Wednesday, December 7, 2022
More

    FAAMAI Digital Arts Hub ฮับดิจิทัลอาร์ตที่ตั้งเป้าเป็นผู้นำแห่งเอเชียแปซิฟิกใน 5 ปี

    BLT พาไปพูดคุยกับตัวแทนจาก 3 องค์กรหลักในการจัดตั้ง “ศูนย์ปฏิบัติการศิลปกรรมดิจิทัล” หรือ “FAAMAI Digital Arts Hub” ศูนย์ฯ ที่ควบรวมองค์ความรู้ด้านศิลปะ และเทคโนโลยีด้านดิจิทัล แบบสอดรับกับเทรนด์ดิจิทัลที่กำลังบูมทั่วโลก

    ในวันที่ประเทศไทยต้องการเติมเต็มบุคลากรด้านดิจิทัลอาร์ต ซึ่งกำลังขาดแคลน และตั้งเป้าเป็นผู้นำด้านฮับดิจิทัลอาร์ตของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกใน 5 ปี ทั้งหนุนเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นตัวนั้น


    FAAMAI Digital Arts Hub จะสามารถทำได้สำเร็จหรือไม่ และศูนย์ฯ แห่งนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร BLT ยกเนื้อหาแบบคัดเน้น ๆ มาให้ทุกคนได้อ่านกันแล้ว

    วันที่วงการดิจิทัลอาร์ตไทยกำลังจะเข้าสู่ “ฟ้าใหม่”

    นายจนัธ เที่ยงสุรินทร์ ผู้อํานวยการศูนย์ปฏิบัติการศิลปกรรมดิจิทัล หรือ FAAMAI Digital Arts Hub : ปัจจุบันสื่อดิจิทัลเข้ามามีบทบาทสำคัญ และสอดแทรกอยู่ในชีวิตของเราทุกคนบนโลกนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ปรากฏการณ์นี้ทำให้ดิจิทัลอาร์ตได้ถือกำเนิดขึ้น และได้รับการพัฒนา อย่างต่อเนื่องทั้งจากคนใน และนอกวงการศิลปะ และในประเทศไทยดิจิทัลอาร์ตเป็นสาขาวิชาที่ยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก

    โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างงานในลักษณะข้ามสาขา ไม่ว่าจะเป็นงานด้านภาพ เสียง หรือศิลปะการแสดง ดังนั้นเราจึงควรสร้างองค์ความรู้ ความเข้าใจในศาสตร์ดิจิทัลอาร์ต เพื่อเร่งเสริมศักยภาพของบุคลากร เพิ่มโอกาสทางธุรกิจ ตลอดจนพัฒนาให้ศาสตร์นี้เป็นอีกหัวหอกหนึ่งในการสร้างรายได้เข้าประเทศ

    และ “ดิจิทัลอาร์ต” คือการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะของศิลปิน ควบคู่ไปกับเทคโนโลยี ทั้งในบางครั้งยังรวมเอาผู้ชมเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์กับผลงานได้อีก เป็นเทคโนโลยีดิจิทัลที่เปิดพรมแดนศิลปะแบบใหม่ ให้ทั้งตัวศิลปิน และผู้ชมได้สัมผัสประสบการณ์ที่ต่างไปจากปกติ ในแบบที่ศิลปะแบบดั้งเดิมไม่สามารถทำได้

    การสร้างสรรค์งานที่ช่วยต่อยอดการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน

    นายจนัธ เที่ยงสุรินทร์ : การทำงานของ FAAMAI Digital Arts Hub จะมีการถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาผสานกับผลงานศิลปะ ทำให้งานศิลปะเป็นดิจิทัลอาร์ตที่น่าสนใจมากยิ่งขึ้น ตลอดจนร่วมกันพัฒนาองค์ความรู้ด้านดิจิทัลอาร์ต ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ เช่น โครงการประกวด และเวิร์กชอปต่าง ๆ เป็นต้น โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อใช้เป็นศูนย์รวมองค์ความรู้ และงานด้านดิจิทัลอาร์ต ของนิสิต นักศึกษา นักวิจัย ศิลปินไทย และต่างประเทศ ตลอดจนบุคคลทั่วไป

    และเพื่อเป็นการพัฒนาศักยภาพของนิสิต และคณาจารย์ในด้านดิจิทัลอาร์ตให้ทัดเทียมกับระดับนานาชาติทั้งในแง่ของการสร้างสรรค์ผลงาน และความรู้ในด้านเทคโนโลยีใหม่ และในระยะยาวยังก่อให้เกิดการขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจของประเทศ

    รวมทั้งเพื่อกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมในชุมชน สร้างความตื่นตัว และการมีส่วนร่วม และความภาคภูมิใจให้คนในชุมชน ตลอดจนเป็นการสร้างรายได้ให้กับร้านค้า และร้านอาหารในชุมชนอีกด้วย

    การเดินทางมายัง FAAMAI Digital Arts Hub

    นายวรพงศ์ สุขธีรอนันตชัย ผู้อำนวยการสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย : FAAMAI Digital Arts Hub ตั้งอยู่ในพื้นที่ใจกลางเมือง เดินทางสะดวกด้วยระบบขนส่งสาธารณะ และอยู่ข้างอุทยาน 100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ใกล้โรงเรียน และสถาบันการศึกษาหลายแห่ง ซึ่งนับเป็นการอำนวยความสะดวกด้านการเดินทางเข้ามายัง FAAMAI ได้ง่าย

