Tuesday, May 23, 2023
More

    7 งาน “คราฟต์” ส่งตรงภูมิปัญญาท้องถิ่น สู่ความร่วมสมัยที่จับต้องได้ง่าย

    พามาหา งานคราฟต์ ที่เต็มไปด้วยเรื่องราวการสานต่อภูมิปัญญาท้องถิ่น และความคิดสร้างสรรค์ของชุมชน ชนิดจะเพิ่มมูลค่าทางจิตใจ ในการครอบครองงาน “คราฟต์” เหล่านี้ แบบคุ้มค้าต่อการเสียทรัพย์ในช่วงนี้แน่นอน

    Wagon Way – แบรนด์เครื่องหนังอายุกว่า 70 ปี – การพลิกโรงงานรองเท้า สู่แบรนด์เครื่องหนังแฮนด์เมด


    โรงงานผลิตรองเท้าหนังและเครื่องหนัง “Wagon Way” ที่มีอายุกว่า 70 ปี ก่อนถูกต่อยอดมาเป็นงานเครื่องหนังแฟชั่นสองแบรนด์ “31 Thanwa” แบรนด์กระเป๋าไฮเอนด์ และ “Youngfolks” แบรนด์รองเท้ายูนิเซกส์ จากการต่อยอดโดย 3 พี่น้องทายาทรุ่นสาม ของ Wagon Way ที่ชุบชีวิตโรงงานรองเท้าหนังแห่งนี้ สู่งานแฟชั่นยุคใหม่ อย่างยั่งยืน

    ไอเทมน่าสนใจ “คราฟต์” – รองเท้าหนัง, รองเท้ายูนิเซกส์ และกระเป๋าไฮเอนด์

    แน่นอนว่าต้องเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องหนังจากแบรนด์ต่าง ๆ ที่มีไลนด์โปรดักต์เหมือนสามเหลี่ยม ฐานข้างล่างคือ รองเท้าหนัง “Wagon Way” ก่อนขึ้นมาที่รองเท้ายูนิเซกส์ Youngfolks ที่เข้าใจเข้าทุกเพศทุกวัย ราคาจับต้องได้ 2,000-4,000 บาท ส่วนบนสุดคือ 31Thanwa แบรนด์กระเป๋าไฮเอนด์ ทำน้อยชิ้นที่สุด แต่เป็นงานศิลปะระดับคราฟต์คุณภาพ

    ช่องทางการติดต่อ

    – แบรนด์ 31Thanwa / FB : 31ThanwaShop

    – แบรนด์ Youngfolks / FB : youngfolks

    หน้าร้านทั้งสองแบรนด์มีที่ สาขาพารากอน ชั้น M และ สาขาเอ็มโพเรียม ชั้น 1

    -โรงงานผลิตรองเท้าและเครื่องหนัง Wagonway / FB : Wagon Way Shoes Maker / Tel : 081-8475959

    TAKTAI – แฟชั่นที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม – ทักทายเสื้อผ้าจากเส้นใยรีไซเคิล

    TAKTAI (ทักทาย) แบรนด์ที่เกิดจากการพัฒนาธุรกิจแฟชั่นอย่างยั่งยืนของ ซิ่วซิ่ว-กัญจิรา ส่งไพศาล ที่เน้นผลิตภัณฑ์จากการใช้วัตถุดิบธรรมชาติ 100% นำมาถักทอด้วยความใส่ใจ พร้อมใส่ความเรียบง่าย มีเอกลักษณ์ แสดงถึงตัวตนของความเป็นธรรมชาติ และความเป็นไทย อันเกิดจากการผสมผสานภูมิปัญญาชาวบ้าน (Local Wisdom) เข้ากับนวัตกรรมทันสมัย และกลายเป็นหนึ่งในแนวทางเพื่อสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น สู่คนรุ่นหลังในแบบฉบับของ TAKTAI

    ไอเทมน่าสนใจ “คราฟต์” – เสื้อผ้าสไตล์ยูนิเซ็กซ์

    เสื้อผ้าสไตล์ยูนิเซ็กซ์ ผลิตจากเส้นใยรีไซเคิล นำมาถักเป็นผ้ายืดสวมใส่สบาย และเข้ากันดีกับไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ เกิดเป็นสินค้าแฟชั่นที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จากนวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์ ทั้งยังมีสินค้าไลฟ์สไตล์หลากหลาย จากเส้นใยธรรมชาติ และเส้นใยรีไซเคิล ที่มีอัตลักษณ์เฉพาะตัวโดยฝีมือคนไทย เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คน หันมาใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย และอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างมีความสุข

    TAKTAl New Flagship Store / ตั้งอยู่ ชั้น 1 สยามเซ็นเตอร์ / โทร. 061-681-4664 / FB : Taktai

    ปักจิตปักใจ – งานคราฟต์จากผู้พิการทางสายตา – เทคนิคการปักผ้าแบบ “ซาชิโกะ”

