Wednesday, December 7, 2022
More

    ไทยรั้งที่ 66 ศักยภาพการแข่งขันด้าน HR โลก พนักงานยุคใหม่ชี้เวลา-สถานที่ทำงานควรยืดหยุ่น

    ภาพรวมดัชนีศักยภาพการแข่งขันด้านทรัพยากรบุคคลของไทยในปีนี้มีทิศทางดีขึ้น หลังจากการขยับขึ้น 4 อันดับในเวทีโลก ขณะที่ในปี 2562 เทรนด์ทักษะผู้ประกอบการ ทักษะทางดิจิทัล และการทำงานแบบยืดหยุ่น กำลังมาแรง ที่อาจจะเขย่าตลาดงานสะเทือน

    ไทยมีดัชนีศักยภาพการแข่งขัน HR ดีขึ้น 
    ผลการจัดอันดับศักยภาพการแข่งขันด้านทรัพยากรบุคคลของโลก (Global Talent Competitiveness Index) โดย อเด็คโก้ ร่วมกับ Tata Communications และ INSEAD พบว่า ในปีนี้ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ยังคงครองแชมป์ประเทศที่มีศักยภาพการแข่งขันด้านทรัพยากรบุคคลของโลก ด้วยคะแนน 81.82 คะแนน ตามมาด้วยอันดับ 2 สิงคโปร์ มี 77.27 คะแนน และอันดับ 3 สหรัฐอเมริกา ได้ 76.64  คะแนน โดยเป็นอันดับเช่นเดียวกับปีก่อน



    สำหรับ ไทย ได้รับ 38.62 คะแนน อยู่ในอันดับที่ 66 ขยับขึ้นจากเดิมอันดับที่ 70 โดยครองอันดับ 4 ในภูมิภาคอาเซียน โดยเมื่อเจาะลึกด้วยการพิจารณาปัจจัยที่ส่งผลต่อศักยภาพการแข่งขันทั้ง 6 ด้าน พบว่าปัจจัยด้านความรู้ความสามารถในระดับสากล (Global Knowledge Skills), ทักษะวิชาชีพ (Vocational & Technical Skills) และ ปัจจัยส่งเสริมภายใน (Enable) มีค่าดัชนีสูงขึ้น ทำให้ไทยสามารถทำอันดับได้ดีขึ้น

    โดยในด้านความรู้ความสามารถในระดับสากล พบว่าอันดับพุ่งขึ้นอย่างก้าวกระโดด มาอยู่ในอันดับที่ 58 จากเดิมที่ 68 ด้วยความสามารถในการคิดค้นสินค้าและบริการใหม่ของคนไทย ซึ่งได้รับอานิสงส์จากการขยายตัวระเบียงเศรษฐกิจเขตภาคตะวันออก (EEC) ที่เพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการหน้าใหม่เข้ามาแข่งขันกันพัฒนาธุรกิจสินค้าและบริการใหม่ๆ โดยอ้างอิงจากข้อมูลที่ธุรกิจส่วนใหญ่ในพื้นที่เป็นธุรกิจ SMEs ถึง 98.10%

    ส่วน ทักษะสายวิชาชีพ ก็เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น ขยับขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 83 จากอันดับที่ 89 เนื่องจากมีแรงงานฝีมือที่ดีขึ้น โดยพบว่าคะแนนผลผลิตรายหัวเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งแรงงานทั้งในระดับอุดมศึกษาและมัธยมศึกษา/ปวช. ก็มีทักษะที่ตรงกับความต้องการของตลาดมากขึ้น

    นอกจากนี้ยังพบว่า ปัจจัยส่งเสริมภายใน เลื่อนขึ้นมาในอันดับที่ 47 จากเดิมอยู่ที่อันดับ 48 เนื่องจากการมีโอกาสในการทำธุรกิจที่มากขึ้น จึงเป็นปัจจัยส่งเสริมให้การจ้างงานมีคะแนนสูงขึ้นเช่นกัน อย่างไรก็ดีในปัจจัยด้านการดึงดูดคน (Attract), พัฒนาคน (Grow), การรักษาคน  (Retain) มีค่าดัชนีลดลงมาที่อันดับ 70, 72 และ 76 ตามลำดับ


