ในแวดวงเครื่องเบญจรงค์ ว่ากันว่าผลิตภัณฑ์จาก “ปิ่นสุวรรณเบญจรงค์” รังสรรค์ได้ใกล้เคียงของโบราณได้มากที่สุด ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะความตั้งใจจะอนุรักษ์ลวดลายแบบโบราณ ด้วยกระบวนการผลิตแบบดั้งเดิมโดยการลงสีจากพู่กันด้วยมือ และใช้ศิลปะชั้นสูงในการออกแบบ จึงทำให้ผลงานที่ออกมามีความละเอียดและอ่อนช้อย
ย้อนกลับไปเมื่อ 50 ปีที่แล้ว สู่จุดเริ่มต้นของปิ่นสุวรรณเบญจรงค์ เกิดจากคุณวิรัตน์ ปิ่นสุวรรณ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในวัยย่าง 93 ปี ได้ก่อตั้งโรงงานผลิตเครื่องเบญจรงค์แบบโบราณแห่งแรกของอัมพวา จ.สมุทร-สงคราม ภายหลังจากได้รู้จักกับพ่อค้าของเก่าที่มาตระเวนหาซื้อถ้วยชามโบราณ เครื่องสังคโลก และเครื่องเบญจรงค์จากชาวบ้าน ซึ่งทำให้เกิดความสนใจในมรดกภูมิปัญญาโบราณ บวกกับความสนใจเป็นพิเศษในสีสันอันสวยงามของเครื่องเบญจรงค์ จึงเริ่มศึกษาอย่างจริงจังมากขึ้น โดยหาหนังสือเกี่ยวกับประวัติของของเก่ามาอ่าน จึงทำให้เริ่มมีความรู้ในเรื่องลายเบญจรงค์ ซึ่งเมื่อมีของที่ชำรุดแตกหักก็หาวิธีและเทคนิคในการซ่อมแซมจนเหมือนเดิม พร้อมกับเรียนรู้เรื่องการผสมสีให้เหมือนแบบโบราณมากที่สุด จากความเพียรพยายามจึงก่อเกิดความชำนาญมากขึ้น และสั่งสมเป็นความรู้ในปัจจุบัน อีกทั้งยังสร้างอาชีพและถ่ายทอดความรู้ด้านเครื่องเบญจรงค์ให้กับคนในชุมชนอัมพวาอีกด้วย
โดยผลงานที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่นจนทำให้ปิ่นสุวรรณเบญจรงค์เป็นที่ยอมรับ นอกจากการเลียนแบบลวดลายโบราณแล้ว ยังพัฒนาเทคนิคเฉพาะตัวโดยผสมสีระหว่างสีหลักทั้ง 5 ให้เกิดเฉดสีใหม่ อีกทั้งยังใช้น้ำทองคุณภาพดีในสัดส่วนถึง 18-20% มากกว่าทั่วไปที่ใช้เพียง 8-10% เพื่อให้เครื่องเบญจรงค์มีอายุการใช้งานที่ยาวนานขึ้น รวมถึงยังเป็นรู้จักไปทั่วโลก จากการรังสรรค์ของที่ระลึกในการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค เมื่อปี 2546 ด้วยเอกลักษณ์ของลวดลายที่ได้รื้อฟื้นลายวิชเยนทร์
“ทั่วไปเครื่องเบญจรงค์จะทำด้วยลายข้าวหลามตัด ลายดอกพิกุล ลายพุ่มข้าวบิณฑ์ หรือลายจักรี เราจึงอยากรื้อฟื้นลายวิชเยนทร์ ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 2 กลับมาแต่งเติมบนภาชนะที่ทันสมัยมากขึ้น เพื่อผูกเรื่องราวการค้าขายกับต่างชาติตั้งแต่สมัยพระเจ้าประสาททอง พอเราได้ทำงานระดับประเทศจึงเป็นที่รู้จักว่า ปิ่นสุวรรณทำให้ลายโบราณสามารถเข้ากับของร่วมสมัยได้” คุณสรัญญา สายศิริ ทายาทช่างเขียนลายเครื่องเบญจรงค์รุ่นหลานกล่าว
ถึงอย่างนั้นทุกวันนี้การใช้เบญจรงค์เริ่มลดความนิยมลง แม้จะยังมีคนกลุ่มหนึ่งที่พยายามจะนำเบญจรงค์กลับมาใช้ในชีวิตประจำวัน อย่างหลายหน่วยงานที่ใช้เบญจรงค์เป็นของที่ระลึกเพื่อสะสมหรือการมอบของขวัญปีใหม่ แต่คุณสรัญญามีความต้องการที่จะให้คนรุ่นใหม่ได้หันมาใช้เบญจรงค์มากขึ้น อันเป็นที่มาของการต่อยอดงานให้ทันสมัยมากขึ้นภายใต้ “เบญจกลาย”
“เบญจกลายเกิดจากการไปอบรมเรื่องการสร้างแบรนด์ ซึ่งปิ่นสุวรรณเบญจรงค์เป็นภาชนะที่บรรจุเรื่องราวมากมาย การที่เราจะสร้างแบรนด์ใหม่ที่เป็นลูกหม้อของปิ่นสุวรรณเบญจรงค์ ก็ต้องเป็นอะไรที่ยิ่งใหญ่ตามไปด้วย บวกกับที่อุทยาน ร.2 มีการแสดงโขนทุกปี ทำให้นึกถึงนางเบญจกาย ซึ่งเป็นยักษ์ที่มีความสวยงามเหมือนนางสีดา แต่แปลงร่างได้ มีความเข้มแข็งและอ่อนหวาน เลยต้องการจะให้เบญจรงค์กลายร่างเป็นอย่างอื่นได้ด้วยเช่นกัน”
คุณสรัญญาได้นำเครื่องเบญจรงค์ที่เหลือใช้แล้ว ซึ่่งอาจจะบิ่นหรือมีเขม่าดำส่งลูกค้าไม่ได้ แต่ภายนอกยังคงความสวยงาม มาเจียให้บางและมีรูปร่าง ซึ่งเป็นวิธีการที่คล้ายกับทำเครื่องเจียรไน โดยคงเทคนิคการเขียนลายเบญจรงค์ด้วยพู่กันและใช้สีแบบโบราณ เพื่อสร้างคุณค่าใหม่เป็นเครื่องประดับ ไม่ว่าจะเป็นสร้อยคอ ต่างหู กระทั่งแหวน ที่สามารถใช้ได้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งแต่ละชิ้นงานจะไม่ซ้ำกัน มีลวดลายมีความสวยงามแตกต่างกันไม่เหมือนใคร อย่างการนำเอาแรง-บันดาลใจจากศิลปะภาวนา ที่คุณแม่ (คุณสุวรรณี ปิ่นสุวรรณ) ชื่นชอบมาต่อ ยอดเป็นคอลเลกชั่นแมนดาลา (Mandala)
นับว่าเป็นการสืบทอดอัตลักษณ์ของปิ่นสุวรรณเบญจรงค์ จากบรรพ-บุรุษให้คงอยู่ควบคู่ไปกับการพัฒนาและต่อยอดงานศิลปหัตถกรรมไทยให้ร่วมสมัยอย่างลงตัว