โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง-บางแค และช่วงบางซื่อ-ท่าพระ เป็นอีกหนึ่งโครงข่ายที่จะมาเติมเต็มให้กรุงเทพฯ เป็น มหานครแห่งระบบราง Seamless Mobility ที่เชื่อมการเดินทางอย่างไร้รอยต่อ ซึ่งจะทำให้เกิดการเชื่อมต่อโครงข่าย เชื่อมโยงอนาคต และความสุขในการเดินทาง ระหว่างฝั่งพระนครและฝั่งธนบุรี ให้สะดวกสบายมากยิ่งขึ้น
หัวลำโพง-บางแค เปิดใช้จริงกันยาฯ นี้
โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง-บางแค (หลักสอง) และช่วงบางซื่อ-ท่าพระ อยู่ในความรับผิดชอบของ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นส่วนต่อขยายของรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (รถไฟฟ้า MRT) มีระยะทางรวม 27 กม.
โดย รฟม. กำหนดแผนงานที่จะทดสอบระบบรวมแล้วเสร็จ ช่วงหัวลำโพง-บางแค (หลักสอง) ในเดือนมิถุนายน 2562 นี้ จากนั้นจะเปิดให้ประชาชนร่วมทดลองใช้เสมือนจริง (Trial Running) ในเดือนกรกฎาคม 2562 และจะเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ภายในเดือนกันยายน 2562 เป็นต้นไป
ขณะที่ส่วนต่อขยายช่วงเตาปูน-ท่าพระ กำหนดว่าจะเปิดให้ประชาชนร่วมทดลองใช้เสมือนจริง ในเดือนมกราคม 2563 และจะเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ภายในเดือนมีนาคม 2563 เป็นต้นไป
สถานีสวยสง่าโดดเด่น เชื่อมต่อการเดินทางสะดวก
รถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงินทั้ง 2 ช่วง นอกจากจะมีบทบาทสำคัญในการเชื่อมโยงการเดินทางระหว่างฝั่งพระนครและฝั่งธนบุรีแล้ว ยังมีสถานีที่เป็นจุดเชื่อมต่อกับโครงข่ายอื่นๆ ด้วย เช่น สถานีท่าพระ ซึ่งเป็น Interchange Station ของสายสีน้ำเงิน อันเป็นจุดเปลี่ยนถ่ายการเดินทางที่สำคัญในย่านธนบุรี โดยตั้งอยู่บริเวณสี่แยกท่าพระ จุดตัดผ่านระหว่างถนนเพชรเกษม ถนนจรัญสนิทวงศ์ และถนนรัชดาภิเษก สามารถเชื่อมต่อไปยังถนนราชพฤกษ์ได้ โดยตัวสถานีสร้างคร่อมอุโมงค์ทางลอดท่าพระ และสะพานข้ามแยก รวมไปถึง สถานีสามยอด จุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้, สถานีบางหว้า เชื่อมต่อกับบีทีเอส บางหว้า และสถานีบางขุนนนท์ เชื่อมต่อกับสายสีส้ม เป็นต้น
อีกทั้งมีไฮไลต์สำคัญคือ อุโมงค์ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยา เชื่อมระหว่างสถานีสนามไชยฝั่งพระนครไปสู่สถานีอิสรภาพฝั่งธนบุรี ความยาวทั้งสิ้น 1,254 เมตร มีจุดลึกสุดของอุโมงค์ที่จุดกึ่งกลางแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่ที่ประมาณ 31 เมตร ซึ่งเป็นจุดที่แม่น้ำเจ้าพระยาลึกที่สุดประมาณ 20 เมตร ยังมีสถานีที่โดดเด่นด้วยการออกแบบอย่างงดงามและทรงคุณค่า ซึ่งจะกลายเป็น แลนด์มาร์กใหม่ของกรุงเทพฯ จำนวน 4 สถานี ได้แก่ 1. สถานีสามยอด, 2. สถานีวัดมังกร, 3. สถานีสนามไชย และ 4. สถานีอิสรภาพ นอกจากนี้ ในแต่ละสถานียังมีสิ่งอำนวยความสะดวกที่สามารถรองรับการใช้บริการของผู้โดยสารได้ทุกกลุ่ม ทุกเพศ ทุกวัย
รถไฟฟ้าใหม่ทยอยมาเมษาฯ นี้ เสริมทัพสายสีน้ำเงิน
สำหรับรถไฟฟ้าขบวนใหม่ที่ทาง บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (BEM) สั่งซื้อจำนวน 35 ขบวน มีกำหนดว่า รถไฟฟ้าขบวนที่ 1 และ 2 จะเข้ามาถึงไทยภายในเดือนเมษายน จากนั้นจะทยอยเข้ามาจนถึงเดือนกันยายน ซึ่งจะมีรถรวม 16 ขบวน และล็อตสุดท้ายในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 จะมีรถเข้ามาเพิ่มอีก 19 ขบวน จนครบทั้งหมด 35 ขบวน
ทั้งนี้ เมื่อรวมกับรถเดิมที่ให้บริการอยู่จำนวน 19 ขบวน จะมีรถไฟฟ้าทั้งหมด 54 ขบวน สำหรับให้บริการในสายสีน้ำเงินตลอดทั้งโครงข่าย
