Wednesday, May 24, 2023
More

    กทม. เล็งเก็บค่าบำบัดน้ำเสีย ภายในปี 62 เช็กบิล บ้าน-คอนโดฯ-อพาร์ตเมนต์ 21 เขตทั่วกรุง

    ปัจจุบัน กรุงเทพฯ ประสบปัญหามลพิษทางน้ำอย่างหนัก เนื่องจากมีการปล่อยน้ำเสียลงสู่ทางระบายน้ำสาธารณะและไหลลงสู่แม่น้ำลำคลอง แม้จะมีระบบบำบัดน้ำเสียรวมเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว แต่การเดินระบบบำบัดน้ำเสียรวมจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก ดังนั้นเพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในการเดินระบบบำบัดน้ำเสียรวม กทม. จึงสมควรที่จะจัดเก็บค่าธรรมเนียมจากเจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารที่อยู่ในพื้นที่ที่มีการรวบรวมน้ำเสียไปบำบัด 

    ข้อบัญญัติเดิมปี 2547 ยังไม่โอเค 
    เดิมที กทม. มีข้อบัญญัติกรุงเทพ มหานคร เรื่อง การจัดเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสีย พ.ศ. 2547 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มิ.ย. 2547 แต่ไม่สามารถใช้ปฏิบัติได้จริง เนื่องจากไม่มีกฎหมายลูกมารองรับ


    และยังมีข้อติดขัดในหลายประเด็น เช่น การกำหนดอัตราค่าธรรมเนียม วิธีการเก็บที่มีความเห็นไม่ตรงกัน อีกทั้งยังมีประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับการเก็บค่าบำบัดน้ำเสีย

    แต่จากที่ปัจจุบัน กทม. มีโรงบำบัดน้ำเสียรวมขนาดใหญ่ 8 แห่ง ซึ่งบำบัดน้ำเสียได้ 45% จากการใช้น้ำประปา จำนวนกว่า 2.5 ล้าน ลบ.ม./วัน หรือสามารถบำบัดได้ 1.1 ล้าน ลบ.ม./วัน ในส่วนนี้ต้องใช้งบประมาณในการบริหารจัดการ ดูแลระบบโรงบำบัดน้ำเฉลี่ยปีละกว่า 600 ล้านบาท

    กทม. จึงทบทวนเรื่องการจัดเก็บค่าบำบัดน้ำเสียอีกครั้ง เพื่อที่จะนำรายได้มาใช้ในในการบริหารจัดการ และเดินระบบบำบัดน้ำเสีย รวมทั้งนำไปก่อสร้างโรงบำบัดน้ำเสียเพิ่มเติมเพื่อขยายพื้นที่รับน้ำเสียเข้าสู่ระบบบำบัดต่อไป


    แก้ไขข้อกำหนดให้ชัดเจนมากขึ้น
    ดังนั้น กทม. จึงเห็นควรให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมข้อบัญญัติ กทม. เรื่องการจัดเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสีย ให้มีความชัดเจน เหมาะสม และสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยสาระสำคัญในร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องการจัดเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสีย (ฉบับที่ …) พ.ศ. … ที่มีการปรับแก้ไข เป็นการกำหนดเงื่อนไขต่างๆ ให้ชัดเจน โดยได้แก้ไขอัตราค่าธรรมเนียมจากเดิมกำหนดให้คิดอัตราที่ต้องจ่ายค่าบำบัดน้ำเสียให้เท่ากับ หรือคิดเป็น 100% ตามปริมาณน้ำประปา หรือน้ำบาดาล หรือน้ำจากแหล่งอื่นที่ใช้ในแหล่งกำเนิดน้ำเน่าเสีย เป็น 80% ของปริมาณน้ำใช้ของแหล่งกำเนิดน้ำเสียนั้นๆ เพื่อให้เกิดความเหมาะสมในการจัดเก็บค่าธรรมเนียม

    พร้อมทั้งได้กำหนดแหล่งกำเนิดน้ำเสียไว้อย่างชัดเจน ซึ่งมี 3 ประเภท คือ ประเภทที่ 1 ได้แก่ บ้านเรือน ที่พักอาศัย รวมถึงอาคารซึ่งโดยปกติบุคคลใช้อยู่อาศัยได้ทั้งกลางวันและกลางคืน ไม่ว่าจะเป็นการอยู่อาศัยอย่างถาวรหรือชั่วคราว

