Wednesday, May 24, 2023
More

    คนกรุงอ่วม! ค่ารถโดยสารทยอยขึ้นทั้งระบบ มอเตอร์เวย์-โทลล์เวย์ จ่อคิวขยับราคาต่อ

    ปี 2562 นับได้ว่าเป็นปีขาขึ้นของอัตราค่าโดยสารโดยแท้ เพราะไม่เพียงแค่การปรับขึ้นราคารถโดยสารสาธารณะทั้งระบบเท่านั้น แต่ทั้งมอเตอร์เวย์ ดอนเมืองโทลล์เวย์ รถแท็กซี่ จ่อคิวเตรียมขยับราคาเรียกเงินจากกระเป๋าผู้บริโภคคนเมืองเพิ่มขึ้น

    ศาลปกครองไม่เบรคขึ้นค่าโดยสาร 
    จากกรณีที่ สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกรณีขึ้นค่าโดยสารนั้น ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งยกคำขอทุเลาการบังคับตามมติของคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง ที่อนุมัติให้ปรับอัตราค่าโดยสาร รถโดยสารสาธารณะในเขตกรุงเทพมหานครและจังหวัดที่มีเส้นทางต่อเนื่อง โดยศาลเห็นว่าเมื่อคำนึงถึงเหตุผลความจำเป็นของคณะกรรมการฯ ที่จะต้องมีมติดังกล่าว ก็เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินการบริการสาธารณะต่อไปได้ ไม่เดือดร้อนเกินสมควร และเพื่อการปรับปรุงการบริการสาธารณะที่ดีขึ้น ประกอบกับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซธรรมชาติก็ปรับราคาขึ้นลงอยู่ตลอดเวลา แต่ในภาพรวมแล้วมีการปรับขึ้นราคา จึงฟังได้ว่าการที่คณะกรรมการฯ มีมติดังกล่าวเป็นการออกคำสั่งที่ไม่น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย


    นอกจากนี้ หากศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามมติดังกล่าว ก็จะเป็นเหตุที่อาจทำให้ผู้ประกอบกิจการเดินรถโดยสารประจำทางสาธารณะหยุดกิจการ หรือลดจำนวนรถโดยสารลง หรือลดคุณภาพการให้บริการ เป็นเหตุให้ประชาชนผู้ใช้บริการรถโดยสารประจำทางสาธารณะต้องได้รับผลกระทบ และอาจเดือดร้อนไม่มีรถโดยสารให้บริการอย่างเพียงพอ หรือการบริการขาดคุณภาพในการบริหารจัดการที่ดี ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการบริหารงานของรัฐหรือแก่บริการสาธารณะด้วย

    แจงยิบเหตุจำเป็นขึ้นค่าโดยสาร 

    โดยข้อพิจารณาจากศาลปกครอง เป็นไปในทิศทางเดียวกับ คุณอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ชี้แจงถึงเหตุจำเป็นที่จะต้องพิจารณาอนุมัติให้ขึ้นค่าโดยสารทั้งระบบว่า การปรับอัตราค่าโดยสารรถโดยสารสาธารณะขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) รถร่วมบริการในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงรถตู้ รถสองแถว และรถโดยสาร บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) และร่วมบริการของ บขส. ตั้งแต่วันที่ 22 เม.ย. ที่ผ่านมานั้นเป็นไปตามมติคณะกรรมการฯ เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2561 ซึ่งได้มีการพิจารณาอย่างรอบด้าน ทั้งจากผลการศึกษาโครงสร้างต้นทุนการดำเนินการ ซึ่งมีทั้งค่าเชื้อเพลิง ค่าแรง ค่าซ่อมบำรุง รวมถึงแผนการปรับปรุงการให้บริการและการจัดหารถโดยสารใหม่

