ผลการศึกษาต้นทุนเดินทางระบบรางไทยพบว่า ค่ารถไฟฟ้าในเมืองนั้นแพงเกินกว่ากำลังซื้อของผู้มีรายได้น้อย โดยค่าโดยสารรถไฟฟ้าเฉลี่ยขั้นต่ำเที่ยวละ 28.30 บาท ซึ่งสูงมากเมื่อเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำชั่วโมงละ 37.50 บาท ขณะที่สิงคโปร์ ค่าแรงขั้นต่ำชั่วโมงละ 250 บาท แต่อัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าอยู่ที่ 17-60 บาท นับเป็นอัตราที่ต่ำเมื่อเทียบกับรถไฟฟ้าไทย
ค่าโดยสารรถไฟฟ้าไทยไม่ตอบโจทย์คนจน
ผลการศึกษาจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เมื่อเปรียบเทียบต้นทุนการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะทางถนนและประเภทอื่นในกรุงเทพฯ และปริมณฑล พบว่า ผู้โดยสารไทยต้องควักเงินจ่ายค่าโดยสารระบบรถไฟฟ้าเฉลี่ยขั้นต่ำ 28.30 บาทต่อเที่ยว ซึ่งนับว่าแพงเกินไปกว่ากำลังซื้อของผู้มีรายได้น้อย ส่งผลให้ผู้ใช้บริการเป็นกลุ่มคนรายได้ปานกลางและรายได้สูง โดยอัตราค่าใช้จ่ายรถไฟฟ้าเฉลี่ยของคนกรุงอยู่ที่เดือนละ 1,000-1,200 บาท หรือคิดเป็นเงินกว่า 12,000 บาทต่อปี
ขณะที่ข้อสรุปค่าโดยสารต่อเที่ยวการเดินทาง พบว่า ไทยมีค่าโดยสารระบบรางสูงกว่าประเทศอื่น เทียบกับประเทศในภูมิภาค เช่น ฮ่องกง และสิงคโปร์ รวมถึงไทยมีส่วนต่างค่าโดยสารระหว่างรถไฟฟ้ากับรถโดยสาร (รถเมล์) สูงที่สุด โดยค่าโดยสารต่อเที่ยวการเดินทางของไทยอยู่ที่ 2.14 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 67.10 บาท
ทั้งนี้ เมื่อคิดค่าโดยสารเฉลี่ยต่อกิโลเมตรเดินทาง พบว่า ค่าโดยสารต่อ 1 กิโลเมตรของผู้โดยสารในไทยอยู่ที่ 0.478 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ หรือ 14.99 บาท สูงกว่าประเทศ อื่นๆ อย่างสิงคโปร์ ฮ่องกง และอังกฤษ (ดูอินโฟกราฟิกประกอบ 1)
อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า ระบบขนส่งแบบรถไฟฟ้ามีต้นทุนสูง อีกทั้งในประเทศไทยจำนวนผู้โดยสารยังน้อยกว่าความสามารถรองรับของระบบที่เคยถูกออกแบบไว้ (Design Capacity) ซึ่งไทยสามารถลดต้นทุนรถไฟฟ้าลงได้ โดยการสนับสนุนให้คนหันมาใช้บริการรถไฟฟ้าเพิ่ม และยังเป็นการตอบโจทย์ของการแก้ปัญหาจราจรบนท้องถนนด้วย
เทียบกับต่างชาติใครแพงกว่ากัน?
