Wednesday, May 24, 2023
More

    คมนาคม ลุยโครงการ “พระราม 4 โมเดล” แก้รถติดหัวลำโพง-พระโขนง คาดได้ข้อสรุปภายใน 18 เดือน

    นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า กระทรวงคมนาคมได้ร่วมมือกับกรุงเทพมหานคร กองบัญชาการตำรวจนครบาล สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ มูลนิธิโตโยต้าโมบิลิตี้ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดตัวโครงการพัฒนาระบบการจัดการจราจรบนถนนพระรามที่ 4 : พระราม 4 โมเดล ซึ่งเป็นโครงการที่ต่อยอดจาก “สาทรโมเดล” เพื่อหาแนวทาง และกำหนดรูปแบบการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาการจราจรที่ยั่งยืน

    โดยจากการดำเนินโครงการสาทรโมเดล ที่ริเริ่มขึ้นในเดือนมิถุนายน 2557 เพื่อแก้ไขปัญหาจราจรอย่างเป็นระบบบนถนนสาทร และบริเวณโดยรอบ ในรูปแบบต่างๆ เช่น โครงการจอดแล้วจร มาตรการรถรับส่ง มาตรการเหลื่อมเวลาทำงาน และมาตรการบริหารจัดการจราจร พบว่าช่วยทำให้การจราจรบนถนนสาทรมีความคล่องตัวเพิ่มขึ้น 12.6% โดยความเร็วในการเดินรถเพิ่มขึ้นจาก 8.8 เป็น 14.8 กม./ชม. และความยาวแถวลดลง 1 กม. ในชั่วโมงเร่งด่วน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิภาพ และผลสัมฤทธิ์ของความร่วมมือที่ทุกภาคส่วนในสังคมที่มีส่วนสนับสนุนร่วมกัน


    กระทรวงคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงร่วมกันต่อยอด และขยายผลจากแผนงานของโครงการสาทรโมเดล ภายใต้ชื่อ “โครงการพระราม 4 โมเดล” โดยที่ “สาทรโมเดล” มีการบริหารจัดการแก้ปัญหาจราจรบนถนนสาทรไม่ยุ่งยากมาก เนื่องจากมีระยะทางไม่ยาว และมีกิจกรรมสองข้างทางไม่มากนัก แตกต่างจากถนนพระราม 4 ตั้งแต่ช่วงหัวลำโพงถึงพระโขนง มีระยะทาง 12 กม. และมีกิจกรรมสองข้างทางมากกว่า คือมีทั้งที่อยู่อาศัย สำนักงานขนาดใหญ่ พื้นที่ธุรกิจ และมีสภาพการจราจรหนาแน่นตลอดทั้งวัน จึงมีความท้าทายในการแก้ปัญหาจราจรมากกว่า

    สำหรับวิธีการในการจัดการ จะต้องใช้เทคโนโลยี และการคิดในรูปแบบ และวิธีการที่ทันสมัยมากขึ้น และต้องวิเคราะห์แบบวิทยาศาสตร์ โดยใช้หลักวิศวกรรมขนส่งและจราจรเข้ามาช่วยมากขึ้น ซึ่งจะต้องมีข้อมูลที่แม่นยำเพื่อนำมาใช้วิเคราะห์ และกำหนดมาตรการที่สามารถแก้ปัญหาได้จริง และยั่งยืน เนื่องจากในแต่ละวัน แต่ละชั่วโมงปัญหาการจราจรมีความแตกต่างกัน การกำหนดวิธีการแก้ปัญหาจึงไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะจะต้องทำให้การจราจรลื่นไหลได้ตลอดทั้งวัน

    ทั้งนี้ ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า โครงการนี้เป็นความร่วมมือของภาครัฐ เอกชน ที่มีทีมงาน เทคโนโลยีและวิธีคิดใหม่ ส่วนจุฬาลงกรณ์มีบุคลากรที่จะช่วย ที่สำคัญคือภาคประชาชนที่สามารถเข้ามาร่วมมือในการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ หรือการเคารพกฎจราจร ก็จะเป็นส่วนช่วยแก้ปัญหาจราจรได้

    ขณะที่ มูลนิธิโตโยต้าโมบิลิตี้ จะให้การสนับสนุนเงินจำนวน 50 ล้านบาท และจะมีการใช้ข้อมูลจากแหล่งที่หลากหลาย เช่น ข้อมูล GPS จากรถในระบบแกร็บ และระบบขนส่งสาธารณะ ภาพจากกล้อง CCTV และนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล และคาดการณ์สภาพจราจรล่วงหน้า อย่าง AI และ Machine Learning ผนวกกับองค์ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี และผู้เชี่ยวชาญด้านการสัญจร (Mobility Expert) โดยจะใช้เวลาดำเนิน 18 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือนธันวาคม 2562 โดยจะใช้เวลารวบรวมข้อมูล และกำหนดมาตรการประมาณ 12 เดือน จากนั้นจะเริ่มทดลองมาตรการต่างๆ เพื่อให้ได้แนวทางที่ครอบคลุม และรอบด้านมากที่สุด และจะส่งมอบโครงการให้ภาครัฐนำไปเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาการจราจรต่อไป