คุณค่าของงานศิลปหัตถกรรมไทยเป็นงานในอาชีพช่างฝีมือ ถูกสะท้อนออกมาจากการสืบทอดความรู้ส่งต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่นแต่เมื่อเวลาผ่านไปงานศิลปหัตถกรรมบางแขนงกลับเริ่มมีการสร้างสรรค์น้อยลงซึ่งก็อาจด้วยหลายๆ ปัจจัย จึงทำให้ผลงานศิลปหัตถกรรมบางประเภทเริ่มใกล้ที่จะสูญหายไปตามกาลเวลา
ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (ศ.ศ.ป.) เห็นคุณค่าของงานศิลปหัตถกรรมหลายประเภทที่ใกล้สูญหาย เหลือช่างฝีมืออยู่น้อยราย หวั่นสูญหายไปตามกาลเวลา จึงนำผลงานกว่า 300 ชิ้นที่ใกล้สูญหาย มาจัดแสดงร่วมกับผลงานที่มีอายุกว่า 200 ปี ในนิทรรศการ “หัตถกรรมชั้น “ครู” ที่ใกล้สูญหาย” เพื่อหวังให้เป็นพลังผลักดัน และสร้างแรงบันดาลใจให้ช่างฝีมือรุ่นหลังร่วมรื้อฟื้น สืบสาน รักษาให้ดำรงคงอยู่ และพัฒนาปรับประยุกต์ ไปสู่ประโยชน์แห่งการใช้สอยในชีวิตประจำวัน เพื่อไม่ให้สูญหายจากผืนแผ่นดินไทยไปตามกาลเวลา
ศิลปหัตถกรรมไทยคือผลงานที่ได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในมรดกของชาติ
นายพรพลเอก อรรถพร ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศเปิดเผยว่าเป็นที่ทราบกันดีว่างานศิลปหัตถกรรมไทยคือผลงานที่ได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในมรดกของชาติด้วยเอกลักษณ์ที่สามารถบอกเล่าถึงวิถีชีวิตวัฒนธรรมประเพณีได้เป็นอย่างดีที่สำคัญชิ้นงานเหล่านี้ล้วนถูกสร้างด้วยทักษะความชำนาญของช่างฝีมือที่มีมาตั้งแต่รุ่นบรรพชนที่ใช้ทั้งความรู้และภูมิปัญญาขั้นสูงในการสร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรมหลากหลายแขนงจึงล้วนเป็นศิลปะชั้นสูงทรงคุณค่าสะท้อนทั้งศาสตร์และศิลป์เชิงช่างสืบต่อมาจากรุ่นสู่รุ่นเพื่อรักษาให้มรดกแห่งภูมิปัญญาคงไว้ในแผ่นดิน
หนังใหญ่ – มหรสพที่แสดงถึงศิลปะชั้นสูงที่ใกล้สูญหาย
ครูวีระ มีเหมือน ครูศิลป์ของแผ่นดิน ปี 2552 ประเภทงานตอกหนังใหญ่ : หนังใหญ่เป็นศิลปะพิเศษที่รวมเอาหลากหลายศิลปกรรมไว้ด้วยกันแต่เดิมคนโบราณจะปลูกโรงขึงผ้าสีขาวผืนใหญ่หนังที่นิยมนำมาเชิดคือหนังวัวหนังควายตัวเมียที่มีอายุเพราะหนังจะอ่อนลงและตอกง่ายขึ้นเมื่อหนังใหญ่มีการพัฒนาขึ้นตัวหนังก็แบ่งประเภทเป็นหนังกลางวันที่ปิดทองและหนังกลางคืนที่ไม่ปิดทองและยังแบ่งแบบหนังในงานมงคลที่ลงสีสันรวมถึงงานอวมงคลที่ไม่ลงสีด้วยทั้งการแสดงหนังใหญ่คือศิลปะที่มีการใช้ภาษาอันหลากหลายเพื่อพากย์เป็นเรื่องราว
