ในแต่ละปี เมื่อเข้าสู่ช่วงของการเปิดเทอมใหญ่ ผู้ปกครองที่มีบุตรหลานในวัยเรียนจะมีค่าใช้จ่ายด้านการศึกษามากเป็นพิเศษ ซึ่งจากการสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้ปกครองในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ช่วงเปิดเทอมใหญ่ปี 2562 (ในกลุ่มนักเรียนระดับชั้นอนุบาล – มัธยมศึกษาตอนปลาย) โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่าจะมีมูลค่าประมาณ 28,220 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.6% เมื่อเทียบกับในช่วงเปิดเทอมใหญ่ปีที่แล้ว
แม้ราคาสินค้าและค่าบริการด้านการศึกษาหลักๆ ในปีนี้ ส่วนใหญ่ยังไม่มีการปรับขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ค่าเทอม (เฉพาะค่าเทอมของโรงเรียนเอกชนและโรงเรียนนานาชาติ) ซึ่งประมาณการว่าปีนี้จะมีมูลค่ารวม 13,500 ล้านบาท, ขณะที่ ค่าธรรมเนียม ค่าบำรุงการศึกษาและกิจกรรมต่างๆ (ทั้งโรงเรียนรัฐบาลและเอกชน) มูลค่ารวม 9,000 ล้านบาท ค่่าเรียนพิเศษ 1,850 ล้านบาท รวมถึง ค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าเดินทาง และค่าใช้จ่ายประจำวัน เป็นต้น 520 ล้านบาท
สำหรับสินค้าด้านการศึกษา ทั้งชุดนักเรียน หนังสือ และอุปกรณ์การเรียน คาดจะมีเม็ดเงินจะสะพัดกว่า 3,350 ล้านบาท ซึ่งผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายสินค้ายังคงให้ความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐในการคงราคาสินค้า รวมถึงผู้ประกอบการโมเดิร์นเทรด และร้านค้า มีการจัดโปรโมชั่นสินค้าราคาพิเศษ และการนำแบรนด์สินค้าที่มีราคาไม่สูงมาทำตลาด เพื่อตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าที่มีข้อจำกัดด้านงบประมาณและภาระรายจ่ายที่สูง
ผู้ปกครองชาวกรุงส่วนใหญ่ กังวลต่อสภาพคล่องทางการเงิน
ขณะเดียวกันจากผลสำรวจยังระบุว่า ผู้ปกครองกว่า 54.2% มีความกังวลต่อสภาพคล่องทางการเงินที่จะนำมาใช้จ่ายในด้านการศึกษา ช่วงเปิดเทอมใหญ่ปี 2562 นี้ แต่เป็นอัตราที่ลดลงจากผลสำรวจในปีก่อน โดยสาเหตุมาจากเงินออมไม่เพียงพอ ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันที่เพิ่มขึ้น จำนวนบุตรที่เข้าเรียนเพิ่มขึ้น และค่าใช้จ่ายด้านอุปกรณ์การศึกษาเพิ่มสูงขึ้น เป็นต้น
นอกจากนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่าประมาณ 5% ของผู้ที่มีความกังวลนั้น แหล่งเงินที่นำมาใช้จ่ายเพื่อการศึกษามาจากการกู้ยืมและจากการนำของใช้ไปจำนำ
เพิ่มงบกวดวิชา หวังบุตรหลานสอบเข้าโรงเรียนดัง
แม้ผู้ปกครองส่วนใหญ่จะมีความกังวลเรื่องสภาพคล่องทางการเงิน แต่ก็พบว่างบประมาณเพื่อการใช้จ่ายด้านการศึกษา ส่วนใหญ่มองว่า “คงที่” เมื่อเทียบกับในช่วงเปิดเทอมใหญ่ในปีที่ผ่านมา
ขณะที่ค่าใช้จ่ายที่ผู้ปกครองมองว่าเพิ่มขึ้น จะเป็นค่าเรียนพิเศษ/กวดวิชา และการเรียนเสริมทักษะต่างๆ เช่น ดนตรี วาดภาพ และกีฬา เป็นต้น เฉลี่ยประมาณ 2,500-5,000 บาทต่อคน ซึ่งบางรายมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าค่าเฉลี่ย เพื่อให้บุตรหลานมีความเข้าใจและมีความรู้มากขึ้น สามารถสอบแข่งขันเพื่อศึกษาต่อในสถาบันการศึกษาที่ต้องการ โรงเรียนที่มีชื่อเสียง รองลงมาคือ กลุ่มหนังสือและอุปกรณ์การเรียนต่างๆ ส่วนค่าใช้จ่ายที่มีการปรับลดลง คือ กลุ่มเครื่องแต่งกายนักเรียน
อย่างไรก็ดี ยังมีแนวทางรองรับ จากการที่รัฐบาลได้ออกมาตรการช่วยเหลือ ในการซื้อสินค้าเพื่อการศึกษาสำหรับผู้ปกครองที่ถือบัตรสวัสดิการของรัฐ คนละ 500 บาท/บุตร 1 คน (จ่ายครั้งเดียว) ซึ่งน่าจะช่วยบรรเทาภาระรายจ่ายสำหรับผู้ปกครองที่มีรายได้น้อยได้ส่วนหนึ่ง รวมถึงมาตรการหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับการซื้อสินค้าเพื่อการศึกษาและกีฬา เช่น ค่าใช้จ่ายชุดนักเรียน และกีฬา รวมกันไม่เกิน 15,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม – 30 มิถุนายน 2562 อีกด้วย
ชื่อเสียงของโรงเรียน ปัจจัยแรกในการเลือกที่เรียน
นอกจากนี้ยังได้มีการสำรวจถึงปัจจัยในการเลือกโรงเรียนให้กับบุตรหลาน โดยความสำคัญในอันดับแรกคือ ชื่อเสียงของโรงเรียน รองลงมาเป็นเรื่องการเดินทางสะดวก, ค่าเทอมและค่าใช้จ่ายที่ไม่สูงนัก, สภาพแวดล้อมมีความเหมาะสม และความเข้มข้นทางวิชาการ/หลักสูตร ตามลำดับ ทำให้ผู้ปกครองส่วนหนึ่งจะมีการวางแผนทางการเงินเพื่อใช้จ่ายในส่วนนี้ด้วย
ขณะเดียวกัน ผู้ปกครองชาวกรุง มองว่าระบบการศึกษาไทย ควรพัฒนาการเรียนการสอนให้มีคุณภาพมากขึ้น และตอบโจทย์งานในอนาคต โดย 38.9% ต้องการให้พัฒนาการเรียนการสอนในระบบให้มีคุณภาพ เพื่อไม่ต้องเรียนพิเศษเพิ่ม ส่วนอีก 29.1% อยากให้วางแผนการศึกษาสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน, 25.8% ขอให้ปรับเปลี่ยนหลักสูตรให้ทันสมัย และ 6.2% เป็นด้านอื่นๆ เช่น วิชาเรียน ระบบการสอบเพื่อเรียนต่อมหาวิทยาลัย และกิจกรรมต่างๆ ในโรงเรียน เป็นต้น ซึ่งจะทำให้นักเรียนได้เตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่ระดับอุดมศึกษา เมื่อจบมาก็มีตลาดแรงงานที่รองรับ สามารถประกอบอาชีพและสร้างรายได้ที่เหมาะสมกับคุณวุฒิในอนาคต