Sunday, September 24, 2023
More

    การรถไฟฯทำแผนพัฒนาเชิงพาณิชย์ สถานีกลางบางซื่อ ศูนย์กลางระบบรางที่ใหญ่สุดในอาเซียน

    ในเดือนมกราคม ปี 2564 สถานีกลางบางซื่อจะเปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบ พร้อมกับรถไฟสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน และ ช่วงบางซื่อ-รังสิต ทั้งยังเป็นศูนย์กลางการเดินทางด้วยระบบรางที่ใหญ่และทันสมัยที่สุดในอาเซียน ซึ่งจะมีการนำรูปแบบการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชน Transit Oriented Development (TOD) มาใช้ พร้อมให้เอกชนบริหารจัดการพื้นที่ภายในสถานีเพื่อรองรับการเดินทางอย่างเป็นระบบและมีความเหมาะสม 

    จัดรับฟังความเห็นจากนักลงทุน 
    ล่าสุด การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้จัดรับฟังความเห็นและความสนใจจากภาคเอกชนในการลงทุน (Market Sounding) เพื่อนำมาประกอบโครงการศึกษารูปแบบการบริหารจัดการและแนวทางการพัฒนาพื้นที่ และจัดทำร่างเอกสารประกอบการจัดจ้างเอกชนเพื่อบริหารจัดการพื้นที่สถานีกลางบางซื่ออย่างเหมาะสม ซึ่งที่ปรึกษาได้นำเสนอข้อมูลว่า สถานีกลางบางซื่อ มีพื้นที่ใช้สอยภายในอาคารรวมทั้งสิ้น 266,500 ตร.ม.


    สำหรับขอบเขตพื้นที่ของอาคารสถานีกลางบางซื่อ เป็นอาคารสูง 3 ชั้น ประกอบด้วย ชั้นใต้ดิน เป็นพื้นที่จอดรถรวม 1,624 คัน (รถยนต์ 1,607 คัน, วีลแชร์ 17 คัน) มีโถงเชื่อมต่อจากพื้นที่จอดรถ ขนาดประมาณ 58,210 ตร.ม. ทางเดินขึ้นไปยังชั้นจำหน่ายตั๋วโดยสาร, ชั้น 1 พื้นที่ประมาณ 122,810 ตร.ม. ประกอบด้วย โถงพักคอยของผู้โดยสาร และโถงชานชาลาผู้โดยสาร มีจุดเชื่อมต่อกับสถานี MRT บางซื่อ ในปัจจุบัน และพื้นที่ส่วนพาณิชยกรรมร้านค้า, ชั้นลอยที่ 1 พื้นที่ประมาณ 9,800 ตร.ม. เป็นพื้นที่ส่วนพาณิชยกรรมร้านค้า, ชั้น 2 รวมชั้นลอย 2 พื้นที่ประมาณ 50,860 ตร.ม. ประกอบด้วย พื้นที่ต้อนรับบุคคลสำคัญ (VIP) ส่วนควบคุมระบบการเดินรถและพื้นที่ทำงานของเจ้าหน้าที่อาคาร ส่วนชานชาลารถไฟทางไกล (LD Platform Level) ชานชาลารถไฟชานเมือง (CT Platform Level) และชั้น 3 พื้นที่ประมาณ 43,800 ตร.ม. ประกอบด้วย ชานชาลารถไฟมาตรฐานและรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ


    แบ่งงานจ้างเป็น 2 กลุ่มธุรกิจหลัก
    สำหรับกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นภายในสถานี มี 2 รูปแบบ คือ 1. กิจกรรมพื้นฐานที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-Revenue) ประกอบด้วยงานด้านความปลอดภัย ด้านความสะอาด ด้านประชาสัมพันธ์ ห้องพยาบาล บริการด้านเทคโนโลยี อาคารสถานีและการซ่อมบำรุง งานบริหารกลาง และ 2. กิจกรรมที่ก่อให้เกิดรายได้ (Revenue) ประกอบด้วยการโฆษณาทางธุรกิจ เช่น ป้ายและจอโฆษณาและสื่อโฆษณาดิจิทัล พื้นที่จอดรถ พื้นที่เชิงพาณิชย์ ทั้งพื้นที่เชิงพาณิชย์ทั่วไปและศูนย์อาหาร รวมถึงบริการที่อาจก่อให้เกิดรายได้อื่นๆ เช่น บริการรับฝากสัมภาระ บริการรถเข็นสัมภาระ ตู้เอทีเอ็ม การให้เช่าพื้นที่ถ่ายทำภาพยนตร์และจัดอีเวนต์ต่างๆ เป็นต้น

