Tuesday, May 23, 2023
More

    ผ่าแผนแม่บทแก้วิกฤตจราจรกรุงเทพฯ เชื่อมต่อระบบล้อ-ราง-เรือ

    กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่ด้วยจำนวนประชากรที่แออัด การใช้รถยนต์ส่วนบุคคลจำนวนมาก เนื่องจากระบบขนส่งสาธารณะยังขาดการเชื่อมต่อที่ดี ประกอบกับมีการก่อสร้างรถไฟฟ้าพร้อมกันหลายสาย ส่งผลให้การจราจรเกิดวิกฤตในเขต กทม. – ปริมณฑล เพื่อแก้ไขปัญหา สนข. จึงจัดทำแผนแม่บทเป็นกรอบกำหนดสู่การนำไปปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม

    ผ่าแผนแม่บทแก้วิกฤตจราจร 
    คณะอนุกรรมการประสานการแก้ไขปัญหาการจราจรและขนส่งระยะเร่งด่วนในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ได้มีมติเห็นชอบในหลักการของร่างแผนแม่บทการแก้ไขปัญหาการจราจรในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ตามที่ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เสนอโดยได้พิจารณาจากปัญหาปัจจุบัน แล้วกำหนดเส้นทางที่มีสภาพการจราจรวิกฤต กำหนดแนวคิดในการแก้ไขปัญหา (ดูอินโฟกราฟิกประกอบ 1) เพื่อให้เกิดผลในการแก้ไขปัญหาเป็นรูปธรรม โดยแบ่งเป็นแผนเร่งด่วน ปี 2562-2566 และแผนระยะกลาง/ระยะยาว ปี 2567-2572



    จัดโครงการแก้รถติดสาหัสใน 12 เส้นทาง
    ในแผนแม่บทสรุปว่า เส้นทางที่มีวิกฤตจราจร มี 9 เส้นทาง และ 3 เส้นทางที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างรถไฟ้า(ดูอินโฟกราฟิกประกอบ 2) ซึ่งแผนงานสำคัญที่จะดำเนินการ คือแก้ไขปัญหาในแนวถนนวงแหวนรัชดา ให้สามารถเดินรถได้อย่างสะดวก (Free Flow) ด้วยการเพิ่มผิวถนนในจุดที่จำเป็น ซึ่งได้ทำการแก้ไขไปแล้ว 18 แห่ง ขณะนี้อยู่ระหว่างก่อสร้าง 3 แห่ง ส่วนทางแยกที่มีแผนงานก่อสร้าง/หรือโครงการในอนาคต มี 3 แห่ง ขณะที่ทางแยกที่ยังไม่มีแผนงานก่อสร้าง/หรือโครงการ 4 แห่ง

    ขยายถนน-ทางด่วนเพิ่มความจุ
    นอกจากนั้นยังมีแผนเพิ่มความจุถนน โดยการก่อสร้างทางพิเศษพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกฯ ด้านตะวันตก โดยการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.), โครงการสร้างถนนยกระดับกาญจนาภิเษก (วงแหวนรอบนอกฯ รอบที่ 2) กับทำทางต่างระดับบางขุนเทียน-เอกชัย ทางหลวงหมายเลข 35 ถนนยกระดับกาญจนาภิเษก (วงแหวนรอบนอกฯ รอบที่ 2) โดยกรมทางหลวง (ทล.), โครงการขยายถนนกัลปพฤกษ์ของ กทม., โครงการสร้างสะพานราชวงศ์-ท่าดินแดง และแยกสุรวงศ์

    อีกทั้งยังมีแผนต่อขยายทางยกระดับบรมราชชนนี บรรจบทางหลวงหมายเลข 4 บน ทล.338, เพิ่มทางลงคู่ขนานลอยฟ้าบรมราช-ชนนีเข้าถนนราชพฤกษ์, เชื่อมต่อถนนพรานนก-พุทธมณฑลสาย 4 กับสะพานพระราม 8, ต่อขยายสะพานอรุณอัมรินทร์ พร้อมทางขึ้น-ลง และทางยกระดับข้ามแยกศิริราช, ถนนพรานนก-พุทธมณฑลสาย 4 (ช่วงวงแหวนรอกนอก-พุทธมณฑลสาย และ สะพานเกียกกาย


    ตัดถนนใหม่เชื่อมสายสีน้ำเงิน
    รวมถึงมีแผนจัดเส้นทางรถเมล์ เป็น Feeder เชื่อมต่อรถไฟฟ้า และสร้างถนนเพิ่ม Access Road ในพื้นที่ใกล้รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่พักอาศัยที่ถูกกั้นด้วยคลองภาษีเจริญเข้าสู่รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินได้ง่าย โดยจะตัดถนนใหม่และสะพานข้ามคลอง มีถนนต่อเชื่อมถนนเพชรเกษม 35-ถนนเทอดไท 76 และถนนต่อเชื่อมถนนเพชรเกษม 35-ถนนเทอดไท 59/3

