มองนิยามของการ “กักขัง” กับ UNLOCK นิทรรศการที่จะเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับสถานการณ์ที่มนุษย์เรา ถูกบังคับให้เก็บตัวไว้ในสถานที่อันจำกัด จนไร้อิสรภาพ ซึ่งในบางครั้ง สิ่งที่กักขังเราไว้ อาจไม่ใช่เพียงสถานที่ แต่คือสิ่งที่อยู่ในจิตใจของมนุษย์เราเอง ซึ่งจะทำให้เราได้เรียนรู้การ “ปลดล็อค” ตัวเอง ผ่านนิทรรศการนี้ไปในตัว
Unlock นิทรรศการที่พูดถึงพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน และการ “ปลดล็อค” ตัวเอง
Unlock นิทรรศการที่ไม่ได้พูดถึงความเป็นช่างภาพ หรือความเป็นศิลปิน แต่พูดถึงสิ่งที่เป็นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน กับความจริงที่ว่าไม่ใช่ทุกคน จะได้พบกับสิ่งที่เรียกว่า “ศิลปะ”
โดยนิทรรศการชุดนี้ จะพาเราเข้าไปสู่การเดินทาง และการต่อสู้ภายในจิตใจของเอก-พิชัย แก้ววิชิต ช่างภาพสไตล์มินิมอล ผู้ซุกซ่อนตัวตนที่รักศิลปะไว้ภายในส่วนลึกของจิตใจมานานกว่า 20 ปี ก่อนจะค้นพบหนทาง “ปลดล็อค” ตัวตนผ่านทางกล้องถ่ายรูป
ซึ่งจะมีการจัดแสดงภาพถ่าย 27 ภาพในนิทรรศการ ที่จะนำพาเราไปรู้จัก 4 ช่วงชีวิตแห่งการ “ปลดล็อค” พลังความคิดสร้างสรรค์ผ่านทางภาพถ่าย ซึ่งจะช่วยจุดประกายให้เราได้ “ปลดล็อค” ตัวเอง พร้อมเปิดรับมุมมองใหม่ ๆ ไปในตัว
ปลดล็อคความกลัวด้วยจินตนาการและศิลปะ
มองโลกในวัยเด็กของศิลปินที่เติบโตมากับห้องสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ ที่อึดอัด คับแคบ และไม่น่าอภิรมย์เท่าใดนัก โดยท่ามกลางสถานการณ์อันมืดมิด ไร้แสงสว่าง สิ่งที่ทำให้ศิลปินยังยืนหยัดอยู่ได้ คือ “จินตนาการ” นั่นเอง
ซึ่งศิลปินได้ใช้จินตนาการและศิลปะ เป็นเครื่อมือหลีกหนีจากความทุกข์ แต่เสียงแห่งความกลัวในจิตใจ ได้กระซิบบอกกับศิลปินว่างานศิลปะนั้น เติมเต็มได้เพียงจิตวิญญาน ไม่สามารถทำให้อิ่มท้องได้ ศิลปินจึงได้หลีกหนีตัวตนที่รักศิลปะ ไปทำงานบนท้องถนนเพื่อหาเลี้ยงครอบครัวกว่า 20 ปี
แต่ยิ่งนับวันกลับรู้สึกถึงภาวะไร้แสงสว่าง ไม่ต่างจากตอนอยู่ในห้องสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ ในวัยเด็ก ศิลปินจึงพยายามหาทางที่จะหลีกหนีจากโลกอันทนทุกข์ ที่กักขังเขาไว้ แต่กลับไม่พบทางออก
จนกระทั่งวันหนึ่ง ศิลปินเริ่มหยุดฟังเสียงแห่งความกลัว และหันมาฟังอีกเสียงของตัวตนศิลปะที่หลบซ่อนอยู่ภายใน จนโลกของเขาค่อย ๆ สว่างไสวขึ้นอีกครั้ง
