แม้ว่าโครงข่ายรถไฟฟ้าจะทยอยก่อสร้าง พร้อมเปิดให้บริการ และมีเส้นทางที่ครอบคลุมพื้นที่มากขึ้น แต่ รถเมล์ ขสมก. ก็ยังมีความจำเป็นต่อการให้บริการประชาชนอยู่ ซึ่งจะต้องเร่งพัฒนาปรับปรุงการให้บริการและปรับเส้นทางการเดินรถให้เป็นฟีดเดอร์ ส่งต่อผู้โดยสารเข้าสู่ระบบขนส่งสาธารณะที่เป็นโครงข่ายหลักของเมือง เป็นการอำนวยความสะดวกและสนับสนุนให้ประชาชนหันมาเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะเพิ่มขึ้น
เพิ่มรถเมล์ NGV ใหม่ 189 คัน ในเดือน มี.ค.
หลังจากที่ได้นำรถโดยสารปรับอากาศใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ (NGV) วิ่งให้บริการประชาชนในปี 2561 ไปแล้ว 300 คัน ช่วงเดือนมีนาคม 2562 นี้ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) จะดำเนินการตรวจรับรถงวดที่ 4 ซึ่งเป็นงวดสุดท้าย จำนวน 189 คัน และจะนำรถวิ่งให้บริการประชาชนในเส้นทางเดินรถ สาย 23, 59, 60, 76, 102, 129, 140, 141, 142, 145, 168, 510, 511, 514 และสาย A2 ซึ่งจะทำให้คนกรุงเทพฯ ได้ใช้บริการรถเมล์ NGV มาตรฐานใหม่ ครบ 489 คันตามเป้าหมายที่ ขสมก. วางไว้
จัดหารถโดยสารใหม่เข้าระบบเพิ่มอีก
อย่างไรก็ตาม การจัดซื้อรถเมล์ NGV ใหม่นี้เป็นเพียงหนึ่งในแผนงานที่ ขสมก. จะต้องดำเนินการตามที่ระบุไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ซึ่งยังมีอีกหลายแผนงานที่จะต้องทำให้สำเร็จ ทั้งการปรับปรุงระบบการทำงานให้มีประสิทธิภาพ เพื่อยกระดับมาตรฐานคุณภาพการให้บริการ โดยใช้รถโดยสารใหม่ ปรับเส้นทางเดินรถใหม่ และนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาใช้งาน รวมถึงการปรับขนาดองค์กรและลดภาระค่าใช้จ่าย พร้อมหารายได้เพิ่มเพื่อแก้ปัญหาขาดทุนสะสมให้สามารถปลดจากสภาพการเป็นภาระของภาครัฐได้
ในส่วนของการจัดหารถโดยสารใหม่มาบริการให้เพียงพอต่อการรองรับประชาชนที่คาดว่าในปี 2565 จะมีผู้เดินทางด้วยรถโดยสารประจำทางประมาณ 6.70 ล้านคนนั้น คุณอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ภายในเดือนมกราคม 2562 กระทรวงคมนาคมจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขอทบทวนมติ ครม. จากเดิมที่เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2556 อนุมติให้ ขสมก. จัดหารถโดยสาร NGV จำนวน 3,183 คัน (แบ่งเป็นรถธรรมดา 1,659 คัน และรถปรับอากาศ 1,524 คัน) ในวงเงิน 13,162.2 ล้านบาท เป็นการจัดหารถโดยสารใหม่ รวมจำนวน 3,000 คัน วงเงินลงทุน 21,210.343 ล้านบาทแทน
โดยขณะนี้ ขสมก. ได้ดำเนินการจัดหารถใหม่แล้ว 489 คัน ในวงเงิน 1,891.452 ล้านบาท ซึ่งได้ทยอยรับมอบพร้อมนำออกมาวิ่งให้บริการแล้วบางส่วน และจะครบทั้งหมดภายในเดือน มี.ค. 2562
