การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ไม่เพียงมุ่งมั่นขยายโครงข่ายรถไฟฟ้าเพื่อเพิ่มความสะดวกในการเดินทาง แต่ได้คำนึงถึงการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างกลมกลืนเป็นสุข พร้อมกับร่วมอนุรักษ์วัฒนธรรมไทยผ่านงานชักพระวัดนางชี ประเพณีสำคัญของชาวฝั่งธน
ความเป็นมาประเพณีชักพระวัดนางชี
“งานชักพระวัดนางชี” หรือที่เรียกกันในปัจจุบันว่า “งานแห่พระบรมสารีริกธาตุ” เป็นงานบุญประจำปีของชาวฝั่งธนบุรี ที่ถือปฏิบัติกันมาเป็นเวลานาน โดยจะจัดขึ้นในวันแรม 2 ค่ำ เดือน 12 ของทุกปี ณ วัดนางชี ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ตั้งอยู่ริมคลองด่าน เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร
โดยทางวัดจะอันเชิญ พระบรมสารีริกธาตุและพระพุทธสาวก ขึ้นประดิษฐานบนบุษบก แล้วแห่ไปทางเรือ เริ่มจากหน้าวัดนางชี ไปตามลำคลองด่าน เลี้ยวซ้ายออกไปตามคลองบางกอกใหญ่ และผ่านมาช่วงปลายคลองซึ่งเรียกว่าคลองชักพระ แล้วอ้อมไปทะลุคลองบางกอกน้อย ล่องขบวนไปตามคลองบางกอกน้อย ไปออกปากคลองบางกอกน้อยเลี้ยวขวาเรียบตามลำน้ำเจ้าพระยา เข้าคลองบางกอกใหญ่ (คลองบางหลวง) แล้ววกมาเข้าปากคลองด่านกลับไปยังวัดนางชีตามเดิม ซึ่งการแห่ลักษณะนี้ชาวบ้านมักเรียกกันว่า “แห่อ้อมเกาะ”
นอกจากนั้น ยังมีเรือที่มาร่วมขบวนหลายแบบ บ้างก็แต่งเป็นตัวตลกเช่นใส่หัวล้านทั้งลำ หรือจัดให้มีการเล่นละคร ลิเก เพลง ในเรือ เป็นการสนุกสนานรวมถึงเรือลากจูงเรือพระบรมสารีริกธาตุ ที่ตกแต่งหัวเรือและท้ายเรือไว้อย่างสวยงาม เช่น เป็นหัวสุครีพ หงส์ ส่วนเรือที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุจะเป็นเรือต่อขนาดใหญ่ตกแต่งอย่างสวยงาม มีวงปี่พาทย์บรรเลงสมโภชไปในเรือตลอดทาง
ในขณะที่ขบวนแห่เคลื่อนไปเมื่อถึงสะพานใดจะอันเชิญพระบรมสารีริกธาตุขึ้นจากเรือ ให้คนถือเดินข้ามสะพานไปลงเรือทางอีกด้านหนึ่งตลอดทาง และเปิดโอกาสให้คนบริเวณนั้นลงมาสรงน้ำพระบรมสารีริกธาตุในเรือ ขณะที่หยุดพักจะมีการละเล่น การแข่งกันอย่างสนุกสนาน ระยะต่อมาได้เปลี่ยนมาใช้เรือยนต์จูงเรือที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ แต่การละเล่นที่สนุก สนานก็ยังคงมีอยู่ และชาวบ้านที่อยู่สองฝั่งคลองเมื่อถึงวันงานจะออกมารอนมัสการที่ท่าน้ำหน้าบ้านกันเนืองแน่น
รฟม. ร่วมสืบสานประเพณีอันทรงคุณค่า
รฟม. ในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยายช่วงหัวลำโพง – บางแค และช่วงบางซื่อ – ท่าพระ ซึ่งมีแนวเส้นทางผ่านพื้นที่คลองบางไผ่ และคลองบางกอกน้อย ที่ใช้เป็นเส้นทางขบวนแห่พระบรมสารีริกธาตุและพระธาตุสาวกทางน้ำรอบเมืองธนบุรี
โดยมีข้อปฏิบัติที่สืบทอดกันมาว่าพระบรมสารีริกธาตุ เป็นสิ่งที่พุทธศาสนิกชนให้ความเคารพสำคัญสูงสุด ห้ามลอดใต้สะพาน ดังนั้น เมื่อขบวนแห่ถึงสะพานในแต่ละแห่ง จะมีท่าเทียบเรือเรียกว่า ท่าขึ้น และท่าลง เพื่ออันเชิญพระบรมสารีริกธาตุ ขึ้นฝั่ง แล้วข้ามถนนเพื่อไปลงเรืออีกฝั่ง โดยจะมีเรือพิธีรอรับ ซึ่งจะทำลักษณะเดียวกันนี้ในทุกๆ ท่าเรือที่มีสะพานขวางไว้
เพื่อเป็นการรักษาวัฒนธรรมประเพณีอันทรงคุณค่า ควบคู่ไปกับการพัฒนาการขนส่งมวลชนแห่งอนาคต รฟม. จึงได้ออกแบบโครง-สร้างสถานีรถไฟฟ้า 2 แห่ง คือ สถานีบางไผ่ และ บางขุนนนท์ ซึ่งเป็นจุดที่ตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่ใกล้คลองบางไผ่ และคลองบางกอกน้อย ให้มีสะพานเหล็กอยู่เหนือทางวิ่งรถไฟฟ้า พร้อมจัดทำ “กระเช้าพระธาตุ” และ “ระบบชักรอก” สำหรับอันเชิญพระบรมสารีริกธาตุขึ้นไปบนสถานี โดยวิธีการคือ จะอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุใส่กระเช้าพระธาตุ แล้วทำการชักรอกกระเช้าพระบรมสารีริกธาตุขึ้นไปบนสถานี จากนั้นจึงอุ้มข้ามทางวิ่งรถไฟฟ้าโดยสะพานเหล็กที่เตรียมไว้ไปยังอีกฝั่งของสถานี แล้วจึงชักรอกกระเช้าพระบรมสารีริกธาตุลงจากสถานี ซึ่งจะมีขบวนแห่รอรับอยู่ด้านล่าง เพื่ออัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุไปตามเส้นทางต่อไป โดยมีการเปิดใช้ในงานประเพณีชักพระวัดนางชีครั้งแรกในปี 2562
ทั้งนี้ การออกแบบโครงสร้างสถานีรถไฟฟ้าให้กลมกลืน และสอดรับกับประเพณีท้องถิ่นดังกล่าว ถือเป็นสิ่งที่ รฟม. ให้ความสำคัญและตระหนักถึงการพัฒนาขนส่งมวลชนแห่งอนาคตให้ครอบคลุมและยกระดับการเดินทาง ควบคู่ไปกับการรักษาวัฒนธรรมประเพณีอันทรงคุณค่าให้คงอยู่สืบไปรวมถึงเข้าร่วมสืบสานงานประเพณี เพื่อสร้างสัมพันธ์อันดีกับ วัด ชุมชน และประชาชนตามแนวสายทางโครงการรถไฟฟ้าในความรับผิดชอบของ รฟม.
ขอบคุณภาพประกอบจาก การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)