ส่องแนวคิดด้านสถาปัตยกรรม และชมดีไซน์รีสอร์ตแห่งแรกของโลก ที่ซ่อนตัวอยู่ในภูเขาหิน แห่งเมืองอัลอูลา ประเทศซาอุดีอาระเบีย ของสถาปนิกฌ็อง นูแวล (Jean Nouvel) เจ้าของพริตซ์เกอร์ (Pritzker Prize) ปี 2008 รางวัลที่เปรียบเสมือนโนเบลแห่งโลกสถาปัตยกรรมของบรรดาสถาปนิก
รีสอร์ตที่ได้แรงบันดาลใจมาจากเฮกรา มรดกโลกแห่งแรกของซาอุดีอาระเบีย
รีสอร์ตที่ตั้งอยู่ภายในเขตอนุรักษ์ธรรมชาติ Sharaan Nature Reserve นี้ ได้แรงบันดาลใจในการออกแบบมาจากเฮกรา (Hegra) สิ่งมหัศจรรย์ของนาบาเทียน (Nabatean) ที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนจากองค์การยูเนสโกให้เป็นมรดกโลกแห่งแรกของซาอุดีอาระเบีย ซึ่งมรดกทางสถาปัตยกรรมอายุ 2,000 ปีแห่งนี้ กำลังจะได้รับการชุบชีวิตอีกครั้งโดยสถาปนิกฌ็อง นูแวล (Jean Nouvel)
ความลงตัวระหว่างภูมิทัศน์กับประวัติศาสตร์ของเมืองอัลอูลา
ฌ็อง นูแวล (Jean Nouvel) กล่าวว่า “เมืองอัลอูลาเป็นการผสานอย่างลงตัวของภูมิทัศน์กับประวัติศาสตร์ของอารยธรรมโบราณแสนพิเศษ และเป็นสถานที่หนึ่งเดียวที่จะสร้างผลงานระดับมาสเตอร์พีซ (ตัวรีสอร์ต) เช่นนี้ได้
เพราะเมืองอัลอูลาเปรียบเหมือนพิพิธภัณฑ์ ให้เราได้ศึกษาทุก ๆ ลักษณะทางธรณีวิทยา ทั้งลำธาร ผาชัน ผืนทราย และแนวหิน ตลอดจนแหล่งโบราณคดีที่ควรค่าแก่การให้ความสำคัญ และยังมีประวัติศาสตร์ของมนุษย์ในเมืองอัลอูลา ที่เริ่มต้นเมื่อกว่า 200,000 ปีก่อน
ทั้งนี้การเคารพภูมิทัศน์ และมรดกโบราณของเมืองอัลอูลาไม่ได้หมายถึงการหลีกเลี่ยงแนวคิดสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ อัลอูลาควรมีความทันสมัยในระดับหนึ่ง โดยรีสอร์ตแห่งนี้เป็นโอกาสที่จะสร้างประสบการณ์เรื่องพื้นที่ อารมณ์ และความรู้สึกให้โลดแล่นขึ้นบนพรมแดนของธรรมชาติ สถาปัตยกรรม และศิลปะ
ที่เสียง ดนตรี ความดุดัน กายสัมผัส พลัง และความซับซ้อนของธรรมชาติปรากฏอยู่ทุกหนแห่ง ตั้งแต่ก้อนหินที่ตัดอย่างประณีตบนระเบียง สู่รายละเอียดของกำแพงหินแต่ละด้าน ซึ่งทั้งหมดจะกลายเป็นงานศิลปะในตัวเอง
การปรับวิถีชีวิตแบบเก่าให้เข้ากับโลกสมัยใหม่
ฌ็อง นูแวล (Jean Nouvel) เผยว่าเขาได้ปรับวิถีชีวิตแบบเก่าให้เข้ากับโลกสมัยใหม่ ด้วยการลดผลกระทบที่มีต่อภูมิทัศน์ทางธรรมชาติและเมือง ด้วยการนำเสนอรูปแบบใหม่ของสถาปัตยกรรมที่ไม่เคยเห็นมาก่อน โดยใช้สิ่งที่เป็นนามธรรม แกะสลักให้กลมกลืนกับภูมิทัศน์แทนที่จะแข่งกันเด่น
ด้วยแรงบันดาลใจจากชาวนาบาเทียน ทำให้แนวคิดการออกแบบนี้ เล่นกับวิถีชีวิตแบบเก่าเพื่อต่อยอดปัจจุบัน และตอบสนองความท้าทายในอนาคต มีการผสานแนวทางที่ชาวนาบาเทียนมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม ทั้งในแนวดิ่ง และแนวราบ เพื่อเชื่อมโยงโลก และสร้างที่อยู่อาศัยที่ยั่งยืน ห่างไกลจากความร้อนในฤดูร้อน และความเย็นในฤดูหนาว
