่ 1 ช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง บริเวณซอยสุขุมวิท 107 (แบริ่ง) ไปตามแนวเกาะกลางของถนนสุขุมวิท ผ่านคลองสำโรง ผ่านแยกเทพารักษ์ แยกปู่เจ้าสมิงพราย เมื่อถึงบริเวณจุดตัดกับโครงการถนนวงแหวนรอบนอกด้านใต้แนวจะเบี่ยงจากเกาะกลางไปทางทิศตะวันตกของถนนสุขุมวิท เพื่อข้ามทางต่างระดับสุขุมวิท จากนั้นจึงเบี่ยงกลับมาอยู่ในแนวเกาะกลางถนนสุขุทวิท ผ่านแยกศาลากลาง แยกการไฟฟ้า แยกแพรกษา แยกสายลวด จนถึงจุดสิ้นสุดโครงการบริเวณหน้าสถานีไฟฟ้าย่อยบางปิ้ง โดยแนวเส้นทางจะเบี่ยงออกทางด้านทิศตะวันตก และลดระดับเข้าสู่ศูนย์ซ่อมบำรุง
ตลอดแนวเส้นทาง มี 9 สถานี ประกอบด้วย สถานีสำโรง (เปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน 2560) สถานีปู่เจ้าสมิงพราย สถานีเอราวัณ สถานีโรงเรียนนายเรือ สถานีสมุทรปาการ สถานีศรีนครินทร์ สถานีแพรกษา สถานีสายลวด และสถานีเคหะสมุทรปราการ ซึ่งเป็นสถานีปลายทาง โดยมีศูนย์ซ่อมบำรุงตั้งอยู่บนเนื้อที่ประมาณ 123 ไร่ ในพื้นที่ประกอบด้วย อาคารบริหารและศูนย์ควบคุมการปฏิบัติการเดินรถ อาคารซ่อมบำรุงหลัก อาคารจอดรถไฟฟ้า รางทดสอบ และอาคารประกอบอื่นๆ รวมถึงมีลานจอดแล้วจร (Park&Ride) 1 แห่ง
สำหรับขบวนรถไฟฟ้าที่ให้บริการเป็นระบบรถไฟฟ้าขนาดใหญ่ (Heavy Rail Transit System) รองรับผู้โดยสารได้ 50,000 คน/ชั่วโมง/ทิศทาง โดยกรุงเทพ- มหานครคาดว่าจะมีปริมาณผู้ใช้บริการ 1.2 แสนเที่ยว-คน/วัน ทั้งนี้ในเส้นทางนี้จะมีจุดที่เป็นไฮไลต์อยู่ 3 จุด คือ บริเวณสถานีช้างเอราวัณ ซึ่งเป็นจุดที่มีทางยกระดับสูงสุด คือ 28 เมตร และสามารถมองเห็นวิวของพิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณที่สวยงามได้อย่างเต็มที่ ที่สถานีปากน้ำจุดที่เห็นวิวเวิ้งแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณพระสมุทรเจดีย์และหอชมเมืองสมุทรปราการ
สั่งเก็บค่าโดยสารไม่เกิน 65 บาทตลอดสาย
สำหรับการให้บริการในช่วงระหว่างวันที่ 6 ธันวาคม 2561 จนถึงช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2562 หรือประมาณวันที่ 15 เมษายน 2562 จะเป็นช่วงการทดลองให้บริการ เพื่อทดสอบระบบการเดินรถ โดยในระหว่างนี้ ผู้โดยสารสามารถใช้บริการในเส้นทางส่วนต่อขยายนี้ได้ตั้งแต่เวลา 06.00-00.00 น. โดยไม่เสียค่าบริการ และสามารถเดินทางเชื่อมต่อเข้าสู่ใจกลางเมือง โดยลงต่อเส้นทางด้วยการเดินเปลี่ยนขบวนที่สถานีสำโรงในลักษณะเดียวกับที่สถานีรถไฟฟ้า BTS สยาม
จากนั้นตั้งแต่วันที่ 16 เมษายน 2562 เป็นต้นไป จะเริ่มเก็บค่าโดยสารในเส้นทางส่วนต่อขยายนี้ ทั้งนี้จากผลการศึกษาและวิเคราะห์ความเหมาะสมแนวทางการให้เอกชนเข้าร่วมลงทุน โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายช่วงเขียวใต้ แบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงเขียวเหนือ หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต โดย สำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) กทม. ระบุว่า