ส่วนแผนงานที่เหลือ ขสมก. จะดำเนินการปรับปรุงสภาพรถโดยสาร NGV (เดิม) จำนวน 323 คัน ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการได้ตั้งแต่เดือน มี.ค. 2562 แล้วเสร็จเดือน ม.ค. 2563, เช่ารถโดยสาร NGV จำนวน 300 คัน คาดว่าจะเริ่มกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างช่วงไตรมาส 2 และลงนามในสัญญาไตรมาส 3 ปี 2562 และจะทยอยรับรถได้ตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2562 ถึงเดือน ก.ค. 2563, เช่ารถโดยสารไฮบริด จำนวน 400 คัน คาดว่าจะเริ่มกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างช่วงไตรมาส 2 และลงนามในสัญญาไตรมาส 3 ปี 2562 และจะทยอยรับรถได้ตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2562 ถึงเดือน ส.ค. 2563, ซื้อรถโดยสารไฟฟ้า (EV) 35 คัน ระยะที่ 1 คาดว่าจะเริ่มกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างช่วงไตรมาส 3 และลงนามในสัญญาไตรมาส 4 ปี 2562 และจะรับรถได้เดือน ก.พ. 2563 และระยะที่ 2 คาดว่าจะเริ่มกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างช่วงไตรมาส 4 ปี 2562 และลงนามในสัญญาไตรมาส 3 ปี 2563 และจะรับรถได้เดือน พ.ย. 2563, ซื้อรถโดยสารไฮบริด จำนวน 700 คัน คาดว่าจะเริ่มกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างช่วงไตรมาส 2 ปี 2562 และลงนามในสัญญาไตรมาส 2 ปี 2563 และจะรับรถได้ช่วงเดือน ต.ค. 2563 – ต.ค. 2564 ซื้อรถโดยสารไฮบริด 753 คัน คาดว่าจะเริ่มกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างช่วงไตรมาส 2 ปี 2563 และลงนามในสัญญาไตรมาส 2 ปี 2564 และจะรับรถได้ช่วงเดือน ต.ค. 2564 – ต.ค. 2565
รอไฟเขียวเส้นทางเดินรถใหม่ลดซ้ำซ้อน
นอกเหนือจากจัดหารถโดยสารใหม่มาให้บริการ ยังมีอีกหนึ่งภารกิจสำคัญ คือ ขสมก. จำเป็นต้องปรับเส้นทางการเดินรถใหม่ ให้เข้ากับการขยายตัวของเมือง ที่ขยายจากย่านใจกลางเมืองสู่พื้นที่ชั้นนอกและปริมณฑล ทำให้เกิดพื้นที่พัฒนาใหม่ จึงต้องปรับการเดินรถให้สนองต่อความต้องการเดินทางของประชาชาชน อีกทั้งต้องปรับให้สอดรับกับโครงข่ายถนน และโครงข่ายรถไฟฟ้า ให้เชื่อมต่อกันได้สะดวก และไม่ทับซ้อนกับรถประเภทอื่น
สอดรับกับ มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อเดือน ก.ย. 2559 ระบุให้กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เป็นผู้กำกับดูแล ทั้งการกำหนดโครงข่ายเส้นทางใหม่ จัดสรรเส้นทางการเดินรถตามโครงข่ายใหม่ กำหนดเงื่อนไขขอรับใบอนุญาต การคัดเลือกผู้ประกอบการที่มีคุณภาพ เกณฑ์คนขับรถโดยสารสาธารณะ และการออกใบอนุญาตประกอบการขนส่งใหม่ โดยรถเอกชนร่วมบริการจะต้องขอใบอนุญาตกับ ขบ. แทน
ซึ่ง ขบ. ได้จัดทำแผนปฏิรูปรถโดยสารประจำทางใน เขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยแผนดังกล่าวจะเป็นการแยกผู้กำกับดูแล (Regulator) กับผู้ปฏิบัติ (Operator) ออกจากกันอย่างชัดเจน ทำให้ ขสมก. เป็นเพียงผู้ประกอบการเดินรถรายหนึ่งเท่านั้น และเพื่อให้เกิดการกำกับดูแลที่ดี เพิ่มการแข่งขันด้านการให้บริการเดินรถในกรุงเทพฯ และปริมณฑลอย่างเป็นธรรมและเป็นประโยชน์ต่อประชาชน จึงจะมีการเพิ่มเส้นทางเดินรถโดยสารจากปัจจุบัน 212 เส้นทาง เป็น 269 เส้นทาง และจะเพิ่มระยะทางขึ้นอีกประมาณ 20% จากเดิม 6,437 กม. เป็น 7,833 กม. ทั้งนี้ทาง ขสมก. จะให้บริการเพียง 137 เส้นทาง ขณะที่แต่ละเส้นทางเดิมจะมีการตัดลดระยะทางลง เฉลี่ย 3 กม. เพื่อให้เหมาะสม และมีประสิทธิภาพในการบริการมากขึ้น โดยในระหว่างนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของ ขบ.
