กทม. เตรียมเก็บค่าบำบัดน้ำเสีย จากแหล่งกำเนิดน้ำเสีย อาทิ บ้าน คอนโดฯ หอพัก หน่วยงานรัฐ โรงเรียน โรงพยาบาล โรงงาน และโรงแรม ครอบคลุม 21 เขตทั่วกรุงเทพฯ คาดเริ่มเก็บได้ในเดือน ต.ค. 62 นี้
สภากรุงเทพมหานคร มีมติเห็นชอบร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การจัดเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสีย เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2562 ที่ผ่านมา โดยเป็นการแก้ไขเพิ่มเติม เนื่องจากข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การจัดเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสีย พ.ศ.2547 ใช้บังคับมาเป็นเวลากว่า 14 ปีแล้ว และข้อเท็จจริงได้ความว่าไม่มีการนำไปใช้ตามหลักการและวัตถุประสงค์ของข้อบัญญัติดังกล่าว สมควรปรับปรุงแก้ไขใหม่ทั้งฉบับ เพื่อให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน
โดยอัตราค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสียตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การจัดเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสีย พ.ศ.2547 เป็นอัตราที่คิดตามปริมาณน้ำประปา หรือน้ำบาดาล หรือน้ำจากแหล่งอื่นที่ใช้ในแหล่งกำเนิดน้ำเสีย ร้อยละ 100 เพื่อให้เกิดความเหมาะสมในการจัดเก็บค่าธรรมเนียม สมควรกำหนดค่าธรรมเนียมร้อยละ 80 ของปริมาณน้ำที่ใช้ในแหล่งกำเนิดน้ำเสียนั้นๆ และแบ่งประเภทแหล่งกำเนิดน้ำเสียที่เจ้าของหรือผู้ครอบครองมีหน้าที่ต้องชำระค่าธรรมเนียมให้ชัดเจน
สำหรับการจัดเก็บอัตราค่าธรรมเนียมการบำบัดน้ำเสียแบ่งตามประเภทแหล่งกำเนิดน้ำเสียเป็น 3 ประเภท ได้แก่
ประเภทที่ 1 คือ บ้านเรือนที่พักอาศัย รวมถึงอาคาร ซึ่งโดยปกติบุคคลใช้อยู่อาศัยได้ทั้งกลางวัน และกลางคืน ไม่ว่าจะเป็นการอยู่อาศัยอย่างถาวรและชั่วคราว อาคารประเภทอาคารชุด คอนโดมิเนียม อพาร์ทเมนต์ หอพัก รวมทั้งอาคารที่อยู่อาศัยรวม อัตราค่าธรรมเนียม 2 บาท/ลูกบาศก์เมตร
ประเภทที่ 2 คือ หน่วยงานของรัฐ หรืออาคารที่ทำการของเอกชน หรือองค์กรระหว่างประเทศ มูลนิธิ ศาสนสถาน สถานสาธารณกุศล โรงพยาบาลหรือสถานพยาบาล โรงเรียนหรือสถานศึกษา สถานประกอบการที่มีการใช้น้ำเฉลี่ยย้อนหลัง 1 ปีก่อนการจัดเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสีย ไม่เกิน 2,000 ลูกบาศก์เมตร/เดือน หากกรณีที่ประกอบการไม่ถึง 1 ปี ให้ใช้ค่าเฉลี่ยตามระยะเวลาที่ประกอบการ อัตราค่าธรรมเนียม 4 บาท/ลูกบาศก์เมตร
ประเภทที่ 3 คือ โรงแรม โรงงานตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน และสถานประกอบการที่มีการใช้น้ำเฉลี่ยย้อนหลัง 1 ปีก่อนการจัดเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสีย ไม่เกิน 2,000 ลูกบาศก์เมตร/เดือน หากกรณีที่ประกอบการไม่ถึง 1 ปี ให้ใช้ค่าเฉลี่ยตามระยะเวลาที่ประกอบการ อัตราค่าธรรมเนียม 8 บาท/ลูกบาศก์เมตร
