Friday, December 8, 2023
More

    ผังเมืองรวม กทม. ฉบับใหม่ ส่งเสริมประโยชน์ใคร?

    จากสภาพการณ์และสิ่งแวดล้อมการพัฒนาเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป ประกอบกับมีวิสัยทัศน์ที่จะเป็นเมืองชั้นนำในด้านเศรษฐกิจภาคบริการ มีความปลอดภัย สวยงาม สะดวกสบาย น่าอยู่ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีเอกลักษณ์เฉพาะ กรุงเทพมหานคร จึงต้องจัดทำร่างผังเมือง (ปรับปรุงครั้งที่ 4) เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาและบริหารจัดการเมืองให้ก้าวสู่การเป็นมหานครแห่งเอเชีย และเป็นเมืองสร้างสุขในปี 2580 

    เน้นแผนสร้างเมืองโตแบบกระชับ 
    ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) ที่คาดว่าจะประกาศใช้ได้ในปี 2563 ได้กำหนดแนวทางการพัฒนาเพื่อรองรับการเติบโตของเมือง คน และแหล่งงาน ต่อเนื่องไปจนถึงปี 2580 ซึ่งได้กำหนดการพัฒนาศูนย์กลางพาณิชย-กรรม และที่อยู่อาศัยหนาแน่นมากไว้ในเขตถนนวงแหวนรัชดาภิเษก และพัฒนาที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง และหนาแน่นน้อย ในพื้นที่ระหว่างถนนวงแหวนรัชดาภิเษก และถนนวงแหวนกาญจนาภิเษก ประกอบกับการพัฒนาเมืองบริวารและสงวนรักษาพื้นที่ชนบท และเกษตรกรรมในพื้นที่นอกเขตวงแหวนกาญจนา-ภิเษก และถนนวงแหวนรอบที่ 3 โดยในร่างผังเมืองรวม กทม. ได้จำแนกการใช้ประโยชน์ที่ดินเป็น 9 ประเภทหลัก 30 ประเภทย่อย ซึ่งจะส่งผลให้กรุงเทพฯ มีการพัฒนาในลักษณะที่เป็นเมืองกระชับ (Compact City) โดยส่งเสริมการพัฒนาเมืองให้สอดคล้องกับการพัฒนาโครงข่ายรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน



    ปรับใช้ประโยชน์ที่ดินรับเมืองขยายตัว
    เพื่อรองรับการเพิ่มขึ้นของจำนวน ประชากร การเติบโตทางเศรษฐกิจและการจ้างงาน ในร่างผังเมืองรวมกรุงเทพฯ จึงกำหนดแนวคิดในการใช้ประโยชน์ที่ดินโดยมุ่งเน้นทั้งด้านการพัฒนาย่านที่อยู่อาศัยหนาแน่นมากและหนาแน่นปานกลางในพื้นที่การให้บริการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน, การพัฒนาย่านที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อยบริเวณชานเมือง, การพัฒนาย่านพาณิชยกรรมศูนย์กลางเมือง (Central Business District หรือ CBD), การพัฒนาย่านพาณิชยกรรมศูนย์กลางรอง (Sub CBD), การพัฒนาบริเวณพื้นที่เปลี่ยนถ่ายการสัญจร (Transit Oriented Development หรือ TOD), การพัฒนาบริเวณศูนย์คมนาคม (Intermodal), การพัฒนาย่านพาณิชยกรรมศูนย์ชุมชนชานเมือง (Sub Center) เพื่อสร้างความสมดุลระหว่างแหล่งงานและที่อยู่อาศัย (Job-Housing Balance) ควบคู่กับการส่งเสริมการอนุรักษ์ย่านประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์และกรุงธนบุรี ในพื้นที่เขตพระนคร เขตป้อมปราบศตรูพ่าย, เขตสัมพันธวงศ์, การอนุรักษ์และพัฒนาย่านสถาบันการบริหารปกครอง รวมถึงการพัฒนาศูนย์ชุมชนเกษตรกรรมและการสงวนรักษาพื้นที่ชนบท และเกษตรกรรมที่มีความอุดมสมบูรณ์ของกรุงเทพมหานคร อีกทั้งยังมีการปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดินประเภทอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรมที่กำหนดให้เป็นทางน้ำท่วมหลาก (Flood Way) บางส่วนเป็นการใช้ประโยชน์ที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม โดยการปรับปรุงประสิทธิภาพการระบายน้ำเพื่อลดภาระความสูญเสียของ ประชาชนจากปัญหาอุทกภัย