ดังนั้นเมื่อภาษาโบราณเริ่มเลือนหายไป หนังใหญ่ก็เลือนหายตามไปด้วย การจะอนุรักษ์หนังใหญ่จึงไม่ใช่แค่เรียนรู้วิธีการทำหนังเท่านั้น หากแต่ต้องเรียนด้านอื่นๆ ควบคู่ไปให้สุดทาง จึงจะมีโอกาสรักษางานหนังใหญ่ เหลือไว้ให้คนรุ่นหลังได้รู้จักอย่างลึกซึ้ง
งานคร่ำโบราณ – การตกแต่งลวดลายฝังเส้นเงินหรือเส้นทองลงไปในเหล็ก
ครูอุทัย เจียรศิริ ครูศิลป์ของแผ่นดิน ปี 2562 ประเภทงานเครื่องถม และงานคร่ำโบราณ : การทำงานคร่ำจะเริ่มบนเหล็กที่ไม่มีอะไรเลย ช่างต้องฝึกเขียนลายให้เป็น ต้องวางเส้น ลงลาย จัดระเบียบลายด้วยตัวเอง ส่วนขั้นตอนการสับเหล็กจะขึ้นกับฝีมือช่าง เช่น ของเขมรจะสับ 3-4 ครั้งแต่เขาจะลงลายละเอียดได้ไม่เท่าของไทย
ส่วนของไทยจะสับครั้งมากกว่านั้น ทั้งยังมีเทคนิคการลบและสับใหม่ได้ในผู้ที่ชำนาญจริงๆ แต่ถึงอย่างไรงานคร่ำก็ไม่ใช่หัตถกรรมที่คนทั่วไปหาซื้อ ผู้ที่ซื้อและสะสมส่วนใหญ่เป็นคนยุคเก่า และงานนั้นก็ต้องเป็นงานของช่างผู้มีชื่อเสียงด้วย เพราะฉะนั้นหากเราไม่พยายามอนุรักษ์และฟื้นฟู สักวันงานคร่ำโบราณก็คงสูญหายไม่เป็นที่รู้จักอีกต่อไป
น้ำต้น – คนโทที่สืบทอดมาจากงานฝีมือของช่างชาวเงี้ยว
ครูสมทรัพย์ ศรีสุวรรณ์ ครูศิลป์ของแผ่นดิน ปี 2563 ประเภทงานน้ำต้น : คนโทในชุมชนหมู่บ้านน้ำต้น อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ ความจริงนั้นสูญหายไปแล้ว แต่ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะฟื้นฟูภูมิปัญญาการปั้นน้ำต้น ทำให้ครูต้องศึกษาข้อมูลน้ำต้นใหม่ทั้งหมด เริ่มตั้งแต่ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ ไปจนถึงการสืบเสาะหางานหัตถกรรมน้ำต้นในลุ่มน้ำโขงทั้งหมด อย่างน้อยใน 8 จังหวัดภาคเหนือ ยาวไปถึง ไทลื้อ (12 ปันนา) รัฐฉานบางส่วน ล้านช้าง เพื่อนำผลที่ได้จากการศึกษาในอดีต มาสร้างเป็นน้ำต้นชนิดใหม่ ให้กลับมาคงอยู่บ้านน้ำต้น และชาวล้านนา และเพื่อให้หัตถกรรมชิ้นนี้เป็นที่รู้จักในปัจจุบัน ไม่ให้สูญหายไปตามกาลเวลา
งานประดับมุก – ศิลปะการตกแต่งที่มีความวิจิตรแวววาวจากเปลือกหอย
ครูจักรกริศษ์ สุขสวัสดิ์ ครูช่างศิลปหัตถกรรม 2555 ประเภทงานเครื่องประดับมุก : ครูโบราณจะใช้หุ่นที่ทำจากหวายจักสานขึ้นรูป แล้วนำหุ่นมาลงรักด้วยยางไม้ธรรมชาติ ด้วยการใช้ยางรักผสมถ่านที่ได้จากเปลือกไม้เผา แล้วผสมกับยางรักเรียกว่า “รักสมุก” หลังจากนั้นเอามาถมลงบนลายที่ผ่านการออกแบบ ฉลุทีละชิ้นจนเต็มพื้นที่ แล้วเช็ดชักเงา ขัดมันด้วยน้ำมันพืช จึงจะได้งานประดับมุกหนึ่งชิ้น ด้วยขั้นตอนที่ยากลำบาก วัตถุดิบที่หายาก ประกอบกับการสืบทอด และการใช้สอยที่ลดน้อยลง งานประดับมุก จึงเป็นศิลปหัตถกรรมที่เหลือเพียงกลุ่มช่างไม่กี่ราย ที่ยังทำหน้าที่อนุรักษ์ และสืบสานภูมิปัญญานี้ เพื่อดำรงไว้ไม่ให้สูญหายไปจากพื้นแผ่นดินไทย