เพิ่มเส้นทางวิ่งเชื่อมรถไฟฟ้า-รับนักท่องเที่ยว
นอกจากนั้น ขสมก. ยังมีแผนที่จะเพิ่มเส้นทางเดินรถเป็นเส้นทางวงกลมวิ่งในเมือง เพื่อเชื่อมต่อกับระบบราง ต่อเนื่องไปยังย่านธุรกิจ ห้างสรรพสินค้า แหล่งท่องเที่ยว โดยจะใช้รถโดยสารปรับอากาศวิ่งให้บริการ เพื่ออำนวยความสะดวก แก่ประชาชนที่เดินทางเชื่อมต่อกับระบบขนส่งสาธารณะ รวมถึงรองรับนักท่องเที่ยว ที่สมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (Pacific Asia Travel Association: Pata) ประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามาในประเทศไทยไว้ว่าในปี 2562 จะมีประมาณ 45.40 ล้านคน และปี 2563 จะมี 49.60 ล้านคน
โดย ขสมก. กำหนดแผนการเพิ่มเส้นทางเดินรถเส้นทางวงกลมไว้ 20 เส้นทาง แต่ใน เบื้องต้นจะเสนอต่อกรมการขนส่งทางบก ขอเปิดเดินรถก่อน 7 เส้นทาง ประกอบด้วย 1. เส้นทางวงกลม อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ-ศูนย์การค้าสยาม ระยะทาง 6 กม., 2. เส้นทางวงกลม ท่าน้ำสี่พระยา-ศูนย์การค้าสยาม 9.5 กม., 3. เส้นทางวงกลม คลองเตย-ศูนย์การค้าสยาม 10.5 กม., 4. เส้นทางวงกลม สถานีรถไฟฟ้า BTS วงเวียนใหญ่-บางรัก-เยาวราช 10.5 กม., 5. เส้นทางวงกลม ถนนตก-สีลม 14 กม., 6. เส้นทางวงกลม อนุสาวรีย์ชัย-พหลโยธิน-ดินแดง 12.5 กม. และ 7. เส้นทางวงกลม อู่หมอชิต 2-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ-ศูนย์การค้าสยาม 24.5 กม.
ขอทยอยขึ้นค่าโดยสารช่วยแก้ขาดทุนสะสม
อีกหนึ่งแนวทางการฟื้นฟู ขสมก. คือการล้างขาดทุนสะสมโดยการปรับอัตราค่าโดยสาร เนื่องจากการดำเนินงานที่ผ่านมา ขสมก. จัดเก็บค่าโดยสารตามอัตราที่คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางกำหนด ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำกว่าต้นทุนที่แท้จริง ส่งผลให้ ขสมก. มีผลประกอบการขาดทุนต่อเนื่องมาโดยตลอด แม้ที่ผ่านมาจะเคยมีมติให้ปรับขึ้นราคาค่าโดยสาร แต่ต้องชะลอไว้เพราะต้องการให้เป็นไปตามนโยบายของกระทรวงคมนาคมที่ไม่ต้องการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายด้านการเดินทางกับประชาชน อีกทั้งอัตราค่าโดยสารดังกล่าวยังต่ำกว่าอัตราค่าโดยสารของรถเอกชนร่วมบริการ ขสมก. จึงได้ประมาณการอัตราค่าโดยสารเพื่อทำให้สามารถเลี้ยงตัวเองได้ และจะไม่เป็นภาระของรัฐอีกต่อไป ซึ่งจากประมาณการทางการเงิน พบว่าหากได้ปรับอัตราค่าโดยสารรถปรับอากาศรุ่นใหม่แบบขั้นบันไดในอัตรา 16-24 บาท ในช่วงระหว่างปี 2562-2564 จะทำให้ผลการดำเนินงาน (EBITTDA) เป็นบวกได้ตั้งแต่ปี 2565
ดันแผนพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์เพิ่มรายได้
ขสมก. ยังมีแผนที่จะนำอู่จอดรถโดยสารที่ตั้งอยู่บนทำเลที่มีความเจริญสูง สามารถเข้าถึงได้ง่าย มาพัฒนาเพื่อเพิ่มรายได้ด้วย โดยได้ว่าจ้างสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศึกษาโครงการพัฒนาการใช้พื้นที่เชิงธุรกิจอู่บางเขน และอู่มีนบุรี เพื่อจะนำผลการศึกษาไปดำเนินการตามพระราชบัญญัติให้เอกชนร่วมทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 (พ.ศ.2559) โดยพบว่า พื้นที่อู่บางเขนเหมาะสมที่จะพัฒนาเป็นโครงการแบบผสม (Mixed Use) ระหว่างศูนย์การค้า และโรงแรมระดับบน ส่วนพื้นที่อู่มีนบุรี เหมาะสมที่จะพัฒนาเป็นโครงการตลาด ซึ่งคาดว่าจะมีผลตอบแทนจากค่าธรรมเนียมการใช้สิทธิ์ 361 ล้านบาท และ ค่าเช่ารวม 30 ปี 1,206 ล้านบาท
