เพราะวงโคจรของธุรกิจแฟชั่นไปไกลกว่าแสงไฟที่ส่องสว่างบนพื้นยกระดับสีขาว เสียงดนตรีที่เข้ากับจังหวะการเยื้องย่างของเหล่านางแบบและนายแบบในเสื้อผ้าอาภรณ์ที่ผ่านการออกแบบมาอย่างดีเยี่ยม คัตติ้งที่ไร้ที่ติ จนสามารถเรียกร้องให้เงินในกระเป๋าโบยบินออกมาอย่างเริงร่า สร้างมูลค่าให้กับเศรษฐกิจสู่เม็ดเงินที่หมุนเวียนในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องมหาศาล
หากประชากรโลกกว่า 7,000 ล้านคนสวมใส่เสื้อผ้าแบบเดียวกัน สีเดียวกัน ขนาดเดียวกัน โลกคงไม่ต่างอะไรกับโรงงานผลิตตุ๊กตา ไร้ซึ่งสีสัน ไร้ซึ่งจินตนาการ และไร้ซึ่งแรงบันดาลใจเพื่อการขับเคลื่อนไปข้างหน้า เมื่อการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของโลกเริ่มต้นที่ “โรงงานทอผ้า” สู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมเต็มรูปแบบ “รันเวย์” จึงเป็นเสมือนหนึ่งแสงไฟส่องทางให้ธุรกิจแฟชั่นเคลื่อนไปไม่สิ้นสุด
เส้นด้ายที่ค่อยๆ เพิ่มความยาวจากแกนด้ายสีต่างๆ ในอุตสาหกรรม สู่การถักทอเป็นลวดลายต่างๆ ตามความต้องการของผู้ตัดเย็บเพื่อตอบโจทย์ผู้สวมใส่ซึ่งล้วนแต่มีสไตล์อันเป็นแบบฉบับของตนเอง เกิดเป็นรสนิยม ความชอบส่วนบุคคล สร้างสรรค์ให้เกิดการดีไซน์ที่ทำให้ผ้าจากม้วนเดียวกันสามารถสร้างราคาให้ต่างกันได้อย่างสิ้นเชิง นี่แหละ สิ่งที่เรียกว่ามนต์เสน่ห์ของโลกแฟชั่น ธุรกิจที่สร้างเม็ดเงินทั่วโลกนับ “ล้านล้านเหรียญสหรัฐ” แรงผลักดันให้เกิดกูรูด้านแฟชั่น นิตยสารแฟชั่น รวมถึงดีไซน์เนอร์มากฝีมือที่ฉายพลังความสร้างสรรค์สู่ผลงานการออกแบบ กระตุ้นให้โลกของอุตสาหกรรมแฟชั่นเติบโตขึ้นทุกปี
เมื่อเสื้อเพียงหนึ่งตัวสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกได้
“แฟชั่น เปลี่ยนเสื้อผ้าหนึ่งในปัจจัยสี่ที่เราสวมใส่เป็นประจำในทุกวันให้เป็นเครื่องมือในการแสดงตัวตน บ่งบอกรสนิยม แนวคิดและอุดมการณ์สู่สายตาผู้คนที่พร้อมปะทะเราอยู่ทุกวันได้อย่างเฉียบคมที่สุด”
เสื้อหนึ่งตัวที่แขวนอยู่ในตู้เสื้อผ้าไม่เพียงสะท้อนถึงแฟชั่นของยุคสมัย รสนิยมหรือสไตล์โปรดส่วนตัวที่เปลี่ยนผ่านไปตามกาลเวลา แต่เสื้อตัวนั้นยังเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมการผลิตในขั้นตอนต่างๆ ซึ่งเป็นกระบวนการต้นน้ำและกลางน้ำในอุตสาหกรรมแฟชั่นอันได้แก่ อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม อุตสาหกรรมเครื่องหนังและรองเท้า และอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ รวมถึงแรงงานภาคการผลิตในประเทศซึ่งมีมากกว่า 7 แสนคน
