มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และอ็อกแฟม แห่งประเทศไทย (OXFAM) ชี้คนไทยบริโภคส้มอมพิษตลอดทั้งปี ซึ่งสารเคมีอันตรายตกค้างเกินค่ามาตรฐานส่งผลกระทบต่อสุขภาพ และยังเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม จึงรณรงค์ภาคประชาชนร่วมแสดงสิทธิให้ซูเปอร์มาร์เก็ต ใช้ระบบตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) ที่โปร่งใส และมีประสิทธิภาพ ติด QR Code พิสูจน์ว่าส้มที่ขายไม่มีสารพิษ หวังให้ผู้ผลิตลดใช้สารเคมี ผู้จำหน่ายคัดกรองแหล่งที่มาของส้มที่ปลอดภัย
ความยั่งยืนต่อการทานอาหารที่ดี ถือเป็นสิ่งที่หลายประเทศต้องการ
มร.จูเซปเป บูซินี (Mr.Giuseppe BUSINI) อัคราชทูตที่ปรึกษา-รองหัวหน้าคณะผู้แทนสหภาพยุโรป ประจำประเทศไทย กล่าวว่า การส่งเสริมความยั่งยืนต่อการทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพนั้น เป็นหัวข้อสำคัญในนโยบายด้านอาหารของสหภาพยุโรป ทั้งนี้ กลยุทธ์จากฟาร์มถึงโต๊ะอาหาร (Farm to Fork Strategy) นับว่าเป็นหัวใจหลักของนโยบายลดภาวะโลกร้อนในสหภาพยุโรป หรือ European Green Deal ที่ได้นำมาใช้เมื่อต้นปีที่ผ่านมา มีเป้าหมายในการส่งเสริมระบบการจัดการอาหารที่เป็นธรรมต่อสุขภาพที่ดี และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งเชื่อว่า การลดความเสี่ยงและลดปริมาณการใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันพืชเคมี ตลอดจนถึงปุ๋ยและยาปฏิชีวนะ และการเพิ่มพื้นที่ทำการเกษตรแบบออแกนิคนั้น มีความจำเป็นอย่างยิ่ง
ส้ม 1 ผล พบสารเคมีตกค้างมากถึง 55 ชนิด
นางสาวกิ่งกร นริทรกุล ณ อยุธยา ตัวแทนจากเครือข่ายกินเปลี่ยนโลก มูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) กล่าวว่า ส้มเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีมูลค่าสูงและมีห่วงโซ่อุปทานขนาดใหญ่ ที่อยู่คู่กับชีวิตคนไทยทุกรูปแบบ แต่จากการตรวจสอบเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช พบว่า ส้ม 1 ผล มีสารเคมีตกค้างมากถึง 55 ชนิด โดยเฉลี่ยถึง 0.364 มิลลิกรัม ซึ่งเป็นค่าที่เกินมาตรฐานความปลอดภัย (MRL) โดยสารเคมีตกค้างเป็นชนิดดูซึมที่ไม่สามารถล้างออกได้ถึง 28 ชนิด เช่น คาร์เบนดาซิม (Carbendazim) ส่งผลให้พิการแต่กำเนิดและภาวะเจริญพันธุ์เสื่อม สารคาร์โบฟูราน (Carbofuran) เป็นพิษต่อเซลล์สมองและฮอร์โมนเพศ สารอะเซตามิพริด (Acetamiprid) มีผลกระทบต่อสมองและประสาทเป็นต้น จากการสุ่มตรวจผลส้มใน ซูเปอร์มาร์เก็ต พบว่า 100% ของส้มที่ตรวจนั้น มีสารตกค้างเกินกว่าปริมาณที่กฎหมายกำหนด แม้ว่าจะเป็นซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำที่อ้างว่าตรวจสอบแล้วก็ตาม
ให้ความรู้แก่ผู้บริโภค ในการเลือกซื้อส้ม สร้างความตระหนักถึงความเสี่ยงอันตราย
นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ส้มจะให้ผลผลิตเพียงปีละ 1 ครั้ง ในช่วงเดือนธันวาคม – มีนาคม ซึ่งถือเป็นช่วงที่ปลอดภัยที่สุดเพราะเป็นส้มในฤดูกาล แต่ด้วยอุปสงค์ของตลาดที่มีความต้องการส้มตลอดทั้งปี ทำให้เกษตรกรต้องใช้สารเคมีมากกว่าปกติ เพื่อสามารถผลิตส้มได้ตามความต้องการของตลาด ตั้งแต่ระยะติดดอก ระยะติดผลตุ่มเท่าหัวไม้ขีด ช่วงลูกปิงปอง ช่วงเลี้ยงผิวสวยจนถึงเก็บผลผลิต
โดยสารเคมีที่ใช้ตลอดช่วงอายุ มักจะเป็นชนิดดูดซึม (Systemic) ซึ่งจะกระจายในลำต้นไปจนถึงเนื้อในของผลส้ม อีกหนึ่งกลไกของตลาดที่ทำให้ส้มกลายเป็นผลไม้อันตราย คือ ค่านิยมในการเลือกส้มที่มีผลใหญ่ ผิวสวย เรียบเนียน สีทองแวววาว ซึ่งทำให้หลายๆซูเปอร์มาร์เก็ต คัดเกรดส้มสวยมาจำหน่าย ทำให้ผู้ผลิต ต้องฉีดยาฆ่าแมลงและสารกำจัดศัตรูพืชถึง 52 ครั้งต่อปี หรือทุกๆสัปดาห์ ดังนั้นการหยุดวงจรส้มอมพิษ ผู้บริโภคต้องควรปรับพฤติกรรมในการเลือกบริโภค และทำความเข้าใจกับการเพาะปลูก เช่น เลือกรับประทานส้มที่มีผิวลาย ซึ่งเป็นส้มที่ได้รับสารเคมีในปริมาณที่น้อย เลือกทานส้มตามฤดูกาล รวมถึงผู้บริโภคควรมีสิทธิที่จะได้รับข้อมูลเกี่ยวกับส้มที่ซื้อผ่านซูเปอร์มาร์เก็ต เพื่อแสดงถึงความจริงใจและห่วงใยในสวัสดิภาพของผู้บริโภค จากผลสำรวจในซูเปอร์มาร์เก็ตมีระบบการตรวจสอบที่ยังไม่มีประสิทธิภาพมากพอ
แสดงสิทธิ์ผู้บริโภค ให้ซูเปอร์มาร์เก็ตตรวจสอบแหล่งที่มาของส้มที่วางจำหน่าย
นางสาวฐานิตา วงศ์ประเสริฐ เจ้าหน้าที่รณรงค์ องค์การอ็อกแฟม ประเทศไทย (OXFAM) กว่าวว่า กิจกรรม “หยุดส้มอมพิษ หรือ Orange Spike” กิจกรรมภายใต้แคมเปญ “ผู้บริโรคที่รัก (Dear Consumers)” โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ผู้บริโภคตระหนักว่าส้มมีความเสี่ยงอันตรายจากกระบวนการผลิต ต่อสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการตกค้างของสารเคมีซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพ และร่วมเรียกร้องให้หยุดส้มอมพิษตั้งแต่ต้นทาง เน้นการใช้กระบวนการตรวจสอบย้อนกลับที่มีประสิทธิภาพของซูเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งเป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงผู้บริโภคและผู้ผลิตให้มีกระบวนการผลิตที่ปลอดภัยขึ้น
โดยสามารถแสดงสิทธิของผู้บริโภคเรียกร้องให้ซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำ หยุดขายส้มอมพิษ ด้วยการรณรงค์ ให้ประชาชนลงนามผ่านทาง http://www.dearconsumers.com/th/petition ให้ซูเปอร์มาร์เก็จมีการตรวจสอบแหล่งที่มาของส้มผ่าน QR Code และเปิดเผยข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับสวนส้ม วิธีปลูก ตลอดจนกระบวนการคัดกรองของซูเปอร์มาร์เก็ตต่อผู้บริโภค