Wednesday, December 6, 2023
More

    สิงหามาแน่ส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสีแดงเข้ม-อ่อน มูลค่ากว่า 2.3 หมื่นล้าน พร้อมเปิดปี 65

    เพื่อเติมเต็มการเชื่อมต่อการเดินทางกับระบบรถไฟทางไกล และระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนให้สมบูรณ์ ให้ประชาชนสามารถเดินทางเข้า-ออกพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นในได้อย่างสะดวกมากขึ้น ครม. จึงอนุมัติให้ รฟท. ดำเนินการเร่งก่อสร้างส่วนต่อขยายของรถไฟชานเมืองสายสีแดงทางฝั่งทิศเหนือ และทิศตะวันตกของกรุงเทพมหานคร อีก 3 เส้นทาง ซึ่งจะพร้อมเปิดให้บริการในปี 2565 

    ขยายสายสีแดง รังสิต-มธ.ศูนย์รังสิต  
    จากที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เดินหน้าพัฒนาระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง ตามแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางราง ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล (M-Map) ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างช่วงบางซื่อ-รังสิต และเพื่อให้บรรลุเป้าประสงค์ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) และยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทย ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579)


    ล่าสุด คณะรัฐมนตรี (ครม.) จึงได้มีมติอนุมัติให้เร่งขยายระบบรถไฟสายสีแดงเพิ่ม 3 เส้นทาง มูลค่ารวม 23,417.61 ล้านบาท โดยทั้ง 3 โครงการนี้จะเป็นการปรับปรุงแนวเส้นทางรถไฟเดิมให้สามารถรองรับระบบรถไฟชานเมืองที่เป็นรถไฟฟ้าได้ พร้อมปรับปรุงสถานีในแนวเส้นทางให้ได้มาตรฐานเดียวกับสถานีรถไฟของโครงการรถไฟสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต

    โครงการแรก คือ ระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต – มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เป็นโครงการก่อสร้างทางรถไฟส่วนต่อขยายทางทิศเหนือจากโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ – รังสิต วงเงินลงทุน 6,570.40 ล้านบาท มีระยะทาง 8.84 กม. ตลอดเส้นทางมี 4 สถานี ได้แก่ สถานีคลองหนึ่ง, สถานีมหาวิทยาลัยกรุงเทพ, สถานีเชียงราก และสถานีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ซึ่งในเส้นทางนี้จะต้องมีการเวนคืนพื้นที่เพิ่มเติมประมาณ 14 ไร่ เพื่อนำที่มาสร้างสถานีทั้ง 4 แห่ง

    พร้อมกันนี้ ครม. ได้อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินบริเวณที่จะเวนคืน ในช่วงรังสิต – มธ. ศูนย์รังสิต ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอและให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้วดำเนินการต่อไปแล้ว โดยจะเป็นการกำหนดเขตที่ดินบริเวณที่จะเวนคืนในท้องที่ตำบลบ้านปทุม อำเภอสามโคก ตำบลบางพูด ตำบลสวนพริกไทย อำเภอเมืองปทุมธานี และตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี เพื่อสร้างทางเชื่อมระหว่างทางหลวงชนบท อย.5042 กับสถานีรถไฟ ทางรถไฟ และย่านสถานีรถไฟ ในพื้นที่ที่จำเป็นต้องใช้เพื่อก่อสร้างสถานีและถนนทางเข้าสถานี ซึ่งจะต้องมีการสำรวจจำนวนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่จะต้องเวนคืนต่อไป


    เพิ่มเส้นทางรถไฟสีแดงอ่อน 2 ช่วง  
    โครงการที่ 2 คือ ระบบรถไฟชานเมือง สายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน – ศาลายา ซึ่งเป็นโครงการก่อสร้างทางรถไฟส่วนต่อขยายทางทิศตะวันตกจากโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ – ตลิ่งชัน มีกรอบวงเงินลงทุน 10,202.18 ล้านบาท มีระยะทาง 14.8 กม. ตลอดเส้นทางมี 6 สถานี ได้แก่ สถานีสะพานพระราม 6, สถานีบางกรวย – กฟผ., สถานีบ้านฉิมพลี, สถานีกาญจนาภิเษก, สถานีธรรรมสพน์ และสถานีศาลายา

    และ โครงการที่ 3 คือ ระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน – ศิริราช โดยแนวเส้นทางจะเริ่มต้นบริเวณสถานีธนบุรี-ศิริราชวิ่งไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือไปสิ้นสุดที่สถานีตลาดน้ำตลิ่งชัน มีระยะทางรวม 5.7 กม. แบ่งเป็นทางรถไฟระดับพื้นดิน (At Grade) 4.3 กม. และยกระดับ (Elevated) 1.4 กม. วงเงินโครงการ 6,645.03 ล้านบาท ตลอดเส้นทางมี 3 สถานี ได้แก่ สถานีตลาดน้ำตลิ่งชัน (ระดับพื้น) สถานีจรัญสนิทวงศ์ (ยกระดับ) และสถานีธนบุรี-ศิริราช (ระดับพื้น) ซึ่งในส่วนของบริเวณสถานีจรัญสนิทวงศ์ ที่ยกระดับเพื่อแก้ไขปัญหาจุดตัดทางรถไฟกับถนนจรัญสนิทวงศ์

    รองรับรถไฟความเร็วสูงสุด 160 กม./ชม.
    สำหรับ 2 โครงการแรก จะเป็นการก่อสร้างทางรถไฟเลียบไปตามแนวเขตทางรถไฟทางไกลของ รฟท. ขณะที่เส้นทางต่อขยายช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช จะเป็นการก่อสร้างทางรถไฟใหม่ 2 ทาง ขนานไปกับทางรถไฟเดิม โดยจัดวางทางรถไฟใหม่อยู่ทางด้านเหนือของทางรถไฟเดิม