    อีกทั้งยังคำนึงถึงเรื่องต้นทุนเชื้อเพลิงที่ ปตท. จะปรับราคาขายก๊าซ NGV ลอยตัวตามมติ กบง. จากเดิมที่อุดหนุน 3 บาท/กก. หรือขายในราคา 16.01 บาท/กก. แต่หลังจากวันที่ 16 พ.ค. 2562 จะทยอยปรับขึ้นไตรมาสละ 1 บาท จนถึงอัตรา 19.01 บาท/กก. ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการรถร่วมฯ เอกชน มีต้นทุนค่าก๊าซ NGV เพิ่มขึ้น ดังนั้นการปรับค่าโดยสารที่สะท้อนต้นทุนในด้านค่าเชื้อเพลิง จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถปรับปรุงการบริการและจัดหารถใหม่ได้ ถือเป็นการยกระดับการให้บริการรถโดยสารไปในเวลาเดียวกัน


    ขสมก. แบ่งขึ้นค่ารถ 2 ระยะ 
    อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า ขสมก. ไม่ได้ปรับค่าโดยสารแพง เนื่องจากก่อนหน้านี้ในปี 2558 เคยมีมติคณะกรรมการฯ อนุมัติให้ปรับขึ้นค่าโดยสารมาแล้วครั้งหนึ่ง แต่ ขสมก. เก็บค่าโดยสารจริงในอัตราที่ต่ำกว่าเพดานที่อนุมติ และจากมติคณะ กรรมการฯ ครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2561 ที่อนุมัติให้ปรับขึ้นค่าโดยสาร ขสมก. ยังแบ่งการจัดเก็บค่าโดยสารเป็น 2 ระยะ

    โดยระยะแรก มีผลตั้งแต่ 22 เม.ย. ที่ผ่านมา ซึ่ง ขสมก. เก็บค่าโดยสารในอัตราสูงสุดเท่ากับที่เคยได้รับอนุมัติเมื่อปี 2558 และจะมีการปรับขึ้นอีกครั้งให้เต็มเพดานตามที่คณะกรรมการฯ อนุมัติ ในวันที่ 22 เม.ย. 2563 เพื่อเป็นการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน สำหรับผู้ที่มีบัตรสวัสดิ-

    การแห่งรัฐ ยังคงใช้บัตรแสดงสิทธิในการจ่ายค่าโดยสารรถเมล์ได้ แต่จำนวนเที่ยวอาจลดลง

    คุณประยูร ช่วยแก้ว รองผู้อำนวยการฝ่ายการเดินรถองค์การ และรักษาการผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) กล่าวว่า จากการปรับขึ้นค่าโดยสารรถเมล์ตั้งแต่ 22 เมษายนที่ผ่านมา ยังไม่ได้รับการร้องเรียนจากกรณีดังกล่าว และผู้ใช้บริการยังคงเท่าเดิมที่ 1.3 ล้านคน/วัน อย่างไรก็ตามยอมรับว่า ผู้โดยสารบางกลุ่มมองว่าการปรับค่าโดยสารรถโดยสารปรับอากาศใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ หรือ NGV ค่อนข้างแพงกว่ารถเมล์ปรับอากาศเดิมมาก บางช่วงปรับขึ้นถึง 10 บาท เพราะคณะกรรมการฯ ต้องการจูงใจให้ผู้ประกอบการลงทุนเปลี่ยนรถใหม่ เพื่อยกระดับบริการให้สอดรับกับที่ประชาชนต้องควักกระเป๋าจ่ายเงินเพิ่ม

    ทั้งนี้ จากการปรับราคาค่าโดยสารส่งผลให้ผู้โดยสารหันมาใช้ตั๋วโดยสารประเภทรายเดือนและรายสัปดาห์มากขึ้น จากเดิม ขสมก. มีรายได้จากการจำหน่ายตั๋วโดยสารล่วงหน้า 693,094 บาท/วัน หลังจากวันที่ 22 เม.ย. ที่ผ่านมามีรายได้เป็น 832,274 บาท/วัน เพิ่มขึ้น 139,180 บาท/วัน คิดเป็น 20% เนื่องจากตั๋วมีราคาที่ประหยัดกว่าและใช้ได้ไม่จำกัดจำนวนเที่ยว