แต่เนื่องจากภารกิจการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ ไม่มีกำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ พ.ศ. 2519 ดังนั้น ขสมก. จะต้องแก้ไขเพิ่มเติมให้สามารถประกอบธุรกิจอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อ ขสมก. เสียก่อน จากนั้นจึงจะสามารถดำเนินการพัฒนาตามพื้นที่เชิงพาณิชย์ได้
ปรับโครงสร้างองค์กร-ปลดหนี้-ยกระดับบริการ
นอกจากนั้น ขสมก. ยังมีแผนพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารการเดินรถ เพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ และการปฏิบัติงาน โดยนำระบบเทคโนโลยีมาใช้งาน อาทิ นำระบบตรวจสอบและติดตามการปฏิบัติการเดินรถ (GPS), ติดตั้งกล้อง CCTV ทั้งภายใน-นอกตัวรถโดยสาร, เพิ่มช่องทางการชำระเงินด้วยระบบ QR Code, ติดตั้ง WIFI ในรถโดยสาร, จัดทำป้ายอัจฉริยะ รวมถึงติดตั้งและใช้งานระบบบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์บนรถโดยสาร (E-Ticket) รองรับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและเชื่อมต่อบัตรแมงมุม เป็นการอำนวยความสะดวกรวดเร็วในการใช้บริการรถเมล์ ขสมก. และเชื่อมต่อกับระบบขนส่งสาธารณะอื่นๆ
อีกทั้งยังมีโครงการเกษียณก่อนกำหนด ในช่วงระหว่างปี 2563-2565 รวม 5,051 คน โดยใช้วงเงินงบประมาณในการเกษียณอายุก่อนกำหนด (Early Retirement) 6,004 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายได้ประมาณ 30,004 ล้านบาท ส่วนพนักงานที่ยังอยู่ก็จะมีการปรับตำแหน่งงานให้เหมาะสม
ทั้งนี้ หาก ขสมก. ได้รับความเห็นชอบให้ดำเนินการได้ตามแผนการฟื้นฟูกิจการทั้งหมด จะเป็นผลดีอย่างมาก โดยหากสามารถจัดหารถใหม่ได้ตามแผน ทำให้ลดภาระค่าใช้จ่ายและค่าเหมาซ่อมรถลงได้มาก ซึ่งปัจจุบันมีรถโดยสารประจำการ จำนวน 2,645 คัน แบ่งเป็น รถใช้น้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิง 2,105 คัน และรถโดยสารใช้ก๊าซธรรมชาติ 540 คัน มีค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิง 160-172 ล้านบาท/เดือน และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอีก เนื่องจากรถมีอายุการใช้งานตั้งแต่ 16-26 ปี
ขณะเดียวกัน หากทำได้ตามกำหนดในแผนฟื้นฟู ขสมก. จะสามารถจัดเก็บค่าโดยสารด้วยระบบ E-Ticket ทั้งหมดได้ภายในปี 2563 และจะมีผลการดำเนินงานที่ไม่ขาดทุนตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นไป (ไม่รวมภาระดอกเบี้ยและหนี้สินเดิม) และภาระค่าใช้จ่ายเดินรถรวมจะต่ำกว่า 9,860.76 บาท/คัน/วัน ได้ในปี 2565 (ในปี 2560 มีค่าใช้จ่ายเดินรถรวมที่ 13,686.49 บาท/คัน/วัน) และภาระหนี้สินสะสมรวม ณ วันที่ 31 ส.ค. 2561 ที่ 112,273.089 ล้านบาทก็จะลดน้อยลงและหมดไปได้ในที่สุด
ขสมก. จะได้ก้าวสู่การเป็นผู้นำด้านการให้บริการรถโดยสารประจำทางได้อย่างเต็มตัว ที่สำคัญคุณภาพของตัวรถโดยสาร คุณภาพของการให้บริการจะได้สมราคาที่ประชาชนต้องควักจ่าย และจะนับเป็นการสร้างความสะดวกสบาย รวดเร็วและปลอดภัยในการใช้บริการรถเมล์ ขสมก. ให้เกิดเป็นจริงได้และคงอยู่ต่อไปอย่างยั่งยืน