    โดยทั้ง 3 โครงการนี้จะเป็นระบบรถไฟฟ้าวิ่งบนรางขนาด 1 เมตร เดินรถด้วยระบบไฟฟ้าที่จ่ายเหนือหัว (OCS) แรงดันไฟฟ้า AC 25 กิโลโวลต์ รถไฟมีความเร็วสูงสุด 160 กม./ชม. มีระบบไฟฟ้าและเครื่องกล ประกอบด้วย ระบบอาณัติสัญญาณและควบคุมรถไฟ ระบบสื่อสาร ระบบเก็บค่าโดยสารอัตโนมัติ ระบบไฟฟ้ากำลัง ซึ่งตามแผนงานของแต่ละโครงการ กำหนดระยะเวลาดำเนินโครงการไว้ 5 ปี แต่กระทรวงคมนาคมยืนยันต่อ ครม. ว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ภายในปี 2565

    คาดเริ่มก่อสร้างในเดือนสิงหาฯ นี้

    ขั้นตอนต่อจากนี้ รฟท. จะดำเนินการเปิดประมูลก่อสร้าง โดยประกวดราคาแบบ e-Bidding ซึ่งจะสามารถออกประกาศทีโออาร์ ได้ในอีก 1-2 เดือน และคาดว่าจะได้ผู้รับเหมาและเริ่มก่อสร้างได้ในเดือน ส.ค. 2562 ใช้เวลาสร้าง 3 ปี เปิดให้บริการได้ภายในปี 2565 สำหรับงบประมาณในการดำเนินการก่อสร้างนั้นรัฐบาลจะรับภาระโดยให้สำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณประจำปี หรือทางกระทรวงการคลังจะดำเนินการจัดหาแหล่งเงินกู้ให้ตามความเหมาะสม


    เชื่อมโยงระบบขนส่งสาธารณะอื่น
    สำหรับระบบรถไฟทั้ง 3 โครงการนี้เมื่อสร้างเสร็จจะเชื่อมต่อกับระบบขนส่งอื่นๆ ได้ โดยจะมี สถานีตลิ่งชัน เชื่อมต่อกับสายสีส้ม, สถานีจรัญสนิทวงศ์ เชื่อมต่อกับสายสีน้ำเงินและสายสีส้มที่สถานีท่าพระ, และ สถานีศิริราช เชื่อมต่อกับสายสีส้มส่วนตะวันตก ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนสามารถเดินทางเข้าออกพื้นที่กรุงเทพมหานครชั้นในได้อย่างสะดวกมากยิ่งขึ้น

    นอกจากนั้น กระทรวงคมนาคมยังได้มอบหมายให้ รฟท. ประสานกับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) พิจารณาปรับชื่อสถานีรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงตลิ่งชัน – ศิริราช ให้ตรงกันเพื่อป้องกันความสับสนของประชาชน และให้ รฟท. ประสานงานกรมเจ้าท่า เพื่อร่วมกันพัฒนาท่าเรือบริเวณคลองบางกอกน้อย เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนสามารถเชื่อมต่อการเดินทางจากทางเรือไปทางรถไฟได้ด้วย

    ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรียังมอบหมายให้กระทรวงฯ โดย รฟท. พิจารณาการหารายได้เชิงพาณิชย์ของโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดงควบคู่กันไปด้วย

    ปี 64 เปิดบางซื่อ-รังสิต-ตลิ่งชัน
    สำหรับโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ – ตลิ่งชัน อยู่ระหว่างติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ และผลิตรถไฟฟ้า ซึ่งคาดว่ารถจะทยอยเข้ามาในช่วงเดือน พ.ค.-มิ.ย. 2563 จากนั้นจะทำการทดสอบระบบ (System Test) และคาดว่าตั้งแต่เดือน ส.ค. 63 จะทำการทดสอบการเดินรถเสมือนจริง (Trial Run) ได้

    โดย รถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม ช่วงบางซื่อ-รังสิต จะสามารถเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในช่วงเดือน ม.ค. 2564 พร้อมกับสถานีกลางบางซื่อ

    ทั้งนี้ นอกจากสถานีกลางบางซื่อจะเป็นศูนย์กลางระบบรางของไทยแล้ว ยังจะเป็นศูนย์เปลี่ยนถ่ายการเดินทาง ที่เชื่อมต่อกับการเดินทางรูปแบบอื่นๆ ได้อย่างสะดวก สบาย อีกทั้งยังเป็นการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์โดยรอบสถานีกลางบางซื่อ กลายเป็นย่านธุรกิจใหม่ และเป็นทำเลทองที่ใครๆ อยากเข้ามาลงทุน และเมื่อส่วนต่อขยายทั้ง 3 โครงการแล้วเสร็จก็จะยิ่งเพิ่มศักยภาพในการเดินทางของประชาชนได้ดีมากยิ่งขึ้น
    ____________________
    คุณอาคม เติมพิทยาไพสิฐ – รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
    “สายสีแดงส่วนต่อขยายตามแผนการดำเนินงานมีกรอบเวลาดำเนินการ 5 ปี แต่กระทรวงคมนาคมยืนยันว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ในปี 2565 ซึ่งเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะมาช่วยเติมเต็มโครงข่ายของสายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน ที่จะเปิดให้บริการภายในเดือน ม.ค. 2564 ได้เป็นอย่างดี ทำให้การเดินทางเชื่อมต่อในกลางกรุงเทพฯ กับชานเมืองทั้งด้านทิศเหนือ ไปยังพื้นที่ จ.ปทุมธานี และตะวันตกไปยัง จ.นครปฐม สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยจะมีสถานีกลางบางซื่อเป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทางด้านระบบรางทั้งหมด”