    โดย ขสมก. มีแผนปรับขึ้นค่าโดยสาร ทั้งรายเดือนและรายสัปดาห์ ทั้งรถเมล์ธรรมดา และรถเมล์ปรับอากาศ โดยแบ่งเป็น 2 ระยะเช่นเดียวกัน ระยะแรกคือ 22 เม.ย. 2562 – 21 เม.ย. 2563 และระยะที่ 2 ตั้งแต่ 23 เม.ย. 2563 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอให้คณะกรรมการฯ พิจารณา


    รถตู้-รถสองแถวปรับขึ้นด้วย 
    นอกจากนั้นยังปรับค่าโดยสารรถตู้สาธารณะ และรถสองแถวด้วย โดยรถตู้โดยสาร ได้กำหนดอัตราค่าโดยสารขั้นต่ำเป็น 15 บาท และหากเดินทางระยะทางไม่เกิน 20 กม. แรก จะเพิ่มขึ้น กม. ละไม่เกิน 1.20 บาท หากเดินทาง 20 กม. ขึ้นไป จะปรับขึ้น กม. ละไม่เกิน 0.80 บาท และจะเก็บค่าทางด่วนในอัตรา 5-10 บาท ขณะที่รถสองแถว ปรับราคาจาก 7 บาท เป็น 8 บาท และสูงสุดไม่เกิน 11 บาท ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคม ได้สั่งการให้ กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) คอยตรวจสอบ หากเจอผู้ประกอบการที่ปรับค่าโดยสารเกินกว่าที่กำหนดให้ดำเนินการตามกฎหมาย

    บขส.-รถร่วม ขึ้นค่าตั๋วไม่เกิน 10%
    ส่วน บขส. ได้แจ้งปรับขึ้นค่าโดยสารรถโดยสารประจำทางหมวด 2 และหมวด 3 ของ บขส. และรถร่วมฯ ตามมติคณะกรรมการฯ เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2561 โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 22 เม.ย. 2562 เวลา 00.01 น. เป็นต้นไป ซึ่งจะปรับขึ้นไม่เกิน 10% แบ่งระยะทางเป็น 4 ช่วง เช่น ระยะทางไม่เกิน 40 กม. แรก เดิม 0.49 บาท/กม. ปรับเป็น 0.53 บาท/กม., ระยะทาง 40-100 กม. เดิม 0.44 บาท/กม. ปรับเป็น 0.48 บาท/กม., ระยะทาง 100-200 กม. เดิม 0.40 บาท/กม. ปรับเป็น 0.44 บาท/กม. และระยะทางเกิน 200 กม. เดิม 0.36 บาท/กม. ปรับเป็น 0.39 บาท/กม. อาทิ เส้นทางกรุงเทพฯ – ภูเก็ต รถวีไอพี เดิมค่าโดยสาร 913 บาท ปรับเป็น 991 บาท, กรุงเทพฯ – นครราชสีมา เดิม 191 บาท ปรับเป็น 209 บาท และ กรุงเทพฯ – ขอนแก่น เดิม 313 บาท ปรับเป็น 340 บาท เป็นต้น


    20 พฤษภาฯ นี้ เริ่มเก็บมอเตอร์เวย์ สาย 9 
    อีกทั้งล่าสุด คณะรัฐมนตรี  (ครม.) ยังได้มีมติเห็นชอบให้ กรมทางหลวง (ทล.) ดำเนินการจัดเก็บค่าธรรมเนียมค่าผ่านทางสำหรับทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) หมายเลข 9 สายถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร (ถนนกาญจนาภิเษก) ตอนพระประแดง-บางแค ช่วงพระประแดง (บางครุ) – ต่างระดับบางขุนเทียน เริ่มตั้งแต่วันที่ 20 พ.ค. นี้เป็นต้นไป สำหรับอัตราค่าธรรมเนียมผ่านทางแบ่งเป็น รถยนต์ 4 ล้อ 15 บาท รถบรรทุก 6 ล้อ 25 บาท และรถบรรทุกเกิน 6 ล้อขึ้นไป 35 บาท