    สำหรับโครงการที่อยู่ในแผนการพัฒนาที่สำคัญ มีน่าสนใจหลายโครงการ อาทิ โครงการพัฒนาพื้นที่ย่านพาณิชยกรรมรอง (Sub-CBD) ศูนย์คมนาคมพหลโยธิน ศูนย์คมนาคมมักกะสันและย่านพระราม 9 ให้เป็นพื้นที่ธุรกิจและพาณิชยกรรม ส่งเสริมการจ้างงาน การค้า และบริการ รองรับรถไฟฟ้าสายสีเขียว สายสีแดง สายสีน้ำเงิน สายสีม่วง และสายสีชมพู, โครงการปรับปรุงพื้นที่เปลี่ยนถ่ายการสัญจร (TOD) ในระยะ 500 เมตร โดยรอบสถานีรถไฟฟ้าบางหว้า, โครงการพัฒนาศูนย์ชุมชนชานเมืองบริเวณมีนบุรี ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนถ่ายการสัญจรระหว่างรถไฟฟ้าสายสีส้มและสีชมพู, การวางและจัดทำผังเมืองเฉพาะเพื่อการพัฒนาพื้นที่เปลี่ยนถ่ายการสัญจรบริเวณสถานีบ้านทับช้าง, การวางและจัดทำผังโครงการจัดรูปที่ดิน (Land Readjustment) เพื่อพัฒนาย่านที่อยู่อาศัยถนนกัลปพฤกษ์ และการวางและจัดทำผังโครงการปรับปรุงเขตเพลิงไหม้ ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522


    เพิ่มโครงข่ายถนนจาก 136 เป็น 203 สาย
    นอกจากนั้น ในร่างผังเมืองฉบับใหม่ ยังกำหนดเงื่อนไขให้เพิ่มโครงข่ายถนนจาก 136 สาย เป็น 203 สาย โดยมีทั้งสายทางที่ก่อสร้างใหม่ และปรับปรุงถนนที่มีอยู่เดิมซึ่งคับแคบให้ขยายเขตทางเป็นถนนตามขนาดได้ 7 ขนาด คือ 12, 16, 20, 30, 40, 50, และ 60 เมตร โดยให้ความสำคัญในการเพิ่มถนนขนาดเขตทาง 12 เมตร และ 16 เมตร เพื่อให้เป็นโครงข่ายถนนสายรองสำหรับเข้า-ออกระหว่างพื้นที่ภายในเขตปิดล้อมขนาดใหญ่ (Super Block) กับถนนสายหลักและสถานีรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนที่ตั้งอยู่บนถนนสายหลักต่างๆ ได้อย่างสะดวก เช่น โครงการพัฒนาโครงข่ายถนนสายรองในพื้นที่ปิดล้อมขนาดใหญ่ บริเวณถนนรามอินทรา-ประดิษฐ์มนูธรรม-ลาดพร้าว-พหลโยธิน