ในเส้นทางต่อขยายส่วนเขียวใต้ จะมีอัตราค่าแรกเข้า 15 บาท ค่าโดยสารตามระยะทาง 3 บาท/สถานี โดยมีอัตราค่าโดยสารสูงสุดที่ 39 บาท ขณะที่สายเขียวเหนือ ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต มีค่าแรกเข้า 15 บาท ค่าโดยสารตามระยะทาง 3 บาท/สถานี โดยมีอัตราค่าโดยสารสูงสุดที่ 60 บาท หากเดินทางทั้งโครงข่ายจะมีค่าโดยสารรวมสูงสุด 158 บาท รัฐบาล และ กทม. จึงได้มีนโยบายจัดเก็บค่าแรกเข้าระบบครั้งเดียว และจัดเก็บค่าโดยสารสูงสุดตามระยะทาง โดยกำหนดให้มีอัตราค่าโดยสารสูงสุดไม่เกิน 65 บาท โดย กทม. จะหารือกับ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC เพื่อกำหนดอัตราค่าโดยสาร ที่ชัดเจนให้จบก่อนเดือนเมษายน 2562
รฟม. บริหารจัดการ Park&Ride เอง
อย่างไรก็ดี ในส่วนของอาคารจอดแล้วจร (Park&Ride) 1 แห่ง ซึ่งตั้งอยู่บริเวณสถานีเคหะสมุทรปราการ เนื้อที่ประมาณ 8 ไร่ สามารถรองรับรถยนต์ได้ประมาณ 1,200 คันนั้น รฟม. ไม่ได้ส่งมอบพื้นที่ให้ กทม. เข้าบริหารจัดการ โดย รฟม.จะดำเนินการเอง เพื่อให้ค่าบริการเป็นอัตราเดียวกัน ซึ่งล่าสุด คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบในหลักการร่างข้อบังคับของ รฟม. ว่าด้วยอัตราค่าบริการจอดรถยนต์และวิธีการจัดเก็บค่าบริการจอดรถยนต์ โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง – สมุทรปราการ พ.ศ. 2561 แล้ว พร้อมทั้งได้มอบหมายให้ รฟม. และกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จัดหาที่อยู่อาศัยให้กับผู้มีรายได้น้อยตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าและบริเวณใกล้เคียงทุกเส้น โดยให้ปรับอาคารจอดแล้วจร (Park&Ride) ที่ก่อสร้าง เหนือขึ้นไปจากพื้นที่ใต้ดินและบนดินเป็นที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยได้อยู่อาศัยใกล้กับแนวรถไฟฟ้าด้วย
โดยคุณภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม. กล่าวว่า ในส่วนของลานจอดรถสถานีเคหะฯ นั้น ตั้งแต่วันที่ 6 ธ.ค. 2561 รฟม.จะให้บริการฟรี ไปก่อน เพื่อให้สอดคล้องกับการให้บริการฟรีของสายสีเขียว และจะเริ่มเก็บค่าบริการช่วงหลังสงกรานต์ 2562 ส่วนการพัฒนาที่อยู่อาศัยนั้นจะหารือกับการเคหะแก่งชาติในลำดับต่อไป
มีสิ่งอำนวยความสะดวก รองรับผู้ใช้บริการทุกกลุ่ม
ในการก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง – สมุทรปราการ รฟม. ได้ออกแบบภายใต้แนวความคิด อารยสถาปัตย์ (Universal Design) เน้นออกแบบให้สามารถใช้งานได้ง่าย ปราศจากอุปสรรคสำหรับ คนทุกประเภท ทุกวัย ซึ่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคารและกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับ สิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพและคนชรา โดยมีการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ สำหรับสถานีรถไฟฟ้าทุกสถานี ไม่ว่าจะเป็นที่จอดรถสำหรับผู้พิการ ทางลาด บันไดเลื่อน ลิฟต์โดยสาร รวมถึงปุ่มกดอักษรเบรลล์สำหรับผู้บกพร่องทางการมองเห็น พื้นผิวต่างสัมผัสสำหรับผู้บกพร่องทางการมองเห็น ห้องน้ำสำหรับบุคคลทั่วไปและผู้พิการ ติดตั้งอุปกรณ์แจ้งเตือนเหตุฉุกเฉิน ป้ายบอกทางต่างๆ สำหรับผู้พิการ และอื่นๆ เช่น ห้องจำหน่ายตั๋วและเครื่องจำหน่ายตั๋วโดยสารอัตโนมัติ มีช่องให้บริการสำหรับรถเข็นผู้พิการ เป็นต้น