    ขณะเดียวกัน กรมทางหลวง ยังอยู่ระหว่างการออกร่างประกาศกระทรวงคมนาคมฉบับใหม่ เรื่องการคิดค่าผ่านทางมอเตอร์เวย์ เพื่อปรับเปลี่ยนระบบการคิดค่าผ่านทางให้สามารถปรับเพิ่มค่าใช้บริการได้ทุก 5 ปี ซึ่งพิจารณาจากดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เช่นเดียวกับหลักเกณฑ์การปรับขึ้นค่ารถไฟฟ้าและทางด่วน โดยเบื้องต้นคาดว่าอัตราการปรับเพิ่มจะอยู่ที่ 5-10 บาท ตลอดสาย และบังคับใช้กับมอเตอร์เวย์สายใหม่ เช่น มอเตอร์เวย์ พัทยา-มาบตาพุด, มอเตอร์เวย์ บางปะอิน-นครราชสีมา, มอเตอร์เวย์ บางใหญ่-กาญจนบุรี และมอเตอร์เวย์ นครปฐม-ชะอำ เป็นต้น โดยขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอให้กระทรวงคมนาคมพิจารณา เพื่อเสนอต่อ ครม. ต่อไป

    22 ธันวาฯ 62 จ่ายโทลล์เวย์เพิ่ม 
    นอกจากนั้นจะเป็นคิวการปรับขึ้นค่าผ่านทางดอนเมืองโทลล์เวย์ ซึ่งเป็นไปตามข้อตกลงในสัญญาสัมปทานระหว่างกรมทางหลวงและบริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) ที่กำหนดให้ปรับค่าผ่านในอัตราคงที่ทุก 5 ปี โดยจะมีผลตั้งแต่ 22 ธ.ค. 2562 – ธ.ค. 2567

    โดยอัตราค่าผ่านทาง ช่วงดินแดง-ดอนเมือง รถ 4 ล้อ จะปรับจาก 70 บาท เป็น 80 บาท, รถมากกว่า 4 ล้อ จาก 100 บาท  ปรับเป็น 110 บาท ส่วนช่วงดอนเมือง-อนุสรณ์สถาน รถ 4 ล้อ ปรับจาก 30 บาท เป็น 35 บาท, รถมากกว่า 4 ล้อ ปรับจาก 40 บาท เป็น 45 บาท และตลอดเส้นทาง รถ 4 ล้อ จาก 100 บาทปรับ 115 บาท, รถมากกว่า 4 ล้อ จาก 140 บาท ปรับเป็น 155 บาท อีกทั้งจะมีการปรับราคาอีก 2 ครั้ง คือ วันที่ 22 ธ.ค. 2567 และใน 22 ธ.ค. 2572

    แท็กซี่รอต่อคิวปรับค่าโดยสาร
    ด้านกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาปรับขึ้นค่าโดยสารรถแท็กซี่ ซึ่งคาดว่าจะเลือกแนวทางที่คงราคาเริ่มต้นของการกดมิเตอร์ 35 บาทไว้ แล้วปรับเพิ่มในส่วนของค่าเสียเวลา กรณีที่รถติด เคลื่อนตัวไม่เกิน 6 กม./ชม. ส่วนการปรับอัตราค่าโดยสารพิเศษกรณีที่ผู้โดยสารมีสัมภาระจำนวนมาก ตามที่ผู้ประกอบการรถแท็กซี่ที่ให้บริการภายในสนามบินดอนเมืองและสนามบินสุวรรณภูมิเรียกร้องนั้น ยังคงอยู่ระหว่างการพิจารณาหาโมเดลการกำหนดราคาที่ยอมรับได้ ทั้งผู้ประกอบการ และไม่เป็นภาระต่อผู้ใช้บริการ ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปได้ภายในปีนี้