    “ปักจิตปักใจ” แบรนด์ที่สร้างงานคราฟต์ ซึ่งถูกถักทอ และปักขึ้นโดยผู้พิการทางสายตาทุกขั้นตอน ตั้งแต่การสนเข็ม ไปจนถึงการบรรจุสินค้าเตรียมจำหน่าย นำเทคนิคการปักผ้าแบบ “ซาชิโกะ” ซึ่งเป็นการปักผ้าของชาวญี่ปุ่น ที่นิยมใช้ไหมญี่ปุ่นสองสี มาใช้วิธีการปักแบบง่าย ๆ ด้วยการด้นตะลุย เป็นลวดลายซ้ำ ๆ หรือสานกัน เป็นลวดลายต่าง ๆ สร้างเป็นอาชีพให้กับผู้พิการทางสายตา ในประเทศไทย

    ไอเทมน่าสนใจ “คราฟต์” – ผลิตภัณฑ์ทอจากผ้าธรรมชาติ

    สินค้าของ “ปักจิตปักใจ” มีให้เลือกหลากหลาย เช่น กระเป๋าเอกสาร ทอจากผ้าธรรมชาติ ปักลวดลายสายงาม มีกระเป๋าสะพายผ้าใยกัญชง ทั้งรูปแบบสะพายข้าง และรูปแบบกระเป๋าสะพายหลัง มีกระเป๋าใส่บัตรน่าพกพา และผ้าคลุมไหล่ เนื้อคอตตอนลินินเกรดเอ ที่มาพร้อมไฮไลต์อย่าง สีหม้อห้อม ปักลวดลายสวยงาม บริเวณชายผ้าทั้งสองด้าน 

    FB : Pakjitpakjai

    กลุ่มเเม่บ้านเกษตรกรบ้านแพง – ภูมิปัญญา 60 ปี ของ “เสื่อกกทอมือ” – ใช้วัตถุดิบท้องถิ่นอย่าง กกพันธ์ุน้ำจืด (กกกลม)  

    “เสื่อกกทอมือ” ภูมิปัญญาจากกลุ่มเเม่บ้านเกษตรกรบ้านแพง จ.มหาสารคาม ที่นำวัตถุดิบในท้องถิ่นอย่าง กกพันธ์ุน้ำจืด (กกกลม) มาสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์พื้นบ้านที่สืบทอดกันมายาวนานกว่า 60 ปี โดย “เสื่อกกทอมือ” 1 ผืนนั้น เกิดมาจากความชำนาญในการผลิต และพัฒนาเสื่อกกอย่างดี ใช้วัตถุดิบจากในท้องถิ่นซึ่งเป็นพื้นที่ที่ต้นกกเจริญเติบโตได้ดี นำมาถักทอโดยเริ่มต้นจากข้าวของเครื่องใช้ที่ทอขึ้น เพื่อใช้ในครัวเรือนของกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านแพง ก่อนต่อยอดพัฒนาใส่ไอเดียสร้างสรรค์ ให้ “เสื่อกกทอมือ” มีความร่วมสมัยมากขึ้น อย่างในปัจจุบัน

    ไอเทมน่าสนใจ “คราฟต์” – เสื่อกกทอมือ 

    “เสื่อกกทอมือ” ของกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านแพงนั้น จะใช้ ต้นกกพันธ์ุน้ำจืด (กกกลม) ที่โดดเด่นด้วยสีสันที่กลมกลืน ลายมัดหมี่ที่สะดุดตา เนื้อแน่น ละเอียด และมีเคล็ดลับอยู่ที่การผูกเส้นยืน ต้องผูกให้ตรง ทำให้สามารถใช้งานได้อย่างยาวนาน

    FB : เสื่อกก บ้านแพง มหาสารคาม OTOP Reed mat – เจ้าแรกดั้งเดิม / โทร. 086-641-2612, 099-523-0311

    ชุมชนหัตถกรรมกระจูดวรรณี –  การผลักดันสินค้าต้นกระจูดสู่ออนไลน์ – ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ต่อยอดสู่การท่องเที่ยวในชุมชน

    ชุมชนหัตถกรรมกระจูดวรรณี จ.พัทลุง นับเป็นอีกกลุ่มวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างสูงจากวิกฤตโควิด-19 คุณนัท-มนัทพงค์ เซ่งฮวด หัวหน้ากลุ่ม จึงได้ปรับตัวด้วยการส่งผลิตภัณฑ์แปรรูปจากต้นกระจูด ภูมิปัญญาที่สร้างรายได้ให้กับคนในพื้นที่ ลงสู่แพลตฟอร์มออนไลน์ จนกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง ได้อย่างน่าประทับใจ ทั้งยังสามารถต่อยอดให้เกิดเป็นการท่องเที่ยวในชุมชน อย่างโฮมสเตย์กระจูดวรรรณีอีกด้วย