ดร.สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ ทีดีอาร์ไอ เปิดเผยว่า ปัญหาที่กรมการขนส่งทางรางต้องเร่งเข้ามาแก้ไขปัญหาเพื่อประชาชน คือการควบคุมค่ารถไฟฟ้าในเมืองหลวงและโครงการเกี่ยวเนื่อง เพราะเมื่อเทียบกับต่างประเทศแล้ว ค่ารถไฟฟ้าของไทยอยู่ในอัตราสูงมากเมื่อเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำ ปัจจุบัน ไทยมีค่าแรงขั้นต่ำเฉลี่ยวันละ 300 บาท เมื่อคิดกับชั่วโมงทำงาน 8 ชั่วโมงต่อวัน ตกที่ชั่วโมงละ 37.50 บาท ส่วนค่ารถไฟฟ้าที่ให้บริการภายในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เริ่มต้นที่ 16-70 บาท
ขณะที่ค่ารถไฟฟ้าต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์ เริ่มต้นที่ 0.78-2.6 ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือประมาณ 17-60 บาท แต่ค่าแรงขั้นต่ำนั้นสูงมากอยู่ที่ ชั่วโมงละ 250 บาท
เช่นเดียวกับมหานครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ค่าแรงขั้นต่ำชั่วโมงละ 250 บาท ส่วนค่าโดยสารรถไฟฟ้าใต้ดิน 2.75 ดอลลาร์สหรัฐฯ ตลอดสาย หรือประมาณ 91 บาท
ด้านกรุงลอนดอนประเทศอังกฤษ ค่ารถไฟฟ้าใต้ดินราคาอยู่ที่ 2.80-6.00 ปอนด์ หรือประมาณ 119-253 บาท ส่วนค่าแรงต่อชั่วโมงประมาณ 331 บาท
ส่วนประเทศที่มีค่ารถไฟฟ้าแพงสุดคือ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น โดยราคาสูงสุดอยู่ที่สายเจอาร์ มีราคาถึง 3,132 เยน หรือประมาณ 913 บาท ขณะที่ค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ประมาณ 279 บาทต่อชั่วโมง อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับราคาเริ่มต้นของรถไฟฟ้าแล้วก็ยังถือว่าถูกมาก เพราะค่าโดยสารเริ่มต้นเพียง 39 บาท (ดูอินโฟกราฟิกประกอบ 2)
โดยทีดีอาร์ไอได้เสนอให้รัฐบาลศึกษาโมเดลของต่างประเทศในการควบคุมค่าโดยสาร เช่น โมเดลของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีการยกเว้นค่าแรกเข้าเมื่อเปลี่ยนเส้นทางรถไฟฟ้า หรือ การใช้ระบบตั๋วร่วม (Common Ticket) เพื่อลดค่าบริการขนส่งสาธารณะ เช่น ขึ้นรถไฟฟ้าแล้วสามาถลดค่ารถเมล์ได้ 50% จึงส่งผลให้การเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะที่ซับซ้อนหรือการเดินทางไกล มีอัตราค่าโดยสารที่ถูกกว่าของประเทศไทย
ทั้งนี้ เมื่อดูจากผลประกอบการของบริษัทรถไฟฟ้าในไทย พบว่า ตลอดปีที่ผ่านมามีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากค่าโดยสารที่ปรับเพิ่มขึ้น และการเพิ่มขึ้นของโครงการรถไฟฟ้าสายใหม่
บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM (บีอีเอ็ม) เผยผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2562 พบว่า มีรายได้รวมอยู่ที่ 4,125 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 1.6% หรือ 66 ล้านบาท ขณะที่มีกำไรสุทธิ 859 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.7% โดยมีปัจจัยจากรายได้ของโครงการทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร (SOE) และรายได้จากค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ซึ่งขณะนี้ได้ทยอยส่งมอบขบวนรถไฟเพิ่มเติม คาดว่าภายในปี 2563 จะมีรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินรวม 54 ขบวน
ด้านบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS เปิดเผยผลประกอบการงวดปี 61/62 (สิ้นสุด 31 มี.ค.62) พบว่า มีรายได้รวมอยู่ที่ 47,923 ล้านบาท เติบโต 239.8% หรือ 33,821 ล้านบาทจากปีก่อน ขณะที่มีกำไร 2,872.94 ล้านบาท ปัจจัยหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ด้านธุรกิจขนส่งมวลชน สื่อโฆษณา และบริการ โดยเฉพาะรายได้จากระบบขนส่งมวลชน มีการเติบโตอย่างโดดเด่น จากการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู และสีเหลือง รวมถึงการเพิ่มขึ้นของรายได้จากการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุง ตามการเปิดให้บริการส่วนต่อขยายสายสีเขียวใต้ทั้งสาย
รัฐเล็งปรับโครงสร้างตั๋วรถไฟฟ้าใหม่