    เสนอทำพื้นที่จอดแล้วจรเพิ่ม
    ยังมีแผนการส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ โดยเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น การจัดพื้นที่จอดแล้วจร (Park&Ride) ซึ่งอยู่ระหว่างก่อสร้าง 6 แห่ง รองรับรถยนต์ได้รวม 9,955 คัน และที่มีอยู่ในแผนแต่ยังไม่ได้ก่อสร้าง 2 แห่ง รองรับรถยนต์ได้ 3,400 คัน และที่เสนอแนะเพิ่ม 10 แห่ง รองรถยนต์ได้ 7,250 คัน   (ดูอินโฟกราฟิกประกอบ 3)


    เล็งขยายเรือโดยสารเพิ่ม 7 คลอง
    ขณะเดียวกัน สนข. ได้ศึกษาเบื้องต้นกรณีการเดินเรือโดยสารในคลอง 12 สาย เพื่อเชื่อมต่อระบบล้อ-ราง-เรือ และได้เสนอแนะให้มีการเพิ่มเส้นทางเดินเรือใน 7 คลอง ประกอบด้วย
    1. คลองมหาสวัสดิ์ มีจุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีแดงได้ 4 จุด ได้แก่ สถานีบ้านฉิมพลี สถานีกาญจนาภิเษก สถานีศาลาธรรมสพน์ และสถานีศาลายา
    2. คลองบางกอกน้อย มีจุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้าได้ 3 จุด ได้แก่ สถานีรถไฟฟ้าบางบำหรุ, สถานีบางขุนนนท์ และสถานีศิริราช
    3. คลองเปรมประชากร มีจุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้าได้ 7 จุด สถานีรังสิต สถานีดอนเมือง สถานีหลักสี่ สถานีบางเขน สถานีวัดเสมียนนารี สถานีจตุจักร สถานีเตาปูน/บางซื่อ
    4. คลองลาดพร้าว มีจุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้า 5 จุด เชื่อมกับรถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่สถานีคูคต, สถานีสะพานใหม่ และสถานีบางบัว เชื่อมกับสายสีชมพู ที่สถานีราชภัฏพระนคร เชื่อมกับสายสีเหลือง ที่สถานีโชคชัยสี่
    5. คลองรังสิตประยูรศักดิ์ เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีแดง ที่บริเวณฟิวเจอร์พาร์ครังสิต
    6. คลองประเวศบุรีรมย์ (คลองพระโขนงและคลองประเวศบุรีรมย์) เชื่อมต่อรถไฟฟ้า ที่สถานีรถไฟฟ้าพระโขนง, สถานีศรีนุช สถานีรถไฟฟ้าลาดกระบัง
    7. คลองบางลำพู มีจุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีม่วงที่สถานีรถไฟฟ้าบางขุนพรหม

    เร่งศึกษาทำที่จอดรถใต้เกาะรัตนโกสินทร์
    นอกจากนั้น สำนักการโยธา กทม. ยังมีแผนจะจัดทำที่จอดรถใต้ดินบริเวณถนนราชดำเนิน ซึ่งขณะนี้ได้รับการจัดสรรงบประมาณในการศึกษาจัดทำที่จอดรถใต้ดินแล้ว โดย กทม. จะปรับขอบเขตการศึกษาจากเดิมโดยจะต้องออกแบบที่จอดรถใต้ดินบริเวณถนนราชดำเนิน เป็นดำเนินการออกแบบที่จอดรถใต้ดินบริเวณพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ ใช้เวลาในการศึกษา 6 เดือน


    เล็งสร้าง 3 สะพานข้ามคลอง แก้รถติด
    ขณะที่ กรมทางหลวง (ทล.) เสนอแผนแก้ไขปัญหาจราจรติดขัด บนถนน ทล.305 รังสิต-นครนายก ช่วงรังสิต-คลอง 10 ซึ่งเป็นเส้นทางหลักในการเดินทางสู่ จ.นครนายก ที่ปัจจุบันมีการจราจรหนาแน่น โดยจะทำโครงการก่อสร้างยกสะพานข้ามคลอง 2, คลอง 3 และคลอง 4 รวม 3 แห่ง

    โดยเป็นการทุบรื้อสะพานเดิม และทำการก่อสร้างสะพานที่มีความสูงช่องลอดของจุดกลับรถใต้สะพานมากสุดที่ระดับ 3.50 ม. ซึ่งรองรับการกลับรถทั้งสองทิศทาง ทั้งขาเข้าและขาออก มีขนาดความกว้างสะพาน 11.50-12.00 ม. รองรับการจราจรได้ทิศทางละ 3 ช่องจราจร พร้อมขอให้สนับสนุนการดำเนินโครงการก่อสร้างทางยกระดับหรือทางคู่ขนาน ทล.305 รังสิต-คลอง 10 เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัด ในพื้นที่ กทม.-ปทุมธานี-นครนายก ด้วย