    ประเภทที่ 2 คือ หน่วยงานของรัฐ หรืออาคารที่ทำการของเอกชนหรือองค์กรระหว่างประเทศ มูลนิธิ ศาสนสถาน สถานสาธารณกุศล โรงพยาบาลหรือสถานพยาบาล โรงเรียนหรือสถานศึกษา ประเภทอาคารชุด คอนโดมิเนียม อพาร์ตเมนต์ หอพัก รวมทั้งอาคารที่อยู่อาศัยรวม และสถานประกอบการที่มีการใช้น้ำเฉลี่ยย้อนหลัง 1 ปีก่อนการจัดเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสีย ไม่เกิน 2,000 ลบ.ม./เดือน หากเป็นกรณีที่ประกอบการไม่ถึง 1 ปี ให้ใช้ค่าเฉลี่ยตามระยะเวลาที่ประกอบการ รวมถึงสถานที่ที่ใช้ประโยชน์ในลักษณะคล้ายคลึงกันด้วย

    ส่วนประเภทที่ 3 ประกอบด้วย โรงแรม โรงงานตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน สถานประกอบการที่มีการใช้น้ำเฉลี่ยย้อนหลัง 1 ปีก่อนการจัดเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสีย เกินกว่า 2,000 ลบ.ม./เดือน หากเป็นกรณีที่ประกอบการไม่ถึง 1 ปี ให้ใช้ค่าเฉลี่ยตามระยะเวลาที่ประกอบการ

    โดยกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมที่จะจัดเก็บในพื้นที่ที่มีแหล่งกำเนิดน้ำเสียทั้ง 3 ประเภท ในอัตรา 2 บาท/ลบ.ม., 4 บาท/ลบ.ม. และ 8 บาท/ลบ.ม. ตามลำดับ


    พื้นที่เก็บค่าบำบัดน้ำเสียครอบคลุม 21 เขต 
    สำหรับพื้นที่ในการจัดเก็บค่าธรรมเนียม กำหนดจะจัดเก็บเฉพาะพื้นที่ที่มีโรงบำบัดน้ำเสียให้บริการ 8 แห่ง ครอบคลุม 21 เขต ได้แก่ พื้นที่เขตพระนคร ป้อมปราบศัตรูพ่าย สัมพันธวงศ์ บางรัก สาทร บางคอแหลม ยานนาวา ดินแดง ราชเทวี พญาไท ปทุมวัน บางซื่อ จตุจักร ห้วยขวาง หนองแขม บางแค ภาษีเจริญ ดุสิต ทุ่งครุ จอมทอง และราษฎร์บูรณะ ทั้งนี้เป็นไปตามเงื่อนไขที่ว่า กทม.จะจัดเก็บค่าธรรมเนียมสิ่งใดได้ จะต้องมีสิ่งที่ กทม. มีให้บริการในพื้นที่นั้นๆ

    ส่วนวิธีการเก็บ กทม. มีแนวคิดจะจัดเก็บในลักษณะเดียวกับการเก็บค่าน้ำประปา หรือค่าไฟฟ้า คือมีใบแจ้งหนี้ มีบิลค่าใช้จ่ายส่งออกไป แล้วให้ประชาชนมาชำระตามสถานที่กำหนด เช่น ธนาคาร เคาน์เตอร์เซอร์วิส หรือที่สำนักงานเขต


    เปิดรับฟังความเห็น เก็บค่าบำบัดน้ำเสีย
    โดยขณะนี้ สำนักการระบายน้ำ (สนน.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ต่อร่างแก้ไขข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การจัดเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสียของกรุงเทพ มหานคร บนเว็บไซต์ https://dds.bangkok.go.th โดยมีการแสดงข้อมูลรายละเอียด 4 ส่วน และมีลิงค์ให้เข้าไปแสดงความคิดเห็นผ่านระบบออนไลน์ มี QR Code ให้สแกน เพื่อร่วมแสดงความคิดเห็น หรือสามารถเดินทางไปแสดงความคิดเห็นด้วยตนเองได้ที่ สำนักการระบายน้ำ อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการ กทม. 2 ดินแดง