    อีกทั้งยังมีแผนผังกำหนดที่ตั้งและโครงข่ายสาธารณูปโภค ทั้งโครงการคลองระบายน้ำและป้องกันน้ำท่วม, โครงการอุโมงค์ระบายน้ำและป้องกันน้ำท่วม, โครงการโรงบำบัดน้ำเสียหรือโครงการโรงควบคุมคุณภาพน้ำ, โครงการขยายคันป้องกันน้ำท่วมและพนังกั้นริมแม่น้ำและคลอง, โครงการท่อส่งประปาสายหลักเพื่อสร้างเสถียรภาพในการจำหน่ายน้ำประปา, โครงการสถานีไฟฟ้าย่อยเพื่อสร้างเสถียรภาพในการจำหน่ายกระแสไฟฟ้า และโครงการสายไฟฟ้าใต้ดินเพื่อสร้างระบบไฟฟ้าที่มั่นคง รวม 172 โครงการ  เพื่อให้การบริการด้านสาธารณูปโภคมีความครอบคลุมมากยิ่งขึ้น


    จัดโบนัสพิเศษจูงใจเอกชนร่วมพัฒนา
    ร่างผังเมืองรวม กทม. ฉบับใหม่ ยังได้กำหนดมาตรการเพิ่มเติมผังเมืองเพื่อสร้างแรงจูงใจ ให้การส่งเสริมการร่วมพัฒนาเมืองจากภาคเอกชน ผู้ประกอบการ เจ้าของที่ดิน รวมถึงส่งเสริมให้ประชาชนลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลหันมาใช้รถไฟฟ้ากันให้มากขึ้น และรองรับกับการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย โดยมีการเพิ่มอัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดิน Far Bonus จาก 5 รูปแบบเป็น 8 รูปแบบ ซึ่งจะเอื้อประโยชน์ให้มีที่ว่างเพื่อประโยชน์สาธารณะหรือสวนสาธารณะเพิ่มขึ้น มีที่จอดรถยนต์รอบสถานีรถไฟฟ้ามากขึ้น รวมถึงมีที่อยู่อาศัยที่ต่ำกว่าราคาตลาด มีที่กักเก็บหรือรับน้ำ มีสถานที่ดูแลเด็กและผู้สูงอายุในเวลากลางวันเพิ่มขึ้น และสามารถเพิ่มพื้นที่ว่างเพื่อประโยชน์สาธารณะริมแม่น้ำเจ้าพระยาให้มีมากยิ่งขึ้น

    นอกจากนั้นยังมีเพิ่มมาตรการโอนสิทธิการพัฒนา (Transfer of Development Right: TDR) ซึ่งเป็นมาตรการสร้างความเป็นธรรมให้กับเจ้าของอาคารอนุรักษ์และพื้นที่อนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม, มาตรการโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ (PUD) ซึ่งเป็นมาตรการส่งเสริมการพัฒนาที่ดินสำหรับโครงการขนาดใหญ่ให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น รวมถึงเพิ่มมาตรการให้เจ้าของ ผู้ครอบครอง หรือผู้มีสิทธิก่อสร้างสามารถโอนสิทธิการพัฒนาจากพื้นที่เพื่อประโยชน์สาธารณะหรือสวนสาธารณะตามมาตรการ Far Bonus ไปยังพื้นที่สวนสาธารณะที่สร้างขึ้นใหม่ของ กทม. และโอนสิทธิการพัฒนาจากสวนสาธารณะที่ กทม. จัดให้มีขึ้นใหม่ไปยังบริเวณที่ส่งเสริมการพัฒนาตามได้ด้วย


    ต้องยอมรับว่าข้อกำหนดต่างๆ ที่ปรากฏในร่างผังเมืองฉบับใหม่นี้ จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมาย โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงที่เป็นผลจากการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดพื้นที่พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่เพิ่มมากขึ้น มีการกระจายพื้นที่ศูนย์คมนาคม เกิดการพัฒนาเมืองกระจายแหล่งงานเพิ่มขึ้น แต่ในมุมมองของประชาชน เสียงสะท้อนบางส่วนบ่งบอกว่าสิ่งที่กรุงเทพมหานครกำลังจัดทำอยู่ในขณะนี้ เป็นการปรับปรุงเงื่อนไขที่เอื้อต่อเอกชนมากกว่าจะเอื้อประโยชน์ให้ประชาชน