ในปี 2558 อุตสาหกรรมแฟชั่นไทยสามารถสร้างมูลค่ารวมกว่า 620,000 ล้านบาท แม้ในปี 2559 การผลิตของอุตสาหกรรมต้นน้ำและกลางน้ำในอุตสาหกรรมแฟชั่นจะลดต่ำลง แต่ด้วยความแข็งแกร่งภายในนำไปสู่การตั้งเป้าและกำหนดทิศทางการพัฒนาร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในการสร้างเม็ดเงินจาก “แฟชั่น” ให้ทะยานสู่ 1,000,000 ล้านบาท ภายในปี 2560 ซึ่งหมายความว่า “แฟชั่น” คือ อุตสาหกรรมปลายน้ำที่นำไปสู่การเพิ่มมูลค่าและปริมาณการผลิตให้กับทุกอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องทั้งวงจร
ปี 2560 ใช้แฟชั่นนำการท่องเที่ยว
จากตัวเลขล่าสุดของชาวต่าวประเทศที่เดินทางผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองมาท่องเที่ยวในประเทศไทย 32,588,303 ล้านคน สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวรวมการท่องเที่ยวภายในประเทศของคนไทยรวมกว่า 2.58 ล้านล้านบาท การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยตั้งเป้าเพิ่มยอดการใช้จ่ายต่อคนของทุกการท่องเที่ยวด้วยการดึงเอาความแข็งแกร่งของ “ผ้าไทย” และ “ดีไซน์เนอร์ไทย” ต่อยอดแคมเปญการท่องเที่ยว “ท่องเที่ยววิถีไทย เก๋ไก๋ สไตล์ลึกซึ้ง” ผ่านโครงการ “ท่องเที่ยวตามรอยผ้า” ซึ่งได้รับความร่วมมือจากดีไซน์เนอร์ชื่อดังและแฟชั่นนิสตาร์ระดับประเทศ กลุ่มบุคคลที่เป็นตัวดึงดูดสำคัญทำให้นักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศเห็นความสำคัญของผ้าไทยมากยิ่งขึ้น พร้อมกับการใช้ “แฟชั่น” เป็นประตูหรือใบเบิกทางสำคัญที่นำไปสู่การพัฒนาพื้นที่และผ้าไทยให้สามารถเติบโตและพัฒนาให้ตอบโจทย์ความต้องการได้อย่างยั่งยืน
ล่าสุดกับการจัดงาน Bangkok International Fashion Week #BIFW 2017 ระหว่างวันที่ 21-26 มีนาคม 2560 นี้ เพื่อสร้างปรากฎการณ์รันเวย์แฟชั่นวีคระดับเอเชียต่อเนื่องเป็นปีที่ 10 การใช้เงินลงทุนรวมสิบปีรวมกว่า 500 ล้านบาท เป็นจุดเริ่มต้นให้ดีไซน์เนอร์ไทยกล้าที่จะสร้างแบรนด์ประชันกับดีไซน์เนอร์บนแคทวอร์คระดับตำนาน
ความสำเร็จที่มาพร้อมกับวิสัยทัศน์อันยาวไกล แรงผลักดันที่ต้องการสร้างให้กรุงเทพฯ คือหนึ่งในเมืองแฟชั่นที่โลกต้องจับตามอง ไม่เพียงนำมาซึ่งการเติบโตและเกิดขึ้นของแบรนด์ไทยภายใต้การสนับสนุนให้ชูความโดดเด่นได้อย่างสง่างาม แต่ยังสร้างเม็ดเงินมูลค่ามหาศาลและความแข็งแกร่งให้กับห่วงโซ่อุปทานการผลิตทั้งระบบ รับรองว่าเป้าหมาย 1 ล้านล้านบาทภายในปีนี้ไม่ไกลเกินเอื้อมอย่างแน่นอน