    ทั้งนี้ ภาพรวมดัชนีศักยภาพการแข่งขันด้านทรัพยากรบุคคลของไทยในปีนี้เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดีว่าประเทศไทยมาถูกทาง เนื่องจากการพัฒนาคนคือกุญแจสำคัญในการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันด้านทรัพยากรบุคคลในยุคดิจิทัล

    ทักษะผู้ประกอบการ-ดิจิทัลเทรนด์มาแรงในปี 2562
    ขณะเดียวกัน คุณธิดารัตน์ กาญจนวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัทอเด็คโก้ประเทศไทย ได้เผยถึงเทรนด์การพัฒนาศักยภาพของพนักงานที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ ซึ่งอยู่ในยุคดิจิทัลว่า ทักษะความเป็นผู้ประกอบการ จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในยุคดิจิทัล โดยทักษะนี้ไม่ได้หมายถึงการลาออกมาแล้วสร้างธุรกิจใหม่ของตัวเอง แต่หมายถึงทักษะที่ผู้ประกอบการจำเป็นต้องมี โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือทักษะการคิดเชิงนวัตกรรม ในการคิดค้นสินค้าหรือบริการใหม่ๆ หรือยกระดับประสบการณ์การบริการให้กับลูกค้า ซึ่งประเทศที่ครองอันดับต้นๆ ของโลก เปิดรับผู้ที่มีทักษะนี้จำนวนมาก เพราะคือกำลังสำคัญที่จะพลิกโฉมองค์กรสู่ยุคดิจิทัล

    ประกอบกับปัจจุบันในโลกดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว หลายองค์กรประสบกับปัญหาการขาดบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในด้านดิจิทัล การสรรหาบุคลากรในด้านนี้แต่ละครั้งก็มักมีค่าใช้จ่ายที่สูงและใช้เวลานาน กว่าจะหาบุคลากรที่เหมาะสมได้ ดังนั้นเพื่อแก้ปัญหาในระยะยาว องค์กรควรหันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะความเป็นผู้ประกอบการ และทักษะทางดิจิทัลให้กับพนักงานในองค์กร เพราะนอกจากจะแก้ปัญหาการขาดบุคลากรได้แล้ว ยังสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายในการสรรหาได้อีกด้วย และเมื่อพนักงานมีศักยภาพมากขึ้น ก็จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันขององค์กร เรียกได้ว่าเป็น Win-Win  Situation ทั้งสำหรับองค์กรและพนักงาน

    เผยพนักงานยุคใหม่อยากทำงานแบบยืดหยุ่น
    ขณะที่โลกดิจิทัลและเทคโนโลยีใหม่ๆ กำลังเปลี่ยนการทำงาน คนวัยทำงานก็ต่างพยายามที่จะบาลานซ์ชีวิตส่วนตัวและการทำงาน ทั้งในสถานที่และในแบบที่ต้องการ จนเกิดเทรนด์ใหม่ที่เรียกว่าการทำงานแบบยืดหยุ่นขึ้น ทั้งในด้านเวลาทำงาน และสถานที่ทำงาน

    จากรายงานการสำรวจ Global Workspace Survey ซึ่งสำรวจกลุ่มนักธุรกิจใน 80 ประเทศทั่วโลก โดย IWG ผู้ให้บริการพื้นที่สำนักงานชั้นนำระดับโลก พบว่า คนทำงานในยุคปัจจุบันกว่า 83% มองว่าการทำงานที่ยืดหยุ่นถือเป็นบริบทใหม่ (New Normal) และเป็นปัจจัยสำคัญในการเลือกเข้าร่วมทำงานในองค์กรต่างๆ โดยคำนึงถึงปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมในการทำงาน ที่ให้ความยืดหยุ่นมากกว่าจำนวนวันหยุด อีกทั้งองค์กรที่ขาดนโยบายด้านความยืนหยุ่นในการทำงาน มีแนวโน้มจะเสียพนักงานที่มีความรู้ความสามารถสูงกว่าองค์กรที่มีความยืดหยุ่น ซึ่งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา องค์กรมากกว่า 85% ได้มีการปรับเพิ่มนโยบายในการทำงานที่ยืดหยุ่นมากขึ้น