ปลดล็อคตัวตนด้วยกล้องถ่ายรูป
เมื่อได้พบกับตัวตนที่ซุกซ่อนไว้ ศิลปินรู้สึกอบอุ่น ปลอดภัย เหมือนได้พบกับบ้านที่แท้จริง เขามีความสุขกับการปล่อยให้ตัวตนแห่งความคิดสร้างสรรค์ได้โลดแล่นมีชีวิตผ่านทางภาพถ่าย เพราะเมื่อมีกล้องถ่ายรูปในมือ โลกของศิลปินก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
ตรอกซอกซอยเดิม ตึกเดิม ๆ ที่เขาเคยขับรถผ่าน กลับงดงามกว่าที่เคยด้วยแสง รูปร่าง รูปทรง แสงเงา จังหวะ สีสัน ซึ่งเป็นองค์ประกอบพื้นฐานของศิลปะ และเมื่อได้ก้าวผ่านความกลัวในครั้งแรกไปได้
ศิลปินจึงเริ่มเห็นโอกาสใหม่ ๆ มากกว่าข้อกำจัด นั่นคือการสร้างอินสตาแกรมซึ่งเปรียบเสมือนแกลเลอรีส่วนตัว เพื่อถ่ายทอดมุมมองของตนเอง ซึ่งต่อมาได้เป็นกุญแจที่นำศิลปินเข้าไปสู่โลกใบใหม่ เพื่อนใหม่ ผู้คนใหม่ และชีวิตใหม่
ปลดล็อคมุมมองด้วยสไตล์มินิมอล
ด้วยจำนวนผู้ติดตามบนอินสตาแกรมกว่า 80,000 คน ศิลปินเริ่มมีชื่อเสียงในฐานะนักถ่ายภาพที่บันทึกภาพกรุงเทพมหานครในแนวทาง “มินิมอล” อย่างไรก็ตาม บางครั้งศิลปินกลับรู้สึกว่าแม้แนวทางมินิมอล จะทำให้เขาเป็นที่รู้จัก
แต่อีกทางหนึ่ง กลับกลายเป็นเหมือนกรงขัง เขาเริ่มตั้งคำถามกับตนเองว่าจะสามารถสร้างงานอื่นที่ไม่ใช่แนวมินิมอลได้หรือไม่ เพื่อท้าทายตนเอง เขาจึงเดินทางออกจากกรุงเทพฯ เพื่อหาแรงบันดาลใจใหม่ ๆ และสร้างงานที่ “ไม่มินิมอล”
อย่างไรก็ตามผลลัพธ์ที่ได้กลับสร้างความประหลาดใจให้กับตัวศิลปินเอง เพราะสุดท้ายแล้วผลงานกลับออกมา “มินิมอล” อยู่ดี และเขาได้เรียนรู้ว่าแท้จริงแล้ว “มินิมอล” อยู่ทุกหนแห่ง เพราะมันไม่ได้เกี่ยวกับทิวทัศน์ที่ตามองเห็น หากแต่เกิดจากมุมมอง ความสงบ เรียบง่าย ซึ่งอยู่ภายในจิตใจของตัวเองนั่นเอง
ปลดล็อคอนาคต ด้วยการค้นพบแสงสว่างที่หลบซ่อนอยู่ภายในตัวตน
ศิลปินมองอนาคตของตนเองในฐานะศิลปินผู้ทำงานศิลปะเต็มเวลา ซึ่งเป็นสิ่งที่แสดงถึงตัวตนของเขามากที่สุด นอกจากนั้น เขายังปรารถนาที่จะพัฒนาศิลปะในรูปแบบอื่น ๆ เช่นภาพเคลื่อนไหว
แต่เหนือสิ่งอื่นใด เขาต้องการที่จะให้แรงบันดาลใจผู้คน ได้เจอแสงสว่าง อย่างการค้นพบกับศิลปะ ที่ซุกซ่อนอยู่ภายในของตัวศิลปินเอง
จัดแสดงวันที่ 8 ธ.ค. 63 – 7 ก.พ. 64 ณ RCB Photographer’s Gallery 2 ชั้น 2 (เข้าชมฟรี) / (นิทรรศการโซนที่ 4 “ปลดล็อคอนาคต” จะเป็นการนำเสนอผลงานในรูปแบบวิดีโอ)