Wednesday, May 24, 2023
More

    เร่งสปีดสร้างรถไฟฟ้าโมโนเรล สายสีเหลือง-ชมพู งานท้าทายสู่เป้าหมายเปิดบริการปี 64

    หลังจากกดปุ่มก่อสร้างรถไฟฟ้าโมโนเรลทั้ง 2 สาย คือ สายสีเหลือง และสายสีชมพู อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2561 ผ่านมาแล้ว 1 ปี ขณะนี้มีความคืบหน้าในภาพรวมอยู่ที่ 40% ยังเหลืออีก 60% ที่ รฟม. จะต้องเร่งมือ เพื่อให้ทันต่อกำหนดการเปิดให้บริการในเดือนตุลาคม 2564 

    สำหรับการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง และ รถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ซึ่งเป็นระบบขนส่งมวลชนสายรอง ประเภทรถไฟฟ้ารางเดี่ยวแบบคร่อมราง (Straddle Monorail) ขณะนี้ทั้ง 2 โครงการมีความคืบหน้าในภาพรวมเฉลี่ยที่ 40% และอยู่ในขั้นตอนการติดตั้งคานทางวิ่ง (Guideway Beam) ที่ใช้สำหรับให้รถไฟฟ้าโมโนเรลวิ่งคร่อมไปตามทาง


    นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข รองผู้ว่าการ (วิศวกรรมและก่อสร้าง) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ยอมรับว่าการก่อสร้างทั้ง 2 สายทางยังล่าช้ากว่าแผนอยู่ประมาณ 5% และยังบอกว่าทั้ง 2 โครงการมีความอ่อนไหว มีจุดวิกฤติอยู่มาก ทั้งกำหนดเวลาการก่อสร้างรวมกว่า 60 กม. ภายในเวลาประมาณ 2 ปีครึ่ง และยังมีปัญหาอุปสรรค ทั้งการได้มาของพื้นที่การก่อสร้างที่ล่าช้า เข้าพื้นที่ได้ช้าและไม่ยาวต่อเนื่องกัน ด้านการรื้อย้ายสาธารณูปโภคก็ทำได้ช้า ซึ่งเป็นผลจากการเข้าพื้นที่ล่าช้า นอกจากนี้ในบางจุดมีโครงการอื่นทับซ้อน หรือมีหน่วยงานอื่นเข้ามาขอมีส่วนร่วมในการดำเนินการด้วย ทำให้มีเนื้องานเพิ่มเติม รวมไปถึงข้อจำกัดของเวลาให้รถใหญ่เข้าพื้นที่ และการขนย้ายอุปกรณ์ต่างๆ ที่จะเน้นหนักในช่วงกลางคืน ซึ่งทาง รฟม. ต้องมีการปรับแผนงานตามเนื้องานและปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่ตลอด เพื่อให้การก่อสร้างเดินหน้าไปได้อย่างราบรื่นที่สุด


    คุมเข้มอุบัติเหตุจากการก่อสร้าง
    รองผู้ว่าการ รฟม. กล่าวอีกว่า ในระหว่างนี้ รฟม. จะต้องบริหารจัดการแผนงาน และควบคุมการก่อสร้างให้เดินหน้าไปได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งแน่นอนว่าการเร่งงานให้เร็วขึ้นอาจสวนทางกับเรื่องของความปลอดภัย รฟม. จึงได้กำชับให้ที่ปรึกษาบริหารโครงการและควบคุมงานก่อสร้าง ควบคุมกำกับให้ผู้รับสัมปทานปฏิบัติตามเงื่อนไขในสัญญาทั้ง ด้านอาชีวอนามัย ด้านความปลอดภัย และด้านสิ่งแวดล้อม มีการตั้งคณะกรรมการกำกับการติดตามตรวจสอบ

    นอกจากนั้น รฟม. ยังเพิ่มมาตรการเข้มงวดโดยให้มีการ ให้การจัดทำรายงานสาหตุของการเกิดอุบัติเหตุในแต่ละครั้งอย่างรวดเร็ว เพื่อเร่งดำเนินการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ และรายงานต่อกระทรวงคมนาคม รวมถึงมีมาตรการปรับเงินทันทีเมื่อเกิดอุบัติเหตุที่เกิดจากการละเลยความปลอดภัย ทั้งจากผู้รับเหมาและที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้าง ซึ่งหลังจากมีมาตรการเหล่านี้เห็นผลได้ว่าอุบัติเหตุลดลง