“กรุงเทพฯ” จะก้าวสู่การเป็นเมืองแฟชั่นระดับโลกได้หรือไม่ “อุตสาหกรรมแฟชั่นไทย” จะเติบโตได้เพียงใด คงต้องเริ่มต้นที่พวกเราทุกคน อย่าหยุดแค่ไทยเที่ยวไทย ต้องไทยช่วยไทย ซื้อของไทย สนับสนุนแบรนด์ไทย ชาติไทยเจริญ
ดวง โปษยานนท์ บรรณาธิการบริหาร นิตยสาร Harper’s BAZAAR
“ความโดดเด่นของดีไซน์เนอร์ไทยเป็นที่ยอมรับในคุณภาพ สไตล์การออกแบบที่โดดเด่น มีความชัดเจนในตัวตน ความชัดเจนในแบรนด์ มีการปรับตัวและเตรียมความพร้อมเพื่อให้งานดีไซน์ยังขายได้ในสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้แฟชั่นไทยเป็นเรื่องน่าสนใจและน่าจับตา หากเทียบกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียนแล้ว เราถือเป็นประเทศที่มีดีไซน์เนอร์ที่มีศักยภาพมากที่สุด”
เจี๊ยบ – โสภิตนภา ชุ่มภานี
“การจะทำให้ธุรกิจหรืออุตสาหกรรมแฟชั่นไทยเติบโตได้นั้นคนไทยต้องเริ่มใส่แบรนด์ไทยก่อน เจี๊ยบชอบเสื้อผ้าที่ไม่มีกาลเวลา ดีไซน์เนอร์ไทยทำให้เรารู้สึกชอบและซื้อได้ตั้งแต่ในคอลเลคชันแรกๆ ที่ชอบมากคือแต่ละคนไม่เหมือนกันเลย ทุกคนมีความยูนีคในแบบของตัวเองและเป็นเสื้อผ้าที่เราใส่ได้ทุกวันจริงๆ”
หมู – พลพัฒน์ อัศวะประภา ครีเอทีฟ ไดเร็กเตอร์แห่งแบรนด์อาซาว่า (asava)
“การสร้างแบรนด์ให้แข็งแกร่งในวงการแฟชั่นจึงไม่ต่างกับอะไรกับการสร้างแบรนด์ประเทศ ที่มีเพียงมุมมองอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีกลยุทธ์ที่ชัดเจน ต่อเนื่อง การเปลี่ยนความคิดของคนทั่วโลกต้องอาศัยการตอกย้ำที่มี Road map และต้องจริงจังกับกระบวนการให้มากกว่านี้ เพราะการตั้งนโยบายอย่างเดียวมันไม่ได้เกิดผลลัพธ์ตามมา”
มี่ – มิลิน ยุวจรัสกุล เจ้าของแบรนด์ Milin
“ก่อนหน้าที่จะมีแบรนด์ Milin เราก็เป็นคนหนึ่งที่มาดูแฟชั่นในงาน BIFW แล้วรู้สึกว่า “แฟชั่น” มีโอกาส มีช่องทางให้เรา ทำให้เราเชื่อว่าวงการนี้สามารถสร้างธุรกิจให้เกิดขึ้นได้จริง”
มะลิ – มาลินี โคทส์ นางแบบ
“ทุกคนมีรันเวย์ของตัวเองผ่านเสื้อผ้าและสไตล์ที่ฉายออกมา ผ้าไทยเป็นผ้าที่มีความสวยในตัวเองอยู่แล้ว หากดีไซน์เนอร์กล้าที่จะนำเสนอผ้าไทยในมุมที่แตกต่างผ่านการประยุกต์ใช้และนำเสนออย่างมีเอกลักษณ์ที่ผสานคาเรกเตอร์ของดีไซน์เนอร์และผู้สวมใส่ งานผ้าไทยจะสามารถต่อยอดได้ไกลไม่แพ้รันเวย์ระดับโลก”