โดยพื้นที่ที่จะจัดเก็บ ครอบคลุมพื้นที่ 21 เขต ได้แก่ เขตพระนคร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตสัมพันธวงศ์ เขตบางรัก เขตสาทร เขตบางคอแหลม เขตยานนาวา เขตดินแดง เขตราชเทวี เขตพญาไท เขตปทุมวัน เขตบางซื่อ เขตจตุจักร เขตห้วยขวาง เขตหนองแขม เขตบางแค เขตภาษีเจริญ เขตดุสิต เขตทุ่งครุ เขตจอมทอง และเขตราษฎร์บูรณะ ซึ่งอยู่ในพื้นที่บริการบำบัดน้ำเสียของโรงควบคุมคุณภาพน้ำ 8 แห่ง คือโรงควบคุมคุณภาพน้ำสี่พระยา, รัตนโกสินทร์, ดินแดง, ช่องนนทรี, จตุจักร, หนองแขม, ทุ่งครุ และบางซื่อ
อย่างไรก็ตามหลังจากนี้ กทม. จะเสนอเรื่องไปยังกระทรวงมหาดไทยเพื่อขอความเห็นชอบ และ เสนอผู้ว่าฯ กทม.ลงนามต่อไป โดยให้ผู้ว่าฯ กทม.ออกระเบียบกรุงเทพมหานคร และประกาศกรุงเทพมหานครให้แล้วเสร็จภายใน 240 วัน นับแต่วันที่ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครนี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ทั้งนี้ คาดว่า กทม. จะเริ่มจัดเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสียได้ภายในเดือน ตุลาคม 2562 หรือภายในปีงบประมาณ 2563 สำหรับการจัดเก็บในเบื้องต้นคาดว่าจะดำเนินการจ้างบุคคลภายนอกเข้ามาเก็บ ซึ่งผู้บริหารจะพิจารณาอีกครั้ง โดยในส่วนของบ้านเรือนทั่วไปจะคิดคำนวณตามปริมาณน้ำที่ใช้แต่ละบ้าน ซึ่งคาดว่าจะเสียค่าบำบัดน้ำเสียประมาณ 50 บาท/เดือน และในแต่ละปี กทม.จะสามารถจัดเก็บรายได้จากค่าบำบัดน้ำเสียได้ประมาณ 500 ล้านบาท
ขณะที่ นายณรงค์ เรืองศรี ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ กทม. เปิดเผยว่า กทม. ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาน้ำเสียโดยการเดินระบบบำบัดน้ำเสียรวมขนาดใหญ่ จำนวน 8 แห่ง บำบัดน้ำเสียได้ประมาณ 800,000 ลูกบาศก์เมตร/วัน และมีค่าใช้จ่ายในการเดินระบบและบำรุงรักษาระบบ เฉลี่ยปีละประมาณ 700 ล้านบาท จึงมีความจำเป็นที่จะต้องจัดเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสีย
โดยจะนำร่องจัดเก็บในแหล่งกำเนิดน้ำเสีย ประเภทอาคารสำนักงาน และสถานประกอบการก่อน ซึ่งที่ผ่านมา สำนักการระบายน้ำได้ดำเนินการสร้างความรู้ ความเข้าใจ และสร้างการยอมรับเกี่ยวกับการจัดเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสียผ่านโครงการต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2551 จนถึงปัจจุบัน
นอกจากนี้ สำนักการระบายน้ำ ยังมีแนวทางการจัดเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสีย รวมทั้งการเตรียมความพร้อมการจัดเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสีย ของกทม. ประกอบด้วย
1. จัดทำร่างแก้ไขข้อบัญญัติและจัดทำร่างระเบียบและประกาศที่เกี่ยวข้อง
2. จัดทำฐานข้อมูล และระบบเชื่อมโยงข้อมูล
3. จัดพิมพ์ และส่งใบแจ้งหนี้
4. จัดทำระบบงาน ระบบบริหารเพื่อการจัดเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสีย
5. ดำเนินการจัดเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสีย
ทั้งนี้ หากเกิดกรณีที่เจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดน้ำเสีย ไม่ชำระค่าธรรมเนียมพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งระงับการให้บริการบำบัดน้ำเสียชั่วคราว จนกว่าเจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดน้ำเสียจะชำระค่าธรรมเนียม