รีสอร์ตที่ใช้แนวคิดแบบภัณฑารักษ์
ตัวรีสอร์ตยังใช้แนวคิดแบบภัณฑารักษ์ ในความหมายของวิชาการพิพิธภัณฑ์ (museography) เพื่อสร้างพื้นที่สาธารณะที่มุ่งเน้นไปที่ความสุขของการใช้ชีวิต วันแล้ววันเล่า คืนแล้วคืนเล่า ด้วยสีสันที่หลากหลาย แสง เงา ลม พายุฝน และกาลเวลา
กับการเดินทางผ่านอารยธรรมหลายพันปี และภูมิศาสตร์ในทุกดีเทลงานออกแบบของฌ็อง นูแวล (Jean Nouvel) ตั้งแต่ความรู้สึกแข็งกระด้างของก้อนหิน ไปจนถึงความนุ่มสบายของเก้าอี้นวม โซฟา และเบาะที่นั่ง
เพื่อให้ผู้มาเยือนได้ดื่มด่ำไปกับการเดินทางที่น่าจดจำผ่านกาลเวลา และพื้นที่ซึ่งจะนำเสนอการค้นพบแก่นแท้ของเมืองอัลอูลา ด้วยประสบการณ์ล้ำลึกในความรกร้างว่างเปล่าเขตอนุรักษ์ธรรมชาติ Sharaan Nature Reserve
ทั้งสัมผัสกับแหล่งโบราณคดีหลายร้อยแห่งภายในอัลอูลา แต่แน่นอนว่าความหรูหรานี้จะไม่ทำลายภูมิทัศน์ทางธรรมชาติ เพราะรีสอร์ตจะใช้พลังงานที่ปลอดมลพิษ และปฏิบัติตามมาตรฐานใหม่ด้านความยั่งยืนอย่างเคร่งครัด
องค์ประกอบสำคัญของยุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองอัลอูลา
Sharaan by Jean Nouvel Resort จะเป็นองค์ประกอบสำคัญของยุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองอัลอูลาของ Royal Commission for AlUla (RCU) ในฐานะจุดหมายระดับโลกสำหรับวัฒนธรรม มรดก และการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์
รีสอร์ตได้รับการออกแบบภายใต้ The Charter of AlUla ซึ่งเป็นเอกสารที่รวมหลักการ 12 ข้อที่กำหนดให้ RCU ต้องพัฒนาพื้นที่แห่งนี้ในระยะยาว นอกจากนี้ โครงการจะมีส่วนช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจที่หลากหลายของภูมิภาค ผ่านทาง Retreat Summit Centre และร้านอาหารต่าง ๆ อีกด้วย
รีสอร์ตจะมีกำหนดสร้างแล้วเสร็จในปี 2024
รีสอร์ตจะมีกำหนดสร้างแล้วเสร็จในปี 2024 ประกอบด้วย
– ห้องสวีท 40 ห้อง
– วิลล่า 3 หลัง
นอกจากนี้ ยังมี Retreat Summit Centre อยู่ใกล้กับรีสอร์ต ซึ่งจะประกอบด้วย
– ศาลาส่วนตัว 14 หลัง
RCU คาดว่า ภายในปี 2035 เมืองอัลอูลาจะรองรับผู้มาเยือน 2 ล้านคนต่อปี และรีสอร์ตแห่งใหม่นี้ เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเมืองอัลอูลาภายใต้หลักยุทธศาสตร์ 12 ข้อที่จัดทำขึ้นจาก Framework Plan และ Charter ของ RCU
ซึ่งแนวทางการพัฒนานี้จะสร้างความสมดุลระหว่างนวัตกรรมกับมรดก ศิลปะ และวัฒนธรรม ขณะเดียวกันก็ปลดล็อกศักยภาพทางเศรษฐกิจ เพื่อมอบโอกาสใหม่ ๆ แก่ชุมชนท้องถิ่น