    กทม. เร่งแก้รถติด ถ.แจ้งวัฒนะ 
    ขณะที่ กรุงเทพมหานคร มีแผนแก้ไขปัญหาการจราจรบนถนนแจ้งวัฒนะ ซึ่งปัจจุบันเกิดปัญหาการจราจรติดขัดต่อเนื่องในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะช่วงเวลาเร่งด่วนเช้าและเย็น เนื่องจากการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู

    โดย สนย. กทม. อยู่ระหว่างก่อสร้างถนนต่อเชื่อมศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 กับถนนกำแพงเพชร 6 (ถนนหมายเลข 8) วงเงิน 95 ล้านบาท คาดว่าจะแล้วเสร็จกลางปีนี้

    ส่วนโครงการก่อสร้างถนนเลียบคลองประปา-ถนนสรงประภา วงเงิน 110 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างการเวนคืนพื้นที่ คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปี 2562-2563, โครงการก่อสร้างถนนหมายเลข 10 ผ่านพื้นที่การประปาภูมิภาคเชื่อมต่อถนนประชาชื่น ซอย 14 (เลียบคลองประปา) วงเงิน 60 ล้านบาทคาดว่าจะดำเนินการในปีงบประมาณ 2564

    นอกจากนี้ยังมี โครงการก่อสร้างทางยกระดับฝั่งขาเข้าจากถนนแจ้งวัฒนะ เข้าสู่ซอยแจ้งวัฒนะ 5 และโครงการก่อสร้างทางยกระดับ จากศูนย์ราชการฯ ออกสู่ถนนแจ้งวัฒนะ

    หลังจากนี้ สนข. จะนำรายละเอียดเสนอต่อคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) เพื่อพิจารณานำเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป จากนั้นจะส่งมอบแผนแม่บทให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปเป็นกรอบในการปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการจราจร เพื่อให้เกิดผลต่อการแก้ไขปัญหาการจราจรอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืนต่อไป
    ____________________
    คุณชัยวัฒน์ ทองคำคูณ – ปลัดกระทรวงคมนาคม 
    “กระทรวงคมนาคม โดย สนข. ได้จัดทำแผนแม่บทการแก้ไขปัญหาการจราจรในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เสร็จเรียบร้อยแล้ว อะไรที่สามารถทำได้เลยก็สั่งการให้ลงมือทำทันที ส่วนที่ต้องใช้งบประมาณระหว่างนี้ได้มอบหมายให้แต่ละหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องไปจัดทำแผนรายละเอียด การประกวดราคา การก่อสร้าง การใช้งบประมาณ ซึ่งจะมีการนำรายละเอียดรายงานต่อ คณะกรรมการแก้ไขปัญหาการจราจรในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล นำเรียนท่านนายก และเสนอต่อที่ประชุม คจร. เพื่อพิจารณาและเสนอต่อไปยังคณะรัฐมนตรี เพื่อให้รับทราบถึงแผนแม่บททั้งหมด แล้วจะส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปปฏิบัติต่อไป”


    [English]
    Bangkok’s Traffic Crisis: Time for Better Transit Connectivity
    Bangkok’s continuous expansion has been complicated by dense population and very high use of personal vehicles due to the lack of seamless connectivity among various modes of public transportation and ongoing construction of several new electric rail routes.

    The Office of Traffic and Transport Policy and Planning (OTP) has proposed a master plan to tackle Bangkok traffic congestion, in which a number of roads are labeled as routes with traffic crisis and concrete solutions have been designed for both urgent (2019-2023) and mid- and long-term (2024-2029) implementation.

    According to OTP, 12 routes in Bangkok are currently in crisis and some of the proposed solutions are the widening of road surface and the construction of new expressways and elevated roads.

    Moreover, there are proposals on new “feeder” bus routes for electric trains and on the construction of more access roads near the Blue Line electric rail line as well as more “Park & Ride” facilities, which, if completed, will accommodate up to over 20,000 cars.

    In addition, the OTP has conducted a feasibility study to introduce new boat services along 12 canals to connect with bus, rail and other boat services.

    The Bangkok Metropolitan Administration (BMA) has also been working on the design of more underground parking spaces around the Rattanakosin island, the old quarter of Bangkok, — an expansion from the original plan to build such facilities only accessible from Ratchadamnoen Road, while constructing a new road to connect with the Government Complex in Laksi and planning on more roads a to ease traffic woes on Chaengwattana Road and adjacent areas.

    Lastly, the Department of Highways has proposed the construction of more bridges in Rangsit.