    ลุ้นเคาะตัวเลขค่ารถไฟฟ้า 
    ยังมีในส่วนของรถไฟฟ้าสายสีเขียวรวมถึงส่วนต่อขยาย สายเหนือ คือ สายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และสายใต้ ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ที่ต้องลุ้นกันว่าในท้ายที่สุดแล้ว กรุงเทพมหานคร จะให้ บมจ. ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ ผู้รับสัมปทานการเดินรถ จัดเก็บค่าโดยสารตลอดเส้นทางในอัตราสูงสุดไม่เกิน 65 บาทได้หรือไม่

    หลังจากปรับขึ้นค่าโดยสารรถโดยสารสาธารณะทั้งระบบ รวมถึงปรับอัตราค่าผ่านทางและค่าโดยสารระบบขนส่งมวลชนตามมาอีก ภารกิจสำคัญที่กระทรวงคมนาคมต้องเร่งดำเนินการคือ เร่งรัดให้มีการจัดหารถโดยสารใหม่ และยกระดับการให้บริการให้เกิดขึ้นให้ได้โดยเร็ว เพื่อให้ประชาชนได้รับความคุ้มค่าในการใช้บริการกลับคืนบ้าง
    ____________________
    คุณอาคม เติมพิทยาไพสิฐ – รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม 
    “แม้ว่าครั้งนี้รถโดยสารภาคเอกชนจะปรับราคาเต็มเพดาน แต่ ขสมก. ได้แบ่งการปรับราคาค่าโดยสารเป็น 2 ระยะ เพื่อเป็นการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน โดยจะทำการปรับในระยะที่ 2 ในวันที่ 22 เมษายน 2563 อย่างไรก็ตามหากราคาเชื้อเพลิงปีหน้าปรับลดลง อาจไม่มีความจำเป็นต้องปรับค่าโดยสารระยะที่ 2 ทั้งนี้ ขสมก. และผู้ประกอบการไม่ได้ปรับราคามานานแล้ว ส่งผลให้ต้องรับภาระขาดทุนและไม่สามารถซื้อรถใหม่มาให้บริการได้ การปรับค่าโดยสารที่สะท้อนต้นทุนจะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถปรับปรุงการบริการและจัดหารถใหม่ได้”


    [English]
    Transport Ministry Offers Explanation behind Bangkok Bus Fare Rise
    Fares for public buses and passenger vans were officially allowed to increase since April 22, following an approval of the Central Land Transport Control Board on December 14, 2018.  

    Arkhom Termpittayapaisith, Minister of Transport has assured that the decision to raise fares has been carefully deliberated and taken into consideration of the future expansion of the service, the operational cost as well as the upcoming rises in the price of NGV (natural gas vehicle), which is commonly used for public transportation.

    Mr. Arkhom also assured that the fare rise is not excessive, considering that Bangkok Mass Transit Authority (BMTA), which operates most public bus services in Greater Bangkok, has been collecting fares below the level allowed since 2015.  He added that the new round of increase will be implemented in two phases, including April 22, 2019 and April 22, 2020, in order to alleviate the impact of higher bus fares borne by the public.

    Under the latest fare rise approval, privately-operated passenger vans are also allowed to increase their fares to a maximum of 1.20 baht per kilometer for the first 20 kilometers and a maximum of 0.80 baht per kilometer for subsequent distance.  For pick-up passenger vehicles, which are also privately operated, fares cannot be higher than 11 baht per ride.

    Travelers on provincial routes, operated by Transport Company Limited, have also been paying 10% more under the new fare structure.  

    Now that new fares are in effect, the Transport Ministry is planning to work with BMTA and all involved private companies to procure new vehicles and improve their services to justify higher fares and ensure public satisfaction.