    การทำงานที่ยืดหยุ่นดึงดูดคนมีความสามารถ
    ขณะเดียวกันจากผลสำรวจกว่า 71% ชี้ว่าการนำแนวคิดการทำงานที่ยืดหยุ่นมาใช้กับองค์กร สามารถช่วยดึงดูดและเฟ้นหาพนักงานที่มีความรู้ความสามารถ และตอบโจทย์ความต้องการขององค์กรได้ดี พร้อมทั้งช่วยรักษาพนักงานที่มีความสามารถขององค์กรไว้ได้ดีมากยิ่งขึ้น

    สอดคล้องกับมุมมองของพนักงานกว่า 32% ที่ระบุว่า แนวคิดดังกล่าวตอบโจทย์ความต้องการได้ดีกว่าการมอบหมายงานที่มีบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบที่สูงขึ้น โดย 70% ให้เหตุผลว่าสภาพแวดล้อมในการทำงาน ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจเปลี่ยนงาน และแนวคิดการทำงานที่ยืดหยุ่น มีส่วนช่วยให้องค์กรมีโอกาสในการพัฒนาประสิทธิภาพการทำงานของพนักงาน

    ส่วนในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจมีการผันผวนอยู่ขณะนี้ องค์กรต่างๆ กำลังให้ความสำคัญในด้านความคล่องตัวของการดำเนินธุรกิจ และการประหยัดต้นทุนค่าใช้จ่าย โดยในปี 2562 นี้ องค์กรกว่า 55% ยืนยันว่าต้องการความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจมากยิ่งขึ้น และมีแนวโน้มในการมองหาช่องทางการขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศ โดยราว 64% ระบุว่า การทำงานแบบยืดหยุ่น มีส่วนช่วยในการเพิ่มประสิทธิภาพ และย่นระยะเวลาในการขยายธุรกิจสู่ตลาดใหม่ในต่างประเทศได้ดียิ่งขึ้น อีกทั้ง 66% เลือกใช้แนวคิดการทำงานที่ยืดหยุ่น เพื่อรองรับความต้องการในการขยายธุรกิจ และ 65% เผยว่าต้องการลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการทำงาน โดยเลือกใช้พื้นที่สำนักงานที่มีความยืดหยุ่น และการบริการอย่างครบวงจร

    ขณะเดียวกัน คนทำงานยุคนี้ให้ความสำคัญกับความสมดุลระหว่างชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัว (Work-Life Balance) โดย 78% เห็นว่าแนวคิดการทำงานที่ยืดหยุ่น มีส่วนช่วยในการสร้างความสมดุลของ Work-Life Balance ได้ รวมถึงช่วยส่งเสริมสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดีขึ้น ในกลุ่มพนักงานที่ได้รับผลกระทบจากความเครียด มีปัญหาด้านสุขภาพจิต และพนักงานสูงอายุ เป็นต้น และไม่เพียงจะช่วยให้พนักงานมีความสุขในการทำงานและมีสุขภาพที่ดีขึ้นเท่านั้น เนื่องจากกว่า 85% ยังเห็นว่าเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานได้ดีที่สุด