งานเขียนลายรดน้ำ – เมื่อรดน้ำยาให้หลุดออก พลันปรากฏลวดลายสีทองอร่าม
ครูธานินทร์ ชื่นใจ ครูช่างศิลปหัตถกรรม 2555 ประเภทงานเขียนลายรดน้ำ และลงรักปิดทอง : โดยปกติแล้วงานเขียนลายรดน้ำไม่ได้ยากอย่างที่คิดแต่ด้วยวัสดุหลักที่ใช้เป็นทองคำแท้ที่มีราคาสูงทำให้คนไม่คิดจะทำหากไม่มีความเชี่ยวชาญจริงปัจจุบันช่างรุ่นใหม่จะใช้สีแทนทองคำในการฝึกฝนให้เกิดความเชี่ยวชาญ
จึงจะเปลี่ยนมาใช้ทองคำจริง อีกทั้งนอกจากจะต้องหมั่นฝึกฝนแล้ว ช่างรุ่นเก่า และใหม่ยังต้องหมั่นทำการดูแล มุ่งมั่นรักษา และเพิ่มความเข้าใจ ปรับตัวพัฒนางานโบราณมาสู่งานสมัยใหม่ เพื่อให้คนรุ่นใหม่เห็นคุณค่าความสำคัญที่จะอนุรักษ์ของเก่า ๆ ต่อไปในอนาคต ไม่ให้งานเขียนลายรดน้ำเกิดการสูญหายไป
อังกะลุง – เขย่าให้กระบอกไปกระทบกับรางไม้จนเกิดเป็นโทนเสียงเฉพาะตัว
ครูพีรศิษย์ บัวทั่ง ครูช่างศิลปหัตถกรรม 2559 ประเภทงานอังกะลุง : ความยากของการทำอังกะลุงอยู่ที่ไม้ไผ่ซึ่งเป็นวัสดุกระบอกทรงกลมทำให้เทียบเสียงได้ลำบากต่างจากผืนทุ้มผืนระนาดที่มีลักษณะแบนเทียบเสียงง่ายกว่าช่างทำอังกะลุงต้องเลื่อยเอาไม้ออกแล้วฟังเสียงภายในกระบอกที่ทั้งฟังยากเทียบด้วยเครื่องไฟฟ้าก็ลำบาก
สิ่งสำคัญคือช่างต้องเป็นนักดนตรี รู้จักเสียงดนตรี เพื่อที่จะใช้ปากเป่าฟังเสียงมาเทียบเสียงให้ตรงทั้งแบบไทย และสากล ซึ่งหากช่างไม่รู้จักดนตรีดีพอ การทำอังกะลุงก็เป็นเพียงแค่การเอาไม้ไผ่มาผ่าเฉย ๆ ช่างรุ่นใหม่จึงต้องใช้ทั้งความรู้ และความตั้งใจ เพื่อจะอนุรักษ์ให้คนรุ่นลูก รุ่นหลาน รุ่นหลัง ได้รู้จักเครื่องดนตรีที่สะท้อนภูมิปัญญา โดยไม่สูญหายไปจากผืนแผ่นดินไทย
บาตรโบราณ – บาตรบุทำขึ้นด้วยมือแบบดั้งเดิมด้วยเหล็ก 8 ชิ้น
ครูหิรัญ เสือศรีเสริม ครูช่างศิลปหัตถกรรม 2559 ประเภทบาตรโบราณ : งานบาตรโบราณทำมือ เป็นมรดกของบรรพบุรุษที่แทบจะไม่มีผู้สืบทอดแล้ว อีกทั้งงานบาตรโบราณถือเป็นหัตถกรรมที่มีความยากในทุกขั้นตอน ไล่ตั้งแต่ตีขอบ, ต่อบาตรขึ้นรูป, แล่นบาตร, ตีตะเข็บ, ลายบาตรให้เป็นรูปทรง, ตีเม็ดให้เรียบ, ตะไบบาตรและลงดำกระสุนเขียว
โดยต้องใช้ทั้งความอดทน เวลา และประสบการณ์ จึงจะสามารถทำบาตรให้สำเร็จครบตามขั้นตอนต่างๆ ได้ ปัจจุบันครูช่างที่ชุมชนบ้านบาตร ต่างพยายามส่งต่อความรู้งานทำบาตรโบราณตีมือให้คนรุ่นใหม่ เพื่อไม่ให้ภูมิปัญญาที่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ต้องสูญหายไปตามกาลเวลา