พร้อมทดสอบระบบ-ตัวรถ รับการเปิดเดินรถ
ส่วนขั้นตอนการเตรียมความพร้อมในการทดสอบระบบ ก่อนเปิดให้บริการจริงนั้น คุณวิทยา พันธุ์มงคล ผู้อำนวยการโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค และช่วงบางซื่อ-ท่าพระ กล่าวว่าเมื่อขบวนรถไฟฟ้ามาถึงจะทำการตรวจเช็คความเรียบร้อยของตัวรถ จากนั้นจะเคลื่อนย้ายมาไว้ที่ศูนย์ซ่อมบำรุงพระราม 9 และจะเริ่มทำการทดสอบวิ่งระบบหรือ Dynamic Test บนรางทดสอบ โดยใช้เวลาประมาณเดือนครึ่ง จึงจะนำขบวนรถไปทดสอบวิ่งบนพื้นที่จริง คือวิ่งบนราง โดยจะตรวจสอบระบบทั้งหมดไปพร้อมกัน ไม่ว่าจะเป็น ระบบขบวนรถไฟฟ้า, ระบบอาณัติสัญญาณและควบคุมการเดินรถไฟฟ้า, ระบบสื่อสาร, ระบบไฟฟ้ากำลัง, ระบบเก็บค่าโดยสาร, อุปกรณ์ซ่อมบำรุงภายในและภายนอกศูนย์ซ่อมบำรุง และระบบประตูชานชาลาอัตโนมัติ
สำหรับในการเปิดให้ประชาชนร่วมทดลองใช้นั้น คาดว่าจะเป็นลักษณะเดียวกับที่เปิดให้ทดลองใช้สายสีม่วงที่มีการกำหนดช่วงเวลาให้เข้าร่วมทดลอง เนื่องจากยังต้องมีการทดสอบระบบไปพร้อมกับการทดสอบการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย รวมถึงต้องมีการซ้อมเผชิญเหตุฉุกเฉินกรณีต่างๆ ด้วย โดยทั้งหมดนี้จะสามารถดำเนินการได้ตามแผนที่กำหนดไว้ และเมื่อถึงเวลาเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ ระบบการเดินรถและรถไฟฟ้าจะมีความพร้อมในการให้บริการ โดยจะสามารถให้บริการจากสถานีบางซื่อ-สถานีหลักสอง ในเวลาประมาณ 1 ชั่วโมง และจะมีรถไฟฟ้าทั้งใหม่และเก่าให้บริการอย่างพอเพียงต่อการเดินรถ
เร่งอบรมพนักงานให้พร้อมบริการ
ในขณะเดียวกัน ได้มีการอบรมผู้ที่จะเข้ามาเป็นพนักงานประจำตำแหน่งต่างๆ เพื่อให้พร้อมสำหรับการเปิดให้บริการส่วนต่อขยายทั้ง 2 ช่วงนี้ด้วย ซึ่งตามแผนจะมีพนักงานให้บริการในส่วนต่อขยายทั้ง 2 ช่วง จำนวน 875 คน ขณะนี้ได้ทำการฝึกอบรมแล้วกว่า 500 คน นอกจากนั้นจะมีการอบรมพนักงานขับรถไฟฟ้าเพิ่มเติมด้วย โดยพนักงานขับรถไฟฟ้าที่มีอยู่ขณะนี้จะต้องไปอบรมการขับรถไฟฟ้ารุ่นใหม่ ขณะที่พนักงานขับรถไฟฟ้าที่รับเพิ่มก็ต้องอบรมการขับรถไฟฟ้ารุ่นเก่าเช่นเดียวกัน เพื่อให้พนักงานขับรถไฟฟ้าเรียนรู้ทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ ให้พร้อมสำหรับให้บริการผู้โดยสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ และปลอดภัย
ดันผู้โดยสารเพิ่ม 2 แสนคน/วัน
ทาง รฟม. ประเมินว่า เมื่อเปิดเดินรถเชิงพาณิชย์ช่วงหัวลำโพง-บางแค (หลักสอง) จะมีผู้โดยสารประมาณ 200,000 คน/วัน ส่วนสายสีน้ำเงินช่วงหัวลำโพง-เตาปูน จะมีผู้โดยสารเพิ่มจาก 300,000 คนเป็น 400,000 คน/วัน และทั้งโครงข่ายสายสายสีน้ำเงินจะมีผู้โดยสารรวม 600,000 แสนคน/วัน ส่วนช่วงเตาปูน-ท่าพระ เมื่อเปิดเดินรถในเดือนมีนาคม 2563 แล้วคาดว่าผู้โดยสารทั้งระบบจะเพิ่มเป็น 700,000 คน/วัน ขณะเดียวกันจะช่วยเพิ่มจำนวนผู้โดยสารสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-คลองบางไผ่ เป็น 100,000 คน/วัน
ค่าโดยสารสูงสุด 42 บาท
สำหรับอัตราค่าโดยสารในส่วนต่อขยายนี้ รฟม. ยืนยันว่าจะใช้โครงสร้างค่าโดยสารเดิมของสายสีน้ำเงิน คือ 16-42 บาท ซึ่งเก็บราคาสูงสุดที่ 12 สถานีอยู่แล้ว หากนั่งเกินจาก 12 สถานีก็จ่ายที่ 42 บาท โดยมีจำนวนสถานีในเส้นทางสายสีน้ำเงินทั้งหมด 38 สถานี ส่วนการใช้สายสีม่วงต่อกับสายสีน้ำเงิน ยังคงงดเก็บค่าแรกเข้า และสูงสุดจากสถานีคลองบางไผ่-หัวลำโพง ไม่เกิน 70 บาท