    นอกจากนี้ยังได้สนับสนุนด้านการประชาสัมพันธ์กิจกรรมของ FAAMAI ผ่านจอ LED บริเวณสยามสแควร์ทั้งหมด จึงคาดได้ว่าจะสามารถดึงดูดให้ผู้สนใจงานศิลปกรรมดิจิทัลเข้าถึง และมีส่วนร่วมกับกิจกรรมต่าง ๆ ได้โดยง่าย ที่สำคัญทาง PMCU ได้สนับสนุนการนำศิลปะสู่ชุมชนมาโดยตลอด และพัฒนาให้เป็นย่านศิลปะ นับเป็นการพัฒนาพื้นที่ที่มีความคุ้มค่า เพราะการลงทุนสร้างการเรียนรู้ในสิ่งใหม่ โดยเฉพาะด้านดิจิทัลอาร์ต ซึ่งเป็นเทรนด์ของโลกในอนาคตต่อจากนี้

    ปัจจุบันตลาดดิจิทัลคอนเทต์ไทยมีมูลค่าสูงถึง 25,000 ล้านบาท

    นางสาวสุภาภรณ์ สว่างจิตต์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท ปิโก (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) : FAAMAI ในวันนี้ สำหรับศาสตร์ด้านดิจิทัลอาร์ต ถือว่าเป็นสิ่งใหม่สำหรับประเทศไทย และเราก็จะใช้ความเชี่ยวชาญ และความรู้ด้านเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่เรามีมาถ่ายทอด ส่งเสริม และผลักดันให้เกิดการพัฒนาบุคลากรของไทยให้มีศักยภาพในด้านนี้อย่างเต็มที่ รวมทั้งช่วยประสานความร่วมมือกับศิลปินระดับโลกให้มาร่วมสร้างสรรค์งาน และให้ความรู้ ทำให้โครงการนี้สมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น

    และหากจะพูดถึงภาคเศรษฐกิจ จากข้อมูลของสมาคมดิจิทัลคอนเทนต์ไทย พบว่าในปัจจุบันตลาดดิจิทัลคอนเทต์ไทยมีมูลค่าสูงถึง 25,000 ล้านบาท และเป็นอุตสาหกรรมที่มีบทบาทอย่างสูงต่อองค์กรธุรกิจในการปรับเปลี่ยนเป็นองค์กรยุคดิจิทัลในทุก ๆ สาขา เพื่อสร้างนวัตกรรมสินค้า และบริการต่าง ๆ ดังนั้นจากความร่วมมือกันจัดตั้ง FAAMAI Digital Arts Hub ในครั้งนี้ ย่อมส่งผลให้เกิดการร่วมสร้างมูลค่าในตลาดดิจิทัลคอนเทนต์ของประเทศ ให้สูงขึ้นในระยะยาวอย่างแน่นอน

    Faamai Dome หนึ่งในโดมดิจิทัลอาร์ตที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน

    Faamai Dome คือพื้นที่สร้างสรรค์งานด้านดิจิทัลอาร์ตผ่านโดมขนาดใหญ่ ที่เรียกว่า Geodesic Dome
    – มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 35 เมตร
    – ความสูง 17.5 เมตร (ประมาณตึก 6 ชั้น)
    นับได้ว่าใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งใช้เทคนิค และการออกแบบโครงสร้างโดยสถาปนิก และผู้ผลิตโดมระดับโลกจากประเทศเยอรมนี ภายในของโดมสามารถรองรับผู้เข้าชมได้เต็มที่ 1,000 คน มีพื้นที่ภายนอกกว่า 4,000 ตรม. สามารถรองรับกิจกรรมที่หลากหลาย อาทิ การทำ 360 degrees Projection Mapping ทั้งส่วนด้านนอกและด้านใน พร้อมที่จอดรถกว่า 200 คัน

    ส่วนการเดินทางนั้น สะดวกด้วยบริการขนส่งสาธารณะทั้ง BTS, MRT เชื่อมต่อกับ Smart Mobility ภายในจุฬาฯ พระราม 4 และสยามสแควร์ ทั้งยังมีการร่วมมือกับศิลปินด้านดิจิทัลอาร์ตทั้งใน และต่างประเทศที่จะมาร่วมสร้างสรรค์งาน พร้อมสร้างโอกาสให้นักเรียน นักศึกษา และบุคลากร

    รวมทั้งประชาชนทั่วไปได้เข้าถึงองค์ความรู้ และเครื่องมือดิจิทัลอาร์ตที่ทันสมัย ผ่านการจัดกิจกรรมที่เอื้อต่อการทดลอง เรียนรู้ สร้างสรรค์งานดิจิทัลให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม โดย Faamai Dome พร้อมเปิดใช้งานแล้วภายในเดือนกันยายนนี้ โดยระยะแรกจะเป็นการจัดแสดงงานทดลอง ก่อนจะต่อยอดเป็นพื้นที่จัดแสดงงานถาวรต่อไปในอนาคต