    ต้นทุนบริหารจัดการเพิ่มต่อเนื่อง
    ขณะที่ด้านต้นทุนในการบริหารจัดการสถานีกลางบางซื่อนั้น ที่ปรึกษาประเมินว่าจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยรวมแล้วในปี 2564 จะมีค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการสถานีกลางบางซื่อ รวมทั้งปี 346 ล้านบาท หรือเฉลี่ยเดือนละ 29 ล้านบาท ซึ่งในปี 2570 จะมีค่าใช้จ่ายรวมทั้งปีเพิ่มขึ้นเป็น 600 ล้านบาท หรือแฉลี่ยเดือนละ 51 ล้านบาท และในปี 2583 จะมีต้นทุนรวมทั้งปี 1,230 ล้านบาท หรือเฉลี่ยเดือนละ 103 ล้านบาท


    เสนอเปิดพื้นที่เช่าทำร้านค้า-โฆษณา
    เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของการรถไฟฯ ที่ปรึกษาจึงจัดทำแผนการเปิดพื้นที่พัฒนาเชิงพาณิชย์ โดยประเมินว่าจะมีพื้นที่พัฒนาเชิงพาณิชย์ภายในอาคาร 13,208 ตร.ม. พื้นที่เชิงพาณิชย์ภายนอกอาคาร 24,014 ตร.ม. พื้นที่ติดป้ายโฆษณา 2,681.4 ตร.ม. พร้อมทั้งมีข้อเสนอว่า ควรจะนำพื้นที่ชั้น 3 ซึ่งเป็นพื้นที่ของรถไฟความเร็วสูงที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง ขนาดพื้นที่ 51,774 ตร.ม. เปิดให้พัฒนาพื้นที่ไปก่อนในระหว่างที่รอให้การก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงแล้วเสร็จ ซึ่งคาดว่าน่าจะมีเวลาในการให้เช่าใช้พื้นที่ได้ประมาณ 4-5 ปี

    ลานจอดรถช่วยเพิ่มรายได้
    นอกจากนั้นยังมีพื้นที่ลานจอดรถที่นอกจากจะเปิดให้เช่าทำร้านค้าได้บางส่วน ทำให้จะมีรายได้จากการเก็บค่าจอดรถสำหรับผู้มาใช้บริการ โดยพื้นที่จอดรถของสถานีกลางบางซื่อสามารถรองรับยานพาหนะทุกประเภทได้รวม 7,305 คัน/วัน แบ่งเป็น รถยนต์ส่วนบุคคล 2,656 คัน รถจักรยานยนต์ 781 คัน รถแท็กซี่ 3,868 คัน และภายในปี 2584 จะเพิ่มพื้นที่เพื่อให้รองรับยานพาหนะได้ทุกประเภทเป็น 55,090 คัน/วัน

    ทั้งนี้จะมีการค่าธรรมเนียม สำหรับรถยนต์ส่วนบุคคล 300 บาท/วัน ช่วง 30 นาทีแรกจอดฟรี จากนั้นชั่วโมงที่ 1-14 คิดค่าจอด ชั่วโมงละ 20 บาท รถจักรยานยนต์ค่าจอด 150 บาท/วัน ช่วง 30 นาทีแรกจอดฟรี จากนั้นชั่วโมงที่ 1-14 คิดค่าจอดชั่วโมงละ 10 บาท และจะมีการปรับขึ้นอัตราค่าจอดรถเป็น 25 บาท/ชั่วโมงในปี 2574 และเพิ่มเป็น 30 บาท/ชั่วโมงในปี 2584