ตลาดอสังหาฯ คึกรับเปิดให้บริการ
นอกจากจะอำนวยความสะดวกในการเดินทางแล้ว ยังมีผลต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์ด้วย โดยก่อนหน้านี้ ในช่วงที่มีการประกาศไทม์ไลน์การเปิดให้บริการส่วนต่อขยายออกมาอย่างชัดเจน ได้มีการสำรวจโครงการที่อยู่อาศัยตามแนวโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวใต้ของทีม Data Insight บริษัท บาเนีย (ประเทศไทย) พบว่าสถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยในรัศมีไม่เกิน 5 กิโลเมตรตามแนวรถไฟฟ้าเส้นนี้ มีโครงการที่อยู่อาศัยที่อยู่ในตลาดรวมทั้งสิ้น 283 โครงการ แบ่งเป็น คอนโดมิเนียม 115 โครงการ บ้านเดี่ยว 55 โครงการ และทาวน์โฮม 113 โครงการ สำหรับทำเลติดรถไฟฟ้าในระยะไม่เกิน 800 เมตร โครงการที่ยังเปิดขายอยู่จะเป็นคอนโดเท่านั้น โดยมีให้เลือกกว่า 16 โครงการ ส่วนบ้านและทาวน์โฮมจะขยับจากแนวสถานีออกไป
ขณะที่คุณสุรเชษฐ กองชีพ นักวิจัยตลาดอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยว่า การเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ จะส่งผลดีต่อภาคอสังหาริมทรัพย์โดยเฉพาะคอนโดฯ รอบสถานีรถไฟฟ้า เช่น สถานีเอราวัณ สถานีสำโรง และสถานีแบริ่ง ซึ่งเป็นแหล่งชุมชน นอกจากนี้เมื่อมีการเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสีเหลืองช่วงลาดพร้าว-สำโรง ก็จะทำให้สถานีสำโรงเป็นอินเตอร์เชนจ์ที่สำคัญ และหากผังเมืองสมุทรปราการมีการปรับสีผังใหม่ให้สอดรับการพัฒนา ก็จะผลักดันให้เป็นศูนย์กลางในการเดินทางเชื่อมต่อเข้าเมือง โดยจะเป็นทั้งแหล่งที่อยู่อาศัย แหล่งงานและชอปปิง อีกทั้งยังมองว่า แนวโน้มทั้งดีมานด์และซัพพลายของตลาดที่อยู่อาศัยในเส้นทางนี้จะไปได้ดีกว่ารถไฟฟ้าสายสีม่วง เพราะการเดินทางเข้าเมืองง่ายกว่าอีกทั้งค่าใช้จ่ายก็อยู่ในระดับที่รับได้
อย่างไรก็ดี หลังการรถไฟฟ้าเปิดให้บริการจะส่งผลให้ราคาที่อยู่อาศัยและราคาที่ดินปรับตัวเพิ่มขึ้นอีกมากโดยจะเห็นความชัดเจนตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นไป ซึ่งขณะนี้ราคาที่ดินอยู่ที่ประมาณ 1.5-3 แสนบาท/ตารางวา ซึ่งพื้นที่นี้ยังจะขยายตัวได้อีกมาก เพราะที่ดินสำหรับการพัฒนาโครงการยังมีอยู่เป็นจำนวนมากโดยเฉพาะพื้นที่รอบสถานี
โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว (ใต้) แบริ่ง-สมุทรปราการ จะเป็นอีกหนึ่งโครงข่ายระบบรางที่จะมาช่วยต่อขยายความสะดวกในการเดินทางของประชาชน ทั้งชาวสมุทรปราการ นักท่องเที่ยว นักธุรกิจ ให้เดินทางเข้าสู่ใจกลางเมืองกรุงเทพมหานครได้สะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันก็รองรับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติให้เดินทางไปท่องเที่ยวในพื้นที่สมุทรปราการได้เป็นอย่างดี รวมถึงจะก่อให้เกิดการพัฒนาให้เป็นทั้งแหล่งที่อยู่อาศัยและแหล่งงานรวมถึงแหล่งท่องเที่ยวรองรับการเติมโตของเมืองได้อีกมาก
