ใต้แมกไม้ในสวนรถไฟ ทุกเช้าตรู่วันเสาร์แรกของเดือนจะมีกลุ่มคนทั้งเด็กและผู้ใหญ่ก้มๆ เงยๆ ส่องกล้องไปยังต้นไม้น้อยใหญ่เพื่อดูนก ภายใต้ Bird Walk กิจกรรมศึกษาธรรมชาติที่สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศ ไทยจัดขึ้น โดยจะมีอาสาสมัครนำดูนก (Bird Leader) พาทัวร์สำรวจดูนกนานาชนิดรอบสวนสีเขียว
ชวนคนเมืองดูนกในวันหยุดสุดสัปดาห์
เป็นเวลานานกว่าสิบปีแล้วที่มีการจัดกิจกรรม Bird Walk ขึ้นในช่วงวันเสาร์และอาทิตย์ของทุกเดือนในสวนสาธารณะใหญ่ 4 แห่ง เริ่มต้นที่ สวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ), สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ, สวนพุทธมณฑล และ สวนหลวง ร.9 เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับนก และใช้นกเป็นสื่อกลางในการปลูกจิตสำนึกและความเข้าใจเกี่ยวกับความสำคัญของระบบนิเวศ
ที่สวนรถไฟมี คุณแบงค์-วิทธิกร โสภณรัตน์ เป็นเบิร์ดลีดเดอร์แนะนำวิธีการดูนก เขาอธิบายว่าโดยทั่วไปแล้วสามารถดูนกได้ตลอดทั้งปี ที่สวนรถไฟจะมีประมาณ 20 ชนิด เช่น กระเต็นอกขาว กระเต็นหัวดำ นกยางควาย กระติ๊ดขี้หมู เป็นต้น ซึ่งถ้าช่วงเดือน พ.ย.-ก.พ. อาจมีถึง 50-60 ชนิด
“การดูนกเป็นกิจกรรมเพลิดเพลินอย่างหนึ่ง ทำให้ได้พักผ่อน พ่อแม่ก็อยากพาลูกออกจากจอมาเจอโลกภายนอก อยู่กลางธรรมชาติ บางคนมาเพราะว่าชอบแต่ดูไม่เป็น ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดของการพาคนมาดูนกคือการให้คนมองเห็นความเชื่อมโยงระหว่างคนกับธรรมชาติ”
เข้าสู่ฤดูแห่งการดูนก
ทั่วโลกจะมีนกนับ 10,000 ชนิด เฉพาะในไทยพบนกประจำถิ่นและนกอพยพกว่า 1,000 ชนิด ขณะที่ในกรุงเทพฯ ก็จะเจอนกได้ราวๆ 100 ชนิด
โดยในช่วงเดือน พ.ย.-ก.พ. เป็นช่วงไฮซีซั่นของการดูนกในไทย เนื่องจากเป็นฤดูที่นกจะอพยพจากจีน มองโกลเลีย กระทั่งทิเบต เพื่อมาหาความอบอุ่น จึงจะได้พบนกนานาชนิดที่แปลกตา
คุณต้อง-อัครวัช สมไกรสีห์ เบิร์ดลีดเดอร์อาสาสมัครอธิบายว่า “ในกรุงเทพฯ เราสามารถดูนกได้ตามสวนสาธารณะ เพราะระบบนิเวศพร้อม มีที่ซ่อนตัวเพื่อความปลอดภัย เช่นนกตัวเล็กๆ อย่างนกเค้าต้องอยู่ตามโพรง บางครั้งก็มีเหยี่ยวอพยพมา”
บ้านของนกก็คือโลกของเราทุกคน
ข้อดีของการดูนกในกิจกรรม Bird Walk คือจะมีผู้เชี่ยวชาญที่คอยชี้ชวนให้ดูนก พร้อมบรรยายชื่อเสียงเรียงนามให้ได้รู้จัก รวมถึงข้อมูลอันน่าทึ่งประกอบ อย่างคุณแบงค์ก็จะมีสไตล์ในการเล่าเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเชิงประวัติศาสตร์และสังคมประกอบ จึงมีเรื่องราวอย่าง ทำไมถึงเรียกนกตีทอง หรือรู้ไหมว่านกตะขาบทุ่งไม่ได้กินตะขาบ ซึ่งทำให้ดึงดูดและกระตุ้นความสนใจไม่น้อย