    ประสานจัดแผนบรรเทาปัญหาจราจร 
    ในเรื่องของการบรรเทาปัญหาการจราจร จากที่ ทั้ง 2 สายทาง ก่อสร้างผ่านถนนเส้นหลัก ได้แก่ ลาดพร้าว ศรีนครินทร์ แจ้งวัฒนะ รามคำแหง ทำให้ด้านทิศตะวันตกของเมืองจะมีปัญหาการจราจรมากที่สุด รฟม. จึงได้ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่อย่างใกล้ชิด ทั้งการทำงานในช่วงที่มีการจราจรเบาบาง เวลา 22.00-04.00 น. การประสานความร่วมมือกับหน่วยงานด้านการจราจรเพื่อจัดการจราจรอย่างมีประสิทธิภาพ และประชาสัมพันธ์พื้นที่ที่จะมีการดำเนินงานก่อสร้างที่อาจส่งผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง เช่น การติดตั้งคานทางวิ่ง การขนย้ายเครื่องจักรขนาดใหญ่เข้าพื้นที่โครงการฯ อย่างชัดเจน

    ด้วยเงื่อนไขเวลาที่ค่อนข้างจำกัด คือ 2 ปีครึ่ง กับการก่อสร้างรถไฟฟ้าทั้ง 2 สาย รวมกว่า 60 กม. นับว่าป็นงานที่มีความท้าทายมาก ซึ่งรองผู้ว่าการ รฟม. กล่าวยืนยันว่า แม้จะมีปัญหาและอุปสรรคให้ต้องแก้ไขตลอดการก่อสร้าง แต่จากประสบการณ์ในการกำกับดูแลการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ ทั้งรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สายสีม่วง สายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย สายสีเขียวช่วง   แบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต รวมถึงอุโมงค์ทางลอดแยกรัชโยธิน และสะพานรถยนต์ข้ามแยก 3 แห่ง รฟม. จะบริหารจัดการให้ การก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้บริการได้ตามกำหนดคือภายในปลายปี 2564

    เมื่อทั้ง 2 โครงการก่อสร้างแล้วเสร็จ ประชาชนจะได้ใช้บริการรถไฟฟ้าโมโนเรล 2 สายแรกในประเทศไทย พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกครบถ้วนตามมาตรฐานและกฎหมายกำหนด สามารถใช้งานได้อย่างเต็มที่และเท่าเทียมกัน และในบางสถานีจะมีจุดจอดรถจักรยาน ลานจอดรถมอเตอร์ไซค์ และจุดจอดรับ-ส่งผู้โดยสารให้บริการด้วย


    นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข – รองผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)
    “รถไฟฟ้าโมโนเรล สายสีเหลืองและสีชมพู เริ่มก่อสร้างอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนสิงหาคม 2561 จนถึงตอนนี้ใช้เวลาไป 1 ปี มีความคืบหน้างานโดยรวมที่ 40% ถือเป็นเปอร์เซ็นต์ความก้าวหน้าที่ดี เมื่อเทียบกับเงื่อนไขเวลาการทำงานที่กำหนดในสัญญา และปัญหาอุปสรรคต่างๆ ที่มี อย่างไรก็ตามยอมรับว่างานยังล่าช้าอยู่ประมาณ 5% รฟม. จะต้องบริหารจัดการ กำกับดูแล ควบคุมงาน แก้ไขปัญหาอุปสรรคต่างๆ ให้คลี่คลายและเดินหน้าได้อย่างต่อเนื่อง โดยมั่นใจว่าจากประสบการณ์ทั้งการควบคุมการก่อสร้างรถไฟฟ้าเส้นทางต่างๆ รวมถึงอุโมงค์ทางลอด สะพานรถยนต์ขามแยก จะสามารถทำให้โครงการแล้วเสร็จตามกำหนด”