หุ่นกระบอกไทย – เริ่มจากการแกะหัวเผือกหัวมัน คลุมผ้า เชิดหากินไปวันๆ
ครูนิเวศ แววสมณะ ครูช่างศิลปหัตถกรรม 2561 ประเภทงานหุ่นกระบอกไทย : การทำหุ่นกระบอกทำได้ง่ายแต่ถ้าจะทำให้สวยจึงจะยากการจะดึงคุณค่าและความมีชีวิตของหุ่นกระบอกออกมาต้องอาศัยทักษะงานนาฏกรรมของผู้เชิดซึ่งในมุมมองของครูการจะทำให้หุ่นกระบอกเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายใหม่ๆ
เราเองก็ต้องมีการปรับตัวทั้งจากการแสดงพงศาวดารเรื่องใหม่ๆ การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการแสดง ที่ช่วยให้หุ่นมีความเสมือนคนมากยิ่งขึ้น ทั้งการกระพริบตา ปากเริ่มขยับ มือเริ่มหันกำไม้กำมือได้ แต่แน่นอนว่าช่างทุกคนยังยึดมั่นในการอนุรักษ์วิธีการทำหุ่นแบบเดิมๆ ไว้เพียงแต่เรา แค่เดินคู่ไปกับการพัฒนาปรับตัว เพื่อให้หุ่นกระบอกมีลมหายใจอยู่ได้ ในยุคปัจจุบัน
ผ้าซิ่นตีนจกไท–ยวน เสาไห้ – ความมานะอดทนของหญิง ที่ต้องจดจำลวดลาย ใช้ขนเม่นเกี่ยวทีละเส้นให้ได้ผ้าซิ่น 1 ผืน
ครูสุพัตรา ชูชม ครูช่างศิลปหัตถกรรม 2562 ประเภทงานผ้าซิ่นตีนจกไท–ยวน เสาไห้ : แต่ก่อนผ้าซิ่นไท–ยวน เหลืออยู่เพียง 9 ผืน ไม่มีทั้งคนทอ และคนเล่าเรื่อง ด้วยความที่อยากให้ผ้าซิ่นกลับมามีชีวิต ครูจึงไปขอศึกษาการทอผ้ายวนจากครูจงจรูญ มะโนคา และได้ใช้เวลาศึกษาการทอลายผ้าด้วยตัวเองร่วมปี จึงจะสำเร็จ 1 ผืน
ครูเชื่อว่าลวดลายของผ้าล้วนมีคุณค่า สะท้อนเอกลักษณ์ของชาติพันธุ์ไท–ยวน ได้อย่างชัดเจน ถึงสติปัญญาและความมานะอดทนของผู้หญิงโบราณ ที่ต้องจดจำลวดลาย ใช้ขนเม่น เกี่ยวทีละเส้นจนได้ผ้าซิ่น 1 ผืน เพื่อที่จะใช้ในวันแต่งงานตามแบบชนชาติพันธุ์ไท–ยวนอย่างแท้จริง สะท้อนให้คนรุ่นหลังเห็นถึงเอกลักษณ์ของท้องถิ่นได้ชัดเจน
แทงหยวก – ฉลุหรือสลักลงไปบนกาบกล้วยให้เกิดเป็นลวดลายต่างๆ
ครูสมคิด คชาพงษ์ ครูช่างศิลปหัตถกรรม 2563 ประเภทงานแทงหยวก : เล่าว่าความยากจริงๆของงานแทงหยวกคือวัตถุดิบที่ใช้หาได้ยากขึ้นในปัจจุบันอย่างต้นกล้วยตานีที่นิยมใช้ก็เจอสภาพอากาศที่แล้งจนต้นทั้งเล็กและแกร็นจนตายไปอีกหนึ่งความยากคือช่างสกุลเก่าที่เหลือน้อยต้องพยายามถ่ายทอดความรู้และความอดทนไปให้ถึงช่างรุ่นใหม่
ต้องคอยอบรมความอดทน ความตั้งใจ ไม่ให้ท้อถอย เพื่อที่จะได้สืบสานภูมิปัญญางานแทงหยวกแบบ ดั้งเดิมของสกุลช่างรุ่นบรรพบุรุษไม่ให้สูญหายไปและให้อยู่คู่สังคมไทยสืบไปชั่วลูกชั่วหลาน