ทั้งนี้ เมื่อโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ทั้ง 2 ช่วงเปิดให้บริการเต็มรูปแบบ จะกลายเป็นวงแหวนขนาดใหญ่ หรือ Circle Line เชื่อมต่อการเดินทางได้ทุกมุมเมือง จะทำให้การเดินทางในกรุงเทพฯ สะดวกสบายมากยิ่งขึ้น ช่วยลดความแออัดสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสสยามและสุขุมวิทได้เป็นอย่างดี และจะช่วยลดปัญหาการจราจรที่ติดขัดได้ เพราะเมื่อโครงข่ายสมบูรณ์จะสามารถลดปริมาณรถยนต์ที่วิ่งจากชานเมืองเข้ามาในเขตเมือง อีกทั้งยังช่วยลดการใช้พลังงานน้ำมันจากการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล รวมถึงช่วยปรับปรุงคุณภาพสิ่งแวดล้อมในบริเวณพื้นที่ตามแนวสายทางและพื้นที่ข้างเคียง โดยช่วยลดปริมาณมลพิษในอากาศและเสียงจากการจราจรบนถนน สำคัญที่สุดคือคุณภาพชีวิตของประชาชนที่จะดีขึ้นด้วย
____________________
คุณวิทยา พันธุ์มงคล – ผอ.โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค และช่วงบางซื่อ-ท่าพระ
“รฟม. อยู่ระหว่างการดำเนินการตามขั้นตอนเตรียมการเปิดให้บริการส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงิน โดยจะเปิดให้บริการช่วงหัวลำโพง-บางแค ก่อน โดยมีขั้นตอนในการทำงานเหมือนสายก่อนๆ ที่ผ่านมา ซึ่งมีมาตรฐานในการกำกับการทำงานก่อนที่จะเปิดให้บริการ ว่าจะต้องตรวจสอบอะไรบ้าง สิ่งสำคัญที่จะต้องคำนึงถึงคือความปลอดภัยในการให้บริการ โดยขณะนี้แผนงานคืบหน้าตามที่กำหนด และคาดว่าจะดำเนินการเสร็จเร็วกว่าแผนที่กำหนดไว้ ซึ่งจะต้องทดสอบระบบการเดินรถให้แล้วเสร็จภายในกันยายนนี้ รฟม. มีความพร้อมอย่างมาก ส่วนเรื่องของการคืนพื้นที่ทางเท้าในแต่ละสถานี จะทยอยดำเนินการจนกว่าจะครบทั้งหมด เพื่ออำนวยความสะดวกต่อประชาชน”
[English]
The MRT Blue Line Extension Ready for Operations in September
he Blue Line extensions linking Hua Lamphong with Bang Khae and Tao Poon with Tha Phra, which altogether run a distance of 27 kilometers, are promised to be ready for use this year and early next year respectively.
The Mass Rapid Transit Authority of Thailand (MRTA), which is in charge, scheduled a system integration test for the Hua Lamphong-Bang Khae route in June before its free of charge trial run starts in July and the full operation begins by September, 2019.
For the Tao Poon-Tha Phra route, MRTA plans to invite the public to the trial run in January 2020 before the commercial operation kicks off by March, 2020.
While both extensions are set to play a crucial role in connecting both sides of the Chao Phraya River, four underground stations along them have been designed to be Bangkok’s new landmarks. Commuters will also be able to conveniently switch to other lines around Bangkok and also BTS services at some interchange stations.
Another highlight of these projects is the one-kilometer underwater tunnels beneath the Chao Phraya River, which are the first mass transit tunnels in Thailand.
MRTA expects the number of commuters on the Blue Line to rise 600,000 each day after the former first phase becomes operational this year before rising to 700,000 a day once the latter second phase is opened for commercial use in 2020.
In order to cope with the expected rise in the number of commuters, Bangkok Expressway and Metro (BEM) has already ordered 35 new trains, boosting the total number of trains for the whole Blue Line up to 54.