ปัญหาสำคัญที่ภาครัฐต้องเร่งแก้ไข คือการควบคุมค่ารถไฟฟ้า เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนหันมาใช้รถไฟฟ้ามากขึ้น โดยทีดีอาร์ไอชี้ว่า รัฐบาลควรทบทวนการส่งเสริมผู้มีรายได้น้อยใช้รถไฟฟ้าผ่านบัตรสวัสดิการ ซึ่ง 500 บาทต่อเดือนนั้น ยังไม่เพียงพอและไม่สอดคล้องกับค่ารถไฟฟ้าที่เฉลี่ยต่อเที่ยว ดังนั้นรัฐบาลอาจต้องพิจารณาเพิ่มวงเงินเป็น 700-800 บาทต่อเดือน ให้เหมาะสมกับศักยภาพรายได้
ขณะเดียวกันในแต่ละปีรัฐอัดฉีดเงินอุดหนุนภาคท่องเที่ยวปีละ 10,000-20,000 บาทต่อคน แต่เรื่องรถไฟฟ้าเป็นสิ่งใกล้ตัวกว่า หากมีการส่งเสริมให้นำบัตรลดไฟฟ้ามาลดหย่อนภาษีได้ด้วยก็น่าจะทำให้คนหันมาใช้บริการมากขึ้น
สำหรับแนวทางในการเข้ามาดูแลเรื่องราคาค่าโดยสารนั้น กรมการขนส่งทางรางมีแผนศึกษาหลายรูปแบบ เช่น การลดหย่อนภาษีส่วนบุคคลรายปีสำหรับค่ารถไฟฟ้า การส่งเสริมอุดหนุนให้พนักงานบริษัทขนาดใหญ่หันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะ และแนวคิดนำเงินภาษีรถยนต์ประจำปีมาอุดหนุนค่าโดยสารรถไฟฟ้า แต่ทั้งหมดนี้ต้องรอโครงข่ายรถไฟฟ้าแล้วเสร็จทั้งหมดก่อน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างวางโครงสร้างองค์กรและการรวบรวมข้อมูลเสนอฝ่ายกฤษฎีกาเพื่อขอออก พ.ร.บ.ขนส่งทางรางต่อไป โดยต้องได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมรัฐสภาภายใต้รัฐบาลชุดใหม่
ทั้งนี้ หากรัฐสามารถกำหนดอัตราค่าโดยสารรถโดยสารประจำทางและรถไฟฟ้าให้สอดคล้องกับต้นทุนการดำเนินงาน และค่าครองชีพของคนไทย รวมถึงมีการพัฒนาคุณภาพการให้บริการที่ดีขึ้น เพื่อให้การประกอบการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ก็จะส่งผลให้ประชาชนได้รับบริการที่มีคุณภาพและเกิดความเท่าเทียมการใช้มากยิ่งขึ้นในระยะยาว
ดร.สุเมธ องกิตติกุล – ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ ทีดีอาร์ไอ
“ค่ารถไฟฟ้าในเมืองแพงเกินไปกว่ากำลังซื้อของผู้มีรายได้น้อย ส่งผลให้ผู้ใช้บริการเป็น กลุ่มคนรายได้ปานกลางและสูง แต่คนจนกลับใช้ไม่ได้ รัฐบาลต้องกลับมาทบทวนว่าควรให้ความสำคัญกับเรื่องค่าโดยสารรถไฟฟ้ายิ่งขึ้น คงจะดีหากมีการส่งเสริมให้นำบัตรลดไฟฟ้ามาลดหย่อนภาษีได้ เพราะอัตราค่าใช้จ่ายรถไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่เดือนละ 1,000 บาท/คน ดังนั้นการลดหย่อนภาษีปีละ 10,000 บาทเป็นเรื่องที่น่าจะทำได้ ถ้ารัฐบาลเห็นความสำคัญ”
[English]
Thailand’s electric train fare averaged higher than cost of living
Thailand Development Research Institute (TDRI) revealed that the average electric train fare in Bangkok and surrounding cities is now at 28.30 baht per trip — the level that is much too high for lower-income earners. As a result, this service has mostly been for middle- and high-income people, who each pays around 1,000-2,000 baht a month (or over 12,000 baht a year) on travel.
However, TDRI noted that the electric train system carries high costs while the number of train commuters is considerably lower than the system’s design capacity. In order to lower the costs, more people have to be encouraged to switch to ride this mode of transportation — a move that will also help ease traffic congestion.
TDRI added that the Department of Rail Transport should still move quickly to address all problems to help the public, particularly in the areas of the fare structure. This is because Thailand’s average minimum daily wage of 300 baht (8 hours) or 37.50 baht per hour, does not match the reality of electric train fares that range from 16 baht to 70 baht.
When compared with other cities, Thai electric train fares are also higher. For example, Singapore electric train fares are between 0.78 Singapore dollar and 2.6 Singapore dollar, while the hourly minimum wage there is equivalent to 250 baht. In New York City, the hourly minimum wage is also about 250 baht and the electric train fare is flat at 2.75 U.S. dollar or around 91 baht.
TDRI has suggested the government to adopt more efficient policies in other countries to lower fares, such as the introduction of the common ticket system.