    คาดเริ่มเก็บจริงภายในปี 2562 
    ทั้งนี้ คาดว่าจะใช้เวลาในการดำเนินการตามขั้นตอนการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียประมาณ 1 เดือน จากนั้นจะสรุปผลและรายงานผลไปยังสภา กทม. เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป และจะนำเสนอผู้ว่าฯ กทม. และกระทรวงมหาดไทย (มท.) เพื่อให้พิจารณาและขอความเห็นชอบ ประกาศใช้อย่างเป็นทางการต่อไป โดยข้อบัญญัตินี้จะมีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 180 วัน นับถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป และคาดว่าภายในปี 2562 กทม. จะสามารถเริ่มจัดเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสียได้

    กรุงเทพมหานคร คาดว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสียประมาณปีละ 800-900 ล้านบาท ซึ่งนอกจากจะนำมาใช้ในการช่วยดูแลการเดินระบบแล้ว จะมีส่วนช่วยให้มีการก่อสร้างโรงบำบัดเพิ่มได้ด้วย โดยตามแผนแม่บทที่ได้ศึกษาไว้ว่าควรมีโรงบำบัดน้ำเสีย 27 แห่ง จึงจะครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ

    โดยน้ำเสียจากบ้านเรือน ชุมชน รวมถึงสถานประกอบการในพื้นที่บริการจะได้รับการบำบัดได้ตามมาตรฐานก่อนปล่อยลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ ซึ่งจะทำให้ประชาชนในพื้นที่บริการบำบัดน้ำเสียได้อาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี ส่งผลดีต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิต อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการแก้ปัญหาน้ำเสีย ช่วยฟื้นฟูแม่น้ำลำคลอง ให้ใสสะอาด และร่วมกันสร้างให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองแห่งสายน้ำที่น่าอยู่สืบต่อไป


    ____________________
    พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง – ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
    “ฝ่ายบริหาร และสภากรุงเทพมหานครได้พิจารณา และเห็นสมควรให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครว่าด้วยการจัดเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสีย ให้มีความชัดเจน เป็นธรรม และสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง เนื่องจากอัตราค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสียเดิมจะเป็นอัตราที่คิดตามจำนวนน้ำประปา หรือน้ำบาดาล หรือน้ำจากแหล่งอื่นที่ใช้ในแหล่งกำเนิดน้ำเสียร้อยละ 100 ซึ่งตามสภาพความเป็นจริงจำนวนน้ำเสียที่เกิดขึ้นจากการใช้น้ำมิใช่ร้อยละ 100 ดังนั้นเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการจัดเก็บค่าธรรมเนียมสมควรกำหนดค่าธรรมเนียมร้อยละ 80 ของปริมาณน้ำใช้ของแหล่งกำเนิดน้ำเสียนั้นๆ และแบ่งประเภทแหล่งกำเนิดน้ำเสียที่เจ้าของหรือผู้ครอบครองมีหน้าที่ต้องชำระค่าธรรมเนียมให้ชัดเจน นอกจากนั้นสมควรเพิ่มความคล่องตัวในการจัดเก็บ โดยกรุงเทพมหานครอาจมอบให้เอกชนจัดเก็บค่าธรรมเนียมแทนได้”


    [English]
    BMA to start collection of wastewater treatment fee in 2019
    Residents of Bangkok may soon need to pay the wastewater-treatment fee for the system set up throughout the city, which has been shored up by Bangkok Metropolitan Administration (BMA) for years.

    Initially, BMA has enacted its regulation to collect wastewater treatment fee, which came into force since June 1, 2004.  But, no action has been taken due to the absence of related organic laws and opposition from the public.

    According to BMA, the maintenance cost for the wastewater treatment at all eight plants across Bangkok stands at around 600 million baht a year.

    BMA has decided to work on the regulation, especially in the areas of different origins of wastewater to help set up the levels of fee to be collected.

    In order to pave the way to the fee implementation, the Department of Drainage and Sewerage of BMA has initiated the public hearing to collect opinions about the regulatory change through the Department’s website and office.  The public hearing process has been scheduled for one month before a report is submitted to the Governor of Bangkok and the Ministry of Interior for consideration and approval.  Without any delay, BMA expects the new regulation to be in effect and the fee collection to commence before the end of this year.

    BMA projected to earn between 800 million baht and 900 million baht each year from the wastewater treatment fee collection.  New fee income is hoped to also enable BMA to achieve its plan to set up 27 wastewater treatment plant throughout Bangkok.