    นอกจากนั้น ความยืดหยุ่นยังรวมถึงเรื่องเวลาการเดินทางมาทำงานด้วย เนื่องจากกว่า 40% มองว่าระยะเวลาในการเดินทางไปทำงานในแต่ละวัน ถือเป็นส่วนที่เลวร้ายที่สุดในการทำงาน และเชื่อว่าการเดินทางไปทำงานอาจเป็นเรื่องที่ล้าสมัยในอีก 10 ปีข้างหน้า หรือในปี 2573 โดย 22% ระบุว่าเดินทางไปทำงานสายเป็นประจำ จากการปัญหาการจราจรในช่วงเช้าที่ติดขัด จึงมองว่าควรปรับระเบียบเวลาในการเข้างานของพนักงาน โดยรวมเวลาที่ใช้ในการเดินทางเข้าไปกับเวลาการทำงาน ขณะเดียวกันกว่า 50% มองว่าพนักงานส่วนใหญ่ใช้เวลาทำงานนอกสถานที่มากกว่าอยู่ออฟฟิศถึง 3-4 วัน/สัปดาห์ หรือมากกว่านั้น

    ผลสำรวจในครั้งนี้ ทำให้เห็นได้ชัดว่าปัจจุบันการทำงานที่ยืดหยุ่นถือเป็นบริบทใหม่ที่องค์กรต่างๆ  มุ่งเน้นนำมาปรับใช้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ ความคล่องตัว และการเสาะหาทรัพยากรบุคคลที่มีความสามารถ อย่างไรก็ตามก็มีบางองค์กร ที่ไม่สามารถประยุกต์แนวคิดการทำงานที่ยืดหยุ่นได้ ดังเช่นองค์กรที่ดำเนินกิจการมายาวนาน ซึ่งเกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อวัฒนธรรมองค์กร และแนวทางการทำงานที่มีมาอย่างยาวนาน
    _____________________
    มร.ลาส์ วิททิก – รองประธานฝ่ายขายประจำภูมิภาคอาเซียน IWG  
    “ในปัจจุบันองค์กรต่างๆ ทั่วโลก จำเป็นต้องเพิ่มความคล่องตัวในการปรับตัวให้สอดคล้องรับกับความเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดขึ้น ซึ่งจากผลสำรวจแสดงให้เห็นถึงความจำเป็นของการพิจารณาเอาแนวคิดการทำงานแบบยืดหยุ่น เข้ามาประยุกต์ใช้ในองค์กร เพื่อให้เกิดประโยชน์ในด้านต่างๆ ขององค์กร ไม่ว่าจะเป็นประโยชน์เชิงกลยุทธ์และการเงิน การสร้างความได้เปรียบในการดึงดูดพนักงานที่เป็นคนรุ่มใหม่ให้มีความสนใจในองค์กรยิ่งขึ้น และการรักษาพนักงานที่มีความรู้ความสามารถได้”


    [English]
    Thailand’s Competitiveness on Path of Improvement
    The latest Global Talent Competitiveness Index jointly conducted by Adecco, Tata Communications and INSEAD shows Thailand’s ranking moved up to 66th from 70th.  Thailand was also ranked fourth in ASEAN. 

    The improvement in the country’s ranking has been supported by better global knowledge skills (to 58th from 68th) and vocational and technical skills (to 83rd from 89th), thanks partly to the government’s Eastern Economic Corridor (EEC) project, which has welcomed new-generation entrepreneurs with new products and services.

    Thailand’s higher ranking on the Global Talent Competitiveness Index report showed the country has been moving in the right direction to put more focus on personnel development to boost competitiveness in the digital age.

    Adecco added that entrepreneurial skills are going to be important in the digital age and such skills are not only about the ability to build a business but to be innovative in the introduction of new products and services as well as the elevation of service experience for customers.

    Adecco also suggested that all organizations should put more efforts into the skill development for their employees in order to address the issues of skill shortage and cost reduction as well as to boost their competitiveness.

    The Global Workspace Survey, which talked to businesspeople in 80 countries, found that over 83% of working population now view work flexibility, both in terms of hours and places, as a “new normal” and an important factor for their decision to join any organizations.

    Another issue that more people are putting an emphasis on is the work-life balance as 78% of the respondents believes work flexibility will respond well to this issue.