ปักสดึงกรึงไหม – เทคนิคงานปักของสยาม ใช้ไหมสีทองปักลงบนผืนผ้าที่ขึงตึงบนสะดึง
ครูสรพล ถีระวงษ์ ทายาท ช่างศิลปหัตถกรรม ปี 2560 ประเภทงานปักสดึงกรึงไหม : งานปักของสยามแบ่งไว้ 8 ประเภท ซึ่งงานปักสดึงกลึงไหมเป็นหนึ่งในนั้น และงานปักที่ยากที่สุด คืองานปักที่รวมเอางานปักหลายชนิดไว้ด้วยกัน ที่ถือเป็นงานปักชั้นสูง ลวดลายต่างๆ จะใช้แววเป็นตัวกำหนด และส่วนใหญ่แล้วงานปักแต่ละชนิด จะแบ่งตามคุณประโยชน์ และสถานะที่ต้องใช้ ออกเป็น 3 สถานะ คือ ชาติ สะท้อนถึงประชาชน, ศาสนาสะท้อนพระสงฆ์และพระมหากษัตริย์สะท้อนถึงชั้นทรงสมณะศักดิ์
ความยากของงานปักโบราณจะเริ่มตั้งแต่การหาวัสดุที่คนโบราณให้ไว้ และช่างต้องตีความเรื่องของวัสดุนั้นๆ ว่ายังหลงเหลือ และดีพอที่จะมาทดแทนของเดิมตามจารีตดั้งเดิมได้หรือไม่ จึงจะพูดได้ว่างานปักนั้น ยังมีชีวิตอยู่ และไม่สูญหายไปในปัจจุบัน
นิทรรศการหัตถกรรมชั้นครูที่ใกล้สูญหาย
สำหรับงานนิทรรศการ “หัตถกรรมชั้น“ครู”ที่ใกล้สูญหาย” ศ.ศ.ป. ได้นำเอาผลงานเก่าแก่ที่สะท้อนคุณค่าการใช้สอยที่มีมาแต่โบราณ หรือมีมาแต่กรุงสุโขทัย กรุงศรีอยุธยา ถึงกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นเครื่องใช้ของชนชั้นสูง ชั้นเจ้านายกว่า 300 ชิ้น นำมาจัดแสดงเทียบเคียงกันกับผลงานครูที่ใกล้สูญหาย เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงคุณค่าผลงานศิลปหัตถกรรมที่มีมาแต่ดั้งเดิม เดินทางผ่านกาลเวลามาถมาถึงปัจจุบัน
ผลงานหลายชิ้นมีอายุมากกว่า 250 ปี ที่ไม่สามารถหาชมได้อีกแล้ว อาทิ ตู้พระธรรมประดับกระจกเกรียบ สมบัติของวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ สมัยรัชกาลที่ 1 อายุราว 230 ปี ผ้ายกเมืองนครศรีธรรมราช จากช่วงปลายกรุงศรีอยุธยา อายุกว่า 300 ปี กระเบื้องสังคโลกตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัย อายุกว่า 700 ปี กริชโบราณอายุกว่า 200 ปี เป็นต้น โดยจะจัดขึ้นจนถึงวันที่ 20 กันยายน 2563 ณ ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ซึ่ง ศ.ศ.ป. หวังที่จะเป็นสื่อกลางให้บุคคลที่มีทักษะเชิงช่าง ได้มีโอกาสที่ได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ภูมิปัญญา และแบ่งปันประสบการณ์ร่วมกัน โดยการพบกันของช่างฝีมือต่างยุค ต่างสมัย จะเป็นแนวทางให้ เกิดเป็นพลังผลักดันและสร้างแรงบันดาลใจให้ช่างฝีมือรุ่นหลังๆ นำไปสู่การสืบสาน ฟื้นฟู และพัฒนาปรับประยุกต์ ไปสู่ประโยชน์การใช้สอยในชีวิตประจำวัน เพื่อไม่ให้สูญหายไปตามกาลเวลา