__________
คุณอาคม เติมพิทยาไพสิฐ – รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
“การจัดหารถโดยสารปรับอากาศ เป็นส่วนหนึ่งของแผนฟื้นฟูกิจการ ขสมก. ที่ได้เสนอต่อคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ซึ่งประกอบด้วยการปรับปรุงคุณภาพการให้บริการ การจัดหารถใหม่ที่ทันสมัย ประหยัดพลังงาน โดยเริ่มจากจัดหารถโดยสารใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ 489 คัน นอกจากนี้ ขสมก. จะดำเนินการจัดหารถใหม่เพิ่มอีก 2,188 คัน เป็นรถที่ใช้พลังงานไฟฟ้า (EV) และพลังงานร่วมไฟฟ้ากับน้ำมัน (Hybrid) รวมถึงปรับบทบาทการเดินรถจากสายหลักไปสู่การเป็นรถ Feeder ให้กับระบบรถไฟฟ้า 10 เส้นทาง โดยจะเชื่อมต่อระหว่างระบบด้วยสถานีร่วม และเชื่อมต่อการเดินทางด้วยบัตรโดยสารใบเดียวไปได้ทุกระบบ ซึ่งอยู่บนหลักคิด “One Transport คมนาคมเป็นหนึ่งเดียวกัน เพื่อความสุขของคนไทยทุกคน” ซึ่งจะทำให้ประชาชนมีทางเลือกในการเดินทางที่สะดวก ประหยัด เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล เป็นการแก้ไขปัญหาการจราจรได้อย่างยั่งยืน”
[English]
BMTA on course to overhaul and improvement
Amidst the expansion of the electric rail operation, the Bangkok Mass Transit Authority (BMTA) is still working on the improvement of its service and route plans in order to help commuters better connect with other modes of transport.
One of the BMTA’s plans is the procurement of 189 new NGV buses in March, following the launch of 300 such vehicles in 2018. The introduction of NGV buses was parts of the organization’s rehabilitation process that has been aimed at addressing its accumulated losses.
Mr. Arkhom Termpittayapaisith, Minister of Transport, said that he would ask the cabinet to review its 2013 resolution to authorize the BMTA to procure 3,183 NGV buses under the budget of 13.16 billion baht and to agree with a revised number of 3,000 buses for 21.21 billion baht. He added that the BMTA would also perform maintenance on 323 existing buses, tentatively from March 2019 to January 2020, rent 300 NGV buses to join its fleet and 400 hybrid buses from December 2019 as well as 35 electric vehicles from February 2020. Moreover, the BMTA plans to purchase 1,453 hybrid buses later.
In addition, the BMTA will need to re-direct some of existing routes to cope with the expansion of the city, which involved more property development projects and would call for more transport services to cater to demand of commuters.
In terms of business operations, the BMTA will only be the operator while the regulatory role will go to the Department of Land Transport, as suggested in the Cabinet resolution in September 2017, so that competition among public transport operators in Bangkok and surrounding areas will be fairer.
Fare increase, adoption of new technologies and organizational restructuring have too been planned to solve the BMTA’s ongoing losses.