Thursday, October 5, 2023
More

    อาการปวดคอ บ่า ไหล่ สัญญาณเตือน ที่เสี่ยงอาจเป็นโรคหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท

    รู้หรือไม่ ปวดคอ มือชา ปวดร้าวที่แขน เสี่ยงต่อการเป็นหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท อาจเกิดขึ้นได้กับทุกคนและอันตรายถึงขึ้นเป็นอัมพฤกษ์อัมพาต ซึ่งเคยสงสัยไหมว่า โรคหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท เกิดจากอะไร รวมถึงใครอยู่ในกลุ่มเสี่ยงบ้าง

    หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท สามารถเกิดได้กับทุกคน

    จากข้อมูลของ โรงพยาบาล พริ้นซ์ สุวรรณภูมิ จังหวัดสมุทรปราการ เปิดเผยว่า โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท เป็นภาวะความเสื่อมสภาพของโครงสร้างกระดูกสันหลัง และมีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้กับทุกคน ซึ่งโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทนี้ เกิดจากพฤติกรรมผิดๆ ที่ทำเป็นประจำ เช่น การก้มคอเล่นโทรศัพท์ การนั่งโดยที่หลังไม่ได้พิงกับพนักพิง การนั่งท่าเดิมเป็นเวลานานโดยที่ไม่ได้เปลี่ยนอิริยาบถ การนั่งโต๊ะทำงานอย่างผิดสุขลักษณะ การยกของหนัก การสะพายกระเป๋าหนักๆ การนอนคว่ำอ่านหนังสือ ซึ่งอาการแรกเริ่มจะเกิดขึ้นจากอาการปวดคอ บ่า ไหล่ร้าวลงแขน บางรายอาจจะมีอาการชาร่วมด้วย พฤติกรรมดังกล่าวทำให้กระดูกสันหลังเสื่อมเร็วขึ้นและทำให้เกิดการทรุดตัวของโครงสร้างกระดูก จนทำให้เกิดหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท


    เผยวิธีสังเกตการเกิดโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท

    สำหรับวิธีสังเกตอาการเบื้องต้นของโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท โดยอาการที่เสี่ยงต่อการเป็นหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทนั้น จะมีอาการปวดบริเวณคอนำมาก่อน บางรายอาจจะมีอาการปวดร้าวไปถึงที่มือร่วมกับอาการชา เกิดเพียงข้างเดียวหรือสองข้างก็ได้ บางรายอาจจะทำให้แยกกับโรคออฟฟิศซินโดรมได้ยาก รวมถึงอาจจะมีอาการปวดไปที่ศีรษะร่วมด้วย จึงทำให้นึกว่านั้นคืออาการปวดศีรษะไมเกรน แต่ที่จริงแล้วอาจเป็นโรคหมอนรองกระดูกคอเสื่อมซ่อนอยู่ก็เป็นได้ หากระยะโรคดำเนินไปถึงขั้นท้ายๆ จะมีอาการหยิบจับของลำบาก ติดกระดุมเสื้อไม่ได้ หรืออาจจะทำให้การเดินทรงตัวลำบากมากขึ้น

    ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ลดเสี่ยงจากโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท

    วิธีป้องกัน ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หากพบว่ามีอาการของโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ควรรีบพบแพทย์เฉพาะทางทันที เพื่อตรวจ X-Ray หรือ MRI วินิจฉัยที่ถูกต้องแม่นยำ ซึ่งแพทย์แนะนำว่าโรคนี้ต้องรักษาด้วยวิธีที่มีผลวิจัยทางแพทย์ยืนยันเท่านั้น เพราะอาจจะทำให้เกิดภาวะเรื้อรัง ไปจนถึงขั้นเกิดอัมพฤกษ์อัมพาต หรือพิการได้

    สำหรับแนวทางรักษานั้น แพทย์จะรักษาตามอาการเป็นลำดับขึ้นไป ซึ่งอาการบางอย่างก็สามารถหายได้โดยไม่ต้องผ่าตัด เริ่มจากการเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน การใช้ยา การทำกายภาพบำบัดเฉพาะส่วนอย่างเคร่งครัด การฉีดยาเข้าโพรงประสาท และวิธีสุดท้ายคือการผ่าตัดเอาส่วนที่กดทับเส้นประสาทออก

    นอกจากนี้ยังสามารถป้องกันโรคดังกล่าวได้โดยการหลีกเลี่ยงการนั่งผิดสุขลักษณะ หมั่นเปลี่ยนอิริยาบถบ่อยๆ หลีกเลี่ยงการยกของหนัก ลดน้ำหนัก งดสูบบุหรี่ และหมั่นออกกำลังกาย ซึ่งจะทำให้ลดการเสื่อมของหมอนรองกระดูกได้