    ไอเทมน่าสนใจ “คราฟต์” – งานดีไซน์จากต้นกระจูด

    เดิมทีสินค้าจาก “ต้นกระจูด” เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่มีการนำต้นกระจูดมาแปรรูปเป็นเสื่อ และของใช้ในครัวเรือน จากนั้นได้ต่อยอดด้วยการใส่งานดีไซน์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ทำให้ เสื่อธรรมดา กลายเป็นกระเป๋าสาน, เสื่อสาน และเฟอร์นิเจอร์ ดีไซน์เรียบหรู ที่มีกลิ่นไอของวัฒนธรรมพื้นบ้าน ผสานกับความร่วมสมัยอย่างลงตัว

    FB : VARNI CRAFT

    สมาคมรวมใจคนพิการ จ.อุดรธานี – สานตะกร้า เลี้ยงไก่ไข่ – โครงการสร้างอาชีพคนพิการ จ.อุดรธานี 

    สำหรับสมาคมรวมใจคนพิการ จ.อุดรธานี เกิดจากการรวมตัวกันของผู้พิการในจังหวัด นำโดย ธันย์ชนก นามวงศ์ ผู้พิการทางการเคลื่อนไหวมาแต่กำเนิด ที่ต้องการสร้างอาชีพให้ผู้พิการ และให้ทุกคนเห็นคุณค่าในตัวเอง โดยเริ่มสร้างอาชีพจากศักยภาพของคน และวัตถุดิบที่มีในท้องถิ่น ซึ่งแต่ละหน้าที่จะแบ่งตามความสามารถของผู้พิการแต่ละคน เช่น
    ผู้พิการทางการเคลื่อนไหว 

    – สานตะกร้า

    ผู้พิการทางสติปัญญา 

    – เก็บลวดลายในผ้าไทย

    ผู้พิการทางการได้ยิน 

    – เลี้ยงไก่ ปลูกข้าว เป็นต้น 

    และเมื่อทุกคนมาอยู่รวมกัน ทำให้ต่างเห็นคุณค่าของตัวเอง และผู้อื่น เพราะเข้าใจความรู้สึกซึ่งกัน และกัน มากกว่าการที่ให้ผู้พิการเข้าไปทำงานรวมกลุ่มกับคนร่างกายปกติ 

    ไอเทมน่าสนใจ “คราฟต์” – ตะกร้าสาน

    ตะกร้าสานที่มีการนำวัตถุดิบในท้องถิ่นมาใช้อย่างสร้างสรรค์ พร้อมใส่ความร่วมสมัยจากการได้บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด เข้ามาสนับสนุนโครงการสานตะกร้า โดยส่งเสริมวัสดุอุปกรณ์ พัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ให้มีเอกลักษณ์ พร้อมเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่าย อีกทั้งยังให้ทีมดีไซเนอร์ เข้าไปให้คำปรึกษา แนะนำการออกแบบลวดลายให้มีความทันสมัยอีกด้วย

    FB : Good Goods

    ชุมชนหล่ายแก้ว จ.เชียงใหม่ – คราฟต์ชาวดอย สู่ผ้าทอกะเหรี่ยงออนไลน์ – ศูนย์เรียนรู้วัฒนธรรมผ้าทอกะเหรี่ยง

    ชุมชนบนดอยสูง แม้จะห่างไกลอารยะธรรมคนเมือง แต่ยังคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์สำคัญของท้องถิ่น และยังใช้ภาษาถิ่นหรือภาษาชนเผ่าในการสื่อสาร รายได้ของชุมชนมาจากการประกอบอาชีพหลัก คือ การทำสวนลำไย และมีอาชีพเสริมคือการทำหัตถกรรม ทำไม้กวาด ทอผ้ากะเหรี่ยง และแปรรูป โดยทางชุมชนได้มีการตั้งร้านค้า และศูนย์เรียนรู้วัฒนธรรมผ้าทอกะเหรี่ยงตั้งแต่ปี 2537 เพื่อรวบรวมสินค้าในชุมชนออกไปขายสร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้าน และช่วยให้หลาย ๆ คนไม่ต้องเดินทางไปประกอบอาชีพไกลถึงในตัวเมือง 

    ไอเทมน่าสนใจ “คราฟต์” – ผ้าทอกะเหรี่ยง

    ผ้าทอกะเหรี่ยงที่ทอเป็นผ้าฝ้ายของชุมชนหล่ายแก้ว มีกรรมวิธีการทำจากธรรมชาติทุกขั้นตอน และมีลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ เฉพาะของชุมชนที่สวยงาม อาทิ ลายปะคังดอง (ลายแมงมุม) ลายหลึ่งเค้คลิ้ง (ลายเมล็ดฟักทอง) ลายก่ายกอง (ลายคดโค้ง) เป็นต้น ทั้งด้วยอัตลักษณ์อันโดดเด่นนี้ ชุมชนจึงได้อนุรักษ์ผ้าทอลายดั้งเดิม ควบคู่ไปกับการทำสินค้าหัตถกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย

    FB : ผ้าทอ บ้านหล่ายแก้ว, Karen Weaving Doi Tao