    ขณะเดียวกันก็ยังขาดการมองอย่างรอบด้านถึงผลกระทบที่ประชาชนจะได้รับ ทั้งผลกระทบจากการเวนคืนที่ดินจากการก่อสร้างโครงการของภาครัฐ ความแออัดของประชากรที่จะเพิ่มขึ้นจากการพัฒนา ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้น เช่น ฝุ่นละออง PM2.5 รวมถึงยังไม่เห็นว่า กทม. จะมีมาตรการอย่างไรหากเอกชนรับสิทธิพิเศษต่างๆ ที่กำหนดไว้ไปแล้วแต่ไม่พัฒนาโครงการตามเงื่อนไข ซึ่งเกรงว่าจะทำให้ประชาชนไม่ได้รับประโยชน์ และจะไม่สามารถพัฒนากรุงเทพมหานครให้เป็นเมืองสร้างสุขสำหรับทุกคนได้


    คุณทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ – รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
    “ผังเมือง กทม. ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4 มีการปรับปรุงหลายด้านที่ตอบโจทย์ประชาชน โดยให้สิทธิต่างๆ ทั้งเพื่อรองรับผู้สูงอายุ มีการใช้ประโยชน์ในพื้นที่โล่ง พัฒนาพื้นที่โดยรอบระบบขนส่งมวลชน ส่วนที่จะเห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนคือเกิดพื้นที่เศรษฐกิจใหม่แถบชานเมือง พื้นที่ย่านธุรกิจใหม่ เช่น รัชดาภิเษก พระราม 9 ยังมีการเพิ่มพื้นที่สีเขียวที่เดิมมีอยู่กระจัดกระจายก็จะทำให้เกิดการรวมสวนขนาดใหญ่ซึ่งจะเป็นแบบยั่งยืน รวมไปถึงมีการกำหนดแนวทางพัฒนาขยายถนนเพิ่ม และระบบระบายน้ำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งหลังจากรวบรวมความคิดเห็นประชาชนไปปรับปรุงแล้ว จะเสนอร่างฯ ต่อคณะที่ปรึกษาผังเมืองรวม กทม. และคณะกรรมการผังเมือง เพื่อขอความเห็นชอบ และปิดประกาศฯ 90 วัน ซึ่งประชาชนที่มีส่วนได้ส่วนเสียยื่นคำร้องได้ จากนั้นจะส่งไปยังกระทรวงมหาดไทยและคณะรัฐมนตรีเพื่อขอความเห็นชอบ โดยคาดว่าจะประกาศลงราชกิจจานุเบกษา เพื่อบังคับใช้กฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวม กทม. ฉบับใหม่ได้ประมาณปลายปี 2563” 


    [English]
    New Bangkok city plan & who stands to benefit
    Bangkok is working on its fourth city plan, which has been aimed at helping the Thai capital city to stand out economically while getting recognized for its safety, beauty, convenience and environmental friendliness.

    The new plan is expected to be enforced in 2020 and focuses on the continuous expansion of the city towards the year 2037.  Under this new plan, land is divided into nine main categories and 30 sub-categories in order to ensure Bangkok will become a effective compact city.

    Population and economic growth have stood behind the new design to ensure specific uses are achieved for such designated zones as central business districts (CBDs) and sub CBDs, while implementing the concepts of transit-oriented development (TOD), intermodal development, sub center development and job-housing balance.  Focuses have also been put on the conservation of historic districts, agricultural community and flood prevention for the city.

    Bangkok is looking to increase the number of roads to 203 from 136 by constructing new ones and upgrading existing ones to accommodate a rise in traffic and connect road travel with rail transport systems.

    Bangkok Metropolitan Administration (BMA) said that the new city plan would encourage the private sector to take part in the city development and persuade the public to switch to use public transportation systems more as well as prepare for the aging society.

    However, critics pointed out that BMA still failed to address such issues as increasing population density and air pollution (PM 2.5) and impacts from state-backed construction projects.