    เล็งติดโซลาร์รูฟท็อปลดภาระค่าไฟ 
    ขณะเดียวกันยังมีแผนจะติดตั้งโซลาร์ รูฟท็อป บนพื้นที่หลังคาอาคารสถานีกลางบางซื่อ พื้นที่ประมาณ  50,000 ตร.ม. วงเงินลงทุนประมาณ  200 ล้านบาท เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของภาครัฐที่ต้องการให้เป็นสมาร์ทซิตี้ มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และช่วยลดต้นทุนค่าไฟฟ้าที่ต้องใช้ภายในสถานีปีละ 30-35 ล้านบาท โดยรูปแบบการลงทุนเป็นไปได้ทั้งแบบที่การรถไฟฯ ลงทุนเอง และให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุน ซึ่งในส่วนนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป และจะมีการพิจารณาในรายละเอียดกันต่อไป

    ผู้โดยสาร-ระบบเชื่อมต่อเพิ่มมูลค่า
    สำหรับศักยภาพของสถานีกลางบางซื่อ ที่จะเป็นจุดขายสำคัญในการสร้างความสนใจต่อนักลงทุน คือ จำนวนผู้โดยสาร ที่คาดว่า ปี 2564 จะมีจำนวนผู้โดยสารจำนวน 50,720 คน/วัน ส่วนในปี 2569 จะเพิ่มขึ้นเป็น 208,804 คน/วัน และปี 2574 จะมีจำนวน 324,096 คน/วัน รวมถึงศักยภาพของพื้นที่ในการเชื่อมโยงกับระบบคมนาคมขนส่งต่างๆ (Multi-Modal Transportation) ได้แก่ รถไฟทางไกล (Inter-City Train) รถไฟฟ้าชานเมือง (Commuter Train Red Line) รถไฟฟ้าความเร็วสูง (High-Speed Railway) และรถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยาน (Airport  Rail Link)


    คาดเปิดประมูลได้ปลายปี 62 
    โดย คุณฐากูร อินทรชม ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการเดินรถ การรถไฟฯ กล่าวว่า หลังจากรับฟังความคิดเห็นจากนักลงทุนไปแล้ว จะจัดทำข้อสรุปผลการศึกษาให้จบภายในเดือนมิถุนายน จากนั้นจะเสนอให้บอร์ดการรถไฟฯ พิจารณาภายในเดือนกรกฎาคมหรือสิงหาคม คาดว่าจะสามารถออกประกาศประกวดราคาได้ช่วงปลายปี 2562 และจะคัดเลือกเอกชนผู้รับจ้างได้ในช่วงกลางปี 2563

    ทั้งนี้ การว่าจ้างเอกชนที่มีความชำนาญและเป็นมืออาชีพมาบริหารจัดการ และให้บริการกิจกรรมภายในสถานีกลางบางซื่อ นอกจากจะเป็นการสนับสนุนด้านการค้าเพื่อให้การรถไฟฯ มีรายได้เพิ่มเพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย ยังเป็นการลดความแออัดของผู้โดยสารบริเวณชานชาลา เพิ่มความปลอดภัย สามารถยกระดับคุณภาพการให้บริการและสร้างประสบการณ์ที่ดีแก่ผู้โดยสารรวมถึงผู้ใช้บริการให้ได้มาตรฐานระดับสากล และเกิดประสิทธิภาพสูงสุดต่อการให้บริการศูนย์กลางการเดินทางของกรุงเทพมหานคร ภูมิภาค และอาเซียนแห่งใหม่นี้ด้วย


    คุณวรวุฒิ มาลา – รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) 
    “ขณะนี้การรถไฟฯ กำลังดำเนินการศึกษารูปแบบการบริการจัดการและแนวทางการพัฒนาพื้นที่สถานีกลางบางซื่อ ซึ่งจะเป็นสถานีรถไฟที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบถ้วน ทุกคนสามารถเข้าถึงบริการได้อย่างเท่าเทียม และเป็นบริการที่ไม่เรียกเก็บค่าธรรมเนียม ทำให้มีรายได้ไม่มากนัก ต่างจากสนามบินที่มีค่าธรรมเนียมการใช้สนามบิน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องศึกษาและกำหนดรูปแบบการจัดพื้นที่ให้บริการ พื้นที่พัฒนาเชิงพาณิชย์ให้เหมาะสมเพื่อลดต้นทุนและหารายได้เพิ่ม โดยไม่กระทบต่อคุณภาพการให้บริการต่อผู้โดยสารและผู้ที่มาใช้บริการ”