__________
พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง – ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
“จะเร่งหารือกับบีทีเอสเพื่อกำหนดอัตราค่าโดยสาร โดยในเบื้องต้นกรุงเทพมหานครมี นโยบายให้เพดานค่าโดยสารทั้งโครงการส่วนแรกในสายสุขุมวิทและสีลมและส่วนต่อขยายสูงสุดไม่เกิน 65 บาท ซึ่งต้องได้ข้อสรุปก่อนเปิดเดินรถจริงในเดือนเมษายน 2562 หลังการทดลองเสร็จสิ้น สำหรับอัตราค่าโดยสารนี้เป็นอัตราคงที่ จะไม่มีการปรับขึ้นใน 3 ปี 5 ปี ข้างหน้าอย่างที่ผ่านมาอีก ทั้งนี้เชื่อว่าเป็นอัตราที่มีความเหมาะสม และเป็นราคาที่เอกชนรับได้ ไม่ขาดทุนแน่นอน เพราะหากขาดทุนเอกชนคงไม่ทำ”
[English]
Bangkok’s Green Extended Line Ready for 4 Months of Free Service
The wait is ending for commuters of Bangkok Mass Rapid Transit : Green Line Extension (Bearing – Samut Prakarn), which is set to be operational from December 6, 2018. For the following four months, the service will be free.
The new electric rail service has been constructed by Mass Rapid Transit Authority of Thailand (MRTA) (MRTA) since 2012, before the Bangkok Metropolitan Administration (BMA) started taking care of the electricity and mechanical systems as well as the test run, which took place during October and November to ensure a smooth operation once it is officially opened to the public.
On its 13-kilometer track, the MRT Green Line Extension, which is the heavy rail transit system, is equipped with nine stations and expected to accommodate 50,000 passengers per hour per direction.
From December 6, 2018 to April 15, 2019, passengers will get a free ride on the new system, which will be operational from 6.00 a.m. to midnight. After the promotional/trial period, a minimum fare of 15 baht will be collected and the fare will go up by three baht per station but the BMA and Bangkok Mass Transit System Public Company (BTSC), the service operator, will work on the capping of the maximum fare under 65 baht.
In addition to the Park & Ride building, which is designed to accommodate up to 1,200 cars, all stations along the new system have been created with the Universal Design concept to ensure convenience for passengers of all ages and conditions.
Areas along the route, 283 real estate projects are expected to enjoy the windfall of the new system while prices of land and properties look likely to rise significantly from 2019.