“เพราะคนโบราณฟังเสียงนกตีทองร้องเหมือนคนตีทอง นกตะขาบทุ่งโบราณก็เรียกว่าสีขาบ นกยางก็ขาวเหมือนน้ำยาง ฝรั่งจะเรียกนกตามเสียงร้อง ส่วนคนไทยเรียกตามสี” แบงค์เล่าถึงวิธีการพาดูนก
“ผมอยากให้คนดูนกไม่เบื่อกับโลกวิชาการสิ่งแวดล้อม ก็จะถ่ายทอดเกร็ดความรู้เพื่อเชื่อมโยงกับคน นกก็คือธรรมชาติ ซึ่งการเชื่อมโยงคนกับธรรมชาติเป็นจุดเริ่มต้นของการอนุรักษ์ แต่ก็มีคนที่มาแล้วไปต่อยอดด้านอื่นอย่างทำงานศิลปะหรือสถาปนิกก็เอาไปออกแบบโดยใช้ความรู้เรื่องนก”
มีสิ่งหนึ่งที่เบิร์ด ลีดเดอร์ทั้งสองมองนกในมุมเดียว นั่นคือเรื่องของการเปลี่ยนแปลง โดยคุณต้องได้เล่าถึงสิ่งที่เห็นมาตลอดสิบปีว่า ปริมาณนกลดลง จากเมื่อก่อนที่เคยเห็นฝูงหนึ่งมีอยู่ 20-30 ตัว อย่างนกพญาไฟเล็ก ก็เหลือเพียง 4-5 ตัว บางชนิดหายากขึ้นหรือหายไป เช่นเมื่อก่อนในสวนรถไฟยังสามารถพบเหยี่ยว แต่เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยพบแล้ว โดยตั้งข้อสังเกตว่าอาจเป็นเพราะเมืองโตขึ้น รวมถึงคนมาใช้บริการสวนสาธารณะเยอะขึ้น
สอดคล้องกับสายตาของคุณแบงค์ ซึ่งมองว่าสามปีที่ผ่านมาทุกคนเริ่มตระหนักว่าสวนสาธารณะเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิต แต่ผลกระทบที่เห็นคือพฤติกรรมของนกที่ขยับตัวออกไปไกลขึ้น เนื่องจากตื่นคนจึงซ่อนตัว ฉะนั้นเมื่อเมืองเกิดขึ้น นกและสิ่งมีชีวิตอื่นก็ต้องหลบออกไป
“Bird Walk ทำให้รู้จักกับธรรมชาติมากขึ้น ได้เห็นว่ารอบตัวเราไม่ได้มีแค่คน จะทำให้เด็กๆ จำว่าเวลาทำอะไรต้องนึกถึงสิ่งอื่นๆ ด้วย ไม่ใช่ว่าจะทิ้งขยะตรงไหนก็ได้ ถ้าอีกามากินก็ติดคอตาย ซึ่งสัมพันธ์กับที่เราต้องตระหนักว่าเราไม่ได้อยู่คนเดียวบนโลก” เบิร์ดลีดเดอร์กล่าวทิ้งท้ายการดูนกในสวนที่ชวนให้เราอยากกลับมาสัมผัสอีก
PRECIOUS EXPERIENCE
โปรแกรมการจัดกิจกรรม Bird Walk วันเสาร์แรกของทุกเดือน ที่ สวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ), วันอาทิตย์ที่สองของเดือน ที่ สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ, วันเสาร์ที่สามของเดือน ที่ สวนพุทธมณฑล จ.นครปฐม และ วันอาทิตย์แรกของเดือน ที่ สวนหลวง ร.9 (จะจัด 3 เดือนครั้ง) เข้าร่วมกิจกรรมฟรี สอบถามเพิ่มเติม สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย โทร. 02 075 1413 หรือ Facebook: